หนทางสู่ธรรมกาย


[ 1 ก.ค. 2557 ] - [ 18267 ] LINE it!

หนทางสู่ธรรมกาย

     การเข้าถึงพระธรรมกายเป็นเป้าหมายของชีวิตทุกๆ ชีวิต ถ้าทุกคนตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ประกอบความเพียรอย่างกลั่นกล้าที่เรียกว่า จาตุรังควิริยะ คือเนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนังเอ็นกระดูกช่างมัน ถ้าเข้าไม่ถึงธรรมกายเป็นยอมตาย ตั้งใจอย่างนี้โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันต้องเข้าถึงกันได้ทุกคน เพราะธรรมกายมีอยู่ในตัวของทุกๆ คนแล้ว เป็นของมีจริง ดีจริง เข้าถึงแล้วท่านจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง ช่วยให้เราปลอดภัยจากทุกข์ในอบาย จะมีสุคติเป็นที่ไปอย่างเดียว ดังนั้นการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย จึงเป็นเป้าหมายหลักของมวลมนุษยชาติ

มีวาระพระบาลีกล่าวเอาไว้ใน อัคคัญญสูตร ว่า

     “ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิ

     ดูก่อนวาเสฏฐะ คำว่า ธรรมกายก็ดี คำว่า พรหมกายก็ดี คำว่าธรรมภูต ก็ดี หรือคำว่า พรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต”

     คำว่า ธรรมกาย มีปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกคนในโลก เป็นกายตรัสรู้ธรรม รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กายอื่นนั้นไม่อาจที่จะแทงทะลุได้หมด เพราะว่ายังเป็นกายที่ติดอยู่ในภพ ข้องอยู่ในภพ เหมือนกบอยู่ในกะลาครอบ ไม่ได้ออกไปนอกภพ กายอื่นที่เรียกว่าขันธ์ ๕ นั้น คือกายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม และกายอรูปพรหม ที่ซ้อนกันอยู่ภายใน เป็นกายที่อยู่ในภพทั้งสาม ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ จึงไม่อาจจะแทงตลอดในธรรมทั้งปวงได้ กายธรรมนี้จึงเป็นหลักของชีวิต หลักของพระพุทธศาสนา เป็นตัวพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

     คำสอนทั้งหลาย หลั่งไหลออกมาจากธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ได้เข้าถึงธรรมกายแล้ว คำสอนทั้งหลายจึงปรากฏเกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อพระองค์ได้ทรงศึกษาจากครูต่างๆ ตั้งแต่ครูอาฬารดาบสและอุทกดาบส ก็ไม่ได้พบความจริงดังเช่นที่พระองค์พบด้วยธรรมกาย เพราะฉะนั้น ความรู้ทั้งหลายจึงหลั่งไหลออกมาจากพระธรรมกายของพระองค์ เมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว ก็เกิดพระมหากรุณาธิคุณ อยากจะสั่งสอนสัตว์โลกให้รู้แจ้งเห็นจริงเช่นเดียวกับพระองค์บ้าง จะได้เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ จึงทรงแนะนำสั่งสอนสัตว์โลกทั้งหลายให้เข้าถึงธรรมกายด้วยวิธีการปฏิบัติ ที่เราเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลางอันประกอบไปด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้น สัมมาสมาธิเป็นเบื้องปลาย ให้ประกอบการดำรงชีวิตในโลกนี้ด้วยสัมมาทิฏฐิเรื่อยมา จนกระทั่งถึงการทำสัมมาสมาธิ คือฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อฝึกปฏิบัติถูกส่วนเข้า ไม่ช้าจะพบหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกาย

 

     หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นเรียกว่าปฐมมรรค อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ใส สะอาด บริสุทธิ์ กลมรอบตัว อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ปฐมมรรคนี้เป็นหนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย ถ้าหากว่าไม่ได้เบื้องต้นนี้ก็เข้าถึงธรรมกายไม่ถูก เพราะหนทางที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นมีอยู่ทางเดียวจึงเรียกว่า เอกายนมรรค หนทางเอกสายเดียว เป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน

     หนทางไปสู่อายตนนิพพานมีอยู่สายเดียว อยู่ในกลางกายของเรา แต่วิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงหนทางสายกลางนั้น มีหลายวิธี ตั้งแต่กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ เมื่อใจหยุดสนิทถูกส่วนแล้วนำมาตั้งที่ศูนย์กลางกาย เกิดเป็นดวงใสเหมือนกันหมด ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วเราจะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม หากวางใจไว้ถูกที่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นเข้าถึงธรรมกาย เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทั้ง ๔๐ วิธีที่มีมาในวิสุทธิมรรค ล้วนเป็นหนทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกายทั้งสิ้น

     หากเรากำหนดลมหายใจเข้าออกที่เราเรียกว่า อานาปานสติ ต้นลมอยู่ที่ปากช่องจมูก กลางลมอยู่ที่ทรวงอก ปลายลมอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่สุดของลม เมื่อเรากำหนดไป สติจับลมให้หยุดนิ่งได้จนมีอาการเหมือนเราไม่ได้หายใจ พอถึงขั้นตอนนี้บางท่านก็ตกใจ นึกว่าหมดลม แต่ที่จริงลมหยุด มีอาการคล้ายไม่ได้หายใจ เมื่อลมหยุดใจก็หยุด เมื่อใจหยุดดวงธรรมก็เกิดเป็นดวงใสบริสุทธิ์เกิดขึ้นที่ศูนย์กาลางกาย ที่เรียกว่าปฐมมรรคนั่นเอง ถ้าหากดำเนินจิตต่อไปเข้าสู่กลางปฐมมรรคนั้น ไม่ช้าจะพบหนทางสว่างเข้าไปเรื่อยๆ และพบกายในกายเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย

     แต่ว่าในการปฏิบัติจริงๆ นั้น บางครั้งผู้ปฏิบัติไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เมื่อพบดวงสว่างแล้วก็ถูกแนะนำให้วางเฉย ไม่ให้สนใจ หรือบางทีก็ให้ละเลยเสีย แนะนำให้เห็นว่านิมิตเป็นสิ่งที่ไม่ควรยึด เป็นการติดนิมิต แล้วหันมาพิจารณาถึงความไม่เที่ยงที่เกิดขึ้นในสรรพธรรมทั้งหลาย จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าใจสะอาด ปล่อยวาง ว่างเปล่า จากอารมณ์ทั้งมวล มีความสุขสงบนิ่งอยู่ภายใน ปฏิบัติอย่างนี้บ่อยๆ ใจก็เกิดความคุ้นกับความสงบนี้แล้วไม่ไปไหนติดอยู่กับที่ แต่ว่ามีความรู้สึกเป็นสุขอยู่ภายใน คล้ายกับไม่ติดอะไรเลยในโลก ไม่ติดกิเลสอาสวะ สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูง แล้วก็เหมาเข้าใจผิดว่านั่นคือที่สุดแห่งกองทุกข์ การปฏิบัติอย่างนี้มีมาก เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงธรรมกาย  

     อันที่จริงนิมิตที่ควรยึดเอาไว้นั้นก็มีอยู่ และนิมิตที่ไม่ควรยึดไว้ก็มี นิมิตใดที่เลื่อนลอยหลุดออกจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถือเป็นนิมิตเลื่อนลอยไม่ใช่ของจริงทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เป็นจริงนั้นจะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายที่เดียว เราจะทราบได้เมื่อเรามีประสบการณ์ ๒ ด้าน คือประสบการณ์ที่ใจหลุดจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และประสบการณ์ที่ใจเราหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อเรามีประสบการณ์ ๒ ด้าน เราจึงจะแยกออกได้ว่า สิ่งใดที่เรียกว่าเทียม สิ่งใดที่เรียกว่าแท้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม จะแนะนำโดยผู้ที่มีความรู้จำอย่างเดียวก็ไม่ได้ จำตำรับตำรา ท่องได้คล่องปาก จำได้ขึ้นใจ แล้วเอามาแนะนำกันเหมือนคนตาบอดจูงคนตาดี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้ผู้แนะนำที่รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในเส้นทางสายกลางสายนี้  

     ดังนั้น หนทางที่จะเข้าถึงธรรมกายจึงมีทางเดียวที่เรียกว่า เอกายนมรรค แต่วิธีการเข้าถึงศูนย์กลางกายนั้นมาได้หลายสิบวิธีดังกล่าวแล้ว เมื่อเราทราบอย่างนี้เราจะได้ปฏิบัติให้ถูกวิธี วางใจของเราให้ถูกที่แล้วเราจะสมปรารถนา แต่พวกเราทั้งหลายนับว่าเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ เกิดมาแล้วได้รู้ว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นต้นแหล่งแห่งความสุขความบริสุทธิ์  จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเข้าถึงธรรมกายภายใน แล้วยังทราบว่าความสุขนั้นมันเป็นอย่างไร อยู่ที่ตรงไหน และจะเข้าถึงด้วยวิธีการอย่างไร นับว่าได้มาพบเส้นทางลัดสู่อายตนนิพพาน ธรรมกายเป็นหลักของชีวิตทุกๆ คนในโลกที่เราควรจะเอาใจใส่  เกิดมาทั้งทีควรจะทำชีวิตให้ประสบความสมหวัง  

     ความสำเร็จของชีวิตที่แท้จริงตัดสินกันที่การเข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะ ที่มีอยู่ในธรรมกายเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงผู้ที่สมบูรณ์ในลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งไม่เคยรู้จักกับความสุขที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร เป็นความสุขที่ไม่จีรัง ไม่ใช่ของแท้จริง ส่วนธรรมกายคือของจริง เป็นตัวตนที่แท้จริง เป็นสิ่งที่เราควรยึดถือไว้ ฉะนั้น เกิดมาภพชาติหนึ่ง เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมกายแล้ว ก็ควรตั้งใจหมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๑๕ หน้า ๑๕๐


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พิจารณาปล่อยวางในขันธ์ ๕พิจารณาปล่อยวางในขันธ์ ๕

อุปสรรคของการเจริญภาวนาอุปสรรคของการเจริญภาวนา

มาร ๕ ฝูงมาร ๕ ฝูง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน