อุปสรรคของการเจริญภาวนา


[ 4 ก.ค. 2557 ] - [ 18272 ] LINE it!

อุปสรรคของการเจริญภาวนา

     การเดินทางในสังสารวัฏ ถือว่าเป็นการเดินทางที่ยาวไกลที่สุด เพราะยากที่ใครๆ จะหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดได้ ไม่รู้ว่ามาถึงกลางทางแล้ว หรือว่าใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางแล้วหรือยังไม่มีใครทราบ ท่านถึงใช้คำว่า เวียนวน เพราะไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดกันตรงไหน ต้องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด วนเวียนกันอยู่อย่างนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะชีวิตยังไม่พบที่พึ่ง ที่ยึด ที่เกาะอย่างแท้จริง ไม่มีหลักของชีวิต จึงต้องหลงวนอยู่ในห้วงทะเลทุกข์ มองหาฝั่งแห่งความสุขไม่เจอ แต่ถ้าหากใครได้เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชีวิตจะพบกับความสุขความปลอดภัย แล้วไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ แต่จะมุ่งตรงไปสู่เป้าหมายปลายทางของชีวิต คืออายตนนิพพาน

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้าไว้ว่า

“อาวาโส จ กุลํ ลาโภ    คโณ กมฺมญฺจ ปญฺจมํ
อทฺธานํ ญาติ อาพาโธ   คนฺโถ อิทฺธีติ เต ทส

     เครื่องกังวลในการบำเพ็ญภาวนามี ๑๐ อย่าง คือกังวลด้วยอาวาส ตระกูล ลาภ กังวลเพราะหมู่คณะ  การทำงาน การเดินทาง ญาติพี่น้อง กังวลด้วยเรื่องความเจ็บป่วยไข้ การศึกษาเล่าเรียน และอิทธิฤทธิ์”

     การเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้เกิดมรรคผลนิพพานนั้น ใจจะต้องปลอดจากภารกิจเครื่องกังวลใจทุกอย่าง ทั้งเรื่องที่อยู่นอกตัวและที่เกี่ยวเนื่องกับตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภารกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน การทำมาหากินอะไรต่างๆ เรื่องครอบครัวญาติพี่น้อง คน สัตว์ สิ่งของ เราต้องรู้จักปล่อยวางเรื่องราวเหล่านั้น และไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป มัวแต่สนทนาปราศรัยจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง จะมีภารกิจการงานอันใดก็ต้องรู้จักปลดปล่อยวางเอาไว้ชั่วคราวเสียก่อน หลังจากเลิกนั่งจึงค่อยไปคิดไปทำต่อ และต้องรู้จักรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพราะสรีรยนต์นี้เป็นสมบัติอันลํ้าค่า และเป็นอุปกรณ์อย่างสำคัญในการสร้างบารมี ประพฤติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย

     เมื่อรู้จักปลดปล่อยวางจากเรื่องราวภายนอกต่างๆ เหล่านี้ได้แล้ว ใจจึงจะเป็นอุเบกขาธรรม คือเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น แล้วจะได้น้อมกลับเข้ามาตั้งไว้ตรงตำแหน่งที่ตั้งของใจ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นทางที่จะนำเราไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไร้เครื่องพันธนาการร้อยรัดทั้งมวล เป็นอิสระที่มีสุขได้ด้วยตัวเอง

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเป็นต้นแบบของชาวโลก ที่พวกเราพุทธบริษัทควรดำเนินรอยตาม พระองค์ทรงมองเห็นสมบัติภายนอกที่ได้ครอบครอง ว่าเป็นเครื่องพันธนาการของชีวิต ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นกังวล จึงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยว ไม่อาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สมบัติหรือสิ่งนอกตัวทั้งหมด พระองค์ตัดใจจากสิ่งเหล่านั้น ชนิดตัดใจเหมือนตายจาก เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อมีแล้วกลับทำให้ใจไม่เป็นอิสระ เหมือนเป็นเครื่องผูกหย่อนๆ แต่ว่าแก้ไม่ยอมหลุด เมื่อคิดได้อย่างนั้น ก็ทรงสละมหาสมบัติออกประพฤติธรรม มุ่งแสวงหาความจริงของชีวิต

     เมื่อได้ตรัสรู้สัพพัญญุตญาณแล้วก็ทรงทราบว่า การที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะพ้นจากความทุกข์ได้นั้น จะต้องไม่มีความกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น ความวิตกกังวลทำให้เกิดทุกข์ เมื่อใจยังไม่ปลอดจากความกังวลภายนอก  ก็น้อมกลับเข้าไปแสวงหาความสงบภายในได้ยาก เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ต้องสละเรื่องราวภายนอกตัว ให้ใจว่างเปล่าจากทุกสิ่ง ถึงจะนั่งหลับตาได้อย่างมีความสุข

     * เหมือนในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ พหุฐิติกพราหมณ์ เที่ยวตามหาโคที่หายไปในป่า ตามหาอยู่เป็นเวลาแรมเดือนก็ยังไม่เจอ พราหมณ์จึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก เพราะโคตัวนี้เป็นโคที่ฉลาด ใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วกว่าตัวอื่นๆ พราหมณ์เที่ยวตามหาจนกระทั่งมาพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้ พอได้เห็นพระฉัพพรรณรังสีที่เปล่งออกจากพระวรกาย จึงเกิดความเลื่อมใส เห็นแล้วรู้สึกมีความสุขชื่นอกชื่นใจ ได้เข้าไปเฝ้าโดยหวังว่าพระองค์จะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของตนได้

     พราหมณ์ได้เล่าปัญหาให้พระพุทธองค์ฟังว่า มีความกังวลใจหลายอย่าง โคก็หายไปหลายวัน เมื่อหว่านงาในไร่ ฝนก็ตกหนักมาในวันนั้น ทำให้เมล็ดงาจมลงไปในดินหมด เวลาออกไปทำงานในป่าก็มีมดแมลงเข้ามาอยู่ที่ห้องนอน พอกลับมาถึงบ้านก็ตั้งใจจะพักผ่อนให้สบาย แต่ก็ถูกพวกมดแมลงรุมกัดตามเนื้อตามตัว พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ตกกลางคืนพวกหนูก็พากันมาวิ่งเล่นกันบนเพดานบ้านไม่ได้หลับทั้งคืน กว่าจะหลับได้ก็จวนจะใกล้สว่างแล้ว พอตื่นมายามเช้าพวกเจ้าหนี้มาตามทวงหนี้คืน ทำให้ข้าพระองค์มีความทุกข์ใจมาก นอกจากนี้ ลูกสาวหลายคนก็เป็นหม้าย หาเลี้ยงตัวเองก็ลำบาก ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ใจเพราะสงสารลูกๆ

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องที่พราหมณ์เล่ามานั้น ไม่มีในตถาคตเลย เพราะตถาคตเป็นผู้ไม่มีความกังวล มีความสุขเป็นปกติ เนื่องจากชีวิตนักบวชเป็นชีวิตที่อิสระปลอดจากความกังวลทั้งหมด ใจจึงเป็นอิสระมีสุขล้วนๆ พราหมณ์ได้ฟังเช่นนั้นก็บังเกิดความเลื่อมใส ปรารถนาอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงขอบรรพชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้บวช แล้วพากลับไปวัดพระเชตวัน

     ในวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ซึ่งเป็นพระใหม่ได้เป็นปัจฉาสมณะ ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง เช้าวันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทเพื่อถวายภัตตาหาร พระบรมศาสดาทรงปรารภให้พระราชาฟังว่า อยากให้มหาบพิตร ได้ช่วยปลดกังวลอย่างหนึ่งให้ด้วย พระราชากราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงละสิริราชสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงผนวชบรรลุความเป็นผู้เลิศในจักรวาลแล้ว พระองค์ยังจะมีปลิโพธิเครื่องกังวลอะไรอีกหรือ พระเจ้าข้า”

     เมื่อพระราชาทราบว่า อันที่จริงพระบรมศาสดามีพระประสงค์จะเปลื้องความกังวลให้พระบวชใหม่รูปนี้ จึงถามพระใหม่ว่า มีความกังวลเรื่องอะไร เมื่อรับทราบแล้ว ก็ตรัสเรียกราชบุรุษมารับสั่งว่า ให้ไปจ่ายเงินเจ้าหนี้ของท่านจนหมด ต่อมาเมื่อทรงทราบว่า พระใหม่มีกังวลเรื่องลูกสาวที่ยังไม่มีใครรับเลี้ยงดู พระราชาก็ทรงส่งคนไปรับธิดาของท่าน มาเป็นลูกสาวของพระองค์หมดทุกคน ให้มีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย

     พระราชาทรงถามอีกว่า “ยังมีปลิโพธิอื่นอีกไหม” พระใหม่ถวายพระพรว่า “ไม่มี มหาบพิตร” พระราชาได้ถวายเครื่องอัฐบริขารให้พระท่านได้ใช้ และคอยอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ท่านจะได้ไม่มีความกังวลในการแสวงหาปัจจัยสี่ จะได้ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ เมื่อพระใหม่รูปนี้ปลอดความกังวลทุกอย่างแล้ว ใจก็ปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย ตั้งใจทำสมาธิเจริญภาวนา ก่อนออกพรรษาท่านก็สามารถทำใจหยุดนิ่ง แล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เครื่องพันธนาการร้อยรัดทุกอย่างได้

     เราจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมถ้าจะให้ได้ผลดีนั้นต้องไม่มีเครื่องกังวลใจใดๆ แม้เราจะมีภารกิจอันใดก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลานั่งธรรมะ เวลาทำใจหยุดใจนิ่งแล้ว ต้องรู้จักปลดปล่อยวางเอาไว้ชั่วขณะ ให้รู้จักตัดใจเหมือนตายจาก อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องนอกตัวที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ช้าก็ต้องจากเราไป ถ้าเราไม่จากสิ่งนั้นไปก่อน สิ่งเหล่านั้นจะจากเราไป แต่พระรัตนตรัยภายในตัวนี้เท่านั้นที่จะอยู่กับเราตลอดไป เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา

     ตอนนี้สิ่งที่เป็นภารกิจเครื่องกังวลใจของพวกเราก็คือ การสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ให้เสร็จสมบูรณ์ ทั้งประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวภายใน และการสร้างรัตนบัลลังก์รอบมหาธรรมกายเจดีย์ เอาไว้รองรับผู้มีบุญบารมีที่มาจากทั่วทุกมุมโลกให้มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน อันที่จริงก็ไม่ได้เป็นเครื่องกังวลอะไรมากมายหรอก เพราะว่างานสร้างบารมี สร้างมหาทานบารมี เป็นบุญใหญ่ที่พวกเราทำกันอยู่แล้ว แต่ว่าอยากจะเร่งสร้างทำให้เสร็จเร็วที่สุด จะได้สงวนเวลาเอาไว้สำหรับทำงานที่แท้จริง คือขจัดกิเลสอาสวะภายใน ทำวิชชา และเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก

     เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด จะต้องใช้เวลาทุกอนุวินาทีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพื่อจะได้ช่วยกันดับไฟแห่งความทุกข์คือความโลภ ความโกรธ ความหลงของมนุษย์ ให้กลายมาเป็นสันติสุขที่แท้จริงแผ่ขยายออกไปทั่วโลก ชาวโลกจะได้หันมาแสวงหาความสุขภายใน มาแสวงหาพระรัตนตรัยในตัวกัน โดยผ่านมหาธรรมกายเจดีย์ เจดีย์แห่งพระรัตนตรัย ดังนั้นอยากให้ทุกๆ ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจนั่งธรรมะกันอย่างเต็มที่ จะได้เอาเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัดนี้ ไปทำงานที่แท้จริง ไปศึกษาวิชชาธรรมกาย ไปขจัดต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย เพื่อให้ตัวเราและชาวโลกหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไปสู่อายตนนิพพาน เพราะฉะนั้นให้ช่วยกันตามผู้มีบุญมาทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อโลกนี้ ให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์กันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓๔

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มาร ๕ ฝูงมาร ๕ ฝูง

อิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพานอิทธิบาทสี่ ชี้ทางสู่นิพพาน

รู้จักกายที่แท้จริงของตัวเองรู้จักกายที่แท้จริงของตัวเอง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน