อริยมรรค หนทางสู่ความหลุดพ้น


[ 7 ส.ค. 2557 ] - [ 18289 ] LINE it!

อริยมรรค หนทางสู่ความหลุดพ้น

     การผจญภัยใดๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายนานัปการ เมื่อเทียบกับความทุกข์ทรมานในสังสารวัฏแล้ว ก็เหมือนกับเอาก้อนกรวดเล็กๆ ไปเปรียบเทียบกับเขาพระสุเมรุ เพราะการเดินทางไกลในสังสารวัฏมีภัยรอบด้าน และต้องพบกับความไม่แน่นอนของชีวิต จะหาผู้ที่เวียนวนอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ พอถึงเวลาก็ลงมาเกิด เพื่อสร้างความดีบนโลกมนุษย์อย่างเดียวนั้น เป็นสิ่งที่หาได้ยากอย่างยิ่ง

     ดังนั้น การให้ความปลอดภัยแก่ตัวเอง ในการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ต้องรู้จักประคับประคองตนให้ตั้งมั่น อยู่บนเส้นทางแห่งอริยมรรค ซึ่งเป็นหนทางที่พระอริยเจ้าท่านดำเนินไป เราจะได้ไม่หลงทาง ไม่รู้สึกเคว้งคว้างเปล่าเปลี่ยว เพราะเส้นทางนี้เป็นทางที่ปลอดภัยและมีความสุขใจที่สุด วิธีการดำเนินบนเส้นทางนี้ คือ การทำใจของเราให้หยุดนิ่ง ฝึกฝนใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นประจำสม่ำเสมอ ดำเนินจิตเข้าไปสู่หนทางสายกลางภายใน แล้วเราจะได้พบกับที่พึ่งที่ระลึกภายใน คือ พระรัตนตรัย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ว่า

“มทนิมฺมทนํ โสกนุทํ    สํสารปริโมจนํ
     สพฺพทุกฺขกฺขยํ มคฺคํ    สกฺกจฺจํ ปฏิปชฺชถ

     ท่านทั้งหลายจงดำเนินตามทางที่สร่างความมัวเมา บรรเทาความเศร้าโศก เปลื้องตนให้หลุดพ้นจากสงสาร ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง โดยความเคารพเถิด”

     * พระบรมศาสดาของเรา เมื่อทรงค้นพบอริยมรรค ซึ่งเป็นเส้นทางสายกลาง ที่จะนำสรรพสัตว์ไปฝั่งพระนิพพานได้แล้ว ก็ทรงแนะนำเหล่าเวไนยสัตว์ให้ประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการดำเนินชีวิตบนเส้นทางที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้สิ้นทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ในภพทั้งสาม ถ้าหากดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ชีวิตเราก็จะปลอดภัย ทั้งภัยในโลกนี้และภัยในสังสารวัฏ จะได้ไม่ตกไปในอบายภูมิเสวยทุกข์ทรมาน ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

     อริยมรรคที่พระบรมศาสดาทรงค้นพบ แล้วนำมาถ่ายทอดให้แก่พวกเรา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติกันคือ สัมมาทิฏฐิ ต้องเป็นผู้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป เชื่อว่าทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไปแล้ว ไม่สูญหายไปไหน แต่รอเวลาอันสมควรในการส่งผลเท่านั้นเอง เราจะได้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต

     นอกจากนี้ท่านก็สอนให้เราเป็นผู้มีความดำริชอบ ให้เป็นสัมมาสังกัปปะ คือให้คิดดี คิดเรื่องอะไรล่ะ ชาวโลกส่วนใหญ่เขาคิดเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติยศชื่อเสียง แต่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราคิดเรื่องที่จะออกจากกาม ทั้งที่เป็นกิเลสกามและวัตถุกามที่มายั่วยวนจิตใจของเรา ให้หลุดจากเส้นทางของพระอริยเจ้า ดำริไม่ให้ไปคิดเรื่องของความพยาบาท และก็ไม่คิดที่จะไปเบียดเบียนใคร แต่ให้มีใจประกอบด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

     เมื่อจะพูดก็พูดแต่เรื่องที่ดีๆ ให้เป็นสัมมาวาจา ตั้งแต่ไม่พูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ ที่ทำให้ใจห่างออกจากศูนย์กลางกาย วาจาใดที่เป็นไปเพื่อยกใจผู้ฟังให้สูงขึ้น ให้ปลอดจากนิวรณธรรม ทำให้ใจหยุดใจนิ่ง พูดยกใจให้คนอื่นได้เข้าถึงธรรรม ก็ควรพูดวาจานั้น เพราะวาจานั้นถือว่าเป็นยอดแห่งวาจาสุภาษิต ฉะนั้นควรชักชวนสนทนาพูดคุยกัน ในเรื่องที่ทำให้ใจของเราหยุดนิ่ง วาจาของเราจะได้เป็นสิริมงคล

     ต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงแนะให้เราทำการงานที่ดีๆ เป็นสัมมากัมมันตะ เว้นกายทุจริต ๓ อย่าง คือ เว้นจากการเบียดเบียน การฆ่าสัตว์ทุกชนิด เพราะเมื่อบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก จึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น เพราะทุกๆ ชีวิตต่างก็รักตัวกลัวตายกันทั้งนั้น และให้เว้นจากการลักขโมยของคนอื่น ให้ยินดีในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ และก็ให้เว้นจากการประพฤติผิดลูกเมียของคนอื่น ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง

     การปฏิบัติตามอริยมรรคประการต่อมา คือ ต้องละการเลี้ยงชีพที่ผิดกฎหมาย ให้เว้นอาชีพทุจริต ผิดศีลผิดธรรม ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ให้หันมาประกอบสัมมาอาชีวะ ไม่ประกอบมิจฉาวณิชชา ไม่ว่าจะเป็นค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้ายาเสพติด และค้าสัตว์เพื่อนำไปให้เขาฆ่า อาชีพเหล่านี้แม้ดูเหมือนจะทำให้ร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แต่ว่ามันไม่คุ้มกับการที่เราต้องไปทนทุกข์ทรมานชดใช้กรรมในอบายภูมิ  

     โดยเฉพาะงานทางใจหรืออาชีพทางใจนั้น เป็นงานที่สำคัญ งานขจัดอาสวกิเลสให้หลุดล่อนออกจากใจ เราจะได้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร อาชีพการงานต่างๆ ที่เรากำลังทำกันอยู่นั้น ก็เพื่อให้เราได้ทรัพย์สมบัติมาหล่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จะได้เปลื้องทุกข์ไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังไม่พ้นทุกข์ ทุกข์ที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ไม่ช้าก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย งานทางใจที่เป็นสัมมากัมมันตะ จึงถือเป็นกรณียกิจที่เราต้องทำควบคู่กันไปกับงานทางโลก เราจะได้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง

     นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้มีความเพียรพยายามชอบ ที่ท่านเรียกว่า สัมมาวายามะ หลวงพ่อเคยยํ้าเสมอๆ ว่า สิ่งที่เราไม่ควรสันโดษมีอยู่สองอย่าง นั่นก็คือการสั่งสมบุญ และก็ความเพียรในการทำความดี เพราะยิ่งทำก็จะเป็นผังที่ดี  ติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ  

     ความเพียรที่ต้องทำมีอะไรบ้าง หากเป็นทางโลกก็ให้ขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน งานไม่เสร็จเป็นไม่เลิก มีสติปัญญา มีเรี่ยวแรงแค่ไหนก็ทุ่มเทกันเข้าไปให้เต็มที่ ไม่ต้องขยักๆ เอาไว้ ท่านถึงสอนว่า วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา เกิดเป็นคน ควรพยายามร่ำไป จนกว่าจะประสบความสำเร็จ คือ ให้เราทุ่มเทกันอย่างจริงจัง ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันกันเลยทีเดียว

     ถ้าเป็นทางธรรมก็ให้หมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพิ่มเติมความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจให้มากยิ่งขึ้น มีสัมมัปปธาน ๔ ตั้งแต่พยายามสำรวมระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาภายในใจ บาปอกุศลอันใดที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้พยายามหาทางขจัดให้หมดสิ้นจากใจให้ได้ จากนั้นก็ให้เพิ่มเติมบุญกุศลให้มากขึ้น ให้ธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของเราสะอาดบริสุทธิ์ มีแต่สิ่งที่ดีๆ และก็เพียรพยายามรักษากุศลความดีที่มีอยู่ในตัวไว้อย่าให้เสื่อมไป ให้เป็นคุณธรรมประจำใจ ติดตัวเราไปให้ได้ตลอด ความเพียรใดเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ความเพียรนี้เป็นยอดแห่งความเพียร ฉะนั้นแม้ว่าเราจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงานหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ก็อย่าลืมทำความเพียรในการฝึกใจให้หยุดให้นิ่งกันให้ได้

     อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการต่อมา ที่เราควรประพฤติปฏิบัติ คือเป็นผู้มีความระลึกชอบที่เรียกว่า สัมมาสติ จะทำอะไรก็ให้มีสติ ไม่ประมาทเผอเรอ หลวงปู่วัดปากน้ำท่านใช้คำว่า สมฺปชาโน สติมา ต้องมีสติอยู่เสมอ ไม่เผลอ เอาใจของเราที่แวบไปแวบมา ให้กลับมาตั้งไว้ในกลางตัว ถ้าตั้งไว้ตรงนี้ได้ จะทำให้เรามีสติตลอด  ไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่งหรือนอน ก็มีสติอยู่เสมอ  

     ถ้าจะให้ดีท่านใช้คำว่า กาเย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ เอาสติตามเห็นกายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา จิตในจิต และก็ธรรมในธรรม ตามดูว่า กายแต่ละกาย ที่ซ้อนๆ กันอยู่ภายในของเรา มีลักษณะเป็นอย่างไร ความรู้สึกของแต่ละกายแตกต่างกันอย่างไร เราจะได้รู้จักปลดปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หยาบนี้

     แต่จะส่งใจเข้าไปสู่กายภายในที่ละเอียดประณีตกว่าเดิม ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม จนถึงกายธรรม และกายธรรมในกายธรรม ซ้อนๆ กันเข้าไปภายในตามลำดับ ถ้าเอาใจมาหยุดที่กลางกายธรรมได้ สติปัญญาของเราจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์เป็นมหาสติมหาปัญญา

     อริยมรรคประการสุดท้าย คือ สัมมาสมาธิ มีความตั้งใจมั่นชอบ ใจของเราจะตั้งมั่นได้ดีที่สุด เมื่อนำมาหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกาย เพราะศูนย์กลางกายเป็นต้นแหล่ง แห่งความสุขและความบริสุทธิ์ หากหยุดใจไว้ตรงนี้ได้ นิวรณธรรมต่างๆ จะเข้ามาครอบงำจิตใจไม่ได้ จิตเป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าใจยังอยู่นอกตัว หรือแม้อยู่ในตัว ถ้าหากไม่อยู่ตรงกลาง ก็ยังไม่ชื่อว่าเป็นสัมมาสมาธิ เพราะไม่สามารถดำเนินจิตเข้าไปในกลาง ตามเส้นทางของมัชฌิมาปฏิปทาได้ เมื่อเข้าไปไม่ได้ ก็เข้าถึงพระนิพพานไม่ได้  

     เพราะฉะนั้น เมื่อนำใจกลับมาตั้งไว้ตรงกลางนี้ได้ ความหลงมัวเมาอะไรที่มีอยู่ ก็มลายหายสูญ สังสารวัฏอันยาวไกลจะถูกตัดให้สั้นลง ด้วยอานุภาพของใจที่หยุดนิ่งถูกศูนย์ถูกส่วนตรงนี้แหละ เพราะทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว จะถึงความสิ้นไป หลุดล่อนออกไปเป็นชั้นๆ ถ้าหยุดเข้าไปในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กิเลสอาสวะต่างๆ ก็ล่อนไปตามลำดับ

     ถ้าเอาใจมาหยุดในกลางกายธรรม อาสวกิเลสก็ลดน้อยถอยลงไป เมื่อถึงกายธรรมอรหัต สังโยชน์เบื้องต่ำเบื้องสูงหลุดหมด เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราดำเนินตามอริยมรรค ซึ่งเป็นทางไปของพระอริยเจ้า  

     เมื่อพวกเราทั้งหลายได้ทราบเส้นทางที่จะนำไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นอย่างนี้แล้ว ก็อย่าประมาท ให้หมั่นนึกหมั่นคิด พิจารณาไตร่ตรอง แล้วก็ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องในหนทางสายกลางชีวิตเราจะได้ปลอดภัย และจะได้มุ่งตรงต่อเส้นทางพระนิพพานกันอย่างเดียว

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๓ หน้า ๓๘๕  


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้มีราตรีเดียวเจริญผู้มีราตรีเดียวเจริญ

ธรรมกาย กายมาตรฐานธรรมกาย กายมาตรฐาน

โพชฌงค์ ๗ ทางสำเร็จสู่นิพพานโพชฌงค์ ๗ ทางสำเร็จสู่นิพพาน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน