โพชฌงค์ ๗ ทางสำเร็จสู่นิพพาน


[ 13 ส.ค. 2557 ] - [ 18306 ] LINE it!

โพชฌงค์ ๗ ทางสำเร็จสู่นิพพาน

     ความขยันหมั่นเพียรเป็นทางมาแห่งความสำเร็จ เป็นวิริยบารมีที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ต่างก็ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะความเพียรในการขจัดกิเลสอาสวะออกจากใจ เป็นภารกิจหลักที่สำคัญของมนุษยชาติที่จะต้องทำ ยิ่งถ้าหากเพียรพยายามชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์มากมายเพียงใด เราจะมีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารได้มากเพียงนั้น ดังนั้น เราจึงต้องทุ่มเทจิตใจในการสร้างบารมี และเพียรพยายามเจริญสมาธิภาวนา เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน

มีวาระพระบาลีกล่าวไว้ใน กุณฑลิยสูตร ว่า

     “โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติ ให้บริบูรณ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะ น้อมไปในจาคะคือการสละ เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์..เจริญวิริยสัมโพชฌงค์...เจริญปีติสัมโพชฌงค์.เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์..เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธะน้อมไปในจาคะ  โพชฌงค์ ๗ นี้อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้”

     โพชฌงค์ คือ ธรรมะที่เป็นเหตุให้ตรัสรู้ ถ้าหากตั้งใจปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗ ประการนี้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุวิชชาในทางพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ จะทำให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ทั้งที่เป็นแบบเจโตวิมุตติ คือหลุดพ้นด้วยอำนาจจิตที่แน่วแน่เป็นหนึ่ง หลุดล่อนจากกิเลสอาสวะที่นอนเนื่องอยู่ในใจจนหมดสิ้น และปัญญาวิมุตติ คือ หลุดพ้นด้วยอำนาจของปัญญาบริสุทธิ์ ที่รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง

     เพราะฉะนั้น การที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมกันเป็นประจำ และปรารถนาอยากเป็นผู้รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากเป็นผู้เข้าถึงวิชชาและวิมุตติ ต้องหมั่นเจริญโพชฌงค์ ทั้ง ๗ ประการนี้ให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงอุปมาไว้ว่า กลอนเรือนยอดทั้งหมดย่อมน้อมไปสู่ยอด โน้มไปสู่ยอด โอนไปสู่ยอด แม้ฉันใด ภิกษุผู้เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน

     วิธีการเจริญโพชฌงค์ หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญท่านได้สอนเอาไว้ว่า ตั้งแต่

 

     สติสัมโพชฌงค์ เราก็ต้องเป็นคนไม่เผลอสติ เอาสตินิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ตั้งสติตรงนั้น ทำใจให้หยุดนิ่ง ไม่หยุดเป็นไม่ยอมเลิก ทำให้หยุดไม่เผลอทีเดียว ทำจนกระทั่งใจหยุดได้ จึงจะเป็นตัวสติสัมโพชฌงค์ เมื่อทำใจหยุดตรงนั้น ไม่เผลอสติ ระวังใจหยุดเอาไว้ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็เอาใจมาหยุดไว้ตรงกลางไม่ให้เผลอ สติของเราจะบริบูรณ์เป็นมหาสติ

     ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือเมื่อสติควบคุมใจให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางกายได้นิ่งสนิทดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความชั่วเล็ดลอดเข้ามา ก็ทำใจให้หยุดนิ่งเอาไว้ ใจหยุดระวังไว้ไม่ให้เผลอ สิ่งไหนที่ไม่ดี เข้ามาในใจ ก็พิจารณาเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นบาปอกุศล ก็เว้นให้ห่างเสีย สิ่งใดเป็นกุศลธรรมก็เลือกลงมือปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง การสอดส่องธรรมะทั้งฝ่ายดีและไม่ดี ท่านเรียกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

     วิริยสัมโพชฌงค์ คือเพียรรักษาใจให้หยุดให้นิ่ง ไม่ให้เคลื่อนออกนอกศูนย์กลางกาย ไม่ไปยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายเป็นอภิชฌาโทมนัส เมื่อเล็ดลอดเข้าไป ก็ทำใจของเราหยุดนิ่งได้ไม่สนิท ทำให้ใจวอกแวก เพราะฉะนั้นต้องมีความเพียรกลั่นกล้า รักษาไว้ให้หยุด จึงจะชื่อว่าวิริยสัมโพชฌงค์  

     ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อใจหยุดนิ่งถูกศูนย์ถูกส่วนดีแล้ว ส่วนใหญ่ครั้งแรกๆ นักปฏิบัติธรรมมักจะรู้สึกดีอกดีใจ ลิงโลดใจ เมื่อเกิดปีติแผ่ซ่านขึ้นมา ทั้งที่เป็นปีติซาบซ่านทำให้ขนลุกชูชัน หรือปีติจนเหมือนจะเหาะจะลอยได้ จนไม่สามารถข่มเอาไว้ได้ เพราะไม่เคยเจอประสบการณ์ภายในอย่างนี้มาก่อน แต่ครั้งต่อไป ถ้าหากข่มปีติเอาไว้ ให้อยู่ในกลางของหยุดในหยุดอย่างเดียว ใจหยุดที่ปีตินั่น โดยไม่เคลื่อนจากศูนย์กลางกายเลย นั่นแหละถึงจะเป็นปีติสัมโพชฌงค์

     ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ แปลว่า สงบระงับ ยิ่งใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งหนักเข้าไป ไม่มีถอนถอย ก็ยิ่งทำให้ใจสงบระงับจากกิเลสอาสวะ ระงับจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่เกิดจากอารมณ์ภายนอก กิเลสอาสวะเข้ามาปนเป็นไม่ได้ ใจปักแน่นอยู่ในกลาง แล้วหยุดในหยุดกลางของกลางเรื่อยไป ให้นิ่งแน่นเอาไว้  

     สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ที่จะทำให้ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สมาธิจะเป็นโพชฌงค์ได้ ก็ต่อเมื่อรักษาใจให้หยุดให้นิ่งได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อใจหยุดนิ่งอย่างสบายๆ สม่ำเสมอ จนกระทั่งหยุดได้สนิทสมบูรณ์นั่นแหละ ถึงจะเรียกว่าสมาธิสัมโพชฌงค์

     อุเบกขาสัมโพชฌงค์ พอทำสมาธิหนักเข้าๆ ใจจะนิ่งเฉย เป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายในสุขและทุกข์ และก่อเกิดเป็นพลังใจอยู่ภายในลึกๆ พิจารณาเห็นธรรมต่างๆ เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลางๆ นี่ท่านเรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อุเบกขาธรรมจะทำให้สมปรารถนา เข้าถึงธรรม และแตกฉานในธรรมะอันละเอียดลึกซึ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

     องค์ธรรม ๗ ประการเหล่านี้ รักษาไว้ให้อยู่ในใจ หมั่นตรึกหมั่นตรอง หมั่นพิจารณาบ่อยๆ อย่าให้เลอะเลือนไป ทำจนเป็น ภาวิตา พหุลีกตา คือทำซํ้าแล้วซํ้าอีกทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จะได้เป็นไปเพื่อ อภิญฺญาย นิพฺพานาย เพราะที่เราลงทุนลงแรงทำไปนั้น ก็เพื่อให้ได้อภิญญาความรู้ยิ่ง รู้พร้อม เพื่อให้ได้พระนิพพาน ซึ่งเป็นความสงบระงับจากกิเลสอาสวะทั้งปวง มีแต่สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย

     ท่านยกตัวอย่างผู้ที่ได้ฟังโพชฌงค์ และได้เจริญจนชำนาญเป็นวสีแล้ว หากเกิดโรคภัยไข้เจ็บอะไรขึ้นมา  ก็อธิษฐานจิตให้โรคนั้นมลายหายสูญไปได้ด้วยอานุภาพพระปริตร 

 

     * เหมือนในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทรงเห็นในข่ายพระญาณว่า ขณะนี้พระโมคคัลลานะกับพระมหากัสสปะ กำลังอาพาธได้รับทุกขเวทนาอย่างหนัก ไม่มียารักษา พระองค์จึงเสด็จเข้าไปเยี่ยมถึงที่พักของพระเถระทั้งสองรูป ทรงไต่ถามอาการป่วย จากนั้นก็ได้แสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้พระมหาเถระได้สดับ ทรงเริ่มตั้งแต่ โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโยฯ ทรงเจริญพระปริตรเรื่อยไป แล้วก็ตรัสว่า เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านในกาลทุกเมื่อเทอญ  

     พระมหาเถระทั้งสองรูปปล่อยใจตามกระแสพระธรรมเทศนา ทำหยุดในหยุด นิ่งในนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ เมื่อพระองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง ๗ จบลง ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากโรคร้าย ก็หายไปเป็นอัศจรรย์ แม้กระทั่งบางครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประชวร พระองค์ทรงรักษาด้วยการให้พระจุนทเถระสวดโพชฌงคปริตรให้ฟัง เมื่อสวดจบ อาการประชวรของพระพุทธองค์ก็หายไปเป็นอัศจรรย์เหมือนกัน นี่ก็คือการใช้ธรรมโอสถรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยอดีต ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผลดีเยี่ยม  เพราะฉะนั้น ตั้งแต่โบร่ำโบราณมา ชาวพุทธเราจึงนิยมอาราธนานิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระปริตรที่บ้าน เพื่อขจัดความชั่วร้ายวิบัติต่างๆ ออกจากบ้าน ให้เหลือไว้แต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล

     ในสมัยก่อน หลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านอาศัยอานุภาพโพชฌงคปริตรและวิชชาธรรมกาย รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้จนเป็นที่เลื่องลือ เป็นการรักษาโดยไม่ต้องใช้หยูกยา อำนาจพุทธมนต์มีความศักดิ์สิทธิ์และทรงอานุภาพอย่างนี้ทีเดียว ขจัดโรคร้ายให้มลายหายสูญไปได้ และนอกจากนี้ ถ้าหากตั้งใจเจริญโพชฌงค์เป็นประจำไม่ให้ขาด ผู้เจริญเองจะเป็นผู้มีอานุภาพ มีฤทธิ์มีเดชได้เหมือนกัน เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชา ๓ ประการให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์  

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชา ๓ ประการให้บริบูรณ์ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมระลึกถึงชาติในหนหลังได้ คือ ระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ทั้งที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แลอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชา ๓ ประการนี้ให้บริบูรณ์"

     ดังนั้น ให้หมั่นเจริญโพชฌงค์ตามที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งวิธีปฏิบัติง่ายๆ ก็คือ ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ ประคองใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ตลอดเวลา โดยมีสติ สบาย สม่ำเสมอ ทำอย่างนี้ โพชฌงค์ ๗ ประการของเราจะบริบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธรรมทั้ง ๗ ประการนี้ ประมวลลงในหยุดกับนิ่งนี่แหละ  หยุดเป็นตัวสำเร็จ  แล้วในไม่ช้าเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๓๐ หน้า ๒๒๒
 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร (๑)ธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร (๑)

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (๒)

อนัตตลักขณสูตรอนัตตลักขณสูตร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน