ไวยาวัจจมัย : ร่วมด้วยช่วยกัน สุขสันต์ตลอดไป


[ 1 ต.ค. 2557 ] - [ 18268 ] LINE it!

ไวยาวัจจมัย : ร่วมด้วยช่วยกัน สุขสันต์ตลอดไป

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์


“เราไม่มีอะไรจะให้ทาน ได้แต่ยกมือขวาชี้ทางให้แก่คนเดินทางเพื่อไปรับบริจาคที่บ้านอสัยหเศรษฐี
ด้วยบุญนั้น ฝ่ามือของเราจึงให้สิ่งที่น่าปรารถนา เป็นที่ไหลออกแห่งวัตถุมีรสอร่อย
ผลบุญสำเร็จที่ฝ่ามือของเรา เพราะการบอกทางนั้น” (อังกุรเปตวัตถุ)



      ไวยาวัจจะ แปลว่า การขวนขวายช่วยทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อส่วนรวมด้วยความสุจริตใจ การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่น เมื่อเห็นเขากำลังสั่งสมบุญ หรือกำลังต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่นิ่งดูดาย ไม่ดูเบา ไม่เห็นแก่ตัวถือว่าเป็นบุญพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เช่น ช่วยสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดคลอง ขุดสระ ขุดบ่อน้ำสร้างศาลา สร้างวัด สร้างโรงพยาบาล ปลูกต้นไม้ทำถนนหนทางให้สะอาด ช่วยกวาดวัด หรือช่วยงานบวชนาค งานกฐิน ช่วยงานทำบุญเลี้ยงพระช่วยนิมนต์พระ หรือช่วยขับรถรับส่งพระหรือคนที่มาช่วยในงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นบุญทั้งสิ้นแม้การช่วยเหลือคนเจ็บป่วย คนตกน้ำคนถูกรถชน หรือประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ช่วยจูงคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย หรือชี้ทางให้คนหลงทางก็จัดเป็นไวยาวัจจมัย คือ บุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น

      ในอดีต ช่างหูกผู้ยากไร้แต่ใจดีคนหนึ่งเป็นคนมีศรัทธา แต่ไม่มีทรัพย์จะบริจาค เพราะลำพังตัวเองข้าวสารกรอกหม้อก็ยังไม่มี ช่างหูกได้ยินข่าวว่าอสัยหเศรษฐีเป็นผู้มีศรัทธา รักในการบริจาคทาน เขาอยากมีส่วนแห่งบุญนั้นด้วยไวยาวัจจมัยร่วมด้วยช่วยกัน สุขสันต์ตลอดไป เนื่องจากบ้านของเขาอยู่ปากทางพอดี จึงแนะนำพวกยาจกวณิพกพเนจรที่ผ่านมาแถวนั้นให้ไปรับอาหารที่บ้านของท่านอสัยหเศรษฐี ทุก ๆ เช้าช่างหูกจะออกมาชี้บอกทางให้คนที่ผ่านหน้าบ้านของตน เพื่อไปรับอาหารของท่านเศรษฐี เขาขวนขวายทำอยู่อย่างนั้นโดยไม่เบื่อจนตลอดชีวิตครั้นละโลกแล้ว เนื่องจากตัวเองไม่ได้ทำทานอะไร จึงไปบังเกิดเป็นภุมเทวาที่ต้นไทรใหญ่เมื่อมีผู้พลัดหลงเข้ามาในป่าใหญ่ หากผ่านใต้ต้นไทรใหญ่แห่งนี้ ภุมเทวาจะเกิดจิตเมตตาหาทางช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น ด้วยการชี้นิ้วออกไป นิ้วนั้นเป็นประดุจนิ้วกายสิทธิ์ บันดาลข้าว น้ำ อาหารที่อร่อย ๆ ให้แก่คนหลงทาง จากนั้นก็จะใช้นิ้วเนรมิตทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดาให้พวกเขานำไปใช้ในเมืองมนุษย์อย่างสุขสบายนี่ก็เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากการขวนขวายกิจการงานที่ชอบ คือ ไม่นิ่งนอนใจ แม้ตนเองไม่ได้บริจาคทาน ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ก็เต็มใจที่จะให้คนอื่นมีโอกาสไปรับบริจาคทาน บุญนี้จึงดลบันดาลให้มีความสุขในปรโลก และถ้าหากตั้งใจทำด้วยตนเอง คือขวนขวายเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ แรงความคิด
สติปัญญา ผลบุญใหญ่ก็ยิ่งบังเกิดขึ้นทับทวีเหมือนดังเรื่องของพระอินทร์ที่เป็นต้นแบบของนักสังคมสงเคราะห์ สมัยที่เป็นมนุษย์นั้น ท่านได้นำผู้คนสร้างถนนและศาลาเพื่อสาธารณประโยชน์ทำให้ท่านได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรื่องมีอยู่ว่า...
 

     พระอินทร์ ยอดนักสังคมสงเคราะห์ในสมัยก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อว่ามฆมาณพ เป็นผู้มีอัธยาศัยดี มีความเสียสละเวลาไปที่ไหนก็จะทำสถานที่นั้นให้เป็นที่น่าอยู่น่ารื่นรมย์ เมื่อใครมาขออยู่อาศัยในที่แห่งนั้น ก็จะสละให้ด้วยความยินดี แล้วไปทำสถานที่ใหม่ให้น่าอยู่อีก เมื่อทำเสร็จก็มักจะมีคนมาขออยู่อย่างนี้เรื่อยไป มาณพก็ไม่ได้นึกโกรธ แต่กลับคิดว่า “ก็ดีนะ ทำแล้วมีคนมาใช้ เขาจะได้มีความสุข”

     รุ่งขึ้น มาณพหนุ่มถือจอบไปดายหญ้าที่ลานหมู่บ้าน ปัดกวาดบริเวณนั้นให้เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้คนที่สัญจรไปมาก็อยากจะมาพักผ่อนตรงนั้น ครั้นฤดูหนาวมาถึง ก็หาฟืนมาก่อไฟให้ชาวบ้านผิงกัน พอฤดูร้อนก็หาน้ำดื่มมาตั้งไว้ เพื่อให้ผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาแถวนั้นได้ดื่มน้ำแก้กระหาย ต่อมาท่านคิดว่า “เราควรจะสร้างศาลาให้คนเดินทาง และทำหนทางให้ราบเรียบ” คิดดังนั้นแล้ว ในเช้าตรู่ของทุกวัน ท่านจะรีบตื่นนอนถือจอบและมีดเดินทางออกจากบ้านเที่ยวดายหญ้าตัดกิ่งไม้ที่รก ๆ เพื่อทำหนทางให้ราบเรียบเมื่อเพื่อน ๆ เดินผ่านมา ต่างพากันถามว่า “สหายเอ๋ย มาเที่ยวทำอะไรอยู่แถวนี้” “อ๋อ ฉันจะทำหนทางไปสวรรค์” “ดีจัง เราขอร่วมด้วยนะ” “ได้เลยเพื่อน มาช่วยกัน หลายคนยิ่งดี จะได้เสร็จเร็ว ๆ” วันต่อมา ก็มีเพื่อนคนอื่น ๆ มาช่วยงานเพิ่มมากขึ้นจนรวมเป็น 33 คน ทุกคนต่างถือจอบ มีด และอุปกรณ์ต่าง ๆ พากันออกจากบ้านด้วยใจที่ร่าเริงเบิกบาน ช่วยกันทำถนนหนทางให้ราบเรียบจนสามารถทำถนนไปได้ไกลถึง 2 โยชน์
 
 
      ผู้ใหญ่บ้านเห็นชายหนุ่มเหล่านี้กำลังร่วมกันทำความดี แทนที่จะอนุโมทนา กลับคิดว่า “ถ้าหนุ่ม ๆ เหล่านี้ซื้อเหล้ามาดื่ม เราก็จะพลอยได้ไปร่วมวงด้วย แต่นี่ทำอะไรก็ไม่รู้ เหนื่อยก็เหนื่อยเสียเวลาทั้งวัน” ด้วยนิสัยที่เป็นพาลจึงหาทางกลั่นแกล้งให้พวกเขาไม่อยากทำความดีอีกต่อไป
 
      ครั้นห้ามไม่ได้ก็คิดกำจัด ผู้ใหญ่บ้านจึงไปเข้าเฝ้าพระราชา แล้วทูลความเท็จว่า “มีโจรกำลังทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ขอพระองค์ทรงส่งเจ้าหน้าที่ไปจับกุมด้วยเถิด พระเจ้าข้า” พระราชาสดับดังนั้น จึงมีรับสั่งให้ทหารไปจับชายหนุ่มทั้ง 33 คน และให้ประหารชีวิตด้วยการไสช้างเหยียบ แต่ด้วยอานุภาพเมตตาจิตของมฆมาณพ ช้างจึงไม่กล้าเหยียบ พระราชาจึงสั่งให้เอาเสื่อลำแพนมาคลุมพวกเขาไว้ เพราะคิดว่าช้างเห็นคนมากจึงไม่กล้าเหยียบ แต่ถึงแม้เอาเสื่อลำแพนมาคลุมไว้ ช้างนั้นก็ยังไม่กล้าเหยียบพระราชาทรงเกิดความสงสัย จึงเรียกชายหนุ่มเหล่านั้นมาไต่ถามถึงความเป็นมาทั้งหมด
 
      เมื่อความจริงถูกเปิดเผย พระราชาจึงทรงขออภัยที่ล่วงเกิน และพระราชทานตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้มฆมาณพ ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนเดิมพร้อมบุตรภรรยาก็ให้เป็นคนรับใช้ของพวกเขา และทรงพระราชทานช้างเชือกนั้นให้เป็นรางวัลอีกด้วย
 
 
      เมื่อได้รับการสนับสนุนจากพระราชามฆมาณพก็ยิ่งสร้างความดีเพิ่มขึ้น โดยชวนกันสร้างศาลากลางให้เป็นที่พักอาศัยแก่คนเดินทางภรรยาของมฆมาณพคือสุธรรมาร่วมบุญด้วยการทำช่อฟ้าศาลา นางสุนันทาสร้างสระโบกขรณี ส่วนนางสุจิตราสร้างสวนดอกไม้หอม เมื่อละโลกไปแล้ว ทั้งหมดได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มฆมาณพซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างความดี ได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะจอมเทพ เสวยผลบุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือชาวบ้านด้วยความสุจริตใจไวยาวัจจมัยทำให้ใจมีฤทธิ์
 
        เราจะเห็นว่า ไวยาวัจจมัยเป็นเรื่องของจิตอาสา การขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้น เป็นเรื่องของความเสียสละแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา เริ่มจากสละความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตนเองไปจนกระทั่งเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่มวลชน ซึ่งต้องเจอทั้งปัญหาและอุปสรรคมากมาย นั่นแหละคือทางมาแห่งไวยาวัจจมัย

     อานิสงส์พิเศษของไวยาวัจจมัย คือ จะทำให้เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นเลิศทางด้านมีฤทธิ์เพราะในอดีตท่านเป็นผู้มีความเสียสละ ขวนขวายในกิจการงานของหมู่คณะ ไม่นิ่งดูดาย ไม่วางอุเบกขา

     ดังนั้น หากเราอยากมีฤทธิ์มีอานุภาพมากไม่โดดเดี่ยว และไม่รู้สึกเดียวดาย มีมิตรสหายที่คอยช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ ด้วยความเต็มใจให้เริ่มที่ตัวเราก่อน โดยเราต้องเป็นผู้มีจิตอาสา ไม่ต้องรอให้ใครมาขอร้องหรือกะเกณฑ์ ให้ทำด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่จำใจทำ ประการสำคัญ เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องของหมู่คณะหรือเรื่องของพระศาสนาให้เอาอุเบกขาวาง แล้วก็ลุย


อังกุรเปตวัตถุ


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อปจายนมัย : หนทางสู่ความรุ่งโรจน์อปจายนมัย : หนทางสู่ความรุ่งโรจน์

ทอดกฐินอย่างไรให้รวยอย่างในสมัยพุทธกาลทอดกฐินอย่างไรให้รวยอย่างในสมัยพุทธกาล

พระมหาเจดีย์ทัตตชีโวพระมหาเจดีย์ทัตตชีโว



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ