พระพากุลเถระ ตอน ได้เป็นเอตทัคคะด้านมีอาพาธน้อย


[ 13 มี.ค. 2558 ] - [ 18272 ] LINE it!

ได้เป็นเอตทัคคะด้านมีอาพาธน้อย
ในชาติสุดท้าย สมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

 
เรียบเรียงจาก : อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต
: อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี
 

      ในภัทรกัปนี้ พระพากุลเถระได้มาเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี แห่งนครโกสัมพี ช่วงก่อนที่พระสมณโคดมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น และในระหว่างที่ท่านถือปฏิสนธิอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทำ ให้ตระกูลของท่านประสบลาภผลอันเลิศถึงขนาดทำ ให้มารดาของท่านคิดว่า ลูกของเราคนนี้ต้องเป็นเด็กมีบุญญาธิการ และถ้าลูกคนนี้เป็นผู้ไม่มีโรคและมีอายุยืนอยู่ได้นานขนาดไหน ก็จะเป็นผู้บันดาลสมบัติให้แก่เราตลอดกาลยาวนานขนาดนั้น

     เมื่อคิดดังนี้ จึงเอาลูกไปอาบน้ำในแม่น้ำยมุนา เพราะสมัยนั้นใคร ๆ ก็จะเอาเด็กมาอาบน้ำในแม่น้ำสายนี้ เพราะมีธรรมเนียมถือกันว่า ถ้าเอาเด็กลงอาบน้ำในแม่น้ำนี้ จะทำ ให้เป็นผู้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

      ครั้นเมื่อพวกพี่เลี้ยงพาพากุลกุมารไปอาบน้ำ ก็มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งสำ คัญว่าทารกเป็นอาหาร จึงกลืนทารกเข้าไปในท้อง

     แต่ด้วยบุญของทารกน้อยพากุละ ทำ ให้ทารกรู้สึกประหนึ่งเหมือนเข้าไปสู่ห้องนอนแล้วหลับไปเท่านั้นตรงกันข้าม ด้วยเดชแห่งทารก ปลาที่กลืนกินทารกเข้าไปกลับรู้สึกทรมานเหมือนกลืนภาชนะร้อนลงไป จึงทำ ให้ปลาผู้โชคร้ายตัวนั้นมีกำลังว่ายต่อไปได้ 30 โยชน์ แล้วไปติดอวนของชาวประมงเมืองพาราณสี และเมื่อชาวประมงได้นำ ปลาออกจากอวนแล้วปลาก็ตายทันที จึงทำให้ชาวประมงหาบปลาใส่คานร้องประกาศขายไปทั่วเมืองว่าจะขายปลาตัวนี้ด้วยราคาหนึ่งพันกหาปณะ

    ครั้นเมื่อชาวประมงหาบปลามาถึงประตูเรือนของเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ภริยาเศรษฐีเห็นเข้าก็ถูกใจ จึงถามว่าจะขายเท่าไร ชาวประมงแทนที่จะตอบตามราคาที่ตั้งใจไว้ กลับตอบไปว่า ขายหนึ่งกหาปณะ นางจึงรีบซื้อไว้ทันที

     ปกติภริยาเศรษฐีจะไม่ชอบทำ ปลา แต่วันนั้น ด้วยบุญของทารกดลใจให้นางวางปลาไว้บนเขียง แล้วลงมือผ่าข้างหลังปลาด้วยตัวนางเอง ซึ่งปกติแล้วจะต้องผ่าที่ท้อง และทันใดนั้นเอง นางก็เห็นทารกผิวดั่งทองอยู่ในท้องปลา จึงเกิดปีติยินดี เพราะตระกูลของนางมีสมบัติมากถึง 80 โกฏิ แต่ไม่มีบุตรผู้สืบสกุล

      ด้วยเหตุนี้นางจึงอุ้มเด็กไปให้เศรษฐีผู้เป็นสามีดูท่านเศรษฐีก็ดีใจให้คนตีกลองประกาศข่าวไปทั่วพระนครในทันที จากนั้นก็พากันอุ้มทารกน้อยไปยังพระราชสำนักเพื่อกราบทูลพระราชาว่า “ขอเดชะ...ข้าพระพุทธเจ้าได้พบทารกในท้องปลา ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องทำ ประการใด” พระราชาตรัสว่า.. “ทารกอยู่ในท้องปลาได้อย่างปลอดภัยแปลว่าทารกนี้เป็นผู้มีบุญ ดังนั้นให้ท่านจงเลี้ยงไว้เถิด”


     จากนั้นข่าวนี้ก็ได้แพร่สะพัดออกไปถึงนครโกสัมพีว่ามีตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่งได้พบทารกในท้องปลาทำ ให้มารดาเดิมของทารกทราบข่าว จึงไม่รอช้า รีบเดินทางไปเล่าความเป็นมาและแสดงความเป็นเจ้าของทารกนั้นให้ภริยาเศรษฐีเมืองพาราณสีฟัง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้จึงพากันไปยังพระราชสำนักให้พระราชาเป็นผู้ตัดสินซึ่งพระราชาก็ตัดสินให้ทั้ง 2 ฝ่าย รับเป็นผู้เลี้ยงดูทารกน้อยนี้ร่วมกัน โดยให้ชื่อว่า พากุลกุมาร หมายความว่าเติบโตขึ้นเพราะ 2 ตระกูลเลี้ยงดู

     นับจากนั้น ด้วยบุญของพากุลกุมารจึงทำ ให้ทั้ง 2 ตระกูล ประสบลาภยศเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่งยวด และต่างได้สร้างปราสาทให้ท่านพากุละไว้ใน 2 พระนคร แล้วบำรุงบำเรอด้วยหญิงฟ้อนรำ ซึ่งท่านพากุละจะอยู่นครละ 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือน ก็จะนั่งเรือเดินทางกลับไปยังอีกนครหนึ่ง สลับไปมาอย่างนี้


     แม้ท่านพากุละจะต้องเดินทางโดยทางเรือก็จริง แต่ก็ไม่ลำบากประการใดเลย เพราะเรือที่ใช้เดินทางนั้น เป็นเรือที่ทั้ง 2 ตระกูล ให้ช่างสร้างขึ้นเป็นพิเศษโดยสร้างมณฑปอย่างดีไว้ในนั้น อีกทั้งยังมีหญิงฟ้อนรำ คอยบำรุงบำเรอให้ความเพลิดเพลินตลอดการเดินทาง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านพากุละเสวยสุขบันเทิงในสมบัติตลอดกาลยาวนานจนอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์

     จากนั้นไม่นาน ท่านพากุละก็ได้ทราบข่าวการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เสด็จจาริกมาถึงกรุงโกสัมพีพอดี ท่านพากุละจึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้าโดยนำของหอมและมาลัยไปสักการะยังสำนักพระศาสดา และเมื่อท่านพากุละฟังธรรมจบก็เกิดศรัทธาออกบวชทันทีและทำความเพียรอยู่แค่ 7 วัน พออรุณวันที่ 8 ก็บรรลุอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาในวัย 80 ปี


     เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธบริษัทเพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในธุดงค์ ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่นอิริยาบถ 3 คือยืนเดินและนั่งโดยไม่นอนเลยและข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร โดยตั้งแต่บวชมา ท่านไม่เคยจำพรรษาในวัดเลย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียนไม่เคยต้องให้หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉันยาใด ๆ แม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพรแม้เพียงผลเดียว เพราะว่าท่านไม่เคยป่วยเลย ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์แห่งการทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระภิกษุหายจากอาพาธด้วยการถวายยา การสร้างกัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล)สร้างวัจจกุฏิ (ส้วม) และจัดตั้งยาใช้และยาฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ครบถ้วนทุกอย่าง

     จากการประกอบเหตุไว้ในอดีตชาติเช่นนี้ จึงทำให้ท่านมีอายุขัยยืนยาวถึง 160 ปี แล้วเข้าปรินิพพาน
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระพากุลเถระ ตอน อานิสงส์จากการทำให้พระภิกษุหายจากอาพาธพระพากุลเถระ ตอน อานิสงส์จากการทำให้พระภิกษุหายจากอาพาธ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เคล็ดลับสุขภาพจากพระไตรปิฎก