หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๒)


[ 5 พ.ค. 2559 ] - [ 18271 ] LINE it!

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๒)

เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙
 

      ผู้เขียนและคณะได้เรียบเรียงบทความที่สรุปโดยย่อ “เส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงฉบับนี้ ยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นับเป็นเวลา ๑ ปีพอดีที่ได้นำเสนอสู่สายตาของเหล่าสมาชิกผู้ใจบุญทุกท่าน และเชื่อว่าคงเกิดภาพและความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนและคณะต่างปลื้มปีติที่ได้ประมวลเรื่องราวดี ๆ นี้ แล้วนำเสนอแด่ทุกท่านเป็นธรรมทาน ในวาระมหามงคลที่จะมาถึงในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ คือวันวิสาขบูชา จึงถือเป็นการน้อมรำลึกถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย

     ต่อจากฉบับที่แล้วที่กล่าวว่ามีการพบศิลาจารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งมีเนื้อหา “กล่าวถึงการฉลองพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ ที่มีการทำบุญบูชาพระเจดีย์ด้วยดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ก็มีการถวายภัตตาหาร รวมทั้งการเลี้ยงอาหารแก่บุคคลทั่วไปและที่สำคัญยังระบุชัดว่า มีการฟังพระธรรมเทศนาและการปฏิบัติธรรม ซึ่งทางผู้เขียนและคณะลงความเห็นว่า หากเนื้อหาจารึกที่กล่าวว่า“การปฏิบัติธรรมนั้นหมายรวมถึงการทำสมาธิภาวนา” แล้วก็เท่ากับว่าศิลาจารึกหลักดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒) ซึ่งบ่งชัดให้เราได้ทราบว่ามีการทำสมาธิภาวนาแบบพระพุทธศาสนาในช่วงเวลานั้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย
 

จารึก เย ธัมมา... บนพระซุ้มศรีวิชัย อักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต พระพิมพ์ดินเผา
พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พบที่บริเวณวัดเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ที่มา http://thaibigplaza.com/img/18c/7a4/18c7a439c13d9c218bb9c8817c3555a8_0.jpg

     ส่วนคาถา เย ธัมมา.. ที่เขียนเป็นภาษาสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะนั้น หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือจารึกบนพระซุ้มศรีวิชัย ซึ่งเป็นพระพิมพ์ดินเผา มีสัณฐานทรงกลมครึ่งซีก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ด้านหน้ายกขอบโดยรอบ ภายในขอบเป็นรูปพระพุทธเจ้า รอบองค์พระปรากฏจารึกอักษรปัลลวะเขียนคาถา เย ธัมมา.. เป็นสองวงซ้อนบรรทัดกันลักษณะอักษรอยในช่วงพทุธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ พบพระพิมพ์ดังกล่าวกว่าสองพันองค์ที่ตำบลเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

     จากการขุดค้นเมืองโบราณยะรังในเขตจังหวัดปัตตานี พบพระสถูปจำลองและชิ้นส่วนแตกหักมากมาย ตัวอย่างจารึกสถูปจำลองดินเผาที่ค่อนข้างสมบูรณ์มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตเป็นคาถา เย ธัมมา.. และได้พบพระพิมพ์ดินดิบอีกเป็นจำนวนมาก ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปประดับด้วยเจดีย์ทั้ง ๒ ข้างข้างละองค์ กลุ่มจารึกและโบราณวัตถุเหล่านี้บ่งชี้ถึงการรับนับถือพระพุทธศาสนา นิกายเจติยวาทหรือไจติกะ อันเป็นสาขาของนิกายมหาสางฆิกะ
 

จารึก เย ธัมมา... บนพระสถูปดินเผาเมืองยะรัง
อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
ฐาน ๗.๕ ซม. ยอด ๒.๔ ซม. สูง ๑๑.๗ ซม.

     อักษรปัลลวะที่ปรากฏในจารึกโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น ต่อมาได้ประดิษฐ์เป็นอักษรมอญโบราณสายหนึ่ง ซึ่งพัฒนาต่อไปเป็นอักษรพม่า อักษรธรรมของล้านนา อักษรธรรมล้านช้าง และอักษรธรรมอีสาน และอีกสายหนึ่งพัฒนาเป็นอักษรขอมโบราณ ซึ่งเป็นต้นแบบของอักษรขอมในกัมพูชา อักษรขอมในไทย และอักษรไทย
 

จำลองอักษรจารึก รอบขอบฐานด้านนอก
ที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=746

      หลักฐานทางพระพุทธศาสนาที่ใช้อักษรมอญโบราณ คือ ศิลาจารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๑ (วัดดอนแก้ว) จารึกด้วยภาษามอญโบราณและภาษาบาลี พบที่จังหวัดลำพูนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรหริภุญชัยมาก่อนเนื้อหาในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าสววาธิสิทธิกษัตริย์หริภุญชัย ทรงสถาปนาวัดเชตวันเมื่อพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา และเมื่อพระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกุฏิและเสนาสนะแด่พระภิกษุสงฆ์ อีกทั้งให้จารพระไตรปิฎกไว้ และกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์โดยพระเจ้าสววาธิสิทธิ พระชายา ๒ พระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ และพระโอรส ซึ่งพระเจดีย์ที่สร้างมีจำนวน ๓ องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเชตวัน เรียงตามแนวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เมือ่ พระชนมายุได้๓๒ พรรษา เสด็จออกผนวชพร้อมพระราชโอรส ๒ พระองค์ โดยมีพระมหาเถระราชคุรุเป็นประธานในการผนวช
 

จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ ๑ (วัดดอนแก้ว) อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณและบาลี
หินทรายรูปใบเสมา ทะเบียนวัตถุ ลพ.๑พบที่จังหวัดลำพูน พุทธศตวรรษที่ ๑๗
ที่มา http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/uploads/images/277_1.jpg

     จารึกหลักนี้แสดงว่า อาณาจักรหริภุญชัยนับถือปฏิบัติตามคติพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบเดียวกับที่นับถือปฏิบัติกันในสังคมชาวมอญในพม่าและในพุกามสมัยพระเจ้าอโนรธาช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งมีคตินิยมที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกผนวชชั่วคราว
 

คัมภีร์ใบลาน ธัมมกาย อักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยและบาลี

     ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาสังคมทางภาคเหนือของไทยได้รักษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาไว้ในลักษณะคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเก็บไว้ในอารามต่าง ๆ ทั่วทุกจังหวัด อย่างไรก็ตามวิทยาการการพิมพ์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ทำให้คัมภีร์ใบลานเสื่อมความนิยม ส่วนต้นฉบับก็ถูกลืมเลือนและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา จึงควรแก่การสงวนไว้เพื่อการศึกษาความคิดและรักษาคลังปัญญาของบรรพชนอีกทางหนึ่งต่อไป
 

จารึกด่านประคำอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าทรงประกอบด้วยพระธรรมกาย พระสัมโภคกาย และพระนิรมานกาย
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภาพโดย ชะเอม แก้วคล้าย

     สำหรับอักษรขอมโบราณซึ่งพัฒนามาจากอักษรปัลลวะนั้น หลักฐานโบราณคดีทางพระพุทธศาสนาได้แก่ ศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงเป็นกษัตริย์พุทธมามกะผู้ทรงเดชานุภาพของกัมพูชา ศิลาจารึกด่านประคำพบที่จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เนื้อความเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระพุทธเจ้าผู้ประกอบไปด้วยพระธรรมกาย พระสัมโภคกายและพระนิรมานกาย จากนั้นเป็นการกล่าวถึงพระราชภารกิจของพระองค์ในการสร้างพระพุทธรูปไวโรจนชินเจ้า สร้างโรงพยาบาล (อโรคยศาลา) และจัดเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ประจำในโรงพยาบาล และกล่าวถึงรายการสิ่งของที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระราชทานไว้ประจำโรงพยาบาล จบลงด้วยการถวายพระพรแด่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
 

คัมภีร์ใบลานธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม (รัชกาลที่ ๓) อักษรขอม - ไทย ภาษาบาลี

     นักโบราณคดีได้พบศิลาจารึกที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงจนเกือบจะเหมือนกัน เช่นศิลาจารึกด่านประคำอีกหลายจารึก ในประเทศไทยพบจารึกเมืองพิมาย (นม.๑๗) จารึกปราสาท (สร.๔) จารึกตาเมียนโตจ (สร.๑) จารึกสุรินทร์ ๒ (สร.๖) และยังพบจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เช่นนี้อีกในกัมพูชาและลาว หลักฐานโบราณคดีเหล่านี้บ่งชี้ถึงพระเดชานุภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามหายานไปทั่วดินแดนต่าง ๆ ในกัมพูชา และภาคกลาง อีสาน ตะวันออก ตะวันตกของไทยรวมทั้งลาวบางส่วน

      ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาดินแดนแถบภาคกลางของไทยได้เก็บรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไว้ในรูปคัมภีร์อักษรขอม-ไทย ที่ปรับปรุงขึ้นให้เหมาะสมกับการเขียนภาษาไทย ส่วนในกัมพูชาใช้อักษรเขมร จนกระทั่งวิทยาการตะวันตกนำระบบการพิมพ์ด้วยเครื่องจักรเข้ามา ความรู้และประสบการณ์ในด้านพระพุทธศาสนาและวิทยาการสาขาต่าง ๆ ของบรรพชนที่สะสมมาเป็นศตวรรษก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมเราจึงควรอนุรักษ์นำกลับมาศึกษาให้ได้ประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจในคำสอนดั้งเดิมพระพุทธศาสนาให้เด่นชัดขึ้น
 
      ดังนั้นผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบัน DIRI จึงขอปวารณาอุทิศตนทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นอย่างเต็มกำลัง เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านน้อมถวายเป็นพุทธบูชาสืบไป

วศิน อินทสระ. (๒๕๓๐). อธิบายมิลินทปัญหา, กรุงเทพฯ : สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัย
พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย.
วัฒนไชย. (๒๕๓๖). มิลินทปัญหา : ธัมมวิโมกข์ ฉบับรวมเล่ม, อุทัยธานี : ม.ป.พ.
หม่องทิน อ่อง. เพ็ชรี สุมิตร แปล (๒๕๑๙). ประวัติศาสตร์พม่า. กรุงเทพฯ : โครงการตำราสังคมศาสตร์และ
มนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย.
เอลซา ไชนุดิน. เพ็ชรี สุมิตร แปล (๒๕๕๒). ประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.
Chaihara, Daigoro. (1996). Hindu-Buddhist Architecture in Southeast Asia. Leiden, New York : Köln:Brill
(p.84).
Hermann, Kulke; Rothermund D (2001). A History of India. Routledge. ISBN 0-415-32920-5.
Sen, Sailendra Nath. (1999). Ancient Indian History and Civilization. New Age International, p.445. ISBN
9788122411980.
Sri Chamanlal. (1960). Hindu America. Bharatiya Vidya Bhava.


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

อักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรมอักษรธรรมล้านนา อักษราจารพุทธธรรม

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๓)หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๓)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว