ฝึกเด็กอย่างไรโตไปไม่โกง


[ 17 พ.ค. 2560 ] - [ 18341 ] LINE it!

ฝึกเด็กอย่างไรโตไปไม่โกง

เรียบเรียงจากรายการ ทันโลกทันธรรม
 
สาระดีๆทันโลกโดย ผศ.ดร.สุวัฒน์ อธิชนากร และชุลีพร ช่วงรังษี 
 
โตไปไม่โกง     
โตไปไม่โกง

     การทุจริตคอรัปชั่น ถ้าเกิดขึ้นในสังคมไหน หรือบ้านเมืองไหนนั้น สังคมและบ้านเมืองนั้นย่อมมีปัญหา ซึ่งการปลูกฝังไม่ให้คนในสังคมมีนิสัยคดโกง หรือคอรัปชั่นนั้น จำเป็นต้องเริ่มกันตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะได้ผล แต่การที่จะปลูกฝังกันตั้งแต่เล็ก ก็ต้องมีวิธีการที่เหมาะสมอีก เรื่องการปลูกฝังค่านิยมที่โตไปไม่โกง หรือว่าให้มีคุณธรรมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ควรจะเริ่มกันตั้งแต่เล็กๆ-6 ขวบ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก ผู้ที่ควรจะปลูกฝังก็คือพ่อแม่เป็นหลัก
 
     เพราะว่าพ่อแม่มีเวลาใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด บางคนอาจจะผลักภาระให้คุณครูที่โรงเรียนอนุบาลช่วยดูแล ช่วยปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม  เราต้องคำนึงว่าที่โรงเรียนคุณครูหนึ่งคน ต้องดูแลเด็ก 10-20 กว่าคน ซึ่งคุณครูดูแลไม่ได้ทั่วถึงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม พ่อแม่มีหน้าที่หลัก พ่อแม่หนึ่งคน ลูกอาจจะ 1-2 คน เรียกว่า 1 ต่อ 2 หรือ 2 ต่อ 2  ซึ่งจะทำหน้าที่สมบูรณ์กว่าคุณครูด้วยซ้ำไป นึกถึงคำหนึ่งที่ว่า “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ซึ่งเป็นความจริง เพราะเด็กมีพื้นฐานคุณธรรมในใจ พอเกิดมาก็เริ่มเรียนรู้ แล้วเราต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งมีด้วยกัน 6 ขั้นตอนด้วยกัน
 
6 ขั้นตอนโตไปไม่โกง
     1.สอนให้เด็กรู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกกับผิด ซึ่งตอนเด็กที่เล็กมากๆ เด็กอาจจะไม่สามารถแยกแยะได้ แต่เราควรหมั่นพร่ำสอนเป็นตัวอย่างอยู่เรื่อยๆ เด็กก็จะค่อยๆซึมซับไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กมีการแย่งของเล่นกัน อาจจะแย่งกันระหว่างพี่น้อง หรือแย่งกันระหว่างเพื่อน เพราะฉะนั้นถ้าลูกเราไปแย่งของเล่นจากคนอื่น เราต้องสอนลูกเราว่า อันนี้ของของเขานะ เราควรจะขอยืมเขาก่อน ถ้าเขาให้ยืมเราก็เล่นได้ หลังจากเล่นเสร็จก็เอาไปคืน ถ้าไม่ให้ยืมก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะไม่ให้ยืม แล้วเราควรจะไปเล่นอย่างอื่นแทน เด็กอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเล่นไม่ได้ พ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่าเลยไม่ให้เล่นหรือเปล่า
 
     ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ อาจจะต้องแยกเด็กออกมาแล้วค่อยๆ ซึมซับไปว่าเล่นไม่ได้ ครั้งแรกอาจจะร้องไห้ ก็ต้องทนนิดหนึ่ง ต้องทนเห็นลูกร้องไห้ ค่อยๆ สอนเขาไป หลายๆ ครั้งเขาก็จะรู้เองโดยพฤติกรรม ว่าเขาไม่ควรไปแย่งของเล่นของคนอื่น ถึงเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไม แต่โดยพฤติกรรมแล้ว พ่อแม่ทำให้ดูว่าการไปแย่งนั้นไม่ถูก เขาจะค่อยๆ เข้าใจไป ซึ่งแบบนี้พ่อแม่ก็ต้องปฏิบัติต่อลูกทุกคนอย่างเป็นธรรมด้วย ถ้าน้องแย่งของเล่นพี่ไม่ได้ พี่ก็ต้องแย่งของเล่นน้องไม่ได้ ทุกคนจะรู้สิทธิ์ของกันและกัน และเคารพกติกาว่าใครเป็นเจ้าของคนนั้นต้องมีสิทธิ์ ตรงนี้เป็นพื้นฐานเลยทำให้เขาแยกแยะผิดถูกดีชั่วต่อไปได้ในอนาคต
 
 
    
 
     2.ฝึกให้เด็กมีความซื่อสัตย์ เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นอาจจะไปโรงเรียนอนุบาล เริ่มมีสังคมเริ่มมีเพื่อน แล้วเราก็ควรจะคอยสอดส่องดูแลเด็ก เมื่อเด็กกลับมาบ้านควรสังเกตว่ามีอะไรผิดปกติไหม เช่น วันนี้เราให้ดินสอไปโรงเรียนสามแท่ง เด็กอาจจะกลับมาห้าแท่ง เราก็ต้องสอบถามอีกว่า สองแท่งมาจากไหน เพื่อนอาจจะให้มาก็ได้ หรือว่าเด็กอาจจะไปหยิบของเพื่อนมา ก็ต้องคอยคุยสอบถามให้รู้ถึงความจริง ถ้าเด็กไปหยิบของเพื่อนมา ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจว่า การไปเอาของคนอื่นมานั้นไม่ถูกต้อง เพื่อนที่ดินสอหายไป เขาก็จะเสียใจ ถ้าดินสอของเราเองหายไปบ้างเราก็จะเสียใจ
 
     คือ สอนให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลว่า การนำของผู้อื่นมาเป็นของตัวเองนั้นมันไม่ดีอย่างไร เราต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และขอเสริมว่า อย่าไปดุลูก การดุอาจทำให้เขากลัว แต่ไม่ได้จูงใจให้ทำตาม แล้วเขาจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักเขา พ่อแม่เกลียดเขา เขาไม่ดี จะเป็นปมต่อไปในอนาคตของเขา และในเรื่องของการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้ถูกต้องตั้งแต่เด็ก จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เขาตัดสินใจในเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่างถูกต้องด้วย โตไปก็จะมีพื้นฐานของการไม่โกง
     
 
     3.สอนให้ละอายแก่ใจกระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นการสอนถึงเหตุและผลว่า ถ้าเด็กทำบางสิ่งบางอย่างลงไปแล้ว จะเกิดผลรอบตัวอย่างไรบ้าง ฝึกให้เขาได้คิด เช่น เราอาจจะสร้างสถานการณ์ แล้วถามลูกเราว่า ถ้าหนูไปซื้อของแล้วแม่ค้าทอนเงินเกินมาแล้วหนูจะทำอย่างไร ถ้าเด็กตอบว่าเอาเงินไปคืนแม่ค้า เราก็ชื่นชมยินดีไปกับเด็ก ว่าเด็กตัดสินใจถูก แล้วถ้าเด็กตอบว่าเก็บเงินเข้ากระเป๋าสิ เราจะได้มีเงินเก็บสะสมเยอะๆ เราก็ต้องค่อยๆ สอนลูกของเราว่า เราเอาเงินของแม่ค้ามา แม่ค้าก็ขาดรายได้ บางทีก็อาจจะขาดทุนไปก็ได้ ซึ่งแม่ค้าก็มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบรายวันของเขา ก็ทำให้เขาขาดรายได้ หรือขาดทุนไป
 
     ถ้าหนูเอาเงินไปคืนแล้วก็จะทำให้แม่ค้านั้นดีใจ แม่ค้าก็จะขอบคุณหนูด้วยซ้ำไป ว่าหนูเป็นคนดีนะเอาเงินมาคืนแม่ค้า ซึ่งเรื่องนี้ก็สำคัญอีกแล้ว เพราะเวลาเด็กได้ทำดีแล้ว ผู้ใหญ่ก็ชื่นชม ทำให้เกิดแรงจูงใจให้เขาทำดีต่อไป แต่ว่าถ้าผู้ใหญ่บางคนบอกว่า หนูก็เก็บไว้สิ หรือแล้วว่าฉลาดมากเลย อย่างนี้ผิดถนัดเลย เพราะจะทำให้เขารู้สึกว่าการไปโกงเป็นเรื่องที่ฉลาด เรื่องที่ควรทำ ต่อไปเขาก็จะเป็นคนโกง แต่ว่าในทางตรงข้ามถ้าผู้ใหญ่ชื่นชมในสิ่งที่เป็นความดีอย่างแท้จริง เขาก็จะเป็นคนดีอย่างที่ผู้ใหญ่ชื่นชม เราต้องส่งเสริมให้เขามีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาป
 
   
 
     4.ฝึกให้เคารพกฎกติกาและความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก เพราะคนที่โกงส่วนมากนึกถึงตัวเองเป็นหลัก ไม่เคารพกฎระเบียบทางสังคม ไม่เคารพความเป็นธรรมทางสังคม เราควรปลูกฝังข้อนี้ให้กับลูกของเราตั้งแต่ยังเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น เป็นการเคารพสิทธิ์ผู้อื่น การเข้าแถวเพื่อรับขนม ใครมาก่อนก็ควรจะได้ก่อน นี่ก็เป็นกติกาที่สำคัญของสังคม การเคารพกฎจราจร ซึ่งเวลาลูกไปกับพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสอนลูกได้ ในเรื่องของกฎจราจร ใครทำถูกเราก็ชมเชยให้ลูกฟัง ใครทำไม่ถูกพูดประเดิมให้ลูกฟังว่าหนูอย่าไปทำนะ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ก็เป็นการสอนลูกไปในตัว
 
     ให้ลูกเคารพสังคม ที่สำคัญพ่อแม่ต้องทำให้ดูด้วย ไม่ใช่ว่าสอนลูกให้เคารพกฎจราจร แต่พอถึงเวลาคุณพ่อคุณแม่ก็ฝ่าไฟแดง หรือปาดซ้าย ปาดขวาไปตลอด รวมทั้งด่าเพื่อนร่วมถนนทำให้ลูกเรียนรู้จากการปฏิบัติของคุณพ่อคุณแม่มากกว่า เรื่องไม่เคารพกฎกติกาไม่คารพสิทธิ์ผู้อื่น เราจะต้องปูพื้นฐานให้ดี ถ้าเขามีความไม่เคารพ ต่อไปเขาจะขยับขึ้นไปเป็นการเบียดเบียนแล้วก็จะเป็นการโกงในที่สุด แต่ถ้าเขารู้จักเคารพสิทธิ์ของคนอื่น เคารพกติกา ไม่รบกวนผู้อื่น โตขึ้นไปเรื่องเล็กๆเขายังไม่รบกวนคนอื่นเลย แล้วเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เขาย่อมไม่ทำแน่นอน
 
     
 
     5.ฝึกให้รู้จักประมาณตน รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่โลภมาก ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักประมาณตน เช่น ถ้าเด็กมีของเล่นเยอะแล้ว อยากได้ของเล่นอีก พ่อแม่ควรจะห้ามปรามไว้บ้าง ให้เด็กรู้จักไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้เสมอไป เพราะถ้าว่าเด็กได้ตลอด เป็นการฝึกว่าอยากได้อะไรก็ต้องได้เสมอไป เมื่อโตไปเด็กก็จะติดนิสัยนี้ ถึงบางครั้งไม่มีเงินไม่เป็นไรก็จะสามารถหาวิธีการต่างๆเพื่อที่จะได้ของสิ่งที่อยากได้ เพราะว่าเคยสมหวังมาตลอด เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักประมาณตน รู้จักการที่ไม่ได้ทุกอย่างตามปรารถนาบ้าง
 
     การฝึกง่ายๆ เช่น การไปตักอาหาร ในบุฟเฟ่ต์ หรือที่ไหนๆ ก็ตาม ควรจะตักพอประมาณ และสอนลูกว่าควรจะเผื่อให้คนข้างหลังบ้าง เพราะจะมีคนมาทานอาหารต่อจากเรา สอนให้เด็กรู้จักแชร์แบ่งปันให้แก่คนอื่น และเป็นการฝึกให้เด็กไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง เรื่องการตักอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ "ขนาดท้องของตัวเอง ถ้ายังประมาณไม่ถูกแล้ว เด็กจะไม่รู้จักประมาณอะไรถูกเลย" อีกอย่างเรื่องอาหารเป็นเรื่องที่เราจะต้องทานทุกวัน วันละหลายๆ มื้อ ถ้าเขาได้ฝึกเรื่องการประมาณ จากกิจวัตรประจำวัน อย่างเรื่องการทานอาหาร ก็จะเข้าไปอยู่ในนิสัยของเด็กอย่างแท้จริง 
 
     
 
     6.หมั่นพาลูกเข้าวัดทำบุญ ให้เขาหัดทำทาน รักษาศีล สวดมนต์ นั่งสมาธิ การทำทานจะทำให้เขารู้จักการแบ่งปันต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว การรักษาศีล คือศีลข้อที่ 2 เน้นเรื่องของการอทินนาทาน การไม่ลักขโมย การไม่โกง ถ้าเขาปฏิบัติได้ โตไปเขาไม่โกงแน่นอน การฝึกให้เขานั่งสมาธิ สวดมนต์ ก็เป็นการทำให้เขาจิตใจสงบ ไม่ละโมบโลภมาก ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีความสุขในสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว ให้จิตของเขาอ่อนโยน นอกจากจะเป็นการฝึกนิสัยแล้ว การพาลูกไปวัด ก็เป็นการพาลูกไปสู่สังคมที่ดีด้วย เขาก็จะมีเพื่อนที่ดี ที่มีคุณธรรมจริยธรรม ก็จะซึมซับนิสัยที่ดีๆจากบุคคลที่ไปวัดด้วยกัน
 
     แล้วที่สำคัญเขาจะได้เรียนรู้เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าคนเราลองเข้าใจกฎแห่งกรรมอย่างลึกซึ้ง จะไม่อยากทำความชั่วเลย ไม่อยากโกงใคร ไม่อยากทุจริตคอรัปชั่น เพราะการโกงเขาหนึ่งครั้ง ตัวเองจะต้องได้รับวิบากกรรมอีกหลายร้อยครั้ง อย่างเช่น ห้าร้อยครั้ง เป็นต้น
 

 

 
 
 
สรุปหลักการโตไปไม่โกงย่อๆ มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 
 
    1. ต้องทำให้เด็กแยกแยะให้ออกว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีชั่ว หรือเหมาะไม่เหมาะ
     2 .ต้องให้เขามีภูมิคุ้มกัน คือรู้สึกละอาย รู้สึกเกรงกลัวต่อการทำความไม่ดี ต่อการโกง การคอรัปชั่น
     3. ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจในเวลาที่เขาทำดี ให้มีความสุข ความปลื้มใจจากผลการกระทำดีของตัวเอง 
 
     ถ้าได้ 3 ข้อนี้ เด็กจะมีพื้นฐานที่โตไปไม่โกง แต่ข้อที่สำคัญที่สุด ก็คือคุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กดูว่าอยากเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต และไม่โกง 
 
มุมมองธรรมะทันธรรมโดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ
 
 
      ฝึกเด็กอย่างไรโตไปไม่โกง เราคงต้องการให้ลูกหลานเราเองเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต และให้คนในสังคมมีคนสุจริตเยอะๆ แต่จะได้อย่างนั้นต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กๆ เพราะว่าสิ่งที่ปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ จะอยู่ลึก ถ้าหากตอนเด็กไม่ได้อบรมเพียงพอ มาสอนตอนโตมันซึมเข้าไปลึกๆ มันยาก มันได้แค่ผิวๆ จะเอากฎหมายไปขู่ก็คุมได้แค่ว่ากลัวจะถูกลงโทษ พอโอกาสเปิดให้เมื่อไหร่ ก็พร้อมจะทำทันที
 
      ตัวอย่างที่นิวยอร์ก กฎหมายของอเมริกาเข้มมาก ตำรวจมีแต่ตัวโตๆ ทั้งนั้นเลย ไม่เหมือนตำรวจบ้านเรา บ้านเราอาจจะมีพุงหน่อยๆ เพราะอายุเยอะแล้ว เป็นต้น แต่ของอเมริกาไม่มีเลย และต้องออกกำลังการสม่ำเสมอ เพราะว่าต้องสู้กับผู้ร้ายตลอดเวลา สู้กันทีตำรวจก็ต้องพร้อมที่จะลงไม้ลงมือ ปรกติเขาก็เอาอยู่ในระดับหนึ่ง แต่พอเกิดเหตุไฟดับครั้งใหญ่ คือ เกิดไฟดับทั้งเมือง เกิดคนแห่ปล้นเลย จนต้องเอาทหารมาคุม เพราะปรกติมีไฟฟ้าอยู่ มีตำรวจอยู่ ถ้าไปปล้นแล้วถูกตำรวจจับ เขาก็ยังไม่ค่อยกล้า แต่พอไฟดับทั้งเมืองคิดว่าโอกาสให้แล้ว ปล้นแล้วตำรวจจับยาก พอปล้นก็เห็นทางซ้ายก็ปล้น ทางขวาก็ปล้น ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกว่าปล้นกันเยอะขนาดนี้ตำรวจไม่มีเวลามาจับเราหรอก
 
     ถ้ามีปล้นแค่เจ้าเดียวตำรวจก็แห่กันมาที่เดียว สู้ตำรวจไม่ได้โอกาสถูกจับสูง แต่คนแห่กันปล้นเป็นร้อยเป็นพันจุดทั้งเมือง ตำรวจงง ไม่รู้จะไปจับใคร เพราะฉะนั้นคนปล้นมีโอกาสถูกจับได้น้อยกว่า เท่านั้นเองเกือบจะเป็นจลาจล แทบจะประกาศกฎอัยการศึกมาคุม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แสดงว่า ไม่ได้ปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ถูกกฎหมายมาคุมเอาไว้ มันได้แค่ผิว สภาวะเอื้อให้เมื่อไหร่ ก็พร้อมที่จะปล้นทันที พร้อมจะลักจะขโมยทันที ซึ่งถ้าเราอยู่แบบนี้ก็น่ากลัว อยู่กับคนรอบๆ ข้างที่รู้สึกว่าถ้ามีโอกาสให้เมื่อไหร่เขาก็พร้อมจะลักจะปล้นจะทำร้ายเรา มันหวาดเสียว มันเหมือนกับอยู่ในป่า กับสัตว์ร้ายในป่า มันน่ากลัว แต่ถ้าเป็นมนุษย์ที่เป็นสัตว์ประเสริฐจริงๆ ต้องปลูกฝังเรื่องศีลธรรม ให้เคารพในกรรมสิทธิ์ข้าวของ และชีวิตของคนอื่นตั้งแต่ยังเล็กๆ

วิธีการปลูกฝังโตไปไม่โกงมีด้วยกัน 2 ข้อ
 
 
การปลูกฝังคุณธรรมให้เคารพในกรรมสิทธิ์ของคนอื่น(โตไปไม่โกง)
 
 
     1.ฝึกให้เป็นนิสัยตั้งแต่เด็ก นิสัยที่แยกแยะออกว่านี่กรรมสิทธิ์ของฉันนี่กรรมสิทธิ์ของคนอื่น ต้องแยกตรงนี้ให้ออกตรงนี้แหละคือเครื่องแยกจำแนกคนออกจากสัตว์ สัตว์ไม่รู้จักกรรมสิทธิ์ของคนอื่น เช่น เวลาหิวก็ไปล่าสัตว์ พอล่าเหยื่อมาได้ สัตว์ตัวอื่นก็พร้อมจะมาแย่งชิง สิงโตล่าเหยื่อได้ ไฮยีน่าก็พร้อมจะมาแย่งเหยื่อจากสิงโต ตัวที่แข็งแกร่งกว่าก็จะแย่งชิงไปอีกทอดหนึ่ง อยู่ที่พละกำลังใครจะเหนือกว่าแค่นั้นเอง มันไม่รู้จักว่านั่นเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ใกล้ตัวเราที่สุดเช่น สุนัขที่เราเลี้ยง ให้ข้าวตัวละจาน เดี๋ยวก็แย่งกัน กัดกัน ทำไมมันไม่กินจานใครจานมัน เพราะนั่นคือสัตว์ มีสุนัขบางตัวที่ไม่แย่งกัน แสดงว่าใกล้จะพ้นกรรมแล้ว จะกลับมาเป็นคนแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะแย่งกัน แต่คนไม่ทำเวลาเห็นกับข้าวเพื่อนน่าทานแล้วเอาไปแย่งเลย
 
 
     เพราะคนเราต่างจากสัตว์ อันไหนของเราอันไหนของคนอื่น ต้องปลูกฝังเรื่องนี้ให้อยู่ลึกๆ ตั้งแต่ยังเด็กให้แยกจนกระทั่งจะขวสองขวบก็เริ่มสอนได้แล้ว ถ้าเป็นของคนอื่นเราเอามาไม่ได้ ถ้าลูกไปหยิบมาก็บอกลูกว่าหยิบไม่ได้ ต้องไปคืนเขา ใหม่ๆ เด็กอาจจะงงๆ หน่อย เดี๋ยวก็จะค่อยๆซึ มซับจนกระทั่งว่ารู้ภายในใจว่า ของๆเรากับของๆเขา ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์ก้าวล่วง แม้จะเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ก็ไปก้าวล่วงของคนอื่นไม่ได้ ทำจนกระทั่งเป็นนิสัย เมื่อไหร่ที่เด็กไปเอาของๆคนอื่นมา ไปโรงเรียนมามีดินสอกลับมาเยอะกว่าเดิม แสดงว่าไม่ใช่ของตัวเอง ต้องให้ไปคืน จะทำเป็นเล่นไม่ได้ ย้ำๆ ปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก จนกระทั่งโตขึ้นมา ถ้าได้อย่างนี้แล้วเด็กก็จะเริ่มแยกแยะออกว่าของเรา ของเขา จนกระทั่งทำเป็นนิสัย พอเป็นนิสัยแล้วโอกาสจะไปก้าวล่วงของคนอื่นเขาจะน้อย เพราะทำไปแล้วมันจะฝืนใจตัวเอง รู้สึกทำไปแล้วไม่สบายใจ นี่คืออานุภาพของนิสัย
 
     2.สอนกฎแห่งกรรม บุญ บาป เล่านิทานกฎแห่งกรรมให้ฟัง อาจจะเป็นชาดก หรือกฎแห่งกรรม มีหนังสือหรือเรื่องราวต่างๆ ว่าคนทำอย่างนี้แล้ว ไปเกิดผลจากการกระทำอย่างไรบ้าง ทำดีก็ได้ผลดี ทำไม่ดีก็ได้ผลโทษเยอะแยะมากมาย ทำให้มีความทุกข์ อย่าไปนึกว่านิทานมีผลแค่ไหน ซึ่งมีผลมากๆเลย ยิ่งเล่าตอนเด็กๆ มันจะซึมซับไปในใจ ฝังลึกและฝังแน่น จนกระทั่งว่าแม้ไม่มีใครเห็นก็ไม่กล้าจะทำเรื่องในทางที่ไม่ดี เพราะว่าจะทำให้รู้ว่าจะนำผลร้ายมาให้ตัวเองในอนาคต ข้ามภพข้ามชาติเลยทีเดียว จะไม่ทำ นี่คือการเอาหิริโอตัปปะไปคุมไว้ในใจอีกชั้นหนึ่ง 
 
 
     ได้เรื่องนิสัย กับ เรื่องรักบุญกลัวบาป กฎแห่งกรรม 2 อย่างนี้เสริมส่ง กันแล้ว ให้มั่นใจเลยว่าเด็กคนนั้นโตขึ้น จะเป็นคนดีไม่ไปโกงของของใคร ไม่ไปลักของใครแน่นอน แต่ว่าจะทำอย่างนี้ได้ในเชิงปฏิบัติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่ ต้องมีเวลาให้กับเด็ก ไม่ใช่หลักการรู้หมดดีทุกอย่าง แต่ว่าเราไม่มีเวลาให้ลูก เลยไม่มีโอกาสฝึกนิสัยให้กับลูกเท่าที่ควร เด็กไปทำอะไรไม่ดีมาเราก็ไม่รู้ ปล่อยให้เขาทำหลายๆ ครั้งจนชินแล้ว พอชินแล้วเราจับไม่ออกเขาไม่มีพิรุธเราแนบเนียน คนทำผิดใหม่ๆ จะมีพิรุธ ไม่ค่อยกล้าสบตา ท่าทางสีหน้าจะแปลกๆ ถ้าพ่อแม่ให้เวลาแก่ลูกจะจับสังเกตตรงนี้ได้ แล้วดูอีกสักนิดก็จะพบว่าเพราะอะไร แล้วค่อยๆปรับค่อยๆแก้แต่ต้นมือก็จะสำเร็จ แต่ถ้าเกิดไม่มีเวลาให้กับลูก ปล่อยให้ลูกทำไปเรื่อยเปื่อย เรื่องผิดๆ จนกระทั่งชิน สังเกตก็ดูไม่ออกซะแล้ว เพราะฉะนั้นอย่างน้อยหาเวลาทานข้าวกับลูก มีเวลาพูดคุย แนะนำ เล่าเรื่องราวต่างๆ ในโลกปัจจุบันบ้าง เรื่องนิทานศีลธรรมบ้าง ให้ลูกฟัง อย่าไปคิดว่าเชย ไม่เชยเลยทันสมัยตลอดกาล แล้วจะเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างลูกของเรา ให้เป็นคนดี ให้เป็นคนมีความสุขความสำเร็จในชีวิต เจริญพร
 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
อารมณ์กับการเกิดโรคอารมณ์กับการเกิดโรค

Affiliate Marketing ทำอย่างไรAffiliate Marketing ทำอย่างไร

ทำถูกหลักวิชชา นำพาสู่สวรรค์ทำถูกหลักวิชชา นำพาสู่สวรรค์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ