หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔)


[ 13 มิ.ย. 2561 ] - [ 18270 ] LINE it!

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔)

เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
 
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๒๔)
 
      ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้นเป็นบทพระธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ หลังจากที่ตรัสรู้ได้เพียง ๒ เดือน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเมืองพาราณสีในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ คําว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นั้น โดยความหมายแล้วแปลว่า “พระสูตรแห่งการหมุนกงล้อแห่งธรรม”หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายพระธรรมจักรให้กว้างไกล ทั้งนี้นับตั้งแต่ก่อนยุคพุทธกาลเป็นต้นมาชมพูทวีปในสมัยโบราณกําลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน ในสังคมสมัยนั้นต่างก็เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งชนชั้นที่มั่งคั่งร่ํารวย นักพรตนักบวชเป็นจํานวนมากที่ต่างก็พัฒนาความเชื่อและปรัชญาของตนขึ้นมา ฯลฯ การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคําสอนของพระองค์เท่ากับเป็นการประกาศหนทางที่ถูกต้องที่จะนําสัจธรรมและคุณค่าอันแท้จริงมาสู่ชีวิตมนุษย์ ซึ่งการแสดงพระธรรมเทศนา คือ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” เป็นครั้งแรกนี้ส่งผลให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นท่านแรก ซึ่งหลังจากที่พระพุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้วท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนานับตั้งแต่นั้น1

     เกี่ยวกับความสําคัญของบทพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของเรานั้น ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่เคยสาธยายถึงคุณค่าและความสําคัญไว้เช่นกันโดยได้แสดงไว้เป็นบทพระธรรมเทศนาในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ เรื่อง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” โดยตรงซึ่งในความเห็นของพระเดชพระคุณหลวงปู่บทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้นับเป็น “ธรรมที่ลุ่มลึกสุขุมอย่างยิ่ง ไม่ใช่ธรรมที่พอดีพอร้าย” อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นตํารับตําราของพุทธศาสนิกชนสืบต่อไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่นําไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องนั้น จะสามารถ “เอาตัวรอดได้” ในธรรมวินัยของพระบรมศาสดาเลยทีเดียว

      จุดที่ควรพิจารณาอย่างยิ่งในบทพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น นอกจากที่ท่านได้กล่าวถึงสาระสําคัญของบทพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่ว่า “ชีวิตมิใช่การดําเนินไปตามหนทางที่สุดโต่ง ๒ อย่าง” หนทางที่ถูกที่ควรคือการวางตนให้ปฏิบัติตามหนทางสายกลางอันเป็นการดําเนินด้วยปัญญา คือ มรรคมีองค์ ๘ การกล่าวถึงความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คืออริยสัจ ๔ อันเป็นเป้าหมายของชีวิตที่ทุกคนควรศึกษาและเข้าใจเพื่อให้เกิดความสงบระงับเพื่อความรู้ยิ่งคือพระนิพพาน ฯลฯ แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังได้พยายามเชื่อมโยงให้เราเห็นถึงวิธีปฏิบัติที่จะทําให้สาธุชนได้รู้จักการวางใจให้ถูกต้องในมัชฌิมาปฏิปทา หรือ “ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง” ไว้อีกด้วย ซึ่งมิใช่เพียงการอธิบายโดยหลักการธรรมดาเท่านั้น แต่ต้องถือว่าเป็นการอธิบายโดยหลักวิชชาและโดย “หลักในการปฏิบัติธรรม” เลยทีเดียว


      คําว่า “ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง” หรือมัชฌิมาปฏิปทาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านอธิบายนั้น ท่านกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปเลยว่า หมายถึง การเอาใจไปหยุดไว้ณ ตําแหน่งที่เป็น “ศูนย์กลางกายมนุษย์” เลยทีเดียวเพราะตําแหน่งดังกล่าวนั้น มีดวงธรรมที่ทําให้เป็นกายมนุษย์ตั้งอยู่การนําเอาใจไปหยุดอยู่ ณ ตําแหน่งนั้นได้จริงจะถือว่าเป็น “มัชฌิมาปฏิปทา” ที่แท้จริง และในตําแหน่งนี้เองที่ในวาระพระบาลีเรียกว่า “ตถาคเตนอภิสมฺพุทฺธา” คือ เป็นตําแหน่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งของพระองค์ ซึ่งคําว่า “ตถาคเตน” ในที่นี้พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังอธิบายจําเพาะเจาะจงลงไปอีกว่าหมายความถึง “ธรรมกาย” นั่นเองเพราะการเข้าถึงพระธรรมกายก็คือ การเข้าถึงตถาคตแท้ ๆ ดังพุทธดํารัสที่พระองค์ได้ตรัสรับรองไว้ว่า “ ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ” เราตถาคตผู้เป็นธรรมกาย “ตถาคตสฺส วาเสฏฺ เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ” ดังนี้ฯ

     ในพระธรรมเทศนาของพระเดชพระคุณหลวงปู่ที่ว่าด้วย “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นี้ท่านได้คลี่คลายขยายความให้เราทราบถึงวิธีการทําใจให้เป็นกลาง การหยุดใจหรือการเอาใจน้อมเข้าไปในกลางดวงธรรมต่าง ๆ จนถึงพุทธรัตนะที่สถิตอยู่ภายใน ฯลฯ ซึ่งการที่บุคคลสามารถปฏิบัติดังนี้ได้ย่อมเท่ากับว่าได้ “ดําเนินเข้ามาสู่หนทางแห่งอริยมรรค” และจะสามารถ “ประจักษ์แจ้ง” ในความจริง ๔ ประการ หรืออริยสัจ ๔ ได้ซึ่งถือได้ว่าสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้ได้นั่นเอง ฯลฯ

     อนึ่ง การกล่าวถึงมัชฌิมาปฏิปทาหรือ “ข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง” ตามการอธิบายของพระเดชพระคุณหลวงปู่นี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สําคัญที่สุดของหัวข้อธรรมทั้งหมด
เนื่องจากมัชฌิมาปฏิปทานี้เปรียบเสมือนประตูที่จะเชื่อมไปสู่หนทางที่ถูกต้องคือมรรคมีองค์ ๘ และอริยสัจ ๔ ประการในขั้นตอนต่อไปซึ่งโดยความมุ่งหมายที่แท้จริงของพระธรรมเทศนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านนั้นแน่นอนว่ามิได้ทรงมุ่ง แสดงให้แกผู้ที่คิดครองเรือนนําไปใช้ในการครองชีวิตแบบฆราวาสแต่อย่างใด แต่ทรงมุ่ง “เปิดประตู” ให้สาวกของพระองค์ก้าวเดินไปสู่หนทางแหงอริยมรรคเป็นสําคัญ ด้วยเหตุนี้ “ภาษาธรรม” ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ นัยไว้ในบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้จึงควรกล่าวได้ว่าเป็นภาษาแห่งการปฏิบัติอย่างแท้จริงกําลังสวดร่วมกันอยู่นี้ ไม่ใช่บทสวดธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่ย่อมเป็นเหมือนการสาธยายถึง “หลักปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน” ไปด้วยในตัว ซึ่งได้มีการค้นพบหลักฐานสําคัญคือ “คาถาธรรมกาย”ที่จารึกไว้เป็นภาษาเขมรโบราณ จนได้มีการนํามาศึกษาถอดความและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า “ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา” มาก่อนแล้ว โดยท่านศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ (George Coedes) นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส และในเวลาต่อมาศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ก็ยังเป็นผู้ศึกษา วิเคราะห์เกี่ยวกับ “พระธรรมจักรศิลา” อายุ เก่าแก่กว่า ๑,๔๐๐ ปีและได้สรุปว่า ข้อความในพระธรรมจักรศิลานี้เกี่ยวข้องกับอริยสัจ ๔ ประโยชน์แห่งมรรค และญาณ ๓ ประการ
 
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes)
นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรั่งเศส

     ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติโดยตรงข้อยืนยันดังกล่าวจึงเป็นข้อยืนยันที่มีคุณค่ามาก เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันของ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” และการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างชัดเจน สมดังที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านได้ค้นพบและเผยแผ่มาตลอดชีวิตของท่าน เช่นเดียวกับภารกิจที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ดําเนินการมาโดยตลอดนั้น ก็เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะช่วยยืนยันถึงความมีอยู่ของวิชชาธรรมกายที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานประเภทต่าง ๆ ในภาคปริยัติไม่ว่าจะเป็นในรูปของคัมภีร์พุทธโบราณภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกหรือในรูป ของศิลาจารึกและงานพุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ทั้งภายในและต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปสู่ภาคปฏิบัติและปฏิเวธให้มากที่สุด และเป็นการยืนยันให้ได้มากที่สุดว่าธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ดีจริงต่อชีวิตและสามารถนํามาปฏิบัติได้จริงนั่นเอง
 
พระธรรมจักรศิลา
พระธรรมจักรศิลา
   
      ในการนี้ ผู้เขียนทราบดีว่า พวกเราเหล่าศิษยานุศิษย์ต่างตั้งใจที่จะสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยความปลื้มปีติใจจึงขอให้ทุกท่านตั้งจิตเสมือนหนึ่งว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่ได้มาสถิต ณ ศูนย์กลางกายของเราให้ชัดใสสว่าง ดังนี้ย่อมเท่ากับว่าเรากําลังปฏิบัติบูชาท่านไปพร้อมๆ กับการสวดสาธยายหลักธรรมคือบท “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” อานิสงส์ที่เกิดขึ้นจึงย่อมมีมากมายมิอาจประมาณได้และเมื่อเราได้ทําตามคําสอนอย่างถูกต้องต่อเนื่อง วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วนเราก็จะได้ประสบการณ์ภายใน เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราได้อย่างแน่นอน
 
      ดังนั้นจึงขอให้เราอย่าทอดทิ้งการปฏิบัติธรรมอย่าละความเพียร เราจึงจะพิสูจน์ดังคํากล่าวในพระธรรมคุณที่ว่า “เอหิปสฺสิโกจงมาพิสูจน์เถิด” ต่อไปเราก็จะได้เป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่จริงของวิชชาธรรมกายในยุคปัจจุบันเป็น “หลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต” และจะได้ช่วยกัน “หมุนกงล้อแห่งธรรม” จากยุคปัจจุบันนี้ไปสู่อนาคตได้อย่างเป็นอัศจรรย์เทอญฯ

ขอเจริญพร

1 ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๔ ภาค ๑ และในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวว่า ในวันที่สอง
ของการประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระบรมศาสดาโปรดประทานธรรมิกถาว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา ด้วยธรรมิกถานี้ทําให้ท่านมหานามะและท่านอัสสชิได้
ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล จนถึงวันแรม ๔ ค่ํา พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้บรรลุโสดาปัตติผลครบทั้ง ๕ รูป
ครั้นถึงในวันแรม ๕ ค่ํา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ทําให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดบรรลุอรหัตผล



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

พุทธศาสนากับภาษาไทยพุทธศาสนากับภาษาไทย

ผ้าอาบน้ำฝน ที่มาและความหมายของผ้าอาบน้ำฝนผ้าอาบน้ำฝน ที่มาและความหมายของผ้าอาบน้ำฝน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว