สงสัยอย่างสร้างสรรค์


[ 27 ต.ค. 2561 ] - [ 18282 ] LINE it!

สงสัยอย่างสร้างสรรค์
อะไร ที่ไหน ทำไม การตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ดี แต่จะสงสัยให้ดีต้องสงสัยอย่างไร

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC



ความสงสัยมีแบบสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ มีความเหมือนหรือความแตกต่างกันอย่างไร?
          ความสงสัยชนิดที่นำไปสู่การค้นพบ และความก้าวหน้าทางวิทยาการต่างๆ เช่น Sir Isaac Newton สงสัยว่า ทำไมลูกแอปเปิ้ลหลุดจากขั้วแล้วร่วงมาที่พื้น ทำไมไม่ลอยขึ้นไปบนฟ้า ทำไมต้องร่วงลงมาในทิศทางลงมาสู่พื้นโลกด้วย แสดงว่าต้องมีแรงอะไรบางอย่างดูดลูกแอปเปิ้ลให้ลงมาที่พื้น แล้วพยายามหาคำตอบ สุดท้ายจึงค้นพบ “แรงโน้มถ่วงของโลก” การสงสัยอย่างนี้ สงสัยแล้วสร้างสรรค์ เพราะนำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบ แล้วได้เจอวิทยาการใหม่ๆ คำตอบใหม่ๆ นำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนความสงสัยอีกแบบหนึ่ง เป็นความสงสัยแบบทั่วๆไป หรือความอยากรู้อยากเห็น เช่นอยากรู้ว่า เพื่อนกินข้าวกับอะไร ไปเที่ยวที่ไหน บรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นอย่างไรบ้าง บางคนเข้าไปดูเฟสคนอื่น แล้วเข้าฟีดนั้นฟีดนี้ไปเรื่อย เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขาทำอะไรอย่างไรบ้าง เป็นความอยากรู้อยากเห็น ไม่ได้เกิดประโยชน์ ไม่รู้กับรู้ไม่แตกต่างกัน แค่ไม่ตกข่าวคุยกันพอรู้เรื่อง 




          เราควรเลือกรู้ในสิ่งที่คิดว่า รู้แล้วเป็นประโยชน์ต่ออาชีพการงาน เป็นประโยชน์ต่อสิ่งที่จะไปต่อยอดเพื่อการตัดสินใจบางอย่าง การอยากรู้เรื่องชาวบ้าน เป็นการรู้ที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ ต้องแยกแยะให้ดี คนติดนิยายเป็นเพราะความสงสัยอยากรู้อยากเห็น คนเขียนมักเลือกจบตอนที่มีจุดไคลแมกซ์ ทำให้อยากรู้ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร เมื่อถึงตอนที่กำลังอยากรู้อยากเห็น จะมีคำว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป” จึงต้องติดตามอ่านวันรุ่งขึ้นเพราะความอยากรู้อยากเห็นทำให้ติดนิยาย บางครั้งอ่านได้ทั้งคืนจนสว่าง เพราะพออ่านหน้านี้ไปแล้วก็อยากจะรู้ว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นในหน้าต่อไป แล้วฉากต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น อารมณ์อยากรู้อยากเห็นทำให้อ่านไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องมาเช็คตัวเองว่าเราอยากรู้อยากเห็นมากเกินไปจนกระทั่งเสียเวลาของชีวิต หรือเป็นความสงสัยอย่างสร้างสรรค์

การตั้งคำถาม อะไร ทำไม บ่อยๆ คือความลังเลสงสัย เป็นวิจิกิจฉาในนิวรณ์ 5  ใช่หรือไม่?



          ในชีวิตประจำวันการเรียนหนังสือเป็นการใช้ จินตามยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์ ต้องพยายามหาข้อมูล แสวงหาความรู้ แสวงหาคำตอบ แต่ตอนนั่งสมาธิ เราไม่ต้องไปสงสัยอะไรมาก ทำด้วยใจนิ่งๆ เป็นระดับของปัญญาแบบภาวนามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา การจะเห็นแจ้งได้ ใจต้องสงบ แล้วจะสว่าง ถึงจะส่องให้เห็นความจริงของโลกและชีวิตโดยไม่ต้องคิด เป็นลักษณะการเห็นคำตอบ เป็นญาณทัศนะซึ่งเป็นปัญญาอีกระดับ ตอนนั่งสมาธิไม่ต้องมีวิกิจฉา ไม่ต้องนั่งคิดสงสัยเพราะระดับนี้ไม่ใช่ระดับที่ใช้ความคิด เป็นระดับที่ต้องหยุดคิด “ให้ออกจากความคิดทำจิตให้สงบแล้วจะพบทางออก” 



         เด็กซึ่งเป็นวัยที่มีจินตนาการ มีความคิดในโลกจินตนาการ จะชอบไปดิสนีย์แลนด์ เพราะรู้สึกเป็นดินแดนในเทพนิยาย ใช้จินตนาการแบบอิสระเสรี เหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่งที่สามารถใช้จินตนาการได้เต็มที่ แต่พอโตขึ้นจินตนาการจะลดน้อยลงเพราะเกิดการเรียนรู้แล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่อมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่ไอสไตล์บอกว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” ดังนั้นการที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไรใหม่ๆได้ต้องอาศัยพลังแห่งจินตนาการ อย่าไปคิดว่าจินตนาการฟุ้งซ่านเหมือนกับเด็กอยู่ในเทพนิยาย แต่มีจินตนาการแล้วแสวงหาคำตอบสุดท้ายจินตนาการ 10 เรื่อง อาจมี 8 เรื่อง ที่เป็นเรื่องที่เลื่อนลอย และอาจมี 2 เรื่องตรงเป้าทำให้ทะลวงพรมแดนแห่งความรู้ดั้งเดิมของมนุษย์ออกไปสู่พรมแดนใหม่ ขยายพรมแดนของความเข้าใจโลกและชีวิตกว้างออกไป นี่คือพลังจินตนาการที่ทะลุทะลวงไปได้ เด็กมีพลังจินตนาการที่มากมาย ถ้าผู้ใหญ่ดูแลเด็กเป็นเด็กจะเติบโตขึ้นมาแล้วฉลาด



          ดังนั้นผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ครูบาอาจารย์ก็ตาม อย่าไปจำกัดพลังจินตนาการของเด็ก ค่อยๆ ตอบค่อยๆ ไกด์ ซึ่งผู้ใหญ่มี 2 แบบ แบบหนึ่งคือเมื่อเจอคำถามที่ตอบไม่ได้ก็ใช้อำนาจเข้าไปข่มเด็ก อีกแบบหนึ่งคืออธิบายให้เด็กยอมรับด้วยการให้เหตุให้ผล อยากให้เด็กทำอะไร อยากให้คนอื่นทำอะไร เด็กก็มีสิทธิ์ให้เหตุผลได้ ผู้ใหญ่ต้องมีเหตุผลที่ดีกว่ามีข้อมูลที่มากกว่าอธิบายให้เขายอมรับได้ หากตอบไม่ได้ก็บอกตรงๆ ไม่ต้องกลัวเสียหน้าว่าเรื่องนี้ยังไม่รู้ เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมา แล้วจะมาอธิบายให้ฟัง ถ้าอย่างนี้แล้วแล้ว พลังความรู้ความสามารถจินตนาการของคนจะถูกเอามาใช้อย่างเต็มที่ แล้วสังคมนั้นจะเจริญ 



          ความสงสัยมีสองแบบ คือสงสัยแบบไม่สร้างสรรค์ สงสัยแล้วไม่เกิดประโยชน์ได้คำตอบมาก็ไม่มีคุณอะไร แต่ถ้าสงสัยแบบสร้างสรรค์ ก็จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เป็นคุณกับโลกและมวลมนุษยชาติ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองรวมถึงผู้ใหญ่ ควรปล่อยให้เด็กๆมีความคิดและจินตนาการที่กว้างไกล เพื่อพวกเขาเหล่านั้นจะได้พัฒนาศักยภาพในตัวเองได้อย่างเต็มที่



รับชมคลิปวิดีโอสงสัยอย่างสร้างสรรค์ : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอสงสัยอย่างสร้างสรรค์ : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะสงสัยอย่างสร้างสรรค์ : ข้อคิดรอบตัว



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เข็นครกขึ้นป.โท-ป.เอกเข็นครกขึ้นป.โท-ป.เอก

ประวัติศาสตร์ย้อนคิดประวัติศาสตร์ย้อนคิด

อาชีพหลักทางเลือกอาชีพหลักทางเลือก



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว