ปัญหามรดก


[ 23 ม.ค. 2562 ] - [ 18267 ] LINE it!

ปัญหามรดก
ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ คนที่ได้คือคนที่ยังอยู่ ปัญหาการแบ่งมรดกจึงมักเกิดขึ้นอยู่เสมอ

เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง GBN

  
 
หากต้องทำพินัยกรรมจะจัดสรรปันส่วนเรื่องของมรดกอย่างไร หากลูกต้องการสมบัติ แต่พอได้สมบัติแล้วไม่เลี้ยงพ่อแม่ จะจัดการปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?
          ตอนสมบัติน้อยๆไม่มีอะไรเลยไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอมีสมบัติเยอะขึ้นแล้วแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัวจึงต้องมีการทำพินัยกรรมเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมา หากปล่อยให้พี่น้องตกลงกันเอง มักจะเกิดเรื่องเกิดราวขึ้น หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีสิทธิ์ในมรดกเราเป็นใคร แม้กระนั้นก็ตามก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ใครมาเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการมรดกลำเอียงหรือไม่ พินัยกรรมจริงหรือเท็จ อาจมีการฆ่ากันเพื่อทำให้ตัวหารในการแบ่งมรดกน้อยลง บางครั้งจึงเกิดศึกสายเลือดขึ้น 

 
          มีบางครอบครัวพ่อแม่เป็นคนหาทรัพย์ทั้งหมด มีลูกคนเดียว จึงยกมรดกให้ลูก เผอิญลูกไปแต่งงานกับคนที่เห็นแก่สมบัติ แล้วเชื่อคู่สมรสมากกว่าแม่ ผลคือไล่แม่ออกจากบ้าน เห็นแล้วน่าสลดใจ คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย โดยอาจยกให้บางส่วน สิทธิ์ยังอยู่กับพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ลูกหลานจะเอาใจดี เพราะกลัวจะไม่ได้มรดก พ่อแม่จะรู้สึกลูกมีความกตัญญู สำหรับบางคนที่ความกตัญญูกตเวทีไม่หนักแน่น แล้วไปคบกับคนที่ไม่ค่อยดีก็มีปัญหา ดังนั้นสิทธิ์ในทรัพย์สินของพ่อแม่ต้องมีในระดับที่ลูกหลานเกรงใจแต่ก็ให้ทำเรื่องมรดกไว้ให้ชัดเจนว่าใครได้รับส่วนไหน อาจปรึกษาทนายเพื่อจะได้รัดกุมทางกฎหมาย และหากไม่อยากให้มีปัญหาตามมาให้ทำเป็นพินัยกรรมเมืองคือไปทำพินัยกรรมที่อำเภอมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นพยานโดยจะทำไว้ 2 ชุด ชุดหนึ่งเก็บไว้ที่อำเภอ อีกชุดหนึ่งเอากลับมาบ้านพินัยกรรมแบบนี้หนักแน่นและน่าเชื่อถือที่สุด
 
สำหรับมรดกที่ค่อนข้างจะแบ่งกันยาก เช่น อสังหาริมทรัพย์บ้านที่ดิน  บางบ้านอาจมีลูกหลายคน ควรจะแบ่งกันอย่างไรจึงจะยุติธรรมที่สุด?

 
          ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว ลูกแต่ละคนลักษณะนิสัย ความรับผิดชอบไม่เหมือนกัน ความกตัญญูกตเวทีก็ไม่เท่ากัน จึงไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะยกมรดกให้กับลูกทุกคนเท่ากันหมด หากลูกติดการพนันห้ามแล้วไม่เลิกต้องมาขอเงินพี่ๆ น้องๆใช้ตลอดเวลาให้เท่าไหร่ก็หมด หากมีลูก 5 คนแต่อาจให้ลูกคนที่เป็นหลักเป็นฐานเชื่อถือได้และเป็นที่เคารพเกรงใจของพี่น้อง ให้คนนั้นเยอะหน่อยแล้วเขียนพินัยกรรมมีเงื่อนไขว่า จะต้องจ่ายเงินเดือนให้กับลูกคนที่ติดการพนันเดือนละเท่าไหร่นานแค่ไหน เพื่อที่จะได้มั่นใจได้ว่าสมบัติที่ยกให้ไม่ใช่ให้ทั้งก้อนทีเดียวแล้วเขาเอาไปถลุงหมด ไปเล่นการพนันแต่เขาอาจจะมีเงินกินใช้อยู่ตลอดชีวิตโดยมีลูกคนอื่นเชื่อถือได้เป็นคนคอยดูแลอันนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่แต่ละคนจะจัดการได้ หากมีอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เงินในบัญชี ตีราคายาก เป็นเรื่องของพ่อแม่ที่จัดให้ตามความเหมาะสม ความเหมาะสมในที่นี้คือความสามารถศักยภาพความสนใจของเขารวมทั้งความความกตัญญูกตเวทีที่มีแต่พ่อแม่ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อที่มีต่อพี่น้องด้วยกัน
 
ครอบครัวชาวจีนที่จะให้ความสำคัญกับลูกชาย ในมุมมองของลูกสาวรู้สึกว่าได้รับมรดกที่ไม่เป็นธรรม ในฐานะเป็นลูกสาวควรจะจัดการกับความคิดในเรื่องนี้อย่างไร?


 
          สมบัติทั้งหมดพ่อแม่ท่านหามาเพราะฉะนั้นถ้าจะยกให้ใครเป็นสิทธิ์ของท่าน ให้วางใจว่าสมบัติทั้งหมดเราไม่ได้หา เป็นของท่าน ท่านจะให้เท่าไหร่ก็สุดแท้แต่ท่าน อย่างน้อยถ้าท่านมีสมบัติ ท่านให้การศึกษาก็ดีแล้ว เลี้ยงจนโต บัดนี้มีความรู้ มีสติปัญญามีความรู้แล้วเอาความรู้ไปหาทรัพย์ให้กับตัวเองให้คิดอย่างนั้น ส่วนท่านจะยกมรดกให้เป็นของแถม ที่ท่านเมตตาให้ก็ขอบคุณท่านไม่ว่าท่านจะให้ไม่ให้ก็มีแต่ความซาบซึ้งกตัญญูแล้วไปปรนนิบัติดูแลท่าน บางทีท่านก็มีทรัพย์อยู่แล้วท่านรวยกว่าเรา ไม่ได้ต้องการเงินเดือนไปให้ท่านหรอก แต่การที่เรามีใจห่วงใยท่านระลึกถึงท่านรักท่าน กตัญญูต่อท่านไปเยี่ยมแต่เยียนไปพูดไปคุย ผู้ใหญ่ท่านสัมผัสได้และยิ่งอายุมากเท่าไหร่กำลังร่างกายทดถอย แต่ต้องการความอบอุ่นใจตรงนี้ ลูกหลานมาเยี่ยมเยียน เป็นระยะๆ จะรู้สึกสบายใจและมีความสุขใจพอทำอย่างนี้สุดท้ายลูกสาวอาจได้มรดกมากกว่าลูกชายเพราะดูแลท่านดีกว่า
 
ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการแบ่งมรดก รับมรดก ต้องมาเสียภาษี บางคนจึงเลือกที่จะแก้ไขปัญหาโดยการไม่รับมรดกควรหรือไม่?


 
          ในญี่ปุ่นเพราะมีเหตุจำเป็นเรื่องการเงินเพราะรับแล้วต้องเสียภาษีแพงมาก เสียไม่ไหวดูแลไม่ไหวจึงไม่รับเลย แต่ว่าในบ้านเราภาวะอย่างนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะรับมาไปขายได้เงิน เพราะฉะนั้นไม่มีใครปฏิเสธเงินที่ได้มาทรัพย์ที่ได้มาส่วนคนที่บอกว่าถ้าไม่อยากรับ ยังรู้สึกว่าตัวเองหาเองได้ก็รับมาแล้วไปบริจาคก็ได้  ตัวเองยืนหยัด สร้างฐานะด้วยกำลังความสามารถของเราเอง ขึ้นกับความพอใจของแต่ละคน
 
เมื่อรับมรดกมาแล้วจะมีวิธีการใช้อย่างไรให้ใช้ได้ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต?


          หากจะเปรียบเทียบการรับมรดกเหมือนกับได้ลาภลอย ในกรณีมรดกก็เป็นลาภลอยเพราะก็เป็นของพ่อแม่ของญาติ ให้มา ได้มรดกขนาดไหนฐานความรู้ประสบการณ์ ทักษะการทำงานก็จะมักจะไม่หนีกันมากยังพอจะรักษาทรัพย์ไว้ได้ แต่โดยหลักคือ อย่าเอาไปถลุงให้เก็บออม แล้วก็นำไปลงทุน หากอยากให้ปลอดภัยก็ฝากธนาคารถอนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ High Risk High Return ถ้า low Risk Low Return ปลอดภัยแต่ดอกเบี้ยก็เหลือนิดเดียว 1-2% และนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าหากเอาไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขอให้ซื้อแบบซื้อยาวๆหวังปันผลถือหุ้นเป็นปีบริษัทใหญ่ๆ ที่มั่นใจได้ดูประวัติย้อนหลัง 40-50 ปี ได้แล้วกระจายหลายๆ ธุรกิจค่าเงินปันผลก็ได้มากกว่าดอกเบี้ยแบงค์ แล้วยังเหลือกำไรที่บริษัทไม่ได้จ่ายปันผลหมด เอาไว้ลงทุนต่อบริษัทก็เจริญเติบโตราคาหุ้นก็ขึ้นในระยะยาว ถ้าเล่นเก็งกำไรอาทิตย์สองอาทิตย์เดือนสองเดือนมันมีขึ้นมีลง พอเห็นบางที่หุ้นมันมีลงก็ไม่สบายใจ คนไม่คุ้นจะรู้สึกว่าเอาเงินฝากธนาคารปลอดภัย แล้วกินดอกเบี้ยเอาอันนี้แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน แต่โดยหลักคือว่าอย่าเอาไปถลุง เคยดำเนินชีวิตอย่างไรให้ดำเนินชีวิตไปตามวิธีเดิม ให้รักษาวิถีชีวิตเหมือนเดิมแล้วก็บริหารจัดการทรัพย์ อย่างรัดกุม จะมีความมั่นคงในระยะยาว


รับชมคลิปวิดีโอปัญหามรดก : ข้อคิดรอบตัว
ชมวิดีโอปัญหามรดก : ข้อคิดรอบตัว   Download ธรรมะปัญหามรดก : ข้อคิดรอบตัว




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)ตักบาตรใส่บุญ (ตอนที่1)

ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)ตักบาตรใส่บุญ(ตอนที่2)

พลังหญิงพลังหญิง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว