ว่าด้วยเรื่อง...ลูกนิมิต


[ 4 มิ.ย. 2562 ] - [ 18314 ] LINE it!

ว่าด้วยเรื่อง...ลูกนิมิต
ลูกนิมิต คืออะไร มีความหมายและสำคัญอย่างไรในทางพระพุทธศาสนา
 
 
ลูกนิมิต คืออะไร? 
 
          นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย ลูกนิมิต หมายถึง ลูกกลมๆที่ใช้ฝังลงไปในใต้ดินเพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเขต หรืออาณาเขตของพระอุโบสถเพื่อให้เป็นที่พระภิกษุสงฆ์ทำสังฆกรรม ซึ่งลูกนิมิตมักทำด้วยหิน ขนาดประมาณเท่าบาตรของพระสงฆ์  ซึ่งอาจเล็กหรือใหญ่กว่าก็ได้
 
ลูกนิมิตมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?  ทำไมทุกวัดต้องฝังลูกนิมิต? 
 
 
          ในครั้งที่สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศศาสนาในช่วงแรกๆ เมื่อมีกิจของสงฆ์ หรือใครมีข้อสงสัยอะไรในช่วงนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้ตัดสิน ดูแลความเรียบร้อยเองทั้งหมด หรือแม้แต่การบวชเอง พระองค์ก็จะทรงประทานการบวชให้ ด้วยพระองค์เองที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”  แต่ต่อมาเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งพระภิกษุออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยการให้จาริกไปยังดินแดนอันห่างไกล ตามเมืองต่างๆ การที่จะพาพุทธสาวกเดินทางกลับมาให้พระพุทธองค์ทรงประทานการบวชให้ หรือกลับมาทำกิจของสงฆ์ต่างๆ หรือทำสังฆกรรมอื่นๆ เช่น การประชุมสงฆ์ การทบทวนพระธรรมวินัย การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม ถือเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะยิ่งในถิ่นทุรกันดารด้วยแล้ว ทำให้การเดินทางลำบากยากเข็ญ ต้องเสี่ยงภยันตรายหลายอย่าง ถึงขนาดบางครั้ง ต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันเลยทีเดียว 

 
          ด้วยเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้สามารถกำหนดเขตพื้นที่ในการทำสังฆกรรม หรือทำกิจของสงฆ์ได้โดยมิให้ฆราวาสเข้ามายุ่งเกี่ยว ในอาณาเขตพื้นที่นั้น ซึ่งอาจใช้พื้นที่โล่งๆ โดยใช้วัตถุ 8 ชนิด เป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตพื้นที่ในการทำสังฆกรรม ซึ่งการทำแบบนี้เรียกว่า “การผูกสีมา” ซึ่งวัตถุ 8 ชนิดนั้น ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก แม่น้ำ หนทาง สระน้ำและหนองน้ำ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ สิ่งที่เป็นของธรรมชาติ ย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลา เช่น ต้นไม้ ก็มีการหักบ้าง ตายบ้าง หรือการใช้ภูเขา ใช้แม่น้ำ ทำให้เข้าใจเขตแดนกันคลาดเคลื่อนไป 
 
 
          ด้วยเหตุนี้เอง ประกอบกับการที่เทคโนโลยีในสมัยนี้ก้าวหน้าขึ้นไปมาก จึงมีการประดิษฐ์ก้อนหิน เป็นลูกกลมๆขึ้น แล้วฝังลงใต้ดิน เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งสิ่งนี้เองเรียกว่า “ลูกนิมิต” ส่วนเขตแดนที่เรากำหนดขึ้น ใช้ในการทำสังฆกรรม ซึ่งถ้ามีสิ่งก่อสร้างเราจะเรียกว่า “โบสถ์” นั่นเอง
 
ลูกนิมิตต้องมีกี่ลูก?

 
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ทรงกำหนดเอาไว้ แต่ปกติแล้ว ถือทำตามมาแต่โบราณ ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมา จะมีจำนวน 9 ลูก โดยฝังตามทิศต่างๆ รอบโบสถ์ทั้ง 8 ทิศ ทิศละ 1 ลูก และฝังไว้ในส่วนกลางโบสถ์อีก 1 ลูก ซึ่งถือเป็นลูกเอก ส่วนลูกบริวารนอกเหนือจากนั้นจะมีกี่ลูกก็ได้ แต่ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดอาณาเขตในการทำสังฆกรรม มากไปกว่านั้น ในตระกูลของคนมีฐานะยังนิยมจองเป็นเจ้าภาพลูกนิมิต เพื่อให้ผลบุญนี้ ทำให้วงศ์ตระกูลและลูกหลาน มีความเจริญก้าวหน้า อีกทั้งยังให้เป็นอนุสรณ์ให้ลูกหลานรับรู้ว่าตระกูลของพวกเราเป็นตระกูลผู้มีบุญ เพราะได้เป็นถึงเจ้าภาพลูกนิมิต ที่ชาวพุทธจำนวนมากคิดแบบนี้ เพราะการฝังลูกนิมิตเป็นการสร้างมหากุศลใหญ่ เนื่องจากวัดๆหนึ่งมีโบสถ์ได้แห่งเดียวเท่านั้น และการกำหนดอาณาเขตของโบสถ์ก็มักจะทำกันแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ยกเว้นจะมีการซ่อมแซมโบสถ์ หรือ ขยายอาณาเขตโบสถ์ เพื่อใช้งานอีกครั้ง ฉะนั้นการทำบุญฝังลูกนิมิตนั้น จึงเท่ากับเป็นการสร้างโบสถ์และเป็นการอำนวยความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่างให้พระภิกษุสงฆ์เพื่อทำสังฆกรรม เพื่อให้ท่านมีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ ซึ่งผู้ทำบุญก็จะได้บุญกับการทำพระนิพพานให้แจ้งของคณะพระภิกษุสงฆ์ไปด้วย 

 
 
          ที่สำคัญการให้สถานที่ขึ้นชื่อว่าให้ทุกสิ่ง ฉะนั้นตั้งแต่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา จึงถือว่า การทำบุญนี้ได้บุญมาก และเป็นบุญที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำ ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

 
          ฉะนั้นหากได้ข่าวบุญการปิดทองฝังลูกนิมิตที่วัดไหน ก็รีบคว้าโอกาสทำกันให้ได้ เพราะใครจะรู้บ้างว่าอาจเป็นการทำบุญเป็นเจ้าภาพลูกนิมิตครั้งเดียวในชีวิตที่เราหาทำไม่ได้อีกแล้วก็ได้


 
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

มกุฏพันธนเจดีย์มกุฏพันธนเจดีย์

7 สิ่งที่จะได้จากการบวช7 สิ่งที่จะได้จากการบวช



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว