เลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น


[ 11 มิ.ย. 2562 ] - [ 18274 ] LINE it!

เลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น
จะทำอย่างไรถึงจะรักษาความเกรงใจให้สมดุล
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 

คนที่เกรงใจมากเกินไป จะทำให้เกิดผลเสียอะไรบ้าง?

          มีบ้างไหมมีของเต็มบ้านเลย เพราะเพื่อนมาขายของแล้วเราก็เกรงใจซื้อไปอย่างนั้นไม่ได้เอาไปใช้ เป็นความเกรงใจที่ก่อให้เกิดผลเสียกับตัวเราและอาจก่อให้เกิดผลเสียกับเพื่อนของเราด้วย คือทำให้เราเสียทรัพย์หรือเสียเวลา บางครั้งเสียความเป็นตัวของตัวเอง อยากจะทำอะไรแต่เกรงใจเลยไม่ทำ หรือทำตามทั้งที่ใจไม่อยากทำ
 
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเกรงใจกัน?
 

          มี 2 สาเหตุหลัก คือ love กับ Fear love เกิดจากการที่เรารักคนอื่น รักเพื่อนที่มาชวนก็เลยไม่อยากปฏิเสธไม่อยากให้เสียใจ อยากให้เขามีความสุข เหตุผลข้อสองคือความกลัว กลัวว่าเพื่อนไม่รักเรา หรือกลัวว่าเพื่อนจะตำหนิ จะเกลียด จะทอดทิ้งเรา จึงกลัวไม่กล้าปฏิเสธ
         
          หากเราทำให้เขารักเราน่าจะมีความสุข แต่บางครั้งกลับก่อให้เกิดผลเสียกับเขาได้ เช่นเพื่อนขอลอกการบ้านแล้วรู้สึกรักเพื่อน กลัวเพื่อนส่งงานไม่ทัน ให้เพื่อนลอกการบ้านไป ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับเพื่อนได้ เพราะเพื่อนไม่ได้เรียนรู้อะไร 
 
หลักการที่ตัดสินใจว่าควรจะเกรงใจเพื่อนมีอะไรบ้าง?
 

          มีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ดูว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด เช่น ในกรณีที่เราสุขภาพไม่ดีแล้วคุณหมอห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนมาชวนไปกินเหล้าแล้วเราเกรงใจจึงไปกับเพื่อน กรณีนี้เป็นความเกรงใจที่ไม่ถูกต้อง บนพื้นฐานสุขภาพตัวเองเพราะเอาสุขภาพตัวไปเสี่ยง ดังนั้นกรณีนี้ควรจะปฏิเสธ
          2.เป็นการก่อประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ เช่น มีเพื่อนเป็นเซลล์ชวนซื้ออาหารเสริม และเป็นช่วงที่เราสุขภาพไม่ค่อยดี ต้องการวิตามินหรืออาหารเสริม เป็นจังหวะทีดี ที่ควรอุดหนุนเพื่อน แต่หากเราแข็งแรงไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ และเพื่อนมาคะยั้นคะยอให้เราซื้อ เราต้องซื้อเพราะความเกรงใจก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร ก็ต้องกล้าหาญไม่เกรงใจเพื่อน ต้องปฏิเสธเพื่อนไป 
 
 
          3.ก่อให้เกิดโทษกับใครหรือไม่ เช่น เรื่องการขอลอกข้อสอบซึ่งบางครั้งอาจจะมีเพื่อนขอลอกข้อสอบ แล้วคนให้ลอก ด้วยความเห็นใจเพื่อนว่าอ่านหนังสือไม่ทันจึงให้ลอก กรณีนี้จะก่อให้เกิดโทษทั้ง ผู้ให้ลอกแล้วก็พูดลอก ถ้าโดนจับได้
 
          จะตัดสินใจว่าจะเกรงใจหรือไม่เกรงใจ ต้องอยู่บนหลักการว่า เรื่องที่ทำนั้นต้องเย็นทั้งเขาเย็นทั้งเรา เกิดประโยชน์เป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย แล้วก็ไม่เกิดผลเสียไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
 
จะฝึกอย่างไรถึงจะเป็นคนที่รักษาสมดุลแห่งความเกรงใจได้พอดี?

 
          มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ถามตัวเองก่อนว่าเราเกรงใจเขาเพราะอะไร เพราะเรารักเขา หรือเพราะเรากลัวว่าเขาจะไม่รักเรา หากตอบคำถามนี้ได้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีเพื่อนขอลอกข้อสอบ ก็ถามตัวเองว่าเราควรจะเกรงใจเขาเพราะอะไร เพราะเรารักเขาหรือ ถ้าเรารักเขาจริง เราก็ไม่ควรให้เขาลอก เพราะกลัวเขาจะโกรธหรือ ก็ไม่ควรกลัว เนื่องจากเป็นความผิดของเขาเพราะเขามาขอลอกข้อสอบแล้วเราไม่ให้เขาลอก จึงไม่ต้องกลัวเขาโกรธ ดังนั้นถ้าถามตัวเองแล้วตอบได้อย่างชัดเจน ก็จะตัดสินใจได้ว่า ควรจะเกรงใจหรือไม่เกรงใจเพื่อน 

 
          2.รู้จักการปฏิเสธอย่างถนอมน้ำใจ เช่น เพื่อนชวนไปดูคอนเสิร์ต เขาอยากดูคอนเสิร์ตนี้มากแต่ช่วงนั้นเราจะยุ่งมาก ก็ต้องรู้จักวิธีปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่าช่วงนี้ต้องดูแลครอบครัว หรือมีงานเยอะจะต้องสะสางงาน เพราะฉะนั้นควรรู้จักปฏิเสธ รู้จักรักษามิตรภาพ ไม่ควรจะปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย

 
          3.หากบางเรื่องปฏิเสธไม่ได้ ก็ควรมีการยื่นข้อเสนอหรือต่อรอง เช่นเพื่อนสนิทที่มาก เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา ตอนนี้เขาลำบากมาขอยืมเงินเรา เราก็ควรช่วยเหลือเขาเท่าที่เราช่วยได้เขาอาจจะมาขอยืมเป็น 100,000 แต่เราอาจจะมีความสามารถจะช่วยได้แค่หลักหมื่น ก็ต้องต่อรองยื่นข้อเสนอว่า ไม่สามารถให้ได้เต็มแต่ให้ได้ระดับนี้ เกรงใจเขาระดับหนึ่งคือให้เขาไประดับหนึ่ง ในระดับที่เราช่วยเหลือเขาได้


          4.เลิกกลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา เช่น มีเพื่อนเรามาชวนลงทุน แต่เรารู้สึกว่ามีความเสี่ยงมาก สมัยนี้มีพวกแชร์ลูกโซ่ แต่เขาไม่ได้บอกเราว่ามันเป็นแชร์ลูกโซ่ หากไม่มั่นใจก็ปฏิเสธไปเลยไม่ต้องเกรงใจว่าเพื่อนมาด้วยความหวังดี 
 
          5.ดูให้รู้ว่าใครคบเราเพราะผลประโยชน์หรือไม่ บางทีเขาหวังให้เราเกรงใจเขาอย่างเดียว เขาไม่เกรงใจเราเลย เช่น ให้เราซื้อของซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้ แต่เขานั่งแค่นอยู่ 2-3 ชั่วโมง เราควรจะรู้สึกแล้วว่าเขาไม่เกรงใจเรา เพราะเราควรมีเวลาส่วนตัวบ้าง หากเจอคนแบบนี้บ่อยๆ อาจต้องถอยระยะห่างออกมาพอสมควร เพราะเราจะเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์เสมอไป

 
          หากจำไม่ได้ก็มีหลักการสั้นๆ ว่าต้องมีจุดยืน 3 ข้อ คือ
1. ดูว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี 
2.เรื่องนั้นมีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ ถ้ามีประโยชน์กับเราและเพื่อนก็ควรเกรงใจ แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย ก็ไม่ต้องเกรงใจให้ปฏิเสธ
3.เรื่องนั้นทำให้เกิดโทษหรือไม่ ก่อให้เป็นความเสียหายหรือเปล่า ถ้าก่อให้เกิดความเสียหายก็ควรปฏิเสธไปโดยไม่ต้องเกรงใจ
 
ทันธรรม...โดยพระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 
 

          มีบทเพลงหนึ่งกล่าวว่า “ความเกรงใจเป็นสมบัติของคนดี ตรองดูสิทุกคนก็มีหัวใจเกิดเป็นคน ถ้าหากไม่เกรงใจใครคนนั้นไซร้ไร้คุณธรรมประจำตน” หมายถึงกรณีที่เราไปรบกวนคนอื่น แล้วไม่เกรงใจเขาเลยไปรบกวนทำให้เขาเดือดร้อน ถ้าอย่างนี้แล้วก็ขาดคุณสมบัติของผู้ดี เราต้องรู้จักเกรงใจไม่รบกวนคนอื่น 

 
          เมื่อคนอื่นเขามารบกวนเรา เราจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ของตะวันตกวัฒนธรรมค่อนข้างชัดเจนคือพูดตรงๆ ได้ไม่ได้คุยกันชัดเจนแต่พอจบก็จบ แม้แต่หัวหน้ากับลูกน้อง อาจารย์กับลูกศิษย์ แต่ของไทยเมื่อมีใครขอร้องอะไรมา จะปฏิเสธก็เกรงใจเลยเออๆ ออๆ ไปก่อน แต่ในใจไม่เต็มใจ แล้วทำแบบฝืนๆ ตัวเองก็ทุกข์ สิ่งที่ทำก็ไม่เต็มที่

 
          ในการประชุมของฝรั่งเขาถือว่าถ้าอยู่ในที่ประชุมแล้วไม่พูดจะมาอยู่ในที่ประชุมทำไม แค่มานั่งรับฟังว่าเขาคุยอะไรกัน มาในฐานะอะไร เป็นตัวแทนหน่วยงานไหน เมื่อมาแล้วมีความเห็นอะไรที่เกี่ยวข้องก็ต้องแสดงความเห็น จะได้เกิดประโยชน์ต่อที่ประชุม แต่คนไทยอยู่ในที่ประชุมไม่ค่อยชอบพูด หากพูดแล้วไม่ถูกหูผู้ใหญ่ก็จะเดือดร้อน เป็นผู้น้อยต้องรู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว เพราะสังคมไทยกึ่งๆ เป็นสังคมอุปถัมภ์อยู่ สืบทอดมาจากสังคมศักดินา จะเติบโตได้ต้องอาศัยผู้ใหญ่อุ้มชู เป็นหลัก ทำตัวให้น่ารักในสายตาผู้ใหญ่ จะเจริญก้าวหน้าแต่คนไหนแสดงความเห็นมาก เป็นตัวของตัวเองมาก ผู้ใหญ่จะหมั่นไส้ต่อให้เก่ง ทำงานแทบตายก้าวหน้าสู่คนใกล้ชิดผู้ใหญ่และความประจบประแจงไม่ได้ จึงทำให้สังคมไทยออกเป็นเชิงนี้ ทำให้การพัฒนาก้าวหน้าเป็นไปได้ยาก 

 
          เพราะฉะนั้นในยุคนี้ การทำงานมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทุกอย่างต้องศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในยุคนี้ยิ่งต้องเค้นเอาศักยภาพของแต่ละคนออกมาใช้อย่างเต็มที่ เลิกคำว่า ขี้เกรงใจประเภทที่มีความรู้ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออก ต้องรู้จักการพูด การแสดงออกตามความคิดที่แท้จริงของเรา กล้าพูดตรง แต่มีมารยาทมีศิลปะ ให้เกียรติคนอื่น แต่ชัดเจนในตัวเอง ใช่คือใช่  ไม่คือไม่ หากมีคนมาขอร้องให้เราทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ แล้วจะเดือดร้อน เราก็ตอบตรงๆ ว่าไม่ได้ ด้วยเหตุด้วยผลที่ดี ด้วยท่าทีที่นอบน้อม

 
          แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเลยว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายตถาคตจะไม่ทำกับเธออย่างทะนุถนอมเหมือนช่างปั้นหม้อ ที่ทำกับหม้อดินที่ยังดิบอยู่ แต่เราจักกระหนาบแล้วกระหนาบอีก ชี้โทษแล้วชี้โทษอีก ผู้มีมรรคผลเป็นแก่นสารเท่านั้น จึงจักทนอยู่ได้” วัตถุประสงค์ของการบวชคือจะมาฝึกตัวเอง พระองค์ไม่มานั่งเอาอกเอาใจ แต่หากพระป่วยพระองค์ไปดูแล เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ ด้วยตัวพระองค์เอง ใครที่ปรารถนาอุปัฏฐากดูแลพระองค์ ให้มาดูแลภิกษุไข้จะได้อานิสงส์มาก แต่หากทำไม่ถูกพระองค์จะชี้โทษและชี้โทษอีกไม่มีหยุดจะกระหนาบและจากกระหนาบอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจึงจะทนเราได้ พระพุทธเจ้ามีหลักอย่างนี้ ให้นำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานของเรา แล้วจะประสบความสำเร็จ สบายใจทั้งตัวเองทั้งหน่วยงานแล้วก็สังคมโดยรวม
 
 

รับชมคลิปวิดีโอเลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอเลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะเลิกนิสัยขี้เกรงใจผู้อื่น : ทันโลกทันธรรม




Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาษาดอกไม้ภาษาดอกไม้

เก่งคนให้สมเป็นนายเก่งคนให้สมเป็นนาย

ระบบออโต้ไพล็อตในมนุษย์ระบบออโต้ไพล็อตในมนุษย์



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม