แบกให้สมวัย


[ 13 มี.ค. 2563 ] - [ 18267 ] LINE it!

แบกให้สมวัย
อันตรายจากการที่เด็กแบกกระเป๋าหนักเกินตัวรวมถึงวิธีการแก้ไข
 
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)
จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง GBN
 

ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล แต่ทำไมเด็กๆ จะต้องแบกกระเป๋าใบใหญ่ๆ ไปโรงเรียน?
 
          หนังสือเรียนตอนนี้ยังเป็นกระดาษ แบบเรียนต่างๆ พิมพ์ออกมา แล้วทุกปีจะมีกำหนดว่าอันนี้เป็นแบบเรียนหลัก อันนี้เป็นแบบเรียนเสริม แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในแท็บเล็ตทั้งหมด แล้วเด็กนักเรียนสมัยนี้ยังไม่ถึงขั้นเป็นยุคที่เปิดแท็บเล็ตแล้ว มีทุกวิชาอยู่ในนั้น สามารถเปิดหนังสือได้ด้วยเขียนโน้ตได้ด้วยในเวลาเดียวกัน สรุปคือทุกวันนี้เรียนหนังสือประมาณ 7-8 วิชา แต่ละวิชาจะมีหนังสืออยู่ประมาณ 2-3 เล่ม แปลว่าจะต้องแบกหนังสือ อย่างน้อย 16 เล่มขึ้นไป

 
          ยังมีสมุดจดการบ้าน สมุดจดรายวิชา สมุดก็ต้องแยกวิชา เป็นสมุดเล่มเล็กๆ เพราะถ้าจะรวมกันไปหมดก็จะไม่เรียงเนื้อหา ต้องมีสมุดอีก 8 เล่ม เพราะฉะนั้นทั้งหนังสือ สมุดจด แล้วก็น้ำดื่มอีก รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเขียนอีกด้วย และเด็กสมัยนี้มีโทรศัพท์มือถือ มี iPad มีแท็บเล็ตไปโรงเรียนด้วย แล้วกลับบ้านไปจะต้องไปทำการบ้าน เพราะฉะนั้นเอาหนังสือแบบเรียนไว้ที่โต๊ะ ไม่ได้ ก็ต้องเป็นไงหิ้วกลับหมด เพื่อไปทำการบ้าน ที่แย่กว่านั้น เด็กบางคนไม่ยอมจัดตารางเรียน แบกไปหมดเลย
          
ถ้าเด็กแบกกระเป๋าใหญ่หรือหนักเกินตัว จะเกิดอะไรขึ้น?

 
          1.เมื่อแบกของหนักจะไปกดกระดูกไขสันหลัง เพราะฉะนั้นเด็กจะตัวเตี้ยลง แทนที่จะสูงตามวัยก็เลยไม่สูง เพราะน้ำหนักมันกดลงมา
 
          2.เด็กที่หิ้วกระเป๋าหนักข้างเดียวก็จะเกิดไหล่ทรุด เกิดอาการกล้ามเนื้อตึง ปวดศรีษะ สุดท้ายจะเป็นโรคกระดูกไขสันหลังคด ทำให้เดินตัวเอียงห่อไหล่ น้ำหนักเท้าไม่เท่ากัน กระดูกเปลี่ยนรูปร่าง ส่งผลกระทบต่อการหายใจ เพราะเมื่อเดินแล้วมีน้ำหนักลงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ทำให้อากาศเข้าปอดไม่ค่อยดี สุดท้ายเด็กจะเกิดความรู้สึกเหมือนขี้เกียจ เพราะต้องแบกหนังสือเยอะๆ กลายเป็นงอแงหรือดื้อ โดยเฉพาะเด็กที่ต้องแบกหนังสือไปเยอะมาก ก็จะไม่ไหวเอา เรียกว่าส่งผลกระทบต่อทั้งกายและทางจิตใจ นิสัยไปด้วย
 
เด็กแต่ละวัยควรจะแบกกระเป๋าหนักเท่าไหร่? 

 
          สมาคมกุมารแพทย์ ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดไว้ว่าเด็กไม่ควรจะแบกน้ำหนักเกินกว่า 10 -20% ของน้ำหนักตัว เพราะฉะนั้นในเมืองไทย เด็กตัวเล็กกว่าฝรั่ง เพราะฉะนั้นก็เอากลางๆก็อยู่ที่ 15% 
         
          เด็ก 7 ขวบ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 23 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นไม่ควรให้แบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกินกว่า 3.5 กิโลกรัม ประมาณ น้ำ500 ซีซี 7 ขวด น้ำ  7 ขวด คือ 3.5 กิโลกรัม
 
          เด็ก 8 ขวบ น้ำหนักเฉลี่ย 26 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นไม่ควรแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม

 
          เด็กอายุ 9 ขวบ จะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 29 กิโลกรัม ไม่ควรจะแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกิน 4.3 กิโลกรัม
 
          เด็ก 10 ขวบ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 33  กิโลกรัม ไม่ควรแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม
 
          เด็ก 11 ขวบ น้ำหนักประมาณ 37 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นกระเป๋าสูงสุดไม่เกิน 5.5 กิโลกรัม ส่วนเด็ก 12 ขวบ น้ำหนักเฉลี่ยประมาณนั้น 41 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นกระเป๋าไม่เกิน 6.2 กิโลกรัม

ต้องชั่งน้ำหนักกระเป๋าก่อนลูกออกจากบ้านไปโรงเรียนหรือไม่? 

 
          พ่อแม่ควรช่วยลูกจัดกระเป๋า เพราะการวางตำแหน่งของกระเป๋าซ้ายขวาให้สมดุลกัน เนื่องจากกระเป๋าใบใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องช่วยจัดกระเป๋าก็ดี การถ่วงดุลน้ำหนัก แล้วก็ชั่งน้ำหนักดูก็จะดี เพราะเหมือนกำหนดคร่าวๆ ไว้ว่าน้ำหนักควรจะประมาณเท่าไหร่ 
 
          วิธีชั่งที่ง่ายที่สุด เชื่อว่าทุกบ้านมีตาชั่งน้ำหนักตัวอยู่แล้ว ก็ให้ลูกขึ้นไปยืน สมมติได้ 23 กิโลกรัม ก็จดเอาไว้ แล้วให้แบกกระเป๋า น้ำหนักที่บวกขึ้นไปก็จะเป็นน้ำหนักกระเป๋า หากน้ำหนักกระเป๋าเกินก็มาช่วยกันจัด ว่าควรจะเอาอะไรไว้เอาอะไรออก 

ถ้าเด็กจะต้องแบกน้ำหนักเยอะๆ จะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร?

 
          ด้านแรกคือ โรงเรียนต้องช่วย ต้องไปสู่ระดับนโยบาย คือให้เด็กมีล็อกเกอร์เก็บของ สามารถเก็บหนังสือบางอย่างที่ใช้พรุ่งนี้ แล้วการบ้านทำเสร็จแล้ว หรือบางคนชอบทำการบ้านตอนพักเที่ยง บางคนทำการบ้านตอนเย็นก็รู้จักบริหารเวลาของเขา หนังสือก็เก็บไว้ที่โรงเรียนได้ และอุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ เพราะฉะนั้นบางโรงเรียนจัดเป็นชั้นวางหนังสือ คือในชั้นเรียนจะจัดเป็นชั้น ต้องมีล็อกเกอร์ก็ได้ เพราะหนังสือเรียนไม่มีใครขโมย แค่ชื่อแล้วก็เป็นชั้นวาง อีกอย่างหนึ่งคือเป็นลักษณะของการมีหนังสือ 2 ชุด คือ ที่บ้านมีหนังสือชุดหนึ่งซื้อไปเลย แต่ที่โรงเรียนมีหนังสือพอสำหรับทุกคน โรงเรียนสนับสนุนให้เด็กใช้หนังสือของโรงเรียน ตลอดจนการใช้สมุดจดที่เป็นสมุดปกอ่อนแทนปกแข็ง ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า เป็นต้น

 
          ส่วนคุณพ่อคุณแม่จะช่วยดูแลเรื่องการเลือกกระเป๋า เราต้องดูว่าน้ำหนักเบาแข็งแรง ไม่ต้องเป็น Brand Name ไม่ต้องเป็นหนัง เป็นผ้าเส้นใยที่มีความเหนียว แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา แล้วก็สายสะพายมีขนาดกว้างจะได้รับน้ำหนักได้ดี ยิ่งกว้างยิ่งดีจะได้กระจายน้ำหนัก หากเป็นเด็กที่เรียนชั้นล่าง ให้เขามีกระเป๋าลาก ก็ไม่เหนื่อย แต่ถ้าเรียนชั้นบน กระเป๋าลากจะเป็นปัญหาเวลาต้องหิ้ว

          การปรับสายสะพายให้เหมาะสม หากสายสะพายหย่อนเกินไป จะถูกดึงรั้งหลังจะทำงานหนัก เพราะถูกรั้งไว้ ถ้าสายสะพายแน่นเกินไปก็จะอึดอัดแล้วก็รัด เพราะฉะนั้น พ่อแม่ควรดูแล คือ สอนให้รู้จักว่าเมื่อเวลาสายสะพายหย่อน ให้ปรับอย่างไร การจัดหนังสือก็ช่วยจัด เรียงกัน ไปในทางเดียวกัน แล้วสร้างสมดุลซ้ายขวา

ทันธรรม...โดย พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ 

 
          เด็กนักเรียนในยุคปัจจุบัน มีหนังสือที่ต้องแบกไปโรงเรียนมีเยอะมาก สมัยก่อนกระเป๋าเป็นแบบหิ้ว  เดี๋ยวนี้เป็นเป้สะพายหลัง ซึ่งตามหลักการแพทย์แล้ว การสะพายเป้ดีกว่าการหิ้ว เพราะการหิ้วน้ำหนักอยู่ข้างเดียวไม่สมดุล สะพายเป้มีสมดุล 2 ฝั่ง แต่หากน้ำหนักเยอะเกินไป มีผลเสียต่อสุขภาพอยู่ดี จนกระทั่งต้องมีการวิจัยกันว่า กระเป๋าที่เด็กนักเรียนหิ้วไปโรงเรียนควรมีน้ำหนักไม่เกินเท่าไหร่ สรุปคือไม่ควรเกิน 15% ของน้ำหนักตัวเด็ก นี้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย 

 
          หาวิธีการให้ลดน้ำหนักของกระเป๋า ตัวกระเป๋าเองก็ต้องเลือก อย่าไปเลือกกระเป๋าที่ยังไม่ใส่อะไรก็หนักเป็นกิโลแล้ว ดูแล้วมันสวยดีแต่หนักเกินไปก็เป็นภาระ ก็ต้องเลือกที่โครงสร้างดี น้ำหนักเบา ขนาดพอดี อย่าไปเผื่อเด็กโต เผื่อหนังสือเรียนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระมากเกินไป ไม่คุ้ม พอกระเป๋าไม่ใหญ่ จะทำให้เด็กต้องคิดว่าจะเอาอะไรใส่ลงไป สายสะพายต้องเอาสายกว้าง น้ำหนักจะได้กระจายออกที่บ่ากว้างให้พอดี เป็นต้น แล้วต้องสอนให้ลูกด้วยว่า ตอนสะพายเป้ต้องเดินอย่างไร อย่าไปเดินตัวงอ ตัวคุ้ม ต้องให้อกผายไหล่ผึ่ง โดยที่ต้องฝึกให้ร่างกายลูกแข็งแรงด้วย เพราะคนน้ำหนักตัวเท่ากัน แต่ก็ไม่ได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกแข็งแรง โครงสร้างร่างกายแข็งแรง รับน้ำหนักได้มากกว่าคนที่ไม่แข็งแรงเยอะ เพราะฉะนั้นให้ฝึกลูกให้ออกกำลังกาย
  
 
          น้ำหนักกระเป๋าถ้ามากเกินไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแน่นอน วิธีการช่วยลดน้ำหนักกระเป๋า คือเพิ่มความแข็งแรงโครงสร้างร่างกาย ลูกจะมีสุขภาพที่ดี ไม่เบื่อเรียน บางทีเด็กงอแงไม่ค่อยอยากไปเรียนโดยไม่รู้สาเหตุ โดยไม่รู้เป็นเพราะอะไร ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากกระเป๋าหนักเกินไป เพราะฉะนั้นดูแลลูกต้องดูให้ทั่วถึง ทุกแง่ทุกมุมทุกประเด็น แล้วหาวิธีการช่วยลูกเพราะบางทีเด็กคิดไม่ออก ผู้ใหญ่ช่วยคิดได้ จะมีวิธีการอย่างไร คุยกับคุณครูที่โรงเรียนได้ ทางโรงเรียนมีทางไหม มีตู้ล็อกเกอร์ บางอย่างหนังสือบางเล่มที่ไม่จำเป็นต้องเอากลับบ้าน มันหนักเก็บไว้ในตู้ล็อกเกอร์ที่โรงเรียน หรือไว้ในโต๊ะในห้องเรียนอย่างนี้ เป็นต้น ก็ช่วยกันหารือกับพ่อแม่ผู้ปกครองท่านอื่น แล้วก็พูดคุยกับทางผู้บริหารโรงเรียน ครูบาอาจารย์  ก็จะช่วยหาทางออกให้กับลูกของเราได้ ลูกเราจะได้มีทั้งความรู้แล้วก็มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไปข้างหน้า 


รับชมคลิปวิดีโอแบกให้สมวัย : ทันโลกทันธรรม
ชมวิดีโอแบกให้สมวัย : ทันโลกทันธรรม   Download ธรรมะแบกให้สมวัย : ทันโลกทันธรรม



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
คนพันธุ์ Possibleคนพันธุ์ Possible

ให้ใจอย่าให้เจ็บให้ใจอย่าให้เจ็บ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทันโลกทันธรรม