เจดีย์ชเวดากอง


[ 13 ก.ย. 2556 ] - [ 18279 ] LINE it!

เจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า

เจดีย์ชเวดากอง
 

เจดีย์ชเวดากอง 

    เจดีย์ชเวดากอง ศาสนสถานอันยิ่งใหญ่สำคัญ และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศพม่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่านับถือสูงสุดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพม่าทุกคน ที่แม้จะอยู่ไกลแสนไกลขนาดไหน การเดินทางจะลำบากยากเข็ญเพียงไรจะต้องเดินทางมานมัสการองค์เจดีย์ชเวดากองให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
 
 
    เจดีย์ชเวดากอง เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพม่า คำว่า ชเว (Shwe) หมายถึง ทองคำ ส่วน ดากอง มาจากคำว่า Dagon หรือ ตะเกิง ซึ่งเป็นนามเดิมของนครย่างกุ้ง “ชเวดากอง” แปลว่า เจดีย์ทองแห่งเมืองดากอง มีประวัติการสร้างเก่าแก่ยาวนานกว่า 2,500ปี ตั้งแต่ครั้งนครย่างกุ้งยังเป็นของชาวมอญ ชาวพม่าเชื่อว่า เป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุจำนวน 8 เส้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเครื่องอัฐบริขาร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตอีก 3 พระองค์ พระเจดีย์ แรกเริ่มสร้างมีความสูง 18 เมตร ปัจจุบันมีความสูง 98 เมตร
 

เจดีย์ชเวดากอง

    เจดีย์ชเวดากอง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งด้วยกัน ราชประเพณีของกษัตริย์มอญ และพม่า เมื่อจะขึ้นครองราชย์ จะต้องทำนุบำรุงบูรณะองค์พระเจดีย์ และมีบางพระองค์ถวายทองคำเท่ากับ หรือ มากกว่าน้ำหนักของพระองค์ เพื่อนำมาห่อหุ้มองค์มหาเจดีย์ทั้งองค์ ส่วนเรือนยอดประดับด้วยเพชร 5,448เม็ด รวมทั้งทับทิม นิล และบุษราคัมอีก 2,317 เม็ด และที่ปลายยอดประดับด้วย เพชรเม็ดที่ใหญ่ที่สุด ขนาด 72กระรัต
 
 
    การดูแลรักษาเจดีย์ชเวดากอง ในทุกๆ 50ปี จะนำยอดฉัตรของพระเจดีย์ลงมาบูรณะ และอนุญาตให้ประชาชน นำเครื่องสักการะ คือ เครื่องประดับอัญมณี แก้ว แหวน เงินทอง เพชร นิล จินดา มาถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อขึ้นติดไว้บนยอดฉัตรของพระเจดีย์
 
 
 
    เมื่อไม่นานนี้ เหล่ากัลยาณมิตร ลูกพระธัมฯ ตัวแทนมูลนิธิธรรมกาย ได้เดินทางไปทำบุญทอดผ้าป่าแก่วัดต่างๆ ในประเทศพม่า เราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชม และทอดผ้าป่าถวายปัจจัย บูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในนามตัวแทนของ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ทำให้เราได้พบเห็นกับภาพแห่งความประทับใจ ของพลังศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนชาวพม่ามีต่อพระพุทธศาสนา ที่หยั่งรากลึก ฝังแน่นอยู่ในจิตใจ
 

เจดีย์ชเวดากอง

    ทุกๆ เช้า เริ่มต้นวันสว่างตั้งแต่เวลาตี 4 ทั้งพระภิกษุ สามเณร แม่ชี และชาวพม่า จะเดินทางออกจากบ้าน มาสวดมนต์ นั่งสมาธิ บูชาพระเจดีย์ และช่วยกันปัดกวาด ทำความสะอาดพระเจดีย์ ซึ่งคนจะมากันมาก ในช่วงเช้ามืดก่อนไปทำงาน กับช่วงเย็นเวลาหลังเลิกงานตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึงเวลา 3 ทุ่ม ชาวพม่าจะมาสวดมนต์ นั่งสมาธิ เหมือนช่วงเช้ามืด
 
 
    พอเวลาประมาณ 1 ทุ่ม จะมีหนุ่มสาวชาวพม่าจำนวนมาก มาช่วยกันกวาดถู ทำความสะอาดพระเจดีย์ กวาดกันเป็นทิวแถว อย่างพร้อมเพรียงเหมือนที่วัดพระธรรมกายของเรา เวลาของการทำความสะอาดพระเจดีย์จะเป็นเวลาแห่งความสนุกสนาน ที่ทุกคนรอคอยจะเก็บบุญสุดท้ายก่อนกลับเข้าบ้านเพื่อพักผ่อน โดยทุกคนจะเอาไม้กวาดและผ้ามาเอง ทำกันอย่างพร้อมเพรียง เมื่อถึงเวลานอน ชาวพม่าจะหันศีรษะไปทางทิศที่เจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่ เพื่อทำความเคารพและบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
 
    สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นวัฒนธรรมชาวพุทธของชาวพม่า ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องปฏิบัติ โดยไม่เลือกชั้น วรรณะ หรือเผ่าพันธุ์ คือ ประเพณีการถอดรองเท้าเข้าวัด รวมถึงถุงเท้า และถุงน่องก็ห้ามใส่ ชาวพม่าจะถือเคร่งครัดมาก ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หากเป็นนักท่องเที่ยวเผลอสวมรองเท้าเดินเข้าเขตวัด เขาจะร้องทัก ตักเตือน ให้ถอดทันที โดยไม่ดูดาย เพราะถือว่า เป็นหน้าที่ของเขาที่จะรักษาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดได้
 
 
    มีเรื่องเล่าว่า เมื่อสมัยอังกฤษปกครองพม่า ข้าหลวงอังกฤษได้แวะเยี่ยมชมเจดีย์ชเวดากอง โดยไม่ยอมถอดรองเท้า ด้วยถืออำนาจว่าตนเป็นผู้ปกครอง แต่ชาวพม่าไม่ยอม ทางฝ่ายข้าหลวงก็ยังยืนยันความคิดเดิมของตัว เป็นเหตุให้ชาวพม่าจำนวนหมื่นกว่าคน พากันมานอนคว่ำอยู่ตามบันไดที่จะเดินขึ้นสู่องค์พระเจดีย์ ตลอดจนลานเจดีย์ชเวดากองเต็มไปหมดไม่เห็นพื้นเลย หากข้าหลวงอังกฤษจะขืนสวมรองเท้าขึ้นไปจริงๆ พื้นรองเท้าจะไม่มีโอกาสสัมผัสพื้นได้เลย ต้องเหยียบร่างของชาวพม่าไปก่อน
 
 
    ชาวพม่าถือว่า  แม้ว่าประเทศของตนจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่สิ่งที่ชาวพม่ายอมไม่ได้ คือ การถูกย่ำยีพระพุทธศาสนา เพราะนั่นหมายถึงการย่ำยีหัวใจของชาวพม่า เรียกได้ว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของการรักษาพระพุทธศาสนา ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในแผ่นดินพม่า ทำให้ข้าหลวงและทหารอังกฤษยอมถอดรองเท้าเข้าวัดในประเทศพม่า และถือได้ว่า เป็นชัยชนะทางวัฒนธรรม ที่ชาวพม่าภูมิใจบอกเล่าเรื่องราวจากบรรพบุรุษสู่ยุคปัจจุบัน ด้วยความภาคภูมิใจ และยังคงรักษาวัฒนธรรมนี้ มาจนถึงปัจจุบัน 
 
 
    การเดินทางเยือนประเทศพม่า ของเหล่ากัลยาณมิตรลูกพระธัมฯ ในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นแบบอย่างประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธ ที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวพม่า เราได้มาร่วมอนุโมทนา และทำให้พวกเรานึกถึงภาพของมหาธรรมกายเจดีย์ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ดำริที่จะสร้างขึ้น เพื่อรองรับพุทธบุตร และพุทธบริษัทสี่ เรือนล้านคนจากทั่วโลก ช่างเป็นบุญที่ใหญ่มากๆ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคของการสถาปนา และช่วยกันฟื้นฟูศีลธรรมโลกให้บังเกิดขึ้น
 
    ถ้าหากชาวพุทธทั่วโลก มีศรัทธามั่นคง และมีสำนึกที่ดี ในการปกป้องพระพุทธศาสนา โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เหมือนพุทธศาสนิกชนชาวพม่า ในคราวที่รักษาธรรมเนียมการถอดรองเท้าเข้าพระเจดีย์แล้ว เราก็มั่นใจได้ว่า “พระพุทธศาสนา จะมีความยั่งยืนมั่นคงตลอดไป”
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
จดหมายจากชาวเชียงตุงจดหมายจากชาวเชียงตุง

เทศกาลออกพรรษาที่เชียงตุงเทศกาลออกพรรษาที่เชียงตุง

วันออกพรรษาของชาวเชียงตุงวันออกพรรษาของชาวเชียงตุง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ช่วงเด่นฝันในฝัน