มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - การให้ที่มีผลมาก (๒)


[ 6 ม.ค. 2551 ] - [ 18288 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
การให้ที่มีผลมาก (๒)
 
        หากว่า บุคคลทำชมพูทวีปให้เป็นพื้นราบเรียบเสมอกัน เช่นกับหน้ากลอง ปูลาดบัลลังก์ตั้งแต่ต้นแล้ว พึงให้พระอริยบุคคลนั่ง ณ ที่นั้น มีโสดาบันบุคคลสิบแถว สกทาคามีบุคคลห้าแถว อนาคามีบุคคลสองแถวครึ่ง พระขีณาสพหนึ่งแถวครึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าหนึ่งแถว ทานที่บุคคลถวายจำเพาะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผลมากกว่าทานที่ถวายแล้ว แก่พระอริยบุคคลประมาณเท่านี้

        มวลมนุษย์ทุกคนต่างปรารถนาความก้าวหน้าในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่บางครั้งกว่าจะสมหวัง ก็ต้องฝ่าฟันเพื่อเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา บางคราวถึงกับต้องแลกด้วยชีวิต แต่ด้วยใจที่ มีพลังเต็มเปี่ยม จึงทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายเหล่านั้นได้ ฉะนั้นยามใดที่เราท้อแท้ใจ ขอให้หลับตาลง วางใจเบาๆ สบายๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้อยู่ที่ตรงนั้นนานๆ  เราจะรู้สึกว่า มีพลังซ่อนเร้นอยู่ภายในที่จะผลักดันให้เราก้าวไปสู่ความสำเร็จตามที่เราปรารถนาทุกอย่าง

ธรรมภาษิตที่กล่าวไว้ใน อรรถกถา เวลามสูตร ว่า

        "หากว่า บุคคลทำชมพูทวีปให้เป็นพื้นราบเรียบเสมอกัน เช่นกับหน้ากลอง ปูลาดบัลลังก์ตั้งแต่ต้นแล้ว  พึงให้พระอริยบุคคลนั่ง ณ ที่นั้น มีโสดาบันบุคคลสิบแถว สกทาคามีบุคคลห้าแถว อนาคามีบุคคล สองแถวครึ่ง พระขีณาสพหนึ่งแถวครึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าหนึ่งแถว ทานที่บุคคลถวายจำเพาะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผลมากกว่าทานที่ถวายแล้ว แก่พระอริยบุคคลประมาณเท่านี้"

        สำหรับเรื่องราวการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในสมัยที่เกิดเป็นเวลามพราหมณ์ ท่านได้ลงทุนสร้างมหาทานบารมีข้ามภพข้ามชาติให้กับตนเองไว้อย่างไรนั้น *เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีต เวลามพราหมณ์ได้ถือกำเนิดเป็นลูกของปุโรหิตในเมืองพาราณสี เมื่อเติบโตท่านได้ไปเรียนศิลปวิทยาที่สำนักตักสิลา พร้อมด้วยราชกุมารกรุงพาราณสี และราชกุมารจากทั่วทั้ง ชมพูทวีป
 
        เนื่องจากท่านเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลมมาก แม้เรียนหลังพระกุมารซึ่งเป็นโอรสของพระราชาจากเมืองต่างๆ  แต่ท่านกลับเรียนจบภายใน ๓ ปี ซึ่งตามปกติต้องเรียนนานถึง ๑๖ ปี อาจารย์รู้ว่าศิลปะของเวลามกุมารคล่องแคล่วแล้ว จึงบอกให้ลูกศิษย์ทุกคนพร้อมใจกันไปเรียนศิลปะกับเวลามกุมาร ทำให้เวลามะมีลูกศิษย์ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าเมืองต่างๆ มากถึง ๘๔,๐๐๐ คน เมื่อลูกศิษย์แต่ละคนเรียนสำเร็จแล้ว ต่างแยกย้าย  กันกลับเมืองของตนเอง ส่วนเวลามกุมารพร้อมด้วยพระ-ราชโอรสก็ชักชวนกันกลับกรุงพาราณสีตามเดิม

        พระราชาทรงอภิเษกพระโอรสให้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป และมอบตำแหน่งปุโรหิตให้แก่เวลามะ ส่วนราชกุมารจาก ๘๔,๐๐๐ เมือง เมื่อแสดงฝีมือจากการที่เคยร่ำเรียนศิลปวิทยาจากเวลามะ ต่างเป็นที่พอพระทัยของพระราชบิดาและเหล่าพระบรมวงศานุ-วงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการอภิเษกในราชสมบัติทุกพระองค์ ด้วยความสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ จึงพากันเดินทางมาเยี่ยมพระเจ้ากรุงพาราณสีทุกปี เพราะเป็นเมืองที่เวลามปุโรหิตซึ่งเป็นที่ปรึกษาใหญ่อาศัยอยู่ และในการมาแต่ละครั้ง ต่างนำทรัพย์สินเงินทอง ช้างมงคล ม้าศึก วัวนมและเครื่องใช้มากมาย มาเป็นเครื่องบรรณาการสำหรับเวลามพราหมณ์อีกด้วย

        พระราชาทุกองค์ทรงปวารณาว่า "ข้าแต่ท่านอาจารย์ หากท่านต้องการสิ่งใด ก็จงบอกมาเถิด พวกเราจะช่วยกันจัดหามาให้" 

    เวลามปุโรหิตเห็นว่า "สมบัติเหล่านี้มีมากมายเหลือเกิน ใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่มีวันหมดสิ้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำทาน สั่งสมบุญกุศลให้กับตนเอง เพื่อเป็นเสบียงติดตัวข้ามภพข้ามชาติ อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมีเพื่อนร่วมโลกอีกจำนวนมากที่ยังมีความลำบากในการแสวงหาอาหารและสมบัติมาหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว"

        เมื่อตั้งใจมั่นเช่นนี้แล้ว ท่านให้เปิดประตูห้องที่เต็มด้วยรัตนะ ๗ ตรวจดูทรัพย์ที่เก็บไว้ถึง ๗ ชั่วตระกูล อีกทั้งสมบัติที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันเพราะความสามารถของท่านเอง พลางยืนพิจารณาความเจริญและความเสื่อมไปในทรัพย์สมบัติเหล่านี้ และคิดต่อไปว่า เราควรให้ทานนี้กระฉ่อนไปทั่วทั้งชมพูทวีป

      จากนั้น ท่านเข้าไปกราบทูลพระราชาเพื่อขออนุญาต  ทำทาน พระราชาทรงอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเวลามะ ผู้เป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนการสร้างมหาทานในครั้งนั้นทุกอย่าง เวลามพราหมณ์ให้สร้างเตาแถวประมาณ ๑๒ โยชน์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา ให้สร้างเรือนคลังใหญ่ไว้ เพื่อเก็บเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน งา ข้าวสาร และอุปกรณ์ทำครัวทุกชนิด ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ และจัดหัวหน้าชุดบริจาคออกเป็นแปดหมื่นกว่าคน เพื่อแยกกันแจกอาหารให้กับมหาชน ให้คนตีกลอง ประกาศไปทั่วเมืองว่า  "ท่านทั้งหลายผู้มีความลำบากในการแสวงหาอาหาร จงอย่าได้มีความลำบากอีกต่อไปเลย จงบริโภคทานของเวลามพราหมณ์เถิด"

        เมื่อผู้จัดการได้เข้ามาเรียนให้พราหมณ์ทราบว่า ทุกอย่าง พร้อมแล้ว เวลามะก็นุ่งผ้าใหม่ เฉวียงบ่า ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง เติมน้ำมีสีแก้วผลึกให้เต็มน้ำเต้าทอง

        ท่านได้ทำสัจกิริยาว่า "ถ้าในโลกนี้ ยังมีทักขิไณยบุคคลผู้สมควรรับทานนี้ ขอน้ำนี้ไหลออกแล้ว จงซึมไปในแผ่นดิน"  ท่านเอียงปากน้ำเต้าทอง น่าแปลกมากทีเดียว แทนที่น้ำจะไหลซึมลงไปในแผ่นดิน กลับเป็นเหมือนถูกขังอยู่ในแก้วน้ำ ไม่ยอมไหลออกมาเลย

        ถึงกระนั้นพระโพธิสัตว์ก็มิได้เดือดร้อนว่า ชมพูทวีป  ว่างเปล่า ไม่มีแม้บุคคลเพียงคนเดียวที่ควรรับทักษิณาทาน จากนั้นท่านอธิษฐานจิตต่อไปว่า "ถ้าทักขิณาทานจะบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ขอน้ำที่ไหลออกแล้ว จงซึมไปในแผ่นดินเถิด"

        ทันทีที่รินน้ำลง น้ำก็ไหลซึมไปในแผ่นดินจนหมดสิ้น พราหมณ์เห็นว่า อย่างน้อยตนเองก็บริสุทธิ์ใจที่ได้ให้ทาน จึงทำจิตให้เป็นกุศล ท่านเริ่มให้คนแจกทาน ให้ข้าวต้มในเวลาข้าวต้ม ให้ของเคี้ยวในเวลาของเคี้ยว ให้อาหารในเวลาอาหาร

        พระโพธิสัตว์ได้ให้ทานทุกชนิด ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง เลย ท่านให้ทำถาดทอง และส่งข่าวไปบอกพระราชา ๘๔,๐๐๐ องค์ให้ช่วยร่วมบุญในการบริจาคถาดทองด้วย พระราชาทั้งหมดส่งถาดทองมาร่วมในการบริจาคองค์ละ ๘๔,๐๐๐ ถาด ท่านให้ขนรัตนชาติ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับที่พระราชานำมามอบให้เป็นบรรณาการ นำมาบริจาคจนหมด การบริจาคทานของเวลามโพธิสัตว์นั้น ได้ลือกระฉ่อนไปทั่วชมพูทวีป ท่านได้สั่งสมบุญจนตลอดชีวิตแล้ว  ครั้นละโลกไปแล้ว ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์

        มหาทานที่เวลามพราหมณ์ได้บริจาคนี้ พระศาสดาเคยตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า "ดูก่อนคฤหบดี เวลามพราหมณ์ ก็คือเราตถาคตนี่แหละ เราแม้เมื่อให้ทานมากมายเห็นปานนั้น ก็ไม่ได้มีบุคคลผู้สมควรจะมารับทักษิณาทานของเรา  แม้เพียงคนเดียว ถึงกระนั้นก็ส่งผลให้ได้เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์เป็นเวลายาวนาน ส่วนท่านได้ให้ทานแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นับว่าได้โอกาสอันเลิศแล้ว เพราะฉะนั้น จงยินดีในการให้ทานต่อไปเถิด"

        จากเรื่องนี้เราจะเห็นว่า ความถึงพร้อมแห่งขณะสมัยสำคัญมาก โอกาสแห่งการให้ทานที่ทำแล้วให้ได้ผลมากมายเกินควรเกินคาด ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองของชีวิต เป็นสิ่งที่ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับเวลามพราหมณ์ ผู้รักในการให้ทานจนตลอดชีวิต แต่ไม่มีเนื้อนาบุญมารับทักษิณาทาน ส่วนพวกเราทั้งหลายได้โอกาสอันประเสริฐนี้แล้ว คือวัตถุทานของเราก็มีอยู่ พระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศก็มีอยู่ เหลือแต่กุศลเจตนาของเราเองเท่านั้น ให้เร่งรีบสั่งสมบุญให้มากๆ อย่าให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรคในการทำความดีของเรา

        เราต้องไม่ลืมว่า ช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นสั้นนัก การที่จะลงทุนทำอะไรสักอย่าง จะต้องใคร่ครวญให้ดี เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนที่ทุ่มทำลงไป เพราะนั่นหมายถึงชีวิตและโอกาสที่เราต้องสูญเสียไป การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรในปัจจุบันและไว้ใช้ในภพชาติต่อไป อีกทั้งไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะการขาดทุน     อันเนื่องมาจากการแปรปรวนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นให้พวกเรา  ทุกคนหมั่นสั่งสมบุญให้กับตนเองให้ได้มากที่สุด
 
พระธรรมเทศนาโดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. เวลามสูตร เล่ม ๓๗ หน้า ๗๘๑ 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตระหนี่ตลอดไป (๑)มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตระหนี่ตลอดไป (๑)

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตระหนี่ตลอดไป (๒)มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - เลิกตระหนี่ตลอดไป (๒)

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ผลแห่งการถวายดอกปทุมมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ผลแห่งการถวายดอกปทุม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน