มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - มหาทาน คือ เสบียงสู่ความหลุดพ้น


[ 16 ม.ค. 2551 ] - [ 18279 ] LINE it!


 
มงคลที่ ๑๕

บำเพ็ญทาน
มหาทาน คือ เสบียงสู่ความหลุดพ้น

โลกถูกชราและมรณะเผาแล้ว บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน
ทานที่ให้แล้วจะน้อยก็ตาม มากก็ตาม ชื่อว่า เป็นอันนำออกดีแล้ว

        การเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ อายตนนิพพาน อันเป็นแดนเกษมจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย เราจะต้องสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่ หลอมใจของนักสร้างบารมีทุกดวงให้เป็นดวงเดียว ต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน รักสามัคคีกันแน่นแฟ้นยิ่งกว่าพี่น้องร่วมอุทร การสร้างบารมีอย่างนี้จึงจะมีประสิทธิภาพ ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน อีกทั้งหมั่นทำความบริสุทธิ์ภายในให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับงานสร้างบารมี หากทำได้อย่างนี้ เราย่อมจะประสบความสุขความสำเร็จในทุกๆ ขั้นตอนของชีวิต

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน อาทิตตชาดก ความว่า

"เอวมาทิปิโต โลโก         ชราย มรเณน จ
นีหเรเถว ทาเนน         ทินฺนํ โหติ สุนีภตํ

        โลกถูกชราและมรณะเผาแล้ว บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน ทานที่ให้แล้วจะน้อยก็ตาม มากก็ตาม ชื่อว่า เป็นอันนำออกดีแล้ว"

        ชีวิตของมนุษย์ทุกคนต่างถูกความแก่ ความเจ็บและความตายเผาลนอยู่เป็นนิตย์ ทรัพย์สมบัติภายนอกเป็นเพียงแค่ทรัพย์หยาบ ไม่อาจนำติดตัวไปในภพชาติหน้าได้ บัณฑิต นักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงสรรเสริญการให้ทาน เพราะท่านเหล่านั้นตระหนักดีว่า การที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปในภพชาติเบื้องหน้านั้น จะต้องเปลี่ยนทรัพย์หยาบให้เป็นทรัพย์ละเอียดด้วยการให้ทาน เพราะ "การให้" เป็นทานบารมีข้อแรกที่จะทำให้เราสร้างบารมีอื่นอย่างสะดวกสบายอย่างง่ายดายได้ยิ่งๆ ขึ้นไป

       ครั้งหนึ่ง พระภิกษุพากันนั่งสนทนาถึงการถวายอสทิส-ทานของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ช่างเป็นผู้ที่ฉลาดในการให้ทานยิ่งนัก   ทั้งยังฉลาดในการเลือกเนื้อนาบุญ ได้ถวายทานนี้แด่พระอริยสงฆ์  โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข"
 
        ครั้นพระบรมศาสดาทรงได้ยินคำของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่พระราชาทรงเลือกเนื้อนาบุญ แล้วถวายทานในบัดนี้ยังไม่น่าอัศจรรย์เท่าใดนัก แต่บัณฑิตในกาลก่อน แม้ว่าในพระนครจะขาดเนื้อนาบุญ ก็ยังแสวงหาและได้ถวายมหาทาน" ทรงนำอดีตมาตรัสเล่าว่า

       *เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเกิดเป็นพระราชาพระนามว่า พระเจ้าเภรุวมหาราช ทรงครองราชย์ที่เภรุวนคร ในสีวิรัฐ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่บำเพ็ญทศพิธราชธรรม สงเคราะห์มหาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ ดำรงอยู่ในฐานะแห่งบิดาของพระนคร จึงเป็นที่รักและเคารพของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า พระราชาทรงมีพระมเหสีพระองค์หนึ่ง พระนามว่า สมุททวิชยา เป็นสตรีที่เป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยความรู้ทุกอย่าง วันหนึ่งพระเจ้าเภรุวมหาราชทอดพระเนตรโรงทานของพระองค์ ทรงดำริว่า ปฏิคาหก ผู้รับทานของเรานี้ ล้วนเป็นผู้ทุศีล บริโภคทานแล้วไม่ทำให้จิตใจของทายกยินดีเลย ทำอย่างไรหนอเราจึงจะได้เนื้อนาบุญ เราปรารถนาจะถวายทานกับพระปัจเจกพุทธเจ้า" พระองค์ได้ตรัสเล่าแก่พระเทวี 

        พระเทวีตรัสตอบว่า "ขอเสด็จพี่อย่าทรงวิตกไปเลย พระองค์ควรจะถวายดอกไม้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยเดชะบุญที่เกิดจากทาน กำลังศีลและความสัตย์ของพวกเราทั้งหลาย หม่อมฉันมั่นใจว่าจะสำเร็จ"
 
        พระราชารับสั่งว่า "ดีแล้ว น้องหญิง" ทรงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้ชาวเมืองทั้งหมดรักษาศีล ส่วนพระองค์เองอธิษฐานองค์แห่งอุโบสถศีล บำเพ็ญทาน และให้ราชบุรุษถือกระเช้าทองคำที่เต็มด้วยดอกมะลิ พระองค์เสด็จลงจากปราสาทประทับที่พระลานหลวง ทรงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ที่พื้นดิน ผินพระพักตร์ไปทางทิศปราจีนถวายนมัสการพลางประกาศว่า

        "ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอรหันต์ทั้งหลายในทิศนี้ หากคุณงามความดีของข้าพเจ้ามีอยู่ไซร้ ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์เสด็จมาเป็นเนื้อนาบุญด้วยการมารับภิกษาหารด้วยเถิด" ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ วันรุ่งขึ้น เมื่อไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามา พระองค์ทรงนมัสการทางทิศทักษิณ วันที่ ๓ ทิศปัจฉิม ทั้งสองวันไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเลย เพราะไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ในทิศนั้น ในวันที่ ๔ ทรงนมัสการทิศอุดร ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ และอธิษฐานว่า "ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่ในป่าหิมพานต์ โปรดเสด็จมาสงเคราะห์พวกข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด"

        ทันทีที่พระราชาซัดดอกมะลิไป ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ ด้วยผลแห่งบุญที่พระราชาได้ทำไว้ดีแล้ว ดอกมะลิได้ลอยไปตกลงเหนือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า เหล่านั้นตรวจดูด้วยญาณ ก็รู้ความประสงค์ของพระราชาที่ประชุมสงฆ์จึงมีมติให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ พระองค์ไปเป็นเนื้อนาบุญให้กับพระราชา พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้เหาะมาลงที่หน้าประตูพระราชวังในทันที

        พระเจ้าเภรุวมหาราชทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงโสมนัสยิ่งนัก ได้อาราธนาให้ขึ้นสู่ปราสาท ทรงกระทำสักการะใหญ่แล้วถวายทาน อีกทั้งได้ทูลอาราธนาให้มาฉันในวันต่อๆ ไปจนครบ ๗ วัน วันสุดท้ายทรงจัดเตรียมบริขารทุกอย่าง ตกแต่งตั่งเตียงและตั่งที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการ ทรงวางเครื่องสมณบริโภคไว้ตรงหน้า และเปล่งวาจาถวายว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมขอถวายเครื่องสมณบริขารเหล่านี้   แด่พระคุณเจ้าทุกๆ พระองค์" หลังจากพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันภัตตาหารแล้ว ผู้เป็นประธานสงฆ์ได้ตรัสอนุโมทนาว่า

        "เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของขนสิ่งของใดออกไปได้ สิ่งของนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ แต่ของที่ถูกไฟไหม้ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่เขา โลกกำลังถูกชราและมรณะเผาอยู่อย่างนี้ บุคคลควรจะนำออกด้วยการให้ทาน ทานที่ให้ไม่ว่ามากหรือน้อย ย่อมชื่อว่า นำออกดีแล้ว"
 
        ครั้นพระสังฆเถระ อนุโมนาเช่นนี้แล้ว ได้ให้โอวาทพระราชาว่า "ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด" จากนั้นก็เหาะขึ้นสู่อากาศ ทำช่อฟ้าให้แยกเป็นสองส่วน และกลับไปที่เงื้อมเขานันทมูลกะในทันที แม้บริขารที่พระราชาถวายพระสังฆเถระก็ลอยตามไปพร้อมพระเถระนั่นเอง สรรพางค์กายทั้งสิ้นของพระราชาและพระเทวี ต่างเต็มตื้นไปด้วยมหาปีติอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

        ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือต่างทะยอยกล่าว อนุโมทนาคาถาว่า "คนใดที่ให้ทานแก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้บรรลุธรรมด้วยความเพียรและความหมั่น ผู้นั้นจะล่วงเลยนรกของพญายม เข้าสู่ทิพยสถาน"

        องค์ต่อมากล่าวว่า "ท่านผู้รู้กล่าวการให้ทานและการรบว่า มีสภาพเสมอกัน นักรบแม้มีน้อยก็ชนะคนหมู่มากได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้น้อยก็ชนะหมู่กิเลสแม้มากได้ บุคคลเชื่อกรรมและผลของกรรมแล้วให้ทาน เขาย่อมเป็นสุขในโลกหน้า"

        องค์ต่อมากล่าวว่า "การเลือกทักษิณาทานและทักขิไณยบุคคล พระสุคตทั้งหลายสรรเสริญ ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า เป็นต้น มีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดี" 

        องค์ที่ ๔ กล่าวว่า "บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้ที่กลัวบาป ย่อมไม่สรรเสริญผู้ที่กล้ากระทำบาป เพราะว่า สัตบุรุษ ทั้งหลายย่อมไม่ทำบาปเลย"

        องค์ที่ ๕ กล่าวว่า "บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์เพราะพรหมจรรย์อย่างต่ำ เกิดในเทวโลกเพราะพรหมจรรย์อย่างกลาง และบริสุทธิ์ได้เพราะพรหมจรรย์อย่างสูง"

        องค์สุดท้ายกล่าวธรรมประเสริฐกว่าการให้ทาน คือ ท่าน สอนให้มองลึกไปอีกว่า ทาน แม้ผู้รู้จะสรรเสริญอยู่ก็จริง แต่อย่าลืมว่า บทแห่งธรรมประเสริฐยิ่งกว่าการให้ทานอีก สัตบุรุษทั้งหลาย เจริญสมถวิปัสสนาแล้ว ย่อมได้บรรลุพระนิพพาน
 
        หลังจากกล่าวสอนแล้ว ทั้ง ๗ พระองค์ได้กลับที่อยู่ของตน  พระราชาพร้อมด้วยพระมเหสีได้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ดำรงอยู่ในโอวาทของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติธรรมจนตลอดพระชนมายุ ละโลกไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

        เราจะเห็นว่า ทานนั้นเป็นเสบียงบุญที่จะติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง ผู้ที่ปรารถนาจะสั่งสมเสบียงในการข้ามวัฏสงสารอันยาวไกล ต้องหมั่นให้ทานอย่างสม่ำเสมอให้อย่างต่อเนื่อง ทำตามโอวาทของพระบรมศาสดา หรือโอวาทที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงประทานแก่พระโพธิสัตว์ ควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิภาวนา หากทุกท่านทำได้อย่างนี้ ชีวิตย่อมจะสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง ไม่มีอุปสรรคใดๆ อย่างแน่นอน
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. อรรถกถาอาทิตตชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๕๗๔


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - สังฆทานประเสริฐกว่าปาฏิปุคคลิกทานมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - สังฆทานประเสริฐกว่าปาฏิปุคคลิกทาน

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ให้ทานอย่างสัตบุรุษมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ให้ทานอย่างสัตบุรุษ

มงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ทำอย่างไรได้อย่างนั้นมงคลที่ ๑๕ บำเพ็ญทาน - ทำอย่างไรได้อย่างนั้น



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน