มิจฉาสมาธิ


[ 28 ธ.ค. 2548 ] - [ 18290 ] LINE it!
View this page in: English

2. มิจฉาสมาธิ
 
    มิจฉาสมาธิ โดยความหมายที่ตรงข้ามกับสัมมาสมาธินั้น ก็หมายถึงการตั้งมั่นจิตที่ไม่ชอบ หรือ การที่จิตตั้งมั่นในสิ่งที่ผิด ซึ่งในพระไตรปิฎ1 ได้อธิบายว่าที่ชื่อว่า มิจฉาสมาธิ เพราะตั้งมั่นตามความไม่เป็นจริง ดังนั้น มิจฉาสมาธิจึงเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสัมมาสมาธิ นั่นคือ มิจฉาสมาธิจะทำให้จิตซัดส่าย ฟุ้งซ่าน เป็นสภาพจิตที่ส่งออกนอก เพื่อไปมีความพอใจในกามคุณทั้ง5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งทำให้จิตระคนปนเจือไปด้วยความตรึกไปในกาม
 
    ดังนั้น มิจฉาสมาธิจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้กิเลส คือ โลภะ โทสะ และโมหะ เบาบางลงได้ และไม่ใช่หนทางที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพานได้ ทั้งนี้ในพระไตรปิฎกได้อธิบายไว้อีกว่า
 
มิจฉาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?
 
    ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบสมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจผิด ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า มิจฉาสมาธิมีในสมัยนั้น2

    ดังนั้น การฝึกสมาธิ จึงต้องยึดปฏิบัติตามหลักสัมมาสมาธิ ด้วยการไม่ส่งใจไปเกาะเกี่ยวกับกามคุณ ไม่ปล่อยใจให้ซัดส่ายเพลิดเพลินใน รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสทางกาย โดยในทางตรงข้าม จะต้องน้อมใจให้อยู่ภายในกาย ให้ตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน หมั่นพิจารณาสภาวะที่ปรากฏตามความเป็นจริง พร้อมด้วยการละโทสะ โมหะ และโทสะ ที่เกิดขึ้นในใจของตน อันจะสามารถนำไปสู่ทางพ้นทุกข์ และจะทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาได้

ประเภทของสมาธิจำแนกตามการวางใจ

    สมาธิสามารถจำแนกได้ตามวิธีการกำหนดวางที่ตั้งของใจ หรือแบ่งตามที่ตั้งของใจในขณะที่เจริญสมาธิ ได้ 3ประเภท ดังนี้ คือ
1. ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย
2. ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
3. ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย

1.ประเภทวางใจไว้นอกร่างกาย

    วิธีส่งจิตหรือใจออกข้างนอก เป็นวิธีที่ส่วนใหญ่ในโลกนี้ได้ใช้ฝึกกัน คือ เอาใจส่งออกไปข้างนอกกาย เพราะเป็นวิธีการที่ง่าย เนื่องจากปกติคนส่วนใหญ่มักมีนิสัยชอบมองไปข้างนอก ดังนั้นการส่งจิตออกไปข้างนอกจึงสบาย ง่าย และทำได้กันเกือบจะทุกคน แต่ข้อเสียก็มี คือ จะมีภาพนิมิตลวงเกิดขึ้นมา เป็นนิมิตเลื่อนลอยไม่ใช่ของจริงเกิดขึ้น
 
    บางนิมิตก็น่าเพลิดเพลิน บางนิมิตเห็นแล้วก็น่าสะดุ้งหวาดเสียว ถ้าหากว่าได้ครูที่ไม่ชำนาญ ไม่มีประสบการณ์เป็นผู้แนะนำ จะทำให้จิตออกไปข้างนอก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้ยินบ่อยครั้งว่า การปฏิบัติธรรมฝึกจิตเป็นเหตุให้เป็นบ้า ซึ่งที่จริงเกิดจากการวางใจไว้ผิดที่ โดยเอาออกไปสู่ข้างนอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจึงผิดมากกว่าถูก
 
    เก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ฝึกจิตด้วยวิธีการแบบนี้ ไม่ใช่ทางสู่ความพ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงสรณะ เข้าไม่ถึงที่พึ่งที่ระลึกภายในตัว และเป็นโอกาสให้หลงตัวเอง พลาดพลั้ง และเดินผิดทางได้

2.ประเภทวางใจในตัวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

    ประเภทนี้ เป็นการเอาใจมาไว้ข้างใน หรือคือการเอาความรู้สึกอยู่ภายใน แล้วก็หยุดนิ่งเฉยๆลอยๆ อยู่ภายในตัวของเราตามฐานต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ที่บริเวณทรวงอก แล้วหยุดนิ่งสงบ มีความเย็นกายเย็นใจเกิดขึ้น มีสติ มีปัญญา มีความรู้รอบตัวเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งการปฏิบัติด้วยวิธีที่สองนี้มีอยู่น้อยในโลก
 
    วิธีอย่างนี้ยังถือว่าถูกมากกว่าผิด เช่น ถ้าจิตฝึกฝนด้วยการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ปล่อยให้สงบนิ่งอยู่ภายในตัว จะทำให้รู้สึกมีความสุขอยู่ภายใน และการทำสมาธิแบบนี้จะทำให้มีความรู้สึกว่าเราไม่ติดอะไรเลย ไม่ยินดียินร้าย ปล่อยวางสงบ สว่างเย็น อยู่เฉยๆ อยู่ภายใน จะไม่ค่อยมีนิมิตเลื่อนลอยเกิดขึ้น เพราะว่าปล่อยวางหมด เอาแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใสอย่างเดียว ใจสงบเย็น ความรู้ต่างๆก็เกิดขึ้นกว้างขวางกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังเข้าไปไม่ถึงการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม จึงยังไม่ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ หรือหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

3.ประเภทวางใจไว้ในร่างกายที่ศูนย์กลางกาย

    ประเภทนี้ เป็นการฝึกใจโดยการเอาใจมาหยุดนิ่งภายในกลางกาย หรืออยู่ที่ตรงฐานที่เจ็ด หยุดจนกระทั่งถูกส่วน แล้วเห็นปฐมมรรคเกิดขึ้นมาเป็นดวงสว่าง ได้ดำเนินจิตเข้าไปในทางนั้น กลางของกลางปรากฏการณ์นั้น เข้าไปเรื่อยๆ โดยเอามรรคมีองค์แปด ขึ้นมาเป็นเครื่องปฏิบัติ

    คำว่า มรรค แปลว่าหนทาง หมายความว่าทางเดินของใจ ทางเดินของใจที่จะเข้าไปสู่ภายใน จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย โดยอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องกลั่นกรองใจ ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใสขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าไปถึงธรรมกายที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
 
    ตรงฐานที่เจ็ด ตรงนี้ที่เดียวจึงจะเห็นหนทาง แล้วก็ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับจนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย สิ่งนี้คือหลักในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักของการสร้างความสุขให้กับชีวิตในโลก ใครอยากจะหลุดอยากจะพ้น ก็ต้องทำมรรคให้เกิดขึ้นมา แล้วก็ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ จนกระทั่งเข้าถึงธรรมกาย
 
    นอกจากนี้ ถ้ากล่าวถึงวิธีการในการปฏิบัติสมาธิโดยละเอียดขึ้น จะพบวิธีที่ปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ เช่น วิสุทธิมรรค มีถึง 40วิธี3 ซึ่งวิธีทั้ง40นั้น ต่างก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือ การทำใจให้ถูกส่วน และเข้าถึงพระธรรมกายภายใน
 
    ถ้าหากว่า เรานำใจของเรามาตั้งไว้ตรงที่ฐานที่เจ็ด แล้วก็เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ด้วยวิธีการดังกล่าว จะเริ่มต้นจากกสิณ10 อสุภะ10 อาหาเร ปฏิกูลสัญญา1 อนุสติ10 หรืออะไรก็ตาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าใจหยุดถูกส่วนตรงฐานที่เจ็ดนี้แล้ว ดำเนินจิตให้เข้าสู่ภายใน และดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ ไม่ช้าก็จะพบธรรมกาย ซึ่งสิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ถ้าปฏิบัติตามได้อย่างถูกวิธี
 
 
1 อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี เล่ม 76 หน้า 20
2 พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์ อกุศลธรรม เล่ม 76 หน้า 15
3 ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 อาหาเร ปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัฏฐาน 1 พรหมวิหาร 4 อรูปฌาน 4
 
 
<<back      next>>


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สมาธิแก้ว รุ่นอาสาสมัครสมาธิแก้ว รุ่นอาสาสมัคร

ปฏิบัติธรรมสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์)ปฏิบัติธรรมสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์)

ปฏิบัติธรรม 7 วันปฏิบัติธรรม 7 วัน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

สมาธิ