มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (1)


[ 14 ธ.ค. 2552 ] - [ 18264 ] LINE it!

มงคลที่ 38 จิตเกษม

ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (1)
 

นรชนใดกระด้างโดยชาติ กระด้างโดยทรัพย์และกระด้างโดยโคตร
ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน กรรมสี่อย่างของนรชนนั้น เป็นทางแห่งความเสื่อม

 

    การเข้าถึงพระธรรมกาย คือ เป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว ซึ่งเป็นกรณียกิจ คือ กิจที่พึงกระทำอย่างยิ่ง และต้องทำบ่อยๆให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้ได้ทุกๆวัน ใจเราจะละเอียดอ่อนบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ใจจะมีพลังมีอานุภาพ เหมือนเกลียวคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง แม้จะอ่อนนุ่ม แต่ทรงพลัง สามารถทำลายสิ่งที่ขวางกั้นได้ การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ต้องอาศัยความเพียรที่ต่อเนื่อง ไม่ช้าความเพียรนั้น ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จสมหวัง ในที่สุดเราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยกันทุกคน

    มีวาระพระบาลีใน ปราภวสูตร ว่า
 
ชาติถทฺโธ ธนถทฺโธ    โคตฺตถทฺโธ จ โย นโร
สญฺญาตึ อติมญฺเญติ    ตํ ปราภวโต มุขํ
 
นรชนใดกระด้างโดยชาติ กระด้างโดยทรัพย์และกระด้างโดยโคตร
ย่อมดูหมิ่นแม้ญาติของตน กรรมสี่อย่างของนรชนนั้น เป็นทางแห่งความเสื่อม
 
    สิ่งที่คนทั่วไปหลงยึดถือ จนทำให้เกิดทิฏฐิมานะนั้น มีหลายอย่าง เช่น ชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถ ยศตำแหน่งและพวกพ้องบริวาร เมื่อเกิดความหลงทะนงตนในสิ่งเหล่านี้ ความถือตัวจัดย่อมเกิดขึ้น สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น เก่งกว่าผู้อื่น เมื่อถูกแนะนำตักเตือน จะไม่ยอมรับฟัง นี่เป็นสิ่งที่อันตรายมาก

    ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล คือ คนรับใช้ใกล้ชิดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ได้มาเกิดเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดือนปีเดียวกันกับพระองค์ คำว่า สหชาติ คือ การเกิดพร้อมกัน สหชาติของเจ้าชายสิทธัตถะมีเจ็ดอย่าง ได้แก่ พระอานนท์ พระนางพิมพา ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ นายฉันนะ ม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิ์พฤกษ์และขุมทรัพย์ใหญ่ทั้งสี่ รวมเป็นสหชาติเจ็ดอย่างด้วยกัน

    *ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช ตรงกับวันที่พระราหุลกุมารประสูติ ในวันนั้นเมื่อพระองค์ทรงรู้ข่าวประสูติของพระราหุลกุมารแล้ว ก็ทรงซาบซึ้งถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อพระโอรส ขณะเดียวกันได้ทอดพระเนตรเห็นความไม่งามของหมู่นางบำเรอทั้งหลายที่บางคนนอนน้ำลายไหล บางคนนอนกรน บางคนนอนละเมอ บางคนนอนเสื้อผ้าหลุดลุ่ย เหล่านี้ เป็นต้น ทำให้พระองค์สลดพระทัย และทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดที่จะตัดเครื่องผูก คือ บุตร นี้ให้ได้

    เมื่อทรงพิจารณาเห็นโทษของกามคุณแล้ว ทรงเห็นอานิสงส์ของการบวช จึงปลุกนายฉันนะ เพื่อไปนำม้ากัณฐกะมาให้พระองค์ และก็เสด็จขึ้นม้ากัณฐกะ ทรงควบม้าออกจากเมืองทันที โดยมีนายฉันนะตามเสด็จไปด้วย เมื่อเสด็จมาถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงตรัสบอกนายฉันนะว่า "ฉันนะ...เธอจงนำเครื่องประดับและเครื่องทรงพร้อมกับม้ากัณฐกะนี้กลับไป บัดนี้ เราจักออกบวช" จากนั้นทรงเปลื้องเครื่องทรงส่งให้นายฉันนะเพื่อนำกลับไป

    นายฉันนะรับเครื่องทรงจากพระมหาบุรุษแล้ว ได้จูงม้ากลับเข้าเมือง ขณะนั้น ม้ากัณฐกะได้หันไปดูพระพักตร์ของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเพ่งมองจนลับสายตา ทันทีที่ลับสายตา ม้ากัณฐกะสิ้นใจตายทันที เพราะไม่สามารถหักห้ามความอาลัยรักในเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อม้ากัณฐกะสิ้นใจแล้ว ได้ไปเกิดเป็นกัณฐกเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเทพอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร

    เมื่อนายฉันนะกลับเข้าเมือง ก็ถูกชาวเมืองถามข่าวคราวของเจ้าชายสิทธัตถะ ส่วนอำมาตย์ทั้งหลายรีบนำนายฉันนะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระบิดา นายฉันนะได้ถวายเครื่องทรงของเจ้าชายสิทธัตถะ พร้อมเครื่องประดับของม้าและกราบทูลเรื่องราวทั้งหมด ทำให้พระเจ้าสุทโธทนะและพระประยูรญาติต่างโศกเศร้าเสียใจมาก

    ต่อมา เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่ได้ส่งกาฬุทายีอำมาตย์ให้ไปกราบอาราธนานิมนต์ ส่วนนายฉันนะได้เห็นพระพุทธานุภาพแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงออกบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาตามพระพุทธองค์

    ครั้นนายฉันนะบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ได้ถือสิทธิ์ว่าพระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระธรรมเป็นของเรา พระสงฆ์เป็นของเรา สาเหตุที่ท่านถือตัวเช่นนี้ เพราะถือว่าตนมีส่วนสำคัญยิ่งในการเสด็จออกผนวชของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

    เมื่อสำคัญตนผิด ทำให้ท่านเกิดความดื้อรั้น ถือตน เป็นคนว่ายากสอนยาก ครั้นถูกพระภิกษุทั้งหลายกล่าวตักเตือนห้ามปรามว่า "ท่านฉันนะ ท่านอย่าได้กระทำเช่นนี้เลย การประพฤติเช่นนี้ เป็นการไม่สมควร"

    เมื่อถูกตักเตือน พระฉันนะจะโต้เถียงทันทีว่า "ท่านทั้งหลาย พวกท่านเข้าใจว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พวกท่านควรว่ากล่าวกระนั้นหรือ แท้จริงข้าพเจ้าต่างหากควรจะว่ากล่าวพวกท่าน เพราะพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นของข้าพเจ้า พระลูกเจ้าของข้าพเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว พวกท่านมีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีชาติต่างกัน มีสกุลต่างกัน ได้มาบวชอยู่รวมกัน เปรียบเสมือนลมแรงพัดมา ย่อมพัดเอาหญ้า ใบไม้ มูลฝอยมาอยู่รวมกัน หรือเปรียบเสมือนแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา ได้พัดพาจอก แหน สาหร่าย มารวมกันอยู่อย่างนั้น"

    พระภิกษุได้ฟังเช่นนั้น ต่างติเตียนโพนทะนาว่า "ทำไม  เมื่อพระฉันนะถูกพระภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวโดยธรรม จึงต้องทำตัวให้เป็นผู้ที่ใครๆว่ากล่าวไม่ได้ด้วยเล่า" จากนั้น พากันนำความนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า

    พระพุทธองค์จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์และสอบถามพระฉันนะว่า เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เมื่อท่านยอมรับว่าจริง จึงตรัสเตือนว่า "ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอกระทำไม่เหมาะสม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ทำไมเมื่อเธอถูกภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวโดยธรรม จึงทำตัวให้เป็นผู้ที่ใครๆว่ากล่าวไม่ได้ การกระทำของเธอไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของมหาชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของมหาชนที่เลื่อมใสแล้ว แท้ที่จริง การกระทำของเธอนี้ เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของมหาชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเป็นไปเพื่อทำลายความเลื่อมใสของมหาชนที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว"
 
    แม้ท่านถูกพระพุทธองค์ตักเตือนแล้ว ท่านยังทำตัวเหมือนเดิมอีก จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทหลายสิกขาบท

    จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า การมีทิฏฐิมานะถือตัวจัดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย เหมือนตุ่มน้ำที่ปิดฝา แม้ฝนจะตกทั่วท้องฟ้า ก็ไม่สามารถไหลลงตุ่มน้ำได้ ฉันใด บุคคลผู้มากไปด้วยทิฏฐิมานะ ย่อมไม่สามารถรองรับคุณธรรมความดีได้ ฉันนั้น แม้ความรู้  มากมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แนะนำพร่ำสอน ก็ไม่สามารถเข้ามาในใจได้ เพราะใจนั้นถูกปิดกั้นด้วยทิฏฐิมานะ
 
    ฉะนั้น ใครที่เป็นเช่นนี้ให้รีบแก้ไข ทำลาย ข่าย คือ ทิฏฐิมานะ นี้ออกจากใจให้ได้ เปรียบง่ายๆเสมือนให้เปิดฝาของตุ่มน้ำ แล้วความรู้คุณธรรมความดีงาม สิริมงคลต่างๆ ก็จะไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเรา โดยเฉพาะเวลาที่เราปฏิบัติธรรม ใจที่ปราศจากความกระด้าง ไม่มีทิฏฐิมานะ จะเป็นใจที่ละเอียดอ่อน นุ่มนวลควรแก่การเข้าถึงธรรม ในไม่ช้าเราย่อมเข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
*มก. พระฉันนะ เล่ม 55 หน้า 100


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (2)มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิมานะ (2)

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ธรรมกายต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์มงคลที่ 38 - จิตเกษม - ธรรมกายต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์

มงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมีมงคลที่ 38 - จิตเกษม - พากเพียรเถิดให้เกิดบุญบารมี



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน