ศาสดาเอกของโลก (6)


[ 28 พ.ค. 2553 ] - [ 18273 ] LINE it!

ศ า ส ด า เ อ ก ข อ ง โ ล ก
( ๖ )



 
    ชนเหล่าใด ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ชนเหล่านั้น ละโลกนี้ไปแล้ว จักไม่ไปสู่อบายภูมิ เมื่อละ   กายมนุษย์นี้แล้ว จักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์

     พระรัตนตรัย เป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีอานุภาพเป็นอจินไตย ยิ่งใหญ่กว่าผู้มีรู้มีญาณจะคาดคะเนได้ ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน จะเกิดความซาบซึ้งในพระคุณอันไม่มีประมาณนั้น เมื่อมีทุกข์ท่านก็จะช่วยขจัดปัดเป่าให้พ้นทุกข์ มีสุขแล้วก็ทำให้พบความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป ชีวิตของเราจะได้รับการคุ้มครอง ทำให้ปลอดจากภยันตรายทั้งปวง ผู้รู้ทั้งหลายจึงยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกสำหรับการดำเนินชีวิต การทำสมาธิภาวนา ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นทางลัดที่สุด ที่จะทำให้เราเข้าไปพบกับพระรัตนตรัยภายใน

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สมยสูตร ว่า
 
     " เยเกจิ พุทฺธํ สรณํ คตา เส
       น เต คมิสฺสนฺติ อปายภูมึ
       ปหาย มานุสํ เทหํ
       เทวกายํ ปริปูเรสฺสนฺติ

    ชนเหล่าใด ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ชนเหล่านั้น ละโลกนี้ไปแล้ว จักไม่ไปสู่อบายภูมิ เมื่อละกายมนุษย์นี้แล้ว จักยังหมู่เทวดาให้บริบูรณ์"

 
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศทั้งพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ จะหาบุคคลใดๆ ในภพทั้งสาม ยิ่งกว่าหรือเสมอเหมือนไม่มีอีกแล้ว ลำพังพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระพุทธญาณลึกซึ้งกว้างไกล ทรงรู้แจ้งโลกและแทงตลอด ทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันต์ แม้จะพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้าด้วยกันจนกัปหนึ่งผ่านไปแล้ว ก็ยังพรรณนาคุณของท่านไม่หมด เพราะคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอจินไตย แสนโกฏิจักรวาลอนันตจักรวาลก็ยังเล็กเกินไป เราจะซาบซึ้งต่อเมื่อเข้าถึงพระธรรมกาย การถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด จึงเป็นเหตุให้เราเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ช่วยปิดประตูอบายภูมิ ยกใจขึ้นสู่สวรรค์นิพพาน
 
    * แม้ในภพชาติสุดท้าย กว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นศาสดาเอกของโลกได้ พระองค์ทรงสละโลกียสุขทุกอย่าง ตั้งแต่กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ทรงยินดีพอใจในเบญจกามคุณ ๕ แม้จะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินผู้พรั่งพร้อมด้วยสมบัติต่างๆ เสวยสุขประดุจจำลองสวรรค์ลงมาไว้บนเมืองมนุษย์ แต่พระองค์ก็ตัดใจไม่อาลัยอาวรณ์ หันหลังให้กับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด ปรารถนาจะแสวงหาสุขที่ยิ่งกว่านั้น ที่เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลย
    
    เมื่อถึงคราวเสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงมีเพียงผ้าครองกาย ๓ ผืน อาศัยอาหารตามที่เขาถวายด้วยศรัทธาเพื่อหล่อเลี้ยงกายเท่านั้น สละความสะดวกสบายทุกอย่าง ตลอด ๖ พรรษา ที่เสด็จออกผนวช พระองค์ได้แสวงหาหนทางที่จะทำให้ตนเองหลุดพ้นเรื่อยมา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยการทรมานตนให้ลำบาก ซึ่งยากที่ใครๆ ในสมัยนั้นจะทำได้ ตั้งแต่ทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ คือ กลั้นลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อลมออกทางจมูกหรือทางปากไม่ได้ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้าง ทำให้ปวดพระเศียรมากเหมือนศีรษะจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ
 
     ครั้นเห็นว่ายังไม่บรรลุคุณวิเศษ พระองค์ทรงอดอาหารโดยลดลงวันละน้อยๆ จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง ผิวพรรณวรรณะเศร้าหมอง ทั่วทั้งเรือนร่างเหมือนมีแต่โครงกระดูก เพียงเอามือลูบพระวรกายเส้นขนก็ร่วงหลุดตามมา ลูบหน้าท้องทะลุไปถึงกระดูกสันหลัง จึงพิจารณาเห็นว่า การทำตนให้ลำบากเช่นนี้ เป็นอัตตกิลมถานุโยค ไม่ใช่วิถีทางหลุดพ้นจากทุกข์ ในที่สุดพระองค์ทรงปฏิบัติตามทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หันกลับมาเสวยอาหารเช่นเดิม
 
     ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ พระองค์ทรงมีความสบายกาย สบายใจทั้งวัน ตั้งแต่นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาส ซึ่งถือว่าเป็นอาหารที่มีรสเลิศที่สุดในสมัยนั้นมาถวาย หลังจากเสวยแล้ว พระองค์ก็ทรงลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมกับอธิษฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้ถาดทองนี้ลอยทวนกระแสน้ำด้วยเถิด" ถาดทองแม้ไม่มีชีวิต แต่ด้วยบุญญานุภาพที่พระองค์สั่งสมมานานถึง ๔ อสงไขย  แสนมหากัปเต็มเปี่ยม ถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปอย่างน่าอัศจรรย์
 
     ถึงคราวจะได้ธรรมะ พระองค์ทรงได้อย่างง่ายๆ ได้ตอนที่อารมณ์สบายๆ นี่แหละ เย็นวันนั้นนายโสตถิยะนำหญ้าคามาปูถวาย แต่ด้วยบุญที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จากอาสนะหญ้าคาธรรมดาๆ กลายเป็นรัตนบัลลังก์ คือ บัลลังก์สำหรับผู้จะเข้าถึงพระรัตนตรัย เป็นบุพนิมิตว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้ธรรมอย่างแน่นอน เมื่อลงมือนั่งธรรมะจริงๆ พระองค์ทรงตั้งพระทัยมั่นว่า "ถ้ายังไม่บรรลุสัพพัญญุตญาณ จะไม่ยอมเสด็จลุกขึ้นจากรัตนบัลลังก์นี้เด็ดขาด" ทรงหยุดนิ่งอย่างสบายๆ พอถูกส่วนเข้ามรรคสามัคคีเกิดขึ้นรวมกันเป็นดวงปฐมมรรค จากนั้นทรงปล่อยใจหยุดนิ่งเข้ากลางเรื่อยไป เข้าถึงกายในกายไปตามลำดับ สุดท้ายพระองค์ได้เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
     เมื่อได้ตรัสรู้กายธรรมอรหัตแล้ว พระองค์เสวยวิมุตติสุขอย่างเดียว เป็นสุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือปน ที่เรียกว่าเอกันตบรมสุข ได้ซาบซึ้งกับคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ยิ่งนัก เพราะพระองค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต มีความสุขทั้งวันทั้งคืน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานตลอดเวลา ตลอด ๔๙ วัน ทรงศึกษาวิชชาธรรมกายต่อไป พระองค์เข้านิโรธสมาบัติ อาศัยกายธรรมเข้าไปศึกษาควบคู่กับความสุขที่พรั่งพรูทับทวีกันขึ้นมา ศึกษาทั้งในอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง สลับกันไปตลอด ๔๙ วัน ไม่ถอนถอย เห็นกายธรรมในกายธรรมทับทวีกันเข้าไปเรื่อยๆ ธรรมจักษุก็บังเกิดขึ้นมา ทำให้เห็นได้รอบตัว เห็นได้ชัดเจน เห็นได้ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต เพราะว่าใจหยุดอยู่ตรงกลางอย่างเดียวในกลางธรรมกาย
 
     พระพุทธองค์อาศัยธรรมจักษุขยายความเห็นไปได้รอบทิศ เห็นไปได้รอบตัว เป็นความเห็นที่แตกต่างจากการเห็นของตามนุษย์ ตาของมนุษย์มองเห็นได้ด้านเดียวเท่านั้น แต่ตาของธรรมกายหรือธรรมจักษุนั้นเห็นได้รอบทิศ จะน้อมไปในอดีตก็เห็นอดีต จะน้อมให้เห็นปัจจุบันก็เห็นปัจจุบัน จะน้อมไปในอนาคตก็เห็นอนาคต สว่างอยู่ตลอดเวลา เหมือนตัวของพระองค์เป็นจุดศูนย์กลางของสรรพสิ่ง เป็นจุดศูนย์กลางของสิ่งนั้นๆ
 
     เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์มิได้หวงความรู้ หรือหวงแหนวิชชา ท่านมีมหากรุณาที่ยิ่งใหญ่ ได้แนะนำสั่งสอนวิชชาความรู้ที่ได้ตรัสรู้มาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายตลอด ๔๕ พรรษา โดยไม่กังวลกับความทุกข์ยากลำบาก มีความปรารถนาดีอย่างเดียว อยากจะให้ทุกคนหลุดพ้นจากกรอบอวิชชา เข้าถึงเอกันตบรมสุข อย่างพระองค์บ้าง เพราะมนุษย์ทุกคนมีปัญหาชีวิตทั้งนั้น แต่วิธีแก้ปัญหาของมนุษย์มักแก้ที่ปลีกย่อย ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แก้กันที่ปลายทาง เพราะความรู้ไม่สมบูรณ์ คิดอะไรขึ้นมาได้ ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปอย่างนั้น
 
     พระพุทธองค์ทรงชี้แนะวิธีที่จะแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาด ไปถึงรากเหง้าของปัญหา คือทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนกล้าหาญพอที่จะมองชีวิตของตนว่า พื้นเพของชีวิตเป็นทุกข์และเป็นสิ่งที่ควรจะรู้ คือ มาพิจารณาให้รู้ว่า เรากำลังทุกข์อยู่จริงๆ จนกระทั่งยอมรับว่า เรามีความทุกข์จริงๆ จะได้เกิดแรงบันดาลใจอยากค้นหาสาเหตุแห่งความทุกข์ และทรงสอนต่อไปอีกว่า เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหมดมาจากความทะยานอยาก ตั้งแต่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากที่ระคนไปด้วยความเพลินอยู่ในโลก เป็นความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด และสิ่งที่ตัวอยากก็มีปัญหาอยู่ในตัว เมื่อได้มาแล้วก็ต้องตามแก้ปัญหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 
     เพราะฉะนั้น วิธีที่จะพ้นทุกข์ได้นั้น ต้องหยุด หยุดคือหยุดใจ ทำใจให้หยุดอยู่ภายใน ติดสนิทอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย ถ้าหยุดอย่างนี้ได้ บาปอกุศลทั้งหลายก็ไม่เข้าแทรก จะมีแต่ความดีล้วนๆ ความสุขล้วนๆ มีพลังสติปัญญาล้วนๆ หยุดอย่างนี้ คือเป้าหมายของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อหยุดถูกส่วนก็ถึงมรรค เห็นหนทางของ   พระอริยเจ้าบังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย เป็นดวงใส สว่างขึ้นมาเป็นปฐมมรรค เห็นทางไปสู่อายตนนิพพานแล้ว
 
     จะเห็นได้ว่า การบังเกิดขึ้นของพระพุทธองค์สมบูรณ์หมดทุกอย่าง ทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์ก็แจ่มชัด สมเป็นพระบรมศาสดาเอกของโลก จึงควรที่เราจะศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยการหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกาย ตามพุทธวิธีที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ จะได้ชื่อว่าเป็นสาวก เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงกันทุกคน 
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* พุทธประวัติ เล่ม ๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ชัยชนะครั้งที่ 4 (ตอน ชนะองคุลิมาล)ชัยชนะครั้งที่ 4 (ตอน ชนะองคุลิมาล)

ชัยชนะครั้งที่ 5 (ตอน ชนะการถูกกล่าวหาจากนางจิญจมาณวิกา)ชัยชนะครั้งที่ 5 (ตอน ชนะการถูกกล่าวหาจากนางจิญจมาณวิกา)

ชัยชนะครั้งที่ 1 (ตอนที่ 1 ชนะพญามาร)ชัยชนะครั้งที่ 1 (ตอนที่ 1 ชนะพญามาร)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน