กล้าดี...นักรบกล้าพันธุ์ตะวัน


[ 28 มิ.ย. 2553 ] - [ 18274 ] LINE it!

กล้าดี
นักรบกล้าพันธุ์ตะวัน
 
        ...กุญชรเอย เจ้าเคยเข้าสงคราม เคยแกล้วกล้าและมีกำลังมาก ความอาจหาญของเจ้าไปไหนเสีย พวกเราอุตส่าห์ฝ่าจนใกล้จะเข้าประตูเมืองได้แล้ว ทำไมเจ้าจึงกลับถอยออกไปแบบนี้ ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร...
 
        ความกล้าหาญ...เป็นสัญชาตญาณประจำนักรบ ความกล้าจะเป็นคู่ปรับกับความกลัว ในการตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างหากไร้ซึ่งความกล้าก็ไม่อาจทำสำเร็จได้ การที่จะเอาพลังศักยภาพที่สะสมอยู่ในตัวทั้งหมดมาใช้นั้น จำเป็นต้องได้ความกล้าเป็นตัวดึงมันออกมา
 
        เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงได้รับอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในพระราชวัง หลังจากเสวยพระกระยาหารแล้ว ก่อนเสด็จออกจากวังทรงได้ประทานบาตรแก่เจ้าชายนันทะพุทธอนุชาต่างพระมารดา และเจ้าชายนันทะนั้นกำลังจะอภิเษกสมรสกับนางชนบทกัลยาณีในวันนั้นพอดี ด้วยความเคารพในพระบรมศาสดา เจ้าชายนันทะจึงไม่กล้าทูลคืนบาตร จำต้องเสด็จตามไปอย่างไม่เต็มใจและทรงครุ่นคิดไปตลอดทางว่า “อีกสักพัก พระพุทธองค์คงจะขอบาตรคืนเป็นแน่”
 
        แทนที่พระศาสดาจะทรงรับบาตรคืน กลับตรัสถามว่า “นันทะ เธออยากบวชไหม”_ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงทรงตอบตกลงไปว่าจะบวช เมื่อบวชแล้วจิตใจของพระนันทะก็รัญจวนถึงนางชนบทกัลยาณีโดยตลอด จึงไปทูลขอลาสิกขากับพระศาสดา พระพุทธองค์จึงทรงพาท่านไปเที่ยวชมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อให้ดูความงามของเหล่าเทพธิดาบริวารท้าวสักกะห้าร้อยนาง พระนันทะตะลึงในความงดงามของพวกนาง จนถึงกับลืมนางชนบทกัลยาณีทีเดียว พระพุทธองค์จึงทรงใช้กุศโลบายโดยสัญญาว่าหากพระนันทะต้องการนางเทธิดาเหล่านั้นจริงๆ ก็ขอให้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมให้ดีเถิด แล้วจะได้ครอบครองนางเทพธิดาเหล่านั้นสมปรารถนา
 
        เมื่อท่านลงมือปฏิบัติธรรมเพื่อการนี้ จึงถูกเพื่อนภิกษุแกล้งเย้าแหย่ว่าที่ท่านตั้งใจบำเพ็ญเพียรก็เพียงเพื่ออยากได้นางเทพธิดา ทำให้พระนันทะอึดอัดและละอายใจมาก จึงปลีกตัวออกไปทำความเพียรแต่เพียงผู้เดียว ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
 
        หมู่สงฆ์สดับเรื่องราวนั้นจึงพากันสนทนาในธรรมสภาว่า “ท่านพระนันนทะอดทนต่อคำสอนของพระศาสดา ตั้งอยู่ด้วยพระโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วบำเพ็ญสมณธรรมก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้”_ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาและทรงทราบหัวข้อสนทนาแล้ว จึงตรัสเล่าถึงบุพกรรมในอดีตชาติของพระนันทะซึ่งเคยเกิดเป็นช้างสงคราม ดังต่อไปนี้
 
 
        ในอดีตกาลเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนายหัตถาจารย์ คือ ครูช้าง มีความรอบรู้เจนจบในคชศาสตร์หรือการฝึกช้าง ท่านเข้ารับราชการในวังของพระราชาพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามของพระเจ้าพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี ท่านยังได้ฝึกหัดช้างมงคลเชือกหนึ่ง จนเป็นช้างศึกคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเป็นทั้งพาหนะของพระราชาและเป็นทั้งอาวุธทรงพลังที่มีชีวิต
 
        คราวหนึ่งพระราชาพระองค์นี้จะยกทัพบุกเมืองพาราณสี จึงเสด็จขึ้นช้างมงคลเชือกนี้ และทรงชวนพระโพธิสัตว์ไปด้วย ทรงยกทัพไปโอบล้อมเมืองไว้โดยส่งราชสาส์นไปก่อนว่า “จะยกสมบัติให้หรือจะรบกับเรา”_ทว่าพระเจ้าพาราณสีทรงเลือกที่จะทำสงครามโดยรับสั่งระดมพลทหารกล้าตายทุกหน่วยเต็มอัตราศึกไปประจำการรักษาประตูกำแพงและป้อมค่ายตามจุดต่างๆ
 
        ฝ่ายพระราชาแห่งเมืองของพระโพธิสัตว์ทรงประกาศก้องแก่เหล่าทหารหาญของพระองค์ว่า “ในวันนี้ พวกเราจะต้องเอาชัยให้ได้”_แล้วทรงเอาเกราะหนังสวมให้ช้าง ทรงถือพระแสงขออันคมกริบ แล้วไสช้างมงคลคู่พระทัยพร้อมกับโห่ร้องสนั่นเคลื่อนทัพไปจนเข้าประจันหน้ากับกำแพงค่ายของฝ่ายตรงข้าม แต่ทว่าทหารเมืองพาราณสีเจ้าบ้านก็เปิดฉากกระหน่ำข้าศึกด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆอย่างหนักหน่วง
 
 
        ในขณะที่ช้างมงคลได้เห็นแสนยานุภาพแห่งยุทโธปกรณ์ของฝ่ายพาราณสี ไม่ว่าจะเป็นห่าลูกศรธนูไฟ การสาดทรายร้อน หินเหวี่ยงจากเครื่องเหวี่ยงหินให้ลอยตกลงมาทับอีกฝ่าย และเห็นภาพที่ทหารฝ่ายตนร้องโอดครวญเจ็บปวดและล้มตายกันมากมาย ทำให้ช้างรู้สึกสับสนอลหม่านในจิตใจ และตื่นตระหนกกลัวตายขึ้นมา จึงไม่กล้าเข้าไปใกล้ๆ กลับเยื้องเท้าถอยร่นห่างออกทีละเล็กละน้อย หมายจะหนีออกไปจากสนามรบ
 
คุณสมบัติช้างศึกคู่สมรภูมิ
 
๑.มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ทำใจให้พร้อมรบทุกเมื่อ และทำตามในสิ่งที่คนบังคับช้างสั่ง
 
๒.ทำลายแสนยานุภาพศัตรู สามารถกำจัดช้างศึก ม้าศึก รถศึก พลรถ และพลเดินเท้าได้
 
๓.รักษาตัวรอด สามารถป้องกันตัวเอง เท้าทั้งสี่ ศีรษะ หู งา งวง แม้กระทั่งชีวิตของคนบังคับช้าง
 
๔.มีความอดทนสูง ทนต่ออาวุธทุกชนิด หรือต่อเสียงกลองรบที่ตีกระหึ่มเขย่าขวัญอยู่
 
๕.เคลื่อนย้ายตัวได้เร็ว หากถูกคนบังคับช้างไสไปทางใด ต้องวิ่งไปทางนั้นให้ไวตามต้องการ
 
        พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นครูช้างเห็นช้างเสียขวัญก็ทราบทันที จึงพูดปลอบให้กำลังใจว่า “กุญชรเอย เจ้าเคยเข้าสงคราม เคยแกล้วกล้าและมีกำลังมาก ความอาจหาญของเจ้าไปไหนเสีย พวกเราอุตส่าห์ฝ่าจนใกล้จะยันเข้าประตูเมืองได้แล้ว ทำไมเจ้าจึงกลับถอยออกไปดื้อๆแบบนี้ ชื่อว่าการล่าถอยอย่างนี้ไม่สมควร ดังนั้น เจ้าจงพังกลอน ถอนเสาค่าย ทำลายประตูเมือง เผด็จศึกให้เร็วที่สุดเถิด”
 
 
        ช้างมงคลเมื่อได้คำปลุกใจจากพระโพธิสัตว์ผู้เป็นนายของตน ก็หวนระลึกถึงความกล้าที่เคยมี กลับฮึกเหิมขึ้นมาอีกครั้ง แล้วหันกลับตามคำของพระโพธิสัตว์ ประจันหน้ากับข้าศึก กระทืบเท้าวิ่งจู่โจมฝ่าเข้าไปอย่างไม่คิดชีวิต และแสดงพละกำลังอันมหาศาลของตน ใช้งวงถอนเสาหลายต้นที่ใช้ปักเป็นค่ายออกอย่างง่ายดาย ดั่งเอามือถอนดอกเห็ด จากนั้น ช้างได้พุ่งชนประตูเมืองวิ่งฝ่าวงล้อมจนหมู่ข้าศึกแตกกระบวน แล้วนำหน้ากองทัพกรีฑาบุกเข้าไปยึดเมืองพาราณสีของพระเจ้าพรหมทัตได้ในที่สุด
 
        ความกลัว...เหมือนเสียงหลอกให้วิ่งวนสับสน ที่อยู่ภายนอก 
 
        ความกล้า...เหมือนเสียงบอกฟันธงว่าใช่ ที่อยู่ลึกภายในและซ่อนขุมพลังเอาไว้
 
        นักรบกองทัพธรรม...หากต้องการหาความกล้าหาญในตัว ก็พึงนำใจไปหาแหล่งที่มันซ่อนอยู่ ซึ่งแหล่งแห่งความกล้าที่แท้จริง ก็คือ...สติตั้งมั่นกลางกาย
 
        เมื่อใดที่ใจเกิดวิตกหวั่นไหว ให้ถอยกลับไปจุดเริ่มต้นเพื่อฟังเสียงจากภายในกลางกาย แล้วใช้โยนิโสมนสิการเป็นหลักในการตัดสินใจ บวกกับความเชื่อมั่นในความดีที่จะทำนี้ เรียกว่ามีความกล้าดี แม้อาจไม่สำเร็จในครั้งแรกก็อย่าล้มเลิกกลางคัน ให้ถือเป็นบทเรียนต่อไปจนกว่าจะพบช่องทางที่ใช่ แล้วความสำเร็จจะเป็นของเรา
 
        ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นคำสั่งคำสอนครูบาอาจารย์ หรือภารกิจที่ท่านมอบหมาย เราต้องเชื่อมั่นในผังสำเร็จ และว่าอย่างไรก็ต้องว่าตามกัน แล้วใช้ความกล้าดีของเราสร้างบารมีอย่างไม่เว้นวรรค และไม่ท้อ นักรบกองทัพธรรมต้องฝึกจิตให้กล้าในการทำความดียิ่งๆขึ้นไป เพราะว่ามีศึกในสมรภูมิธรรมรออยู่ข้างหน้าอีกมากมาย
 
        ...ความเหนื่อยของพวกเราในวันนี้ คือ บารมีที่เพิ่มพูน
 
        ...ชัยชนะของพวกเราทุกคน คือ สันติสุขของมนุษยชาติ
 
        ...ดังนั้น การนำพามวลมนุษยชาติให้เข้าถึงพระธรรมกาย คือ ภารกิจของพวกเรานักรบกองทัพธรรมทุกคน
 
 
ที่มา : หนังสือ “อยู่ในบุญ” ฉบับที่ ๙๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
 
สนใจบวช หรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือน เป็นเสมือนเชือกที่ผูกเหนี่ยวไว้ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือน เป็นเสมือนเชือกที่ผูกเหนี่ยวไว้

พิธีบูชาข้าวพระ เดือนกรกฎาคม 2553พิธีบูชาข้าวพระ เดือนกรกฎาคม 2553

เกาะติดสถานการณ์ชวนบวช คาร์ฟูร์ คลองสามเกาะติดสถานการณ์ชวนบวช คาร์ฟูร์ คลองสาม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

Review รายการ