วิธีฝึกสมาธิ-หลวงพ่อตอบปัญหา


[ 2 ก.ย. 2553 ] - [ 18267 ] LINE it!

หลวงพ่อตอบปัญหา

คำถาม: กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าค่ะ ลูกเคยชวนเพื่อนมานั่งสมาธิที่วัด เขาสงสัยว่าทำไมวัดเราไม่มีการสอนให้เดินจงกรม และทำไมเวลานั่งสมาธิต้องมีเสียงนำนั่งด้วย แทนที่จะนั่งกันเงียบๆ เจ้าค่ะ

คำตอบ: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “จงกรม” เสียก่อน คำว่าจงกรม จริงๆ แล้วก็คือการเดินทำสมาธินั่นเอง ซึ่งก็มีวิธีในการเดินจงกรมอยู่หลายวิธีด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วในการฝึกสมาธิ ผู้ที่ฝึกสมาธิใหม่ๆ ดีที่สุดคือการฝึกสมาธิในท่านั่ง ถ้าฝึกในท่าอื่น มือใหม่จะแย่หน่อย เดี๋ยวใจไม่ค่อยจะรวม
 
            สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกสมาธิ เมื่อนั่งใหม่ๆ ก็นั่งไม่ค่อยได้นาน เมื่อนั่งไม่ได้นานแล้ว พระอาจารย์ก็เกรงว่าจะเบื่อเสียก่อน ก็เลยฝึกให้เดินจงกรมไปด้วย คือทำสมาธิสลับกันไประหว่างการนั่งและการเดิน โดยทั่วๆ ไปก็มีทำกันอย่างนี้สำหรับมือใหม่ ส่วนมือเก่าบางท่านที่นั่งชำนาญแล้ว รวดเดียว ๕ ชั่วโมง แน่นอน พอเลิกนั่งก็เมื่อย ก็เลยต้องเดินบ้าง เดินจงกรมหรือเดินทำสมาธิไป มืออาชีพเขาทำอย่างนี้
 
            สำหรับที่วัดพระธรรมกายเราก็เหมือนกัน ที่ฝึกกันอยู่ที่วัด ตอนเช้าวัดเรา ๙ โมงครึ่งถึง ๑๑ โมง ก็นั่งกันชั่วโมงครึ่ง ชั่วโมงครึ่งสำหรับพวกเราที่มาวัดกัน มีความรู้สึกว่านั่งประเดี๋ยวเดียว เพราะฉะนั้นในระหว่างนั้นก็เลยไม่มีการลุกออกมาเดินจงกรม หรือบางครั้งที่พวกเราไปกันเป็นหมู่คณะ แล้วก็ไปทำจงกรม ไปทำสมาธิกัน ในกรณีอย่างนี้นั่งที ๓ ชั่วโมงบ้าง ๔ ชั่วโมงบ้าง อย่างนี้เราก็เตรียมที่เอาไว้ให้สำหรับเดินจงกรม

            แต่ว่าในกรณีที่วัดพระธรรมกายนี้ เนื่องจากเราสอนคนจำนวนมาก เป็นพันเป็นหมื่น บางทีเป็นแสน แล้วก็นั่งแค่ชั่วโมงครึ่ง การที่จะมาทำทางเดินจงกรมให้โดยเฉพาะก็เลยไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการเดินจงกรม สำหรับวิธีเดินจงกรมมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน คือบางสำนักก็กำหนดสมาธิจิตเอาไว้ ที่อิริยาบถในการเคลื่อนไหว เช่น กำหนดไว้ที่เท้าขณะที่ก้าวไป นั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง
 
            แต่ว่าของวัดพระธรรมกายเรา เราไม่ได้ทำอย่างนั้นหรอก การเดินจงกรมของเรา เราใช้กำหนดจิตเอาไว้ที่ศูนย์กลางกายอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กำหนดรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนแมงมุม แมงมุมมันชักใยไว้รังใหญ่ แต่แมงมุงไม่ได้วิ่งอยู่ตามขอบรัง แมงมุมอยู่ที่ตรงกลางรัง มีอะไรมาโดนรังมัน มันก็รู้ตัวหมดเลย วัดพระธรรมกายฝึกลูกศิษย์ให้ทำสมาธิในท่าเดินหรือจงกรมนี้ ด้วยการเอาใจจรดไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างสม่ำเสมอ เราเดินจงกรมกันแล้ว แต่คนอื่นมองไม่ออกต่างหาก
 
            เพราะฉะนั้นที่บอกว่าวัดพระธรรมกายไม่สอนให้เดินจงกรมนั้น ไม่ถูกต้อง วัดพระธรรมกายสอนให้เดินจงกรมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตั้งแต่เดินจากปากประตูวัดเข้ามาถึงตัววัด ต้องทำสมาธิหรือจงกรมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
 
            สำหรับเรื่องที่วัดของเราสอนสมาธิแล้ว ขณะที่ผู้ฝึกนั่งทำสมาธิอยู่ ก็มีพระอาจารย์ มีพูด มีการกล่าวนำอยู่เป็นช่วงๆ ซึ่งไม่เหมือนจากสำนักอื่นที่พอถึงเวลานั่งก็เงียบกันไปเลย ตรงนี้คืออะไรกัน?
 
            คำตอบสั้นๆ ก็คือผู้ที่มาใหม่ เรามีความจำเป็นที่ต้องให้คำแนะนำเขาให้ครบทุกแง่ทุกมุม แต่ว่าเทคนิคในการที่จะให้รู้ทุกแง่ทุกมุม ควรจะเป็นในลักษณะว่า ขณะที่นั่งไป ช่วงจังหวะ ๑๐ นาทีแรกนี่เขาจะติดปัญหาอะไร เรารู้อยู่ ไม่ต้องลืมตาขึ้นมาหรอก เราบอกเลย แนะนำไปเลย เมื่อช่วง ๑๐ นาทีที่เขานั่ง เมื่อสัก ๑๕ หรือ ๒๐ นาที เขาจะเจอปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง มันเรื่องของการปรับระดับใจ ไม่ต้องลืมตาขึ้นมาถาม หรือว่าเสร็จแล้วค่อยมาถาม แนะนำเขาไปเลย เมื่อตอนครบ ๒๐ นาทีว่าเรื่องนั้นเรื่องนั้น เมื่อใกล้จะครบชั่วโมง ระดับใจของเขา จะมี จะเป็นอย่างไรเรารู้ เพราะฉะนั้นเราก็ให้คำแนะนำเขาอีกแหละ ในระหว่างที่ใกล้จะครบชั่วโมง เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องมีปัญหามาถามเราอีก ตอบตรงนั้น บอกกันตรงนั้น ชัดเจน ทันกาลดี
 
            นี่ก็เป็นเทคนิคในการสอนสมาธิ ของวัดพระธรรมกาย อีกอย่างหนึ่งการที่ให้คำแนะนำไป ขณะที่เขาหลับตาทำสมาธิ เสียงของผู้ที่สอน หรือของพระอาจารย์ เป็นเสียงที่อยู่ในสมาธิ มีอำนาจ มีพลังที่จะโน้มนำให้ลูกศิษย์ที่ฝึกใหม่ สามารถยกใจให้เข้าสู่ความสงบได้เร็ว วัดพระธรรมกายจึงมีการนำนั่งสมาธิ ด้วยการให้พระอาจารย์พูดนำเป็นช่วงๆ อย่างพอเหมาะพอสม นี่คือเทคนิคของเรา
 
คำถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ มีคนจำนวนมากที่ไม่กล้าฝึกสมาธิ เพราะกลัวว่าจะทำให้เสียสติ เราควรจะอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างไรดีเจ้าคะ

คำตอบ: จำหลักให้ดีก็แล้วกัน ใครยิ่งฝึกสมาธิ ผู้นั้นสติของเขายิ่งดี เพราะสติกับสมาธิเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ได้เลย
 
            จะอุปมาให้ฟังว่า สมาธิกับสติคู่กันอย่างไร? เวลาเราจุดเทียน ทันทีที่ไฟติดขึ้น เราจะได้ความสว่างจากเทียนในเวลาเดียวกัน ก็ได้ความร้อนเกิดขึ้นพร้อมๆ กันด้วย ความร้อนกับแสงสว่างที่เกิดจากดวงเทียนนี้แยกกันไม่ออก ของคู่กัน ยิ่งร้อนเท่าไหร่ แสดงว่าการเผาไหม้ดีเท่านั้น เพราะฉะนั้นความสว่างของเทียนก็เพิ่มขึ้นมากเท่านั้นเป็นเงาตามตัวสมาธิกับสติก็เหมือนกัน ถ้าสมาธิคือความสว่าง สติก็เหมือนความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเทียนนั้น แยกจากกันไม่ได้
 
            เพราะฉะนั้นใครฝึกสมาธิได้ก้าวหน้าไปเท่าไหร่ สติก็สมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน หรือถ้าใครฝึกสติได้สมบูรณ์เท่าไหร่ สมาธิก็ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเท่านั้นอีกเหมือนกัน ที่เกิดความเข้าใจผิดกันว่าฝึกสมาธิแล้ว ทำให้เสียสติ แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจอยู่อีกเรื่องหนึ่ง คือสมาธินั้นมีอยู่ ๒ ประเภท
 
            ประเภทหนึ่ง เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา คือยิ่งฝึกสติยิ่งสมบูรณ์อย่างที่หลวงพ่อว่ามาก่อนนี้
 
            แต่มีสมาธิอีกประเภทหนึ่ง ท่านเรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” หรือสมาธิผิดๆ นั่นเอง เช่น ใครที่เคยเล่นไพ่จะรู้ดี ตอนจ้องจะจั่วเอาตัวสำคัญที่เรารออยู่นั้น ตรงนี้สมาธิดีมาก แต่ว่าเป็นสมาธิที่อยู่บนพื้นฐานของความโลภ อย่างนี้เรียกว่า “มิจฉาสมาธิ” หรือสมาธิผิดๆ หรือมือปืนเวลาเขาจะยิงกัน จ้องจะยิงหัวกัน สมาธินะเยี่ยมเลย แต่เป็นสมาธิที่อยู่บนพื้นฐานของความโลภบ้าง ความพยาบาทบ้าง
 
            สมาธิประเภทนี้ พุทธองค์ก็ตรัสเรียกว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ผิดๆ คือยิ่งมีสมาธิจดจ่อเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดสติไปมากเท่านั้น
 
            ในเมืองไทยก็มีอยู่เยอะ เวลาเขาเข้าทรงกัน ผู้ที่ถูกผีเข้านั้น เขาขาดสติตลอดเวลา เพราะว่าถ้าไม่ขาดสติผีก็ไม่เข้า เวลาเข้าก็แสดงว่าเขาขาดสติ ทีนี้เขาเข้าทรงทีนาน ๆ บางทีเข้าทรงเป็นชั่วโมง นั่นก็คือเขาฝึกให้ตัวของเขาเองขาดสติเป็นชั่วโมง ๆ

            เมื่อคนแยกไม่ออกว่า สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ สมาธิแบบมิจฉาสมาธิ คือฝึกแล้วขาดสติ เพราะใจมุ่งอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความหลง ความพยาบาท เมื่อแยกตรงนี้ไม่ออก ก็เลยคิดว่าการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนา จะทำให้เสียสติ เป็นความเข้าใจผิดของคนที่ไม่รู้
 
            ถ้าฝึกสมาธิแล้วทำให้เสียสติ โลกนี้คงไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาให้เรากราบหรอก เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ตั้งแต่ออกบวชมาทรงตั้งใจฝึกสมาธิ เพราะสมาธิเป็นเรื่องของการทำใจให้สงบ ทำใจให้สว่าง
 
            เมื่อสงบแล้ว สว่างแล้วจึงเห็น หลับตา ลืมตาของผู้ที่มีสมาธิดี หลับตานั้นสว่างยิ่งกว่าลืมตา เห็นได้กว้างไกลยิ่งกว่าคนลืมตา คนลืมตานั้นเห็นเฉพาะด้านหน้า แต่ว่าผู้ที่ทำสมาธิได้ดีแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นภายในมากพอแล้ว การเห็นไม่เห็นเฉพาะข้างหน้า แต่เห็นรอบตัว เห็นทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง ล่าง บน พร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน
 
            และด้วยอาศัยการเห็นประเภทนี้เอง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ จึงทำให้พระองค์ทรงเห็นกิเลส ซึ่งฝังอยู่ในใจมนุษย์ แล้วก็ทรงสามารถแก้ไขได้ แล้วก็เป็นที่มาแห่งการตรัสรู้ของพระองค์
 
            รีบฝึกสมาธิกันนะ ขณะนี้หลวงพ่อ หลวงปู่ พระอาจารย์ที่มีความรู้ดีๆ ในเรื่องสมาธิ ยังมีรีบไปฝึกกับท่านเสีย ท่านเหล่านี้อายุมากแล้ว และถ้าถึงเวลาที่ท่านจะต้องลาโลกไป คิดจะกลับมาฝึกกับท่าน ก็ไม่เจอท่านเสียแล้ว อย่าไปกลัวแล้วก็อย่าปล่อยให้เสียเวลาเปล่า
 
คำถาม: ลูกอยากกราบเรียนถามว่าคำโบราณท่านพูดว่า สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน จริงๆ แล้วมีความหมายว่าอย่างไรเจ้าคะ

คำตอบ: ในเรื่องของการสวดมนต์ คำว่า “สวด” เป็นกิริยาของการท่องนั่นเอง การท่องเป็นทำนอง เป็นจังหวะ “มนต์” คืออะไร? มนต์สำหรับชาวพุทธก็คือคำเทศน์ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นสวดมนต์ของชาวพุทธ ก็เป็นเรื่องของการทบทวนคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สวดไปก็ได้ความรู้ความเข้าใจในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง และแน่นอนความสบายใจก็เกิดขึ้นด้วย เกิดขึ้นเพราะธรรมะที่เราสวดอย่างหนึ่ง และเกิดขึ้นเพราะว่ารำลึกถึงพระคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นพร้อมๆ กันไป
 
            ถามว่าขณะที่สวดมนต์อยู่ ใจเป็นสมาธิไหม? ก็เป็น แต่เป็นในระดับตื้น ไม่ได้เป็นสมาธิในระดับลึก เมื่อเป็นสมาธิในระดับตื้น ก็ให้คุณประโยชน์กับใจของเราได้ในระดับตื้น คือให้ความชุ่มชื่น ให้ความเบิกบานระดับหนึ่ง แล้วก็ได้ความปลื้มปีติที่ว่าเราได้ทบทวนคำสอนธรรมะของสมเด็จพ่อของเรา ด้วยเหตุว่าการสวดมนต์นำความปลื้มใจ นำสมาธิมาให้ระดับตื้น ท่านจึงได้อุปมาว่าเหมือนยาทา แต่ว่ายาทาชนิดนี้ ทาแล้วทะลุถึงใจนะ ไม่ใช่ยาทา ยาหม่องธรรมดา
 
            ส่วนคำว่า “ภาวนา” หมายถึง การทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นการทำสมาธิอย่างต่อเนื่องกันเป็นชั่วโมง เป็นวัน บางทีทำต่อเนื่องกันเป็นเดือน เป็นปี นักทำสมาธิโดยทั่วๆ ไป แบบชาวโลก ทำสมาธิกันแต่ละครั้งก็ ชั่วโมงหนึ่ง , ๔๕ นาทีก็เป็นอย่างน้อย ใจก็ดื่มด่ำ นิ่ง หยุดลงไปเลย ที่ศูนย์กลางกายภายในตัว เมื่อใจนิ่งลงไปอย่างนั้น ใจก็รวมอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
 
            เมื่อเป็นอย่างนี้ ใจจึงหยุดนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์ เมื่อใจหยุดใจนิ่งได้สนิทกว่าการสวดมนต์ ความชุ่มชื่นที่เกิดภายในก็ตาม ความสว่างที่เกิดภายในก็ตาม ก็มีมากกว่าการสวดมนต์ ยิ่งกว่านั้น ถ้าทำได้ถูกส่วนจริงๆ การเห็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ขณะที่ทำภาวนานี่เอง
 
            เพราะฉะนั้นปู่ย่าตาทวดของเรา จึงได้อุปมาว่าการทำภาวนาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างต่อเนื่อง อุปมาเหมือนยากิน คือแก้ไข้แก้ป่วยได้หนักแน่น ลึกซึ้งมากกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ปู่ย่าตาทวดเราก็เลยอุปมาว่า การสวดมนต์เหมือนยาทา การภาวนาทำสมาธิเหมือนยากิน
 
            อย่างไรก็ตาม อย่าไปคิดเปรียบว่าอะไรดีกว่ากันเลย เพราะว่าคำสอนของสมเด็จพ่อก็อยู่ในลักษณะที่เราจะต้องท่อง เมื่อท่องแล้วก็เอามาใช้ตรองเป็นหลักในการทำภาวนา เพราะฉะนั้นทั้ง ๒ อย่างนี้ขาดไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน การสวดก็มีความจำเป็น เป็นยาทา ประเภททาแล้วเข้าถึงใจเลย ทำสมาธิก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น แต่ทั้งคู่นี้ต้องไปด้วยกัน ตามวัดวาอารามต่างๆ พระท่านตื่นกันตั้งแต่ตี ๔ ลุกขึ้นมาสวดมนต์ เพื่อมาทบทวนคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สวดมนต์กันเป็นชั่วโมงเสร็จแล้ว ท่านก็ทำสมาธิของท่านต่อ ท่านไม่ขาด ต้องคู่กันไปอย่างนี้
 
            เมื่อทราบประโยชน์กันอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้พวกเรา แม้อยู่ที่บ้านก็ควรสวดมนต์ก่อนนอนด้วยอย่างน้อย ถ้าตอนเช้าก่อนจะไปทำงาน ได้สวดอีกสักเที่ยวหนึ่งก็ยิ่งดี แต่ที่แน่ๆ ขาดไม่ได้คือต้องทำสมาธิ เพื่อให้ใจใสให้เต็มที่
 
            ถ้าคืนนี้หลับไปแล้วไม่ได้ตื่น ลาโลกไปเลย ก็ลาโลกไปด้วยใจใสๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกันว่า ลาโลกไปขณะใจใสๆ สวรรค์หรือสุคติเป็นที่ไป ก็เลยไม่ต้องกลัวว่าตายแล้วจะไปไหน รู้แต่ว่าไปดีแน่นอน เพราะฉะนั้นทั้งสวดมนต์ด้วย ทั้งภาวนาด้วย อย่าให้ขาดแม้สักวันเลย
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
คาถาหัวใจเศรษฐี-หลวงพ่อตอบปัญหาคาถาหัวใจเศรษฐี-หลวงพ่อตอบปัญหา

ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข-หลวงพ่อตอบปัญหาใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข-หลวงพ่อตอบปัญหา

คนเราเกิดมากันทำไมคนเราเกิดมากันทำไม



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

หลวงพ่อตอบปัญหา