วิชชาธรรมกาย ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์


[ 12 มี.ค. 2556 ] - [ 18277 ] LINE it!

วิชชาธรรมกาย


ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์

วิชชาธรรมกาย

     จันทร์วันเพ็ญเดือนสิบ....ลอยล่องฟ้าอยู่ท่ามกลางดวงดาวที่ดารดาษระยิบระยับ สาดแสงนวลลูบไล้ไปทั่วกระทบพื้นน้ำคลองบางกอกน้อยที่มีลมอ่อนๆ พัดระลอกให้พลิ้วเข้าสู่ฝั่งมิขาดสาย ฝนที่เพิ่งขาดเม็ดตอนค่ำยังคงทิ้งหยาดละอองน้ำติดค้างอยู่ตามใบหญ้าสะท้อนรับแสงจันทร์ดูแพรวพราวกับเพชรที่โปรยปรายเอาไว้
    
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์
 
 
      ภายในโบสถ์วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง.....ดูเงียบเชียบวังเวงได้ยินแต่เสียงหรีดหริ่งเรไรดังแผ่วๆ มาจากข้างนอก แสงจันทร์ที่ส่องผ่านหน้าต่างบานใหญ่เข้ามา ช่วยให้มองเห็นพระปฏิมากรประดิษฐานอยู่บนแท่นและทุกสิ่งภายในโบสถ์ได้อย่างชัดเจน บนพื้นเบื้องล่างตรงพระพักตร์องค์พระปฏิมากร สมณะรูปหนึ่งนั่งสงบนิ่งอยู่ในท่าสมาธิคูบัลลังก์กายตั้งตรงไม่ไหวติงเสมือนสิ่งไร้ชีวิต นานแสนนาน...จวบจนแสงจากดวงจันทร์ที่เคลื่อนคล้อยหลังเที่ยงคืน สาดปะทะร่างจนเห็นได้ทั้งองค์ คะเนราว 30 เศษ รูปร่างสันทัด หน้าผาก กว้างบ่งถึงลักษณะของผู้ทรงมีปัญญาอันล้ำเลิศ ลมพัดเย็นมาวูบหนึ่ง ผ้กาสาวพัสตร์ที่ครองอยู่สั่นพลิ้วน้อยๆ พร้อมกับมีเสียงถอนหายใจยาว ดังจนได้ยินชัด รอยยิ้มค่อยๆ ปรากฏขึ้นบนมุมปาก ใบหน้าอิ่มเอิบเต็มไปด้วยความปรีดาปราโมทย์ รำพึงออกมาเบาๆ
    
       “เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงไม่ได้บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด”
    
      เสียงรำพึงเงียบลงในฉับพลัน ขยับกายเล็กน้อยกลับคืนสู่ท่าสงบ ขับความปีติที่บังเกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หลับตาเพ่งพิจารณาธรรมทบทวนให้แน่ใจทั้งอนุโลมและปฏิโลม
    
       ความปีติเป็นศัตรูของสมาธิ แต่ก็เป็นการยากแก่พระภิกษุรูปนี้ที่จะระงับมิให้ความปีติเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นความสำเร็จในความพากเพียรที่ได้พยายามมาเป็นเวลานาน ตลอดระยะเวลา 11 ปีในชีวิตสมณเพศ นับตั้งแต่สละฆราวาสวิสัยจากหนุ่มพ่อค้าข้าว ซึ่งในสมัยโน้นพอเอ่ยชื่อ “สด มีแก้วน้อย” บรรดาพ่อค้าและชาวนาอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่างรู้จักกันดีว่าเป็นพ่อค้าข้าวที่ขยันหมั่นเพียร สัตย์ซื่ออารีอารอบ น่าจะเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่งและมีอนาคตไกลคนหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้มิใช่สิ่งที่ปรารถนา เพราะได้ตั้งจิตมุ่งจะตัดปลิโพธและอาลัย เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ศึกษาธรรมะของพระผู้พิชิตมารให้บรรลุจนได้
 
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์
ภาพ : รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วิชชาธรรมกาย

        พระภิกษุสดบวช ณ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้นบวชได้เพียงวันเดียว รุ่งขึ้นก็เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ผู้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ศึกษาควบคู่กับการเรียนคันถธุระเรียนเรื่อยไปจากสำนักนี้สู่สำนักโน้น ที่ไหนใครว่าดีเป็นต้องพยายามขอเข้าเป็นศิษย์ศึกษาธรรมปฏิบัติด้วย เช่น พระมงคลทิพมุนี (มุ้ย) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ พระครูฌานวิรัต (โป๊) วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จังหวัดธนบุรี พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พระอาจารย์ที่กล่าวมานี้ทรงคุณวิเศษทางธรรมปฏิบัติ เป็นเยี่ยมทางปริยัติ งามทั้งศีลาจารวัตร มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย พระภิกษุสด หรือในระยะต่อมาคือ “หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ” ก็เรียนจนหมดสิ้นความรู้ของครูอาจารย์ทุกสำนักที่ผ่านมา

     “มีต่อไปอีกไหมครับ” คำถามนี้เกิดขึ้นภายหลังจากบรรลุผลสำเร็จตามขั้นสูงสุดของแต่ละสำนักกรรมฐาน เมื่อทำได้อย่างครูบาอาจารย์แล้วมักจะถามเช่นนี้ แต่ทุกคำตอบที่ได้รับมีทำนองคล้ายคลึงกัน

     “หมดแล้ว เธอเรียนจนหมดความรู้ของฉันที่สู้ศึกษามานานต่อไปนี้เธอมาช่วยฉันสอนศิษย์กันต่อไปเถอะ” พระอาจารย์กล่าว

     ความรู้เพียงหางอึ่งแค่นี้จะไปสอนใครได้ ตัวเราเองยังจะเอาไม่รอด ท่านเป็นแต่เพียงดำริขึ้นในใจโดยไม่กล่าววาจาใดออกมาแล้วก็ลาจากทุกสำนัก ตระเวนข้ามเทือกเขาหลายลูกทั่วทิศ เพื่อจะหายอดกัลยาณมิตรสั่งสอนอบรมใจ ภายหลังที่ได้ศึกษากรรมฐานจากพระคณาจารย์ต่างๆ มามากพอสมควร ก็ไม่บรรลุธรรมดังที่หมาย มีความรู้สึกในใจว่าทางเหล่านั้นยังอ้อมเกินไป ควรจะมีทางที่ตรงกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนั้นในที่สุดก็หันกลับมาเรียนด้วยตนเอง โดยศึกษาจาตำราวิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นแบบฉบับของการปฏิบัติ ตราบกระทั่งท่านมาจำพรรษา ณ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง และวันนี้เอง อยู่ระหว่างกลางพรรษาพอดี ท่านเริ่มปรารภความเพียรในใจแต่เช้าตรู่ก่อนออกบิณฑบาต

     “เราบวชมานานนับได้ 11 พรรษาเข้านี้แล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดสักวันทั้งคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่าเลยเราควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงทางพระพุทธศาสนา หากไม่เริ่มปฏิบัติก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท” เมื่อกลับจากบิณฑบาต ก็รีบจัดการภารกิจต่างๆ จนหมดความกังวลใจ จึงได้เข้าไปสู่โบสถ์ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง โดยตั้งปณิธานไว้ในใจว่า หากเราไม่ได้ยินเสียงเพลละก็จะยังไม่ลุกจากที่

     ขณะนั้นประมาณเวลา 2 โมงเช้าเศษๆ ภิกษุ “สด” เริ่มทำความเพียรทางใจหลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า เพิ่มความเป็นเหน็บและปวดเมื่อยขึ้นมาทีละน้อยๆ ถี่ขึ้นหนักเข้าจนมีความรู้สึกว่า กระดูกทุกชิ้นส่วนเริ่มเขม็งเกลียวลั่นกร๊อบแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ เพราะความเมื่อย ความกระสนกระวายใจเริ่มตามมา

     “เอ... แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่าถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อนๆ ที่นั่งภาวนา เมื่อไหร่หนอกลองเพลจึงจะดังสักที”

     คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งซัดส่ายหนักเข้า เกือบจะเลิกนั่งก็หลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะลงไปแล้ว จะแพ้ไม่ได้ เมื่อกายไม่สงบ จิตใจจะไปสงบได้อย่างไร ในที่สุดก็อดทนนั่งต่อไป ใจเริ่มค่อยสงบทีละน้อยเพราะไม่แวบไปเกาะที่ปวดเมื่อย

     “ช่างมันปะไร มันเป็นเรื่องของสังขาร”

     ในที่สุดใจก็หยุดเป็นจุดเดียวกันเห็นเป็นดวงใส บริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจสบายอย่างบอกไม่ถูกความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ก็พอดีกลองเพลดังกังวานขึ้น
    
        วันนั้นฉันภัตตาหารเพลมีรสที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ใช่รสแห่งอาหารอย่างเดียว หากเจือระคนด้วยรสแห่งธรรมผสมผสานกันไปด้วยจิตจึงเกิดปราโมทย์ ใจยังอิ่มเอิบชุ่มชื่นอยู่ ฉันภัตตาหารไปใจก็อดที่จะมองดูที่ศูนย์กลางกายไม่ได้

     “…อ้อ! …ยังเห็นอยู่ เออ!... นี่ก็แปลก ลืมตาก็ยังมองเห็นชัดความสว่างเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตของการบำเพ็ญธรรมเราไม่เคยเห็นความสว่างใดที่จะเทียบเท่าได้ ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์ก็ยังห่างไกล เท่าที่เห็นอุปมาเหมือนแสงหิ่งห้อยกับโคมไฟ”

     ภิกษุ “สด” ฉันไปอดที่จะยิ้มออกมามิได้ด้วยเปี่ยมสุข ทำให้หวนระลึกถึงพุทธวจนะบทหนึ่งที่ว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ”  แปลว่าสุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี เมื่อใจหยุดก็เกิดความสงบ เมื่อสงบก็เป็นสุขนี่เป็นเพียงใจหยุดน้อยนิดเรายังสุขเช่นนี้ หากเราได้บรรลุธรรมสูงขึ้นไปอีกจะสุขขนาดไหนหนอ ท่านรำพึงในใจ

     “ท่านสด ทำไมวันนี้ท่านจึงฉันจังหันไปอมยิ้มไป ท่านยิ้มกับผู้ใดหรือ” เพื่อนภิกษุถามด้วยความสงสัยในอาการของท่าน

     “เปล่าหรอกท่าน ผมกำลังระลึกถึงคุณของพระบรมศาสดาของเรา เลยอดที่จะยิ้มปิติโสมนัสใจไม่ได้” ท่านตอบเลื่ยงๆ

     “ท่านสดนับว่าเป็นผู้ไม่ประมาท แม้แต่ฉันจังหัน ยังภาวนาระลึกถึงคุณของพระบรมศาสดาเป็นพุทธานุสติ หากพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ คงจะต้องตรัสสรรเสริญท่านท่ามกลางพระขีณาสพทั้งหลายแน่” ทั้งคู่ต่างกล่าวมธุรสวาจาซึ่งกันและกัน ทำให้จิตไจที่เปี่ยมสุขอยู่ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

     วันนั้นท่านมีความสุขทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใจก็ยังเห็นติดอยู่ตรงศูนย์กลางไม่ขาด พักผ่อนครู่หนึ่งเพือเอาแรงไว้ปฏิบัติกรรมบานในยามราตรี

     “วันนี้เป็นไงเป็นกันหากเราไม่บรรลุธรรมที่พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงบรรลุละก็ เราจะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา หากเราจะต้องตายไปในครั้งนี้ ก็จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะตามมาภายหลังจะได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติต่อไป ก็จะได้อานิสงฆ์อีกโสดหนึ่ง”

     หลังจากลงพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุท่านก็ยิ่งรู้สึกกายเบาใจเบายิ่งขึ้น ความแหนงใจเกี่ยวกับอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ถูกขจัดออกจากใจ ด้วยการฟังพระปาฏิโมกข์ทบทวนดูว่าเรากระทำถูกต้องธรรมวินัยหรือไม่ บกพร่องข้อใดก็ได้ปลงอาบัติกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน

วิชชาธรรมกาย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

     เมฆฝนตั้งเค้ามาแต่บ่าย และเริ่มครึ้มหนักขึ้นไปอีก คาดว่าคงจะตกในไม่ช้า ท่านรีบสรงน้ำจัดการภารกิจส่วนตัวจนหมดความกังวลใจแล้วก็เริ่มเข้าประตูโบสถ์ในเวลาเย็น ในขณะนั้นฝนก็เทลงมาประดุจฟ้ารั่ว เสมือนเป็นนิมิตอันดีที่จะแสดงให้ภิกษุ “สด” เห็นว่าท่านจะบรรลุธรรมในคืนนี้ และจะได้โปรยปรายเม็ดฝนแห่งธรรมไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีกิเลสจะได้บางเบาลงบ้างอีกทั้งจะได้ขุดค้นนำเอา วิชชาธรรมกายซึ่งสูญหายการถ่ายทอดมานานนับเป็นพันปี ขึ้นมาเปิดเผยแก่ชาวโลกอีกวาระหนึ่ง

     ท่านเริ่มปรารภความเพียรทางใจขณะลงนั่งในพื้นโบสถ์ต่อหน้าพระประธานผู้เป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเริ่มสวดอ้อนวอนเบาๆ

     “ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด หากว่าการบรรลุธรรมของข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดประโยชน์แก่พระศาสนาอย่างมหาศาลละก็ ขอทรงโปรดได้ประทานเถิดข้าพระพุทธเจ้าจะรับอาสาเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา หากว่าไม่เกิดประโยชน์แล้วไซร้ ขออย่าได้ทรงประทานเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายชีวิตอัตภาพนี้ เป็นพุทธบูชาแด่พระองค์”

     ขณะเมื่อนั่งฝนก็เริ่มตกลงมา ทำให้อากาศเยือกเย็นไปทั่วบริเวณท่านเหลือบไปเห็นมดขี้กำลังไต่ขึ้นมาตามรอยแตกของพื้นโบสถ์ ก็เกดิความกริ่งใจกลัวมดขี้จะมากัดท่านทำให้ต้องถอนจากสมาธิ จึงเอานิ้วมือจุ่มน้ำมันก๊าดเพื่อขีดวงล้อมรอบตัวกันมดขี้ขึ้นมา แต่ต้องเลิกล้มความคิดนั้น เพราะฉุกใจคิดได้ว่า ชีวิตนี้เราได้สละให้แก่พระศาสนาแล้วจะกลัวไยกับมดขี้ จึงได้เริ่มปฏิบัติธรรมทันที
 
พระธรรมกาย
ดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายเมื่อเพล
ขณะนี้ยิ่งสว่างมากขึ้นและขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า
 

ธรรมกาย : พระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์


     ดวงกลมโตใสบริสุทธิ์ ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายเมื่อเพล ขณะนี้ยิ่งสว่างมากขึ้นและขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เห็นอยู่อย่างนั้นเป็นนับหลายชั่วโมง จากทุ่มเศษขณะนี้เลยเที่ยงคืนไปหนึ่งชั่วนาฬิกา ดวงใสก็ยังสว่างอยู่อย่างนั้น โดยท่านไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ขณะที่นิ่งอยู่นั้นเสียงหนึ่งผุดขึ้นมาจากกลางดวงนั้นว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา” อา...ทางสายกลาง ไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในความหมายของปริยัติ แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึกพลันก็เห็นจุดเล็กๆ เรืองแสงสว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้นเสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่าดวงกลมรอบๆ ท่านมองเรื่อยไปพลางคิดในใจว่านี่กระมังทางสายกลางจุดเล็กที่เราเพิ่งเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิเกิดอะไรขึ้น จุดนั้นค่อยๆ ขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิมดวงเก่าที่หายไป ท่านมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมาแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ้งขึ้นมาแทนกันนั่นแหละ ต่างแต่ใสยิ่งขึ้น

     ในที่สุดจึงเห็นกายต่างๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งถึงธรรมกาย เป็นพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใดที่เคยเห็นมา เสียงธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกได้ยินกับหูมนุษย์ “ถูกต้องแล้ว” แล้วก็หับพระโอษฐ์ทันที ความรู้สึกปีติสุขเกิดขึ้น

     นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านก็เริ่มศึกษาค้นคว้า เพื่อหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งค้นยิ่งแตกฉานเชี่ยวชาญ หนักเข้าก็เริ่มเผยแผ่คำสอนออกไปจนกระทั่งท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ใหม่ๆ มีผู้อาศัยความไม่รู้มาคัดค้านท่านเกี่ยวกับ ธรรมกาย โดยเฉพาะในวงการคณะสงฆ์ บางท่านก็ปลงใจเอาว่าหลวงปู่วัดปาดน้ำมีความรู้และการปฏิบัติธรรมเกินไปเสียแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นภัยแก่พระศาสนาแต่ยังไม่มีใครกล้าที่จะยกความผิดนั้นพิจารณา เพราะเวลานั้นทุกคนชั้นถวายความเคารพนับถือว่าเป็นคณาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มาก ได้จัดการเลี้ยงอาหารเช้าและเพลแก่พระภิกษุสามเณรตลอดปีและตลอดอายุของท่าน

วิชชาธรรมกาย

     เมื่อธรรมกาย เกิดขึ้น วัดปากน้ำได้นับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก บางพวกก็ปลื้มใจ บางพวกก็หนักใจ บางพวกก็ตั้งข้อกล่าวหาลงโทษวัดปากน้ำอย่างหนัก ถึงกับพูดว่า อวดอุตริมนุสธรรมก็มี ข่าวนี้มิใช่ท่านจะไม่รู้ ท่านได้ยินเสมอๆ แต่เสียงนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจแก่ท่านแม้แต่เล็กน้อย ท่านกลับภูมิใจเสียอีกที่ได้ยินคำนั้น

     คราวหนึ่งท่านเคยกล่าวกับ สมเด็จพระวันรัต* วัดพระเชตุพนฯ เกี่ยวกับการถูกโจมตีเรื่องธรรมกาย ว่า

     “คนเช่นเราใช่จะไร้เสียซึ่งปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เราจะฆ่าตัวเองเพราะความปรารถนาลามกทำไม ที่เขาพูดว่าเราอย่างนั้น บางคนคงจะไม่รู้จักคำว่า “ธรรมกาย” มีอยู่ที่ไหน หมายเอาใคร เขาอาศัยความไม่รู้มาว่าเราผู้ตั้งใจปฏิบัติชอบ เมื่อมีผู้ไม่รู้ติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขาจะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าจะลบก็ลบได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าดวงแก้วของพระพุทธศาสนาก็จะเปล่งรัศมีให้ผู้มีปัญญาเห็นด้วยสายตาของตนเอง การที่เขานำผลแห่งการปฏิบัติที่เราได้กระทำกันอยู่ไปพูดเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่าคณะวัดปากน้ำไม่ได้กินแล้วนอน เป็นสำนักที่เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม การพูดของเขาเท่ากับเอาสำนักไปเผยแพร่ ดีเสียกว่าการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ เพราะการที่เขานำไปพูดนั้นเป็นการกระทำของผู้พูดเองเราไม่ได้ว่าจ้างไม่ได้วาน เมื่อพูดทางไม่ดีก็ต้องมีคนพูดในทางดีได้เหมือนกัน ธรรมจะต้องชนะอธรรมเสมอ เราไม่เดือดร้อนใจเพราะ “ธรรมกาย” ของพระพุทธศาสนาเป็นของแท้ไม่ใช่ของเก๊หรือของเทียมธรรมกายจะปรากฏเป็นของจริงแก่ผู้เข้าถึงธรรม เรื่องอย่างนี้เราไม่หวั่น เราเชื่อในคุณพระพุทธศาสนา”

     ท่านได้อ้างบาลีพุทธสุภาษิตที่มีมาในพระธรรมบทว่า

     “โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ” ความว่า “ดูกรวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเราตถาคต”

     นอกจากนี้ท่านยังได้อ้างเอาบาลีที่มาในอัคคัญสูตรพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปฏิกวรรค ที่พระพุทธองค์ตรัสแก่วาเสฏฐะสามเณรและภารทวาชะสามเณรว่า

     “ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธวจนํ ธมฺมกาโย อิตอปิฯ” ความว่า “ดูกร วาเสฏฐะสามเณรและภารทวาชะสามเณร คำว่าธรรมกายนี้เป็นชื่อตถาคตโดยแท้”

     เรื่องพระวัลกลิ ดังที่ได้ยกขึ้นมากล่าวข้างต้นนั้น เมื่อประกอบกับความในอัคคัญสูตรแล้ว ย่องส่องความให้เห็นว่าที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ก็หมายความว่า ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเห็นเรา คือตถาคตนั่นเองมิใช่อื่นไกล หรือพูดเข้าใจง่ายกว่านี้คือ ผู้ใดเห็นดวงธรรมที่ว่านี้ผู้นั้นเห็นพระพุทธเจ้า หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเห็นธรรมกายผู้นั้นย่อมเห็นพระพุทธเจ้า

     ทำไมจึงหมายความเช่นนั้น ก็เพราะว่า ขณะนั้นพระวักกลิก็อยู่ใกล้ๆ กับพระองค์ หากจะแลดูด้วยลูกตาธรรมดา ทำไมจะไม่เห็นพระองค์ เพราะไม่ปรากฏว่าพระวักกลินั้นตาพิการ เมื่อเป็นเช่นนี้ไฉนพระองค์จะตรัสเช่นนั้นเล่า ที่ตรัสเช่นนั้นจึงตีความได้ว่า ที่แลเห็นด้วยตาธรรมดานั้นเห็นแต่เปลือกของพระองค์ คือ กายพระสิทธัตถะที่ออกบวช ซึ่งมิได้อยู่ในความหมายแห่งคำว่า เรา (ตถาคต) และยังตรัสว่าเป็นกายที่เน่าเปื่อยด้วยนั้น คือกายพระสิทธัตถะที่ออกบวชซึ่งเป็นกายภายนอกนั่นเอง คำว่า เรา ในที่นี้จึงสันนิษฐานได้ว่าหมายถึง กายภายใน ซึ่งไม่ใช่กายเปื่อยเน่า กายภายในคืออะไรเล่า ก็คือ ธรรมกาย นั่นเอง จะเห็นได้อย่างไร ข้อนี้ตอบไม่ยาก เมื่อได้บำเพ็ญกิจถูกส่วนแล้ว ท่านจะเห็นด้วยตาของท่านเอง คือเห็นด้วย ตาธรรมกาย ไม่ใช่ตาธรรมดา พระดำรัสของพระองค์ดังยกขึ้นมานั้น เป็นปัญหาธรรมมีนัยลึกซึ้งอยู่ อันผู้ที่มิได้ปฏิบัติธรรมแล้วเข้าใจได้ยาก แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วจะตอบปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายดายไม่ต้องถามใคร
 
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) : วิชชาธรรมกายนี้ท่านทำการสั่งสอนเรื่อยมา
จนกระทั่งใกล้มรณภาพไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว

วิชชาธรรมกาย


     วิชชาธรรมกายนี้ท่านทำการสั่งสอนเรื่อยมา จนกระทั่งใกล้มรณภาพไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว จะเห็นได้จากจริยวัตรของท่าน คือ

     1.คุมภิกษุสามเณรลงทำวัตร ไหว้พระในอุโบสถทุกวัน วันละ 2 เวลา คือ เช้าหนหนึ่ง เย็นหนหนึ่ง และได้ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุ สามเณรทั้ง 2 เวลา

     2.วันพระและวันอาทิตย์ ลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ

     3.ทำกิจภาวนาอยู่ในสถานที่ซึ่งจัดไว้เฉพาะ เป็นกิจประจำวันและควบคุมพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่าน ทั้งกลางวันและกลางคีนส่วนพวกอุบาสกก็ให้ทำกิจภาวนาเช่นกัน

     4.ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 14.00 น. ลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ศาลาธรรม

     5.จัดให้มีครูสอนปริยัติธรรม

หลวงปู่วัดปากน้ำ ได้รับสมณะศักดิ์ดังนี้

พ.ศ. 2463 เป็นพระครูสัญญาบัตรมีพระราชทินนามว่า พระครูสมณธรรมสมาทาน
พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีพระราชทินนามว่า พระภาวนาโกศลเถระ
พ.ศ. 2494 ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
พ.ศ. 2498 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราช มีพระราชทินนามว่า พระมงคลราชมุนี
พ.ศ. 2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า พระมงคลเทพมุนี

     ท่านมรณภาพเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ยังความสลดใจแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก     ประทีปของโลกในยุคปัจจุบันได้ลาลับไปบัดนี้แม้ว่าท่านจะมรณภาพได้หลายสิบปีแล้ว วิชชาธรรมกาย ก็ยังมีผู้ปฏิบัติกันอยู่สืบมาและนับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากแสนคนเป็นล้านคนเกียรติคุณของวิชชานี้ไม่เพียงแต่จะโด่งดังในประเทศเท่านั้น แม้ชาวต่างชาติก็ยังสนใจไปปฏิบัติธรรมกันที่วัดปากน้ำมากมาย อีกทั้งมีสาขากระจายทั่วประเทศ
 
*สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนฯ
 

บทความที่เกี่ยวข้องกับวิชชาธรรมกาย 

ธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรม
 
วัดพระธรรมกาย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรมธรรมกาย กายแห่งการตรัสรู้ธรรม

วิชชาธรรมกาย ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์วิชชาธรรมกาย ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายของพระพุทธองค์

ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมกาย