4 ส. ช่วยให้ง่าย


[ 12 ต.ค. 2556 ] - [ 18273 ] LINE it!

4 ส. ช่วยให้ง่าย

      เหลืออีก 9 วัน ก็จะออกพรรษากันแล้ว พรรษานี้เรามีสิ่งดี ๆ หลายอย่างเกิดขึ้น ตั้งแต่ความตั้งใจจะงดเหล้าเข้าพรรษา ตอนนี้เหลืออีก 9 วัน ก็ออกพรรษาแล้ว เราวอร์ม ๆ งดเหล้ากันมาในช่วงเข้าพรรษา พอออกพรรษาก็เลิกเหล้ากันเสียเลย
 


      อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว เหลืออีก 9 วัน ก็จะออกพรรษากันแล้ว ให้ใช้วันเวลาทุกอนุวินาทีนี้ให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ปล้ำใจให้หยุดให้ได้ อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ท่านเคยพูดเอาไว้เรามีหลักอยู่ว่า ต้องมีสติ สบาย สม่ำเสมอ แล้วก็สังเกต 4 ส. นี้ก็จะช่วยทำให้การปฏิบัติธรรมง่ายเข้า สติ ก็คือให้ใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา อย่าปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปในเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์อะไรไม่ได้ทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัย หรือเจอความสุขที่แท้จริงเลย ใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัวถึงจะเรียกว่า มีสติเมื่อไรกายและใจรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานร่วมกัน เมื่อนั้นจะมีอานุภาพมาก
 
      อานุภาพนี้จะทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ ตอนนี้กายกับใจอยู่คนละทิศละทาง ใจไปทาง กายไปทาง มีกายเหมือนไม่มีใจ คือมีเหมือนไม่มี เพราะไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ของใจได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มันถูกดึงเอาไป
 
     เพราะฉะนั้นคุณภาพของใจก็เลยเสื่อมลงสติ ก็คือดึงใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิมคือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องที่จะทำให้เราเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางคืออายตนนิพพานได้เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเริ่มต้นที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเอาใจมาอยู่กับตัวให้ได้ตลอดเวลาที่เรียกว่า สัมปชัญญะ คือตลอดต่อเนื่องไม่มีขาดตอนเลยหลับตาสบาย ๆ อย่ากดลูกนัยน์ตาไปดู ให้สังเกตว่าเวลาที่เรากดลูกนัยน์ตา ส่วนใหญ่จะไม่เห็นนะ หรือเห็นก็กระด้าง เห็นก็เห็นไปอย่างนั้นๆ เห็นแล้วปวดหัว หรือบางคนนั่งตากะพริบปริบ ๆ ดูแล้วราวกับว่ากำลังลงที่จริงกำลังเล็ง เปลือกตาเต้นยิบ ๆ กะพริบเปลือกตาถี่ ๆ นั่นแหละ กำลังเล็งอยู่เอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู แต่ไม่รู้ตัว แต่ถ้าสบายจริง ๆ จะเหมือนเราหลับตาตอนนอนหลับ จะไม่ยิบ ๆ ถ้ายิบ ๆ ไม่หลับ ไปลองดูนะ คืนนี้ลองยิบ ๆ ดูสิว่าจะหลับไหม แล้วเวลาเราเห็นภาพภายในตาจะไม่ยิบๆ เราก็ดูธรรมดาเหมือนดูภาพภายนอกอย่างนั้นทำอย่างสบาย ๆ ที่ต้องใช้คำว่า สบาย ๆ เพราะมีหลายคนทำลำบาก ๆ ปฏิบัติลำบากแล้วก็รู้ยากด้วย แต่ก็ดีหน่อยที่ว่า ได้ขันติบารมี เป็นพลวปัจจัยไปเบื้องหน้า ภพชาติต่อไปจะนั่งทน หลังจากทนนั่งมานาน และถ้ากะพริบชาตินี้ ชาติต่อไปก็ไปกะพริบต่อ
 
 
     เพราะฉะนั้นจะเลิกกะพริบชาตินี้หรือว่าติดใจกะพริบต่อไปดี ดังนั้นจำไว้ว่าต้องสบายทั้งกายและใจคนเราก็มีแต่กายกับใจนี่แหละ ถ้าสบายทั้งสองอย่างก็เอาล่ะ ถ้ามีกายไม่มีใจเขาเรียกว่าศพ มีใจแต่ไม่มีกายเขาเรียกว่าผี มีกายและใจก็เรียกว่าคนสบายก็ต้องสบายทั้งกายและใจ กายก็ต้องผ่อนคลาย ใจก็เช่นเดียวกัน คือจะหย่อน ๆ หน่อยไม่ตึง นี่ความหมายของคำว่า สบายสม่ำเสมอ ก็คือทำให้ได้ทุกวัน ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน หรือว่ามันมากไปก็เอาแค่ 2 เวลา หลับตากับลืมตา หรือหายใจเข้าหายใจออกนี่ครูไม่ใหญ่ก็พยายามจะให้มันง่ายเข้ามาเรื่อย ๆ ง่ายกว่านี้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว คือถ้าจับป้อนเข้าไปได้ก็ไม่มีปัญหา แต่มันทำไม่ได้ ได้แต่แนะวิธีการแต่ทำเราต้องทำเองอีกทั้งหมั่น สังเกต สังเกตตอนไหน ตอนเลิกนั่ง อย่าไปสังเกตตอนนั่ง เดี๋ยวเอ็นเคร่งเกร็งไปหมด สังเกตตอนเลิกนั่งว่า วันนี้เรานั่งได้ผลดีไหมดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร ไปทบทวนกันดู

สั่งสมอารมณ์ดี


     ถ้าจะให้นั่งได้ดีและเร็ว ต้องหมั่นสะสมอารมณ์ดี อารมณ์ที่เป็นกุศลธรรมที่เป็นบุญเป็นความดีเอาไว้เยอะ ๆ จะมีผลในตอนปฏิบัติธรรม จะได้มีอารมณ์เดียวที่ไม่หงุดหงิด งุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ไม่ขัดเคืองขุ่นมัวคนโน้นคนนี้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่มี มันขึ้นอยู่กับตรงนี้แหละ ต้องสั่งสมนะสั่งสมตอนไหน ตอนลืมตาตื่นนั่นแหละ พอนาฬิกาปลุกกริ๊ง ตอนตี 4 ตี 5 ลืมตาก็สั่งสมกันเรื่อยมาเลย แล้วไปสิ้นสุดเอาตอนหลับตานอน พอหลับตาก็เลิกกัน เราก็จะได้มีอารมณ์ดีอารมณ์เดียวอารมณ์ดีเราก็นึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลธรรมว่า วันนี้เราทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นมาตอนเช้าล้างหน้าล้างตา แล้วลุกขึ้นมาสวดมนต์ไหว้พระ ทำภาวนา ถ้าไม่มีเวลาสวดมนต์ก็ไม่เป็นไร กราบพระ ๓ ที นะโม ตัสสะ...ฯ นอบน้อมถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกพระองค์เลย แล้วก็ฝึกใจหยุดนิ่ง ถ้ามีพระผ่านหน้าบ้านก็มาเตรียมอาหารใส่บาตร ไม่มีก็แล้วไป หรือจะหยอดกระปุกมณีทวีบุญไว้ก็ได้แล้วก็รักษาใจให้ผ่องใส มีแต่เรื่องบุญกับเรื่องพระรัตนตรัยอยู่ในตัว ออกจากบ้านไปก็รักษาใจใส ๆ อย่างนี้เรื่อยไปเลยหรือจะนึกทบทวนย้อนหลังถึงบุญเก่า ๆ ที่เราได้กระทำผ่านมา นึกแล้วใจจะได้ชุ่มชื่น อย่าไปนึกสิ่งที่ทำให้ใจเราขุ่นมัวหรือแหนงใจ ไม่ว่าคน สัตว์สิ่งของ ที่ทำให้ขุ่นมัว หรือการกระทำของเราด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ที่นึกแล้วมันแหนงใจ นึกแล้วไม่สบายก็อย่าไปนึกนึกถึงแต่สิ่งที่ทำให้เราสบายใจ ใจใส ใจสะอาด ใจดี อย่างนี้เรียกว่าสั่งสมอารมณ์ดี

สั่งหมอง


     สมมติกำลังทำงานอยู่เกิดมีบางสิ่งทำให้เราหงุดหงิดอารมณ์เสียอย่าลืมสั่งหมอง (ลักษณะอาการพ่นลมหายใจออกทางจมูกแรง ๆ 1 ครั้ง) ฟืด! สั่งหมองออกไปเลย แต่อย่าให้เศษตามมานะ สั่งแต่หมองอย่างเดียว เศษของหมองไม่ต้องเอาออกมา การสั่งอย่างนั้นก็คือการที่เราไปสะดุดจังหวะตอนที่ความหมองกำลังจะต่อเนื่อง เราสกัดกั้นมันเสียก่อน พอมันเสียจังหวะมันก็หมดอารมณ์ นี่เขาเซ็ตโปรแกรมมา เราก็แค่ไปเปลี่ยนรหัสนิดหน่อยก็เท่านั้นเอง แล้วอารมณ์นั้นก็จะผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก อารมณ์ชังก็ตาม ฟืด! นิดหนึ่งอย่างนี้นะ เป็นการขัดจังหวะรหัสชะตากรรมนั้นให้มันขาดช่วง พอขาดช่วงปั๊บ สิ่งดี ๆ ก็เข้ามาแทน ใจเราก็จะเฉยๆ ถ้าเราทำเฉยได้ อารมณ์เราจะดีทั้งวันเลย ใครด่าใครว่าก็เฉย ใครชมก็เฉยอะไร ๆ มาก็เฉย
 
 
     ถ้าทำอย่างนี้ได้ อารมณ์จะดีทั้งวัน ไม่เชื่อลองเฉย ๆ ดูนะมีนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาท่านหนึ่งเขียนจดหมายมาถึงครูไม่ใหญ่ก็น่าคิดดีเหมือนกันนะ ตอนแรกก็อ่านขำ ๆ พอตอนหลังคิด เออ จริงทีเดียวคืออย่างนี้ เขานั่งอยู่ที่บ้าน อยู่ ๆ ก็มีโทรศัพท์จากเพื่อนผู้หญิงโทรมาฟังคำถามที่เพื่อนถามมาทางโทรศัพท์นะ แล้วเขาเขียนมาเล่าให้ครูไม่ใหญ่ฟังครูไม่ใหญ่อ่านไปก็หัวเราะไปอยู่คนเดียว คือเพื่อนเขาถามว่า “นี่เธอ ช่วยตอบฉันหน่อยเถอะ ฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” “ทำไมเธอถามอย่างนั้นล่ะ” “เราไปเจอผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วเราชอบ อย่างนี้เราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” คนที่เขียนเล่ามาเขาก็ตอบว่า “อาการอย่างนี้ เขาเรียกว่า กามกำเริบ” “เออ จริงนะ สงสัยเราเป็นอย่างนั้น แล้วจะให้เราทำอย่างไร” “ทำเฉย ๆ สิ ถ้าเฉยเสียแล้วนี่ มันก็หมดปัญหา” แล้วก็จริงด้วยนะ อะไรทุกอย่างถ้าเฉยได้ หยุดนิ่งเฉยได้ หมดปัญหาไปเลย แม่บ้านทำอาหารไม่อร่อย เราก็เฉย ๆ เราปรับมือของแม่บ้านไม่ได้ เราก็ปรับลิ้นของเราเสีย ทำเฉย ๆ ใจก็จะสบายนั่งธรรมะก็เช่นเดียวกัน มืดหรือ? ก็ทำเฉย ๆ สว่างหรือ? เฉย เห็นภาพหรือ? เฉย ไม่เห็นก็เฉย เดี๋ยวดี ใจเราจะไม่กระเพื่อมเลย เดี๋ยวเดินทางเข้าไปสู่ภายในได้
 
     เพราะฉะนั้นคำว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ใช้ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ จะทำให้ใจเราไม่กระเพื่อม ใจจะได้สมดุล ถ้ามีตาชั่งชั่งใจ ยินดีข้างยินร้ายข้าง มันจะเท่ากันเป๊ะเลย ใจเราจะไม่เสียสมดุล ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ความสุขก็ได้โอกาสที่จะพรั่งพรูออกมา เหมือนตัวเราเป็นธนาคารของความสุขพรั่งพรูออกมาเลย


2 ตุลาคม พ.ศ. 2546
จากหนังสือบางสิ่งที่แสวงหา
โดย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

บางสิ่งที่แสวงหา


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
บางสิ่งที่แสวงหาบางสิ่งที่แสวงหา

วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาวันแรก : ปฐมเริ่มพรรษาแห่งการบรรลุธรรมวันนี้เป็นวันเข้าพรรษาวันแรก : ปฐมเริ่มพรรษาแห่งการบรรลุธรรม

วันนี้เป็นวันที่สองของการเข้าพรรษา : ความมืดเป็นมิตรวันนี้เป็นวันที่สองของการเข้าพรรษา : ความมืดเป็นมิตร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

บางสิ่งที่แสวงหา