วันมหาปวารณา วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้


[ 15 ต.ค. 2559 ] - [ 18315 ] LINE it!

วันมหาปวารณา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
 
วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้
 
 

วันมหาปวารณา

เรียบเรียงจากรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
 
วันมหาปวารณา
 
        ประวัติความเป็นมาของการทำปวารณาในวันออกพรรษา เกิดขึ้นจากครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งแยกย้ายกันจำพรรษาอยู่อารามรอบๆ พระนคร พระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดความขัดแย้งกัน จนอยู่ไม่เป็นสุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันว่าจะประพฤติมูควัตร คือ การนิ่งไม่พูดจากันตลอดสามเดือน และได้ถือปฏิบัติกันมาตลอดทั้งพรรษา เมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี
 
        ดังนั้น ในวันออกพรรษาจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ซึ่งเป็นวันเดียวกัน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี แต่ถือกันคนละความหมาย คือ..

 

        วันออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดของการอยู่จำพรรษาหรือพูดง่ายๆ ว่า วันสุดท้ายที่ต้องอยู่จำพรรษาในแต่ละปี และพระสงฆ์จะต้องอยู่ให้ครบอีกหนึ่งราตรีจึงจะครบถ้วนบริบูรณ์
 

        วันมหาปวารณา คือ การทำปวารณาครั้งใหญ่ หมายถึง วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยจิตที่เมตตา โดยมีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาบาลีว่า

"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ
ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา
วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ
ปัสสันโต ปฏิกกะริสสามิ"

 
        แปลว่า "ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ หากท่านทั้งหลายได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย ว่า...กระผมได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี"
 
        การอยู่จำพรรษารวมกันตลอดระยะเวลาสามเดือน อาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมองไม่เห็น เสมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผงจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผงนั้นได้ จึงจำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดู หรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้วิธีการปวารณาให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เพื่อพระภิกษุที่ได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟังเรื่องไม่ดีไม่งามอะไรก็ตาม ให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ คือ พระผู้มีพรรษามากก็กล่าวตักเตือนพระผู้มีพรรษาน้อยได้ และพระผู้มีพรรษาน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อบกพร่องของพระผู้มีพรรษามากได้เช่นกัน โดยที่พระผู้มีพรรษามากท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
 
ปวารณา
 
        การกล่าวปวารณาเท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ก่อนที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง การปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำนี้เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวังไม่ให้ประมาท ไม่ยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย

จุดมุ่งหมายของการปวารณา  คือ...

       1. เป็นกรรมวิธีลดหย่อยผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัยให้หมดไปในที่สุด
 
       2. เป็นทางประสานรอยร้าวที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดี ด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน
 
       3. เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ
 
       4. เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดสามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ โดยไม่กำจัดด้วยยศ ชั้น พรรษา และวัย
 
       5. ก็ให้เกิดภราดรภาพ คือ ความรู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดีเอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงามคล้ายๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญตา
 
อานิสงส์ของการปวารณา ได้แก่
 
1.ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ในเพศบรรพชิต ทั้งทางกาย วาจา และใจ เป็นการคลายความสงสัย ระแวง ให้หมดไปในที่สุด
 
2.พระภิกษุทุกรูปจะรู้ข้อบกพร่องของตนเอง และจะได้ปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น โดยฝึกความอดทนต่อการว่ากล่าวตักเตือนได้ เป็นการเปิดใจยอมรับฟังผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้
 
3.พระภิกษุทุกรูปจะได้ขอขมากันและกัน เพื่อที่จะไม่ถือโทษโกรธเคืองกันในภายหลัง ด้วยความรักและปรารถนาดี และให้อภัยซึ่งกันและกัน จะทำให้อยู่ร่วมกันในหมู่คณะอย่างผาสุก
 
4.เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในสังฆมณฑลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนในการทำงานพระพุทธศาสนาเป็นทีม
 
5.ทำให้คณะสงฆ์มีความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การถูกทำลายจากผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนา
 
        การปวารณาจึงเป็นการกระทำเพื่อหวังความเจริญ เพื่อเกิดประโยชน์ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม โดยเพื่อนสหธรรมิกด้วยกันเองตักเตือนกันเองได้โดยธรรม
 
        ดังนั้น เมื่อวันมหาปวารณาเวียนมาถึง พวกเราพุทธบริษัทสี่จะได้ถือโอกาสนี้ปฏิบัติตามธรรมเนียมอันดีงามนี้ โดยการปวารณากับบุคคลข้างเคียงให้สามารถว่ากล่าวตักเตือนได้ เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ในการสร้างบารมีต่อไปในภายภาคหน้า
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพานวันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา  ตอน วันตรัสรู้วันวิสาขบูชา ตอน วันตรัสรู้

วันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติวันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา