พิธีกรรมงานอวมงคล


[ 10 ส.ค. 2554 ] - [ 18381 ] LINE it!

ศาสนพิธีของศาสนาพุทธ
ศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนาและหน้าที่ชาวพุทธ
 
พิธีกรรมงานอวมงคล
 
พิธีกรรมงานอวมงคล
  
การทำบุญเนื่องในงานอวมงคล ได้แก่ งานทำบุญซึ่งปรารภเหตุที่ไม่เป็นมงคล
 
     การทำบุญเนื่องในงานอวมงคล  ได้แก่  งานทำบุญซึ่งปรารภเหตุที่ไม่เป็นมงคล  เช่น  ปรารภการตายของบิดามารดา  ครู  อาจารย์  หรือญาติมิตร  เป็นต้น  ทำบุญในงานฌาปนกิจบ้าง 7 วัน 50 วัน 100 วันบ้าง  ทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันตายบ้าง  เพื่อให้เหตุร้ายกลายเป็นดี  เพื่อบรรเทาความเศร้าโศก  การทำบุญในกรณีเช่นนี้  มีพิธีนิยม  ส่วนมากเหมือนทำบุญในงานมงคล  ดังกล่าวมานี้  แต่มีข้อต่างกันบ้างดังต่อไปนี้ 
 
1.  จำนวนพระสงฆ์ที่นิยมสวดพระพุทธมนต์  เมื่อครบกำหนดวันทำบุญ  นิยมนิมนต์พระ 7 รูปบ้าง 10 รูปบ้าง  ถ้าเป็นพระราชพิธี  นิยมนิมนต์ 10 รูป  เป็นพื้น  สวดพระอภิธรรมนิมนต์ 4 รูป เป็นเกณฑ์  ถ้ามีบังสุกุลหรือมีสวดแจง  ไม่จำกัดจำนวนแน่นอน  ตามกำลังศรัทธา 10-20-50-100 รูป หรือมากกว่านี้ก็มี  แล้วแต่ฐานะทางเจ้าภาพ  แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์เท่าอายุผู้ตาย
 
    การเทศน์ในงานศพ  นิยมมีพระสวดรับเทศน์นี้ด้วย 4 รูป  ไม่มีพระสวดรับก็ได้ส่วนพระที่แสดงธรรมเทศน์อานิสงส์หรือเทศน์ปฐมสังคยนา  หรือเทศน์เรื่องอื่นๆ  นิยมรูปเดียวก็มี 2-3 รูปก็มี  ตามฐานะเจ้าภาพ
 
2.  การสวดมนต์ในงานอวมงคล  ไม่ต้องตักบาตร  หรือหม้อน้ำมนต์  ไม่ต้องวางด้ายสายสิญจน์ที่โต๊ะหมู่บูชา  คงใช้แต่ผ้าภูษาโยง  ถ้าไม่มีผ้าภูษาโยงจะใช้ด้ายสายสิญจน์แทนก็ได้  เรียกว่าสายโยง  โยงจากฝาหีบทางด้านศีรษะศพมาวางไว้บนพานใกล้โต๊ะหมู่บูชา  หรือใกล้พระภิกษุผู้เป็นประธาน
 
3.  เมื่อถึงเวลากำหนดพระสงฆ์เข้านั่งยังอาสน์สงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ถ้าพระสวดอภิธรรม  เจ้าภาพในงานพึงจุดเทียนธูปที่หน้าโต๊ะพระพุทธรูปก่อน  แล้วจุดที่หน้าตู้พระธรรมทีหลัง  เสร็จแล้วอาราธนาศีลต่อไป  พระให้ศีลแล้ว ไม่ต้องอาราธนาธรรม  แต่บางแห่งอาราธนาธรรมก็มี
 
งานอวมงคลหลังจากพระให้ศีลจบอาราธนาพระปริตรอย่างเดียว
 
เมื่อพระสงฆ์สวดหรือเทศน์จบ เจ้าภาพพึงเก็บสิ่งของเครื่องกีดขวางออกให้หมดแล้วจัดสิ่งของที่จะถวายพระ
 
     ถ้าสวดพระพุทธมนต์  เมื่อพระให้ศีลจบ   ต้องอาราธนาพระปริตรอย่างเดียว  ต่อเมื่อพระเทศน์ขึ้นธรรมมาสน์  ไม่ต้องอาราธนาด้วยวาจา  เมื่อเจ้าภาพเห็นว่าได้เวลาตามที่กำหนดแล้ว  ก็จุดเทียนหน้าธรรมาสน์  เรียกว่าจุดเทียนบูชาธรรม  พระผู้แสดงธรรมที่จะขึ้นสู่ธรรมาสน์  โดยถือเป็นธรรมเนียมว่าการจุดเทียนหน้าธรรมาสน์  เป็นการอาราธนาธรรม  มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งควรกำหนดไว้เป็นพิเศษคือ  เครื่องทองน้อยหน้าศพตามปกติ  ถ้าเจ้าภาพตั้งไว้เพื่อเคารพศพ  ตั้งเครื่องทองน้อยให้ดอกไม้หันเข้าศพธูปเทียนหันออกข้างหน้า  หันธูปเทียนเข้าหาศพ  ทั้งนี้เพื่อให้ศพได้บูชาธรรมเทศนาด้วย  และจุดเมื่อพระเริ่มเทศน์เท่านั้น  หลังจากรับศีลแล้ว  ถ้าไม่มีศพแต่เจ้าภาพมีความประสงค์จะให้มีเทศน์  เพื่อระลึกถึงอุการะคุณ  จะจุดเครื่องทองน้อยตั้งไว้ข้างหน้าตนเองเพื่อบูชาธรรมก็ได้
 
4.  เมื่อพระสงฆ์สวดหรือเทศน์จบ  เจ้าภาพพึงเก็บสิ่งของเครื่องกีดขวางออกให้หมด  จัดสิ่งของที่จะถวายพระ เช่น  ดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของอย่างอื่น  นอกจากผ้าหรือใบปวารณา  มาวางไว้ตรงหน้าพระสงฆ์  แล้วบอกญาติพี่น้องช่วยกันประเคน  เสร็จแล้วคลี่ผ้าภูษาโยงนั้น  ถ้ามีผ้าโดยมากมักเอาใบปวารณากลัดติดกับผ้านั้นรวมกัน  การทอดผ้าหรือใบปวารณานี้  ควรทอดขวางตัดกับผ้าภูษาโยง  คือวางขวางบนผ้าภูษาโยงนั้นอย่าทอดไปตามทางยาว  ดูไม่งาม  และควรทอดตามลำดับพระเถระ  เสร็จแล้วนั่งประนมมือ  จนกว่าพระสงฆ์จะพิจารณาบังสุกุลจนจบ  แต่บางแห่งนิยมทอดผ้าก่อนถวายของก็มีในราชการนิยมถวายของก่อน  ทอดผ้าภายหลัง  ซึ่งยังถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
 
5.  ถ้าสวดพระพุทธมนต์แล้วฉันเช้าหรือฉันเพลในวันนั้น  การถวายสิ่งของและการทอดผ้าบังสุกุล  ทำภายหลังจากฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าสวดมนต์เย็น  ฉันเช้าหรือเพลในวันรุ่งขึ้น และมีผ้าไตรจีวรทอดก็ควรทอดภายหลังพระสวดจบในเย็นวันนั้น  เพื่อให้ท่านนุ่งห่มฉลองศรัทธาในวันรุ่งขึ้น  ส่วนสิ่งของและใบปวารณานั้น  เก็บไว้ถวายและทอดในวันรุ่งขึ้น  ภายหลังจากฉันเสร็จแล้ว
 
6.  สำหรับรายการพระสวดอภิธรรมตอนกลางคืนหรือพระเทศน์ พระสวดรับเทศน์ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะอาราธนาฉันในวันรุ่งขึ้นด้วยก็ได้  แต่สิ่งของและผ้าทอดบังสุกุลควรจัดการถวายและทอดให้เสร็จสิ้นในวันนั้น
 
ทอดผ้าบังสุกุล
 
พิธีทอดผ้าบังสุกุลก่อนการฌาปนกิจ
 
7.  ในการฌาปนกิจศพ  ก่อนที่จะถึงเวลาทำฌาปนกิจศพเล็กน้อย  นิยมมีการทอดผ้ามหาบังสุกุล  หรือเรียกว่าบังสุกุลปากหีบ  ในการเช่นนี้  โดยมาเจ้าภาพนิยมเชิญแขกผู้ใหญ่ที่มีเกียรติขึ้นทอดและให้แขกผู้มีเกียรติสูง  ซึ่งจะเป็นผู้จุดเพลิงเป็นคนแรกนั้น  เป็นคนทอดหลังสุด  ให้แขกผู้มีเกียรติรองลงมาทอดก่อน  แขกผู้ทอดผ้าบังสุกุลนี้  ให้ถือว่าเป็นแขกผู้มีเกียรติ  ฉะนั้นก่อนทอดและหลังทอดแล้ว  การทำความเคารพศพทุกครั้ง  จะต้องยืนคอยจนกว่าพระสงฆ์ขึ้นไปพิจารณา
 
     ขณะที่พระสงฆ์กำลังพิจารณาอยู่นั้น  ก็ควรประนมมือขึ้น  การทอดไตรจีวรก่อนเผาศพนั้น  ไม่ควรมีมากเกินไป  เพราะจะทำให้แขกที่มาร่วมงานนั่งคอยนาน  ควรใช้ประมาณ 3 ไตร  กำลังพอดี
 
ระเบียบปฏิบัติการไปร่วมงานศพ
 
     การรดน้ำศพ
 
     1.  แต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ
     2.  การรดน้ำศพถือสืบกันมาว่า  ไปขอขมาโทษ  เพื่อจะได้ไม่มีเวรภัยต่อกัน
     3.  นิยมรดน้ำศพเฉพาะท่านผู้มีอายุสูงกว่า  หรือรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น
     4.  ผู้มีอายุมากกว่าผู้ตาย  ก็ไปร่วมงานให้กำลังใจเจ้าภาพ  แต่ไม่นิยมรดน้ำศพ
 
     วิธีปฏิบัติการรดน้ำศพพระภิกษุสงฆ์
 
     1.  นั่งคุกเข่าตามเพศ  กราบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง  พร้อมกับนึกขอขมาโทษว่า  “หากได้ล่วงเกินท่าน  ทั้งทางกาย  วาจา ใจ ก็ดี  ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
     2.  เมื่อขอขมาโทษเสร็จแล้ว  พึงถือภาชนะด้วยมือทั้งสองเทน้ำรดลงที่ฝ่ามือขวาของศพ  พร้อมกับนึกในใจว่า “ร่างกายที่ตายแล้วนี้  ย่อมเป็นอโหสิกรรมไม่มีโทษ  เหมือนน้ำที่รดแล้วฉะนั้น”
     3.  เมื่อรดน้ำศพเสร็จแล้ว  กราบเบญจางคประดิษฐ์อีก 3 ครั้ง  พร้อมกับอธิษฐานว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”
 
     การไปงานตั้งศพบำเพ็ญกุศล
 
     1.  นิยมแต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ
     2.  นิยมนำพวงหรีดหรือกระเช้าดอกไม้ หรือพวงดอกไม้  อย่างใดอย่างหนึ่งตามควรแก่ฐานะตนไปแสดงความเคารพ
 
     การแสดงความเคารพศพของคฤหัสถ์
  
     1.  ถ้ามีอาวุโสมากกว่าตน  นิยมนำพวงหรีดไปด้วย  เมื่อวางพวงหรีดแล้ว  ถ้าแต่งเครื่องแบบราชการ 
นิยมยืนตรงโค้งคำนับ  ถ้ามิได้แต่งเครื่องแบบ  ยืนตรงน้อมตัวลงยกมือไหว้
 
     2.  ถ้านำกระเช้าดอกไม้  แจกันดอกไม้  หรือพวงหรีดดอกไม้ไปเคารพศพ  เมื่อวางกระเช้าดอกไม้แล้ว  นิยมนั่งคุกเข้าราบ  ทั้งเพศชายและหญิง  จุดธูป 1 ดอก  ประนมมือยกธูปขึ้นจบ  ให้ปลายนิ้วชี้อยู่ระหว่างคิ้ว  ตั้งจิตขอขมาโทษ (เหมือนดังที่กล่าวไว้แล้ว)
 
     3.  เมื่อขอขมาแล้ว  พึงปักธูป ณ ที่ปัก  นั่งพับเพียบหมอบกราบ  กระพุ่มมือ (คือนั่งพับเพียบตะแคงตัวข้างขวาหันหน้าไปทางศพ  วางมือขวาลงก่อน  แล้ววางมือซ้ายลงแนบกับมือขวาประนมมือตั้งอยู่กับพื้น  พร้อมกับหมอบให้หน้าผากลงจรดสันมือ)  พร้อมตั้งใจอธิษฐานแล้วลุกขึ้น
 
หมายเหตุ  ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติศพนั้น  ผู้ไปเคารพศพ  ไม่ต้องจุดธูปบูชาศพ
 
     การแสดงความเคารพศพพระภิกษุสงฆ์
  
     1.  นิยมแต่งกายตามแบบเช่นเดียวกับศพคฤหัสถ์
 
     2.  เมื่อวางเครื่องสักการบูชาแล้ว  นิยมนั่งคุกเข่าตามเพศ  สุภาพบุรุษนั่งคุกเข่าตั้งท่าเทพบุตร  สุภาพสตรีนั่งคุกเข่าเท้าราบท่าเทพธิดา  จุดธูป 1 ดอก  ประนมมือยกธูปตั้งขึ้น  ให้ปลายนิ้วหัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้ว  ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผากพร้อมกับตั้งใจขอขมาโทษ
 
     3.  เมื่อขอขมาโทษแล้ว  พึงปักธูป ณ ที่ปักธูป  กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง  พร้อมกับนึกอธิษฐาน
 
      การไปงานฌาปนกิจศพ
  
     นิยมแต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ
 
การวางดอกไม้จันทน์ในงานฌาปนกิจ
 
การเดินขึ้นเมรุเพื่อวางดอกไม้จันทน์ควรเดินเรียงแถวขึ้นไปเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
 
     ลำดับการขึ้นเมรุศพ
  
     1.  ถ้าเป็นงานพระราชทานเพลิงศพ  นิยมขึ้นเมรุศพตามลำดับทางคุณวุฒิ คือ  ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่าขึ้นไปเผาก่อน  ผู้มีคุณวุฒิน้อยกว่าขึ้นภายหลัง
 
     2.  ถ้าเป็นงานฌาปนกิจศพ  นิยมขึ้นเมรุเผาศพตามลำดับทางวัยวุฒิ  คือ  อายุมากขึ้นไปเผาก่อน  ผู้มีอายุน้อยกว่าขึ้นภายหลัง
 
     วิธีปฏิบัติในการเผาศพ
  
     1.  เมื่อขึ้นไปถึงเมรุแล้วนิยมยืนตรง  ห่างจากศพประมาณ 1 ก้าว  ถ้าแต่งเครื่องแบบราชการ  นิยมยืนตรงโค้งคำนับ  ถ้าไม่ได้แต่งเครื่องแบบราชการ  นิยมน้อมตัวลงยกมือไหว้พร้อมทั้งธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ในมือ (เฉพาะศพที่มีอายุมากกว่า  หรือรุ่นราวคราวเดียวกัน)  แล้วตั้งจิตขอขมาโทษต่อศพ
 
     2.  เมื่อตั้งจิตขอขมาโทษศพจบแล้ว  น้อมตัวลง  วางธูป เทียน  ดอกไม้จันทน์ที่เชิงตะกอนพร้อมกับพิจารณาถึงความตายว่า  “ร่างกายของเราแม้นี้เลยย่อมถึงความตายเป็นธรรมดาอย่างนี้มีปกติเป็นอย่างนี้  ไม่ล่วงพ้นความตายอย่างนี้ไปได้ “  จากนั้นยืนตรงโค้งคำนับหรือยกมือไหว้อีกครั้ง  พร้อมกับนึกอธิษฐานจิตในใจว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”
 
      3.  การที่ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายขึ้นไปทำพิธีเผาศพพร้อมกันนั้น  เป็นพิธีการแสดงความเคารพต่อศพเท่านั้น  ยังไม่ใช่พิธีการเผาศพจริง ต่อเมื่อเสร็จขั้นตอนแสดงความเคารพศพแล้ว  นิยมให้วงศาคณาญาติ  มิตรสหาย ผู้ใกล้ชิดกับผู้ตาย  ขึ้นไปทำการเผาศพจริงอีกครั้ง  จึงเสร็จพิธีเผาศพ บริบูรณ์
 
ข้อควรรู้
 
     1.  การเดินขึ้นเมรุ  เพื่อวางดอกไม้จันทน์  ควรเดินเรียงแถวขึ้นไป  เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและงดงาม  หากเดินขึ้น 2 แถว  จะสะดวกในการวางดอกไม้จันทน์  และการลงจากเมรุทางบันไดทั้งสองข้าง  อีกทั้งยังเป็นแผนที่ดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
 
     2.  การไปร่วมงานศพ  นอกจากจะไปเพื่อขอขมาโทษแก่ผู้ตาย  และไปให้กำลังใจแก่ญาติของผู้ตายแล้ว  ยังเป็นการไปเพื่อเจริญมรณานุสติ  ระลึกถึงความตายว่า  ชีวิตนี้ตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ไม่ควรประมาทในชีวิต  สักวันต้องเวียนมาถึงเราอย่างแน่นอน  ควรเร่งสร้างบุญสร้างบารมี  สั่งสมความดี  โดยการทำทาน  รักษาศีล  และเจริญภาวนา
 
รับชมวิดีโอ
 

รายการวิดีโอที่เกี่ยวข้อง

โครงการอบรมพระ 1 แสนรูป
 
บทความที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธี ตอนการจัดโต๊ะหมู่บูชา
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
วันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพานวันวิสาขบูชา Vesak Day ตอน วันปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา  ตอน วันตรัสรู้วันวิสาขบูชา ตอน วันตรัสรู้

วันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติวันวิสาขบูชา ตอน วันประสูติ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

พุทธประวัติ - วันสำคัญในพระพุทธศาสนา