มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม - พระิอินทร์มาเตือนสติ


[ 29 เม.ย. 2551 ] - [ 18284 ] LINE it!


 

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
  พระิอินทร์มาเตือนสติ
 
นรชนใด มีจิตประกอบด้วยเมตตา
อนุเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลาย
นรชนนั้นย่อมประสบบุญเป็นอันมาก

    สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาล้วนเคยเป็นญาติกันมาก่อน โลกใบนี้เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ ที่มีประชากรโลกเป็นสมาชิกครอบครัวใหญ่ การมีจิตเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มีจิตกรุณาช่วยเหลือกันให้พ้นทุกข์ มีมุทิตาจิตต่อความดีของผู้อื่น รวมทั้งมีอุเบกขาธรรม วางใจเป็นกลางๆ ทั้งในเรื่องดี และเรื่องร้ายที่บังเกิดขึ้น นับเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมีต่อกัน ความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อจิตของเราได้พัฒนาให้มีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น เราจะมีความสุข และอยากจะแบ่งปันความสุขให้กับทุกๆ คน ซึ่งความรู้สึกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสันติสุขอันไพบูลย์ ที่จะนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน

มีธรรมภาษิต ในวารณเถรคาถา ว่า

โย  จ  เมตฺเตน  จิตฺเตน    สพฺพปาณานุกมฺปติ
พหํุ  หิ  โส  ปสวติ        ปุญฺํ  ตาทิสโก  นโร

    นรชนใด มีจิตประกอบด้วยเมตตา อนุเคราะห์สรรพสัตว์ทั้งหลาย นรชนนั้นย่อมประสบบุญเป็นอันมากŽ

    ในท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆ มนุษย์ส่วนใหญ่ยังมีความรู้ไม่สมบูรณ์ และมักติดอยู่ในเรื่องปลีกย่อย มากกว่าที่จะมาสนใจในเรื่องที่เป็นสาระแก่นสาร จึงเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกัน เกิดการแตกแยก ทางความคิด มีความหวาดระแวง ขาดความสมัครสมานสามัคคีกัน สังคมโลกจึงต้องเดือดร้อน และเต็มไปด้วยการต่อสู้ แข่งขันชิงดีชิงเด่นแย่งชิงอำนาจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวให้มากที่สุด แต่ดูเหมือนว่า ยิ่งแสวงหาก็ยิ่งพบกับความทุกข์ทรมานที่ทับทวีมากยิ่งขึ้น

    เมื่อใดที่ทุกคนในโลก รู้จักที่พึ่งที่ระลึกว่า มีสิ่งเดียวเท่านั้น คือ พระรัตนตรัย ซึ่งทุกคนสามารถปฏิบัติให้เข้าถึงได้ด้วยตนเอง ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่ง จนเข้าไปพบกับแหล่งกำเนิดของความสุขที่แท้จริง และได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว เมื่อนั้น ความขัดแย้งก็จะหมดสิ้นไป จะมีแต่ความเมตตาปรารถนาดีที่เกิดจากใจบริสุทธิ์หยุดนิ่ง ความรู้สึกว่าเป็นเครือญาติกันจะเกิดขึ้น จะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน ความรู้สึกแบ่งปันจะเกิดขึ้น เพราะรู้ว่า ทุกคนยังตกอยู่ในห้วงทุกข์แห่งสังสารวัฏ ยังไม่หลุดพ้นจากกรงขังสัตวโลกขนาดใหญ่ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าคือภพสามนี้ไปได้ การช่วยกันเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน จึงเป็นภารกิจที่เป็นสาระที่แท้จริงในการมาเกิดของมวลมนุษยชาติ

    เนื่องจากบางยุคบางสมัย เมื่อมนุษย์เกิดมาแล้ว ขาดกัลยาณมิตรผู้ชี้ทางสว่าง ไม่ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชีวิตจึงเต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ไม่รู้จักเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง จึงไปแสวงหาความสุขที่ไม่ถูกวิธี แสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น ขาดความรักความเมตตาต่อกัน ทำให้ประพฤติผิดศีลธรรมจนเป็นเรื่องปกติ เมื่อละโลกไปแล้วย่อมต้องไปเกิดในอบายภูมิ

    *เหมือนในสมัยที่พระกัสสปพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่ร้อยปี พระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมลงไปมาก ประชาชนละเลยการประพฤติธรรม ไม่รักษาศีล เจริญภาวนา บ้านเมืองเต็มไปด้วยการคดโกง คนพาลมีอำนาจในการปกครอง ส่วนคนดีก็ถูกกลั่นแกล้ง คนทำบาปอกุศลกันมาก ทำให้ชีวิตหลังความตาย ต้องไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก    ที่จะไปบังเกิดในสุคติภูมินั้นมีน้อยมาก
 
    ในที่สุดพระอินทร์ต้องลงมาเตือนสติ เพราะทรงเห็นว่า ที่มนุษย์ไปบังเกิดในอบายภูมิ เป็นเพราะตกอยู่ในความประมาท ขาดความเมตตาต่อกัน คนดีถูกรังแก คนพาลเป็นหัวหน้า    ใช้อำนาจในทางที่ผิด พระอินทร์จึงทรงหาวิธีที่จะช่วยเหลือมนุษย์ ให้ได้มาบังเกิดบนสวรรค์ และหาทางที่จะรักษาพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป จึงรับสั่งให้มาตลีเทพบุตร แปลงเป็นสุนัขดำ ตัวใหญ่เท่าม้าอาชาไนย ท่าทางดุร้ายน่าสะพรึงกลัว บนหัวมีพวงดอกไม้แดง มีรัศมีร้อนแรงเป็นไฟลุกโพลงออกจากเขี้ยวทั้งสี่ มีเชือกเส้นใหญ่ผูกคอไว้

    ส่วนพระอินทร์แปลงเป็นพรานป่า ประดับพวงดอกไม้สีแดง ถือธนูขนาดใหญ่ กวัดแกว่งวชิราวุธ ทำให้เกิดสายฟ้าแลบ เสียงดังสนั่นสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก พลางประกาศด้วยเสียงดังกึกก้องไปทั่วโลกว่า พวกมนุษย์ผู้ใจบาป โลกกำลังจะพินาศแล้วŽ จากนั้น พระอินทร์ให้สุนัขเห่ากรรโชกขู่ขวัญชาวเมือง ทำให้ชาวเมืองเกิดความกลัวตายไปตามๆ กัน

     เหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารพากันกราบทูลให้พระราชาสั่งปิดประตูเมืองทุกทิศทุกทาง เพื่อไม่ให้สุนัขดำเข้ามา แต่นายพรานพร้อมด้วยสุนัขดำกระโดดข้ามกำแพงมาได้ พระเจ้าอุสสินนรราชซึ่งเป็นผู้ปกครองสมัยนั้น ได้ขอร้องนายพรานว่า  อย่าให้สุนัขดำเข้ามา นายพรานตอบว่า สุนัขนี้ต้องการกินเนื้อมนุษย์ที่เป็นศัตรูกับเราŽ

      พระราชาตรัสถามถึงคนที่เป็นศัตรูของนายพรานว่า   มีลักษณะอย่างไร นายพรานจึงประกาศให้ชาวเมืองรู้ว่า      ผู้ประพฤติผิดศีลผิดธรรม ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา เป็นคนอกตัญญู ดูหมิ่นผู้มีพระคุณ คนเหล่านี้แหละที่เป็นศัตรูของเรา สุนัขดำจะเคี้ยวกินผู้ที่ไม่มีจิตเมตตา  ชอบรังแกเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประกอบ สัมมาอาชีวะ ประพฤติผิดในกาม แสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น หมกมุ่นอยู่ในอบายมุข โดยไม่ทำความดีอะไรŽ

     เมื่อพรานป่ากล่าวจบ ทั้งพระราชาพร้อมด้วยอำมาตย์ข้าราชบริพาร ต่างหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวไปตามๆ กัน เพราะรู้ตัวว่าบุคคลที่นายพรานกล่าวถึง ก็คือพวกตน จึงพากันอ้อนวอน ขอร้องให้นายพรานช่วยห้ามสุนัขอย่าให้เข้ามาทำร้าย แต่สุนัขก็ยิ่งแสดงอาการดุร้ายหนักยิ่งขึ้น ทำท่าเหมือนจะกระโดดกัดพระราชาพร้อมทั้งบริวาร

      เมื่อนายพรานเห็นว่าทุกคนมีจิตอ่อนโยนลงแล้ว จึงได้เหาะขึ้นไปในอากาศ  กลับร่างเป็นพระอินทร์ดังเดิม และประกาศ ให้มนุษย์รู้ว่า คนที่ละโลกและไปเสวยทุกข์ทรมานแออัดอยู่ในนรกมีมากมายนับไม่ถ้วน ส่วนคนที่ไปเสวยสุขบนสวรรค์นั้นมีเพียงนิดเดียว ถ้าผู้ใดปรารถนาจะไปสวรรค์ก็ให้หันมาประพฤติธรรม เริ่มต้นทำความดีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    ตั้งแต่นั้น มนุษย์พากันตั้งใจทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หมั่นประพฤติธรรมอยู่เป็นนิตย์ ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สันติภาพก็กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองยาวนานสืบต่อไป เมื่อผู้คนละโลกไปแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์กันมากมาย

      เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนจะต้องตั้งใจทำความดีให้เต็มที่ ไปชักชวนคนมาทำความดี ช่วงนี้เป็นโอกาสดีของพวกเรา ที่จะได้ทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรเหมือนอย่างพระอินทร์ เพราะกระแสโลกในปัจจุบันถูกอวิชชาปนอยู่มาก ในยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนนี้ มีสื่อต่างๆ ที่นำมาซึ่งความร้อนใจ เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล ทำให้ใจของเราเหินห่างจากศูนย์กลางกาย และดูเบาในเรื่องการทำบุญกุศล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา บุญนี้จะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลข้ามภพข้ามชาติจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม

    เพราะฉะนั้น ให้ทุกท่านทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร ผู้มีหัวใจประดุจพระบรมโพธิสัตว์ ชักชวนชาวโลกให้มาประพฤติธรรม เข้าวัดฟังธรรม และสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ นอกจากเราจะมีสุคติเป็นที่ไปแล้ว ชาวโลกอีกมากมายจะได้พบความสุขในสัมปรายภพเหมือนพวกเราอีกด้วย
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. มหากัณหชาดก เลˆ่ม ๖๐ หน‰้า ๑๖๘


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑ ( ปฐมเหตุ )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๑ ( ปฐมเหตุ )

เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๒ ( พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการ )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๒ ( พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการ )

เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๓ ( กำเนิดพระเวสสันดร )เวสสันดรชาดก ตอนที่ ๓ ( กำเนิดพระเวสสันดร )



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน