ประเภทของสมาธิ


[ 29 ธ.ค. 2548 ] - [ 18300 ] LINE it!
View this page in: English

1.สัมมาสมาธิ

    การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่า ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติย่อมต้องการที่จะฝึกหรือปฏิบัติในแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะฝึกหรือปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว จำเป็นจะต้องทราบว่าวัตถุประสงค์ของการฝึกหรือปฏิบัติเพื่ออะไร ทั้งนี้การฝึกสมาธิในแนวทางที่ถูกต้องในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธินั้น โดยความหมายทั่วไป หมายถึงการตั้งจิตมั่นชอบ ซึ่งในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงสัมมาสมาธิไว้หลายแห่ง โดยได้อธิบายความหมาย ตลอดจนลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ หลายแห่ง ดังนี้

สัมมาสมาธิเป็นไฉน ?
 
 
 
    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้า ถึงปฐมฌานมีวิตกวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอเข้าถึงทุติยฌานมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าถึงตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอเข้าถึงจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ1

    จากความที่ยกนำมากล่าวนี้ แสดงว่าสัมมาสมาธิ จะมีความสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน จนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้ว จะมีสภาวะที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ และเป็นอุเบกขา จนมีสติบริสุทธิ์ นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกยังกล่าวถึงลักษณะของสัมมาสมาธิไว้ ดังนี้

1.ลักษณะของสัมมาสมาธิคือการที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน2
2.สัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นลักษณะ3

ส่วนในพระอภิธรรมปิฎก4 ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตที่เป็นสัมมาสมาธิว่า

สัมมาสมาธิ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน ?
 
    ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ ความตั้งใจชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสมาธิมีในสมัยนั้น

    จากลักษณะของสัมมาสมาธิที่กล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกยังแสดงให้เห็นว่า สัมมาสมาธิมีคุณูปการแก่ผู้ฝึกหรือผู้ปฏิบัติ โดยเมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านและมีความตั้งมั่นแห่งจิตแล้ว ย่อมขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสได้ ดังความในพราหมณสูต5 กล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกตอนหนึ่งว่า

    สัมมาสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว มีการกำจัดราคะเป็นที่สุด มีการกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีการกำจัดโมหะเป็นที่สุด

    จาก ความข้างต้น แสดงให้ทราบว่า สัมมาสมาธิสามารถขจัดมิจฉาสมาธิ ตลอดจนกิเลสและความฟุ้งซ่าน สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดคือพระนิพพานได้ ดังความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวไว้ดังนี้

    สัมมาสมาธิ (เมื่อเกิดขึ้น) ย่อมละมิจฉาสมาธิ กิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธิและความฟุ้งซ่านนั้นได้ กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมตั้งมั่นสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้โดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาสมาธิ6

    สรุปได้ว่า การจะฝึกสมาธินั้น บุคคลจะต้องยึดหลักการฝึกแบบสัมมาสมาธิ กล่าวคือ ฝึกเพื่อการทำให้ใจสงบ ระงับจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย และไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่ซัดส่าย ก็จะสามารถทำให้การฝึกและปฏิบัติของบุคคลนั้น ถูกต้องตรงต่อพระพุทธธรรมคำสอน จนสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย คือ พระนิพพาน ได้
 
    ทั้งนี้ การที่จะจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตจะต้องไม่คิดหรือตรึกในสิ่งที่จะทำให้จิตเกิดราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงลักษณะของจิตฟุ้งซ่านว่า จะมีลักษณะที่ซัดส่ายไปข้างนอก คือซัดส่ายไปในอารมณ์ คือกามคุณ ทำให้มีความพอใจในกามคุณ 5อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งทำให้จิตระคนปนเจือไปด้วยความตรึกไปในกาม7


1 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร เล่ม 17 หน้า 628-9
2 (ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 17 หน้า 112)
3 (ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 17 หน้า 250)
4 พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์ กามาวจรกุศล เล่ม 75 หน้า 360-1

5
พราหมณสูตรและอรรถกถา เล่ม 30 หน้า 13
6 ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม 17 หน้า 252

7
สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม 31 หน้า 166

 

<<back      next>>



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
สมาธิแก้ว รุ่นอาสาสมัครสมาธิแก้ว รุ่นอาสาสมัคร

ปฏิบัติธรรมสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์)ปฏิบัติธรรมสุดสัปดาห์ (ศุกร์-อาทิตย์)

ปฏิบัติธรรม 7 วันปฏิบัติธรรม 7 วัน



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

สมาธิ