ศีล 5 ความหมายของศีล 5


[ 10 ม.ค. 2557 ] - [ 18367 ] LINE it!

ศีล 5
คำแปล ความหมาย
 
 

ศีล 5

คำว่า ศีล นั้น มีคำแปล และความหมายหลายนัย ดังต่อไปนี้ คือ

      1. ศีล มาจากคำว่า ”สิระŽ” ซึ่งแปลว่า ศีรษะ หรือ ยอด เพราะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดคนนั้น แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิน อำนาจ ความรู้ หรือความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น หากแต่อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของศีล ซึ่งเป็นที่ยอมรับยกย่องของเหล่าบัณฑิตว่า ผู้มีศีลย่อมประเสริฐที่สุด

     2. ศีล มาจากคำว่า “ สีละŽ” ซึ่งแปลว่า ปกติ เพราะปกติของคนเรานั้นย่อมรักชีวิตของตน และเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ จึงยินดีในการรักษาศีล เพราะไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน การรักษาศีลจึงเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่ปกติสมบูรณ์

      3. ศีล มาจากคำว่า “ สีตะละŽ” ซึ่งแปลว่า เย็น เพราะผู้ที่รักษาศีล จะมีความเย็นกาย เย็นใจ ดุจดัง บุคคลผู้อาบน้ำชำระกายหมดจดดีแล้ว นั่งพักอยู่ ณ ร่มไม้ใหญ่ ความสงบเยือกเย็นนี้ แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ ก็จะรู้สึกปลอดภัย เย็นใจไปด้วย

     4. ศีล มาจากคำว่า “ สิวะŽ” ซึ่งแปลว่า ปลอดโปร่ง เพราะผู้ที่รักษาศีลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะนึกถึงการกระทำของตนเรื่องใด ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษ ไม่มีสิ่งใดเดือดร้อนกังวลใจ จึงมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งใจ และปลอดจากเวรภัยทั้งหลาย

      ดังนั้น ศีล จึงเป็นคุณธรรม ที่ทำให้เข้าถึงความเป็นยอดคน เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์แบบ มีความเป็นปกติ เป็นผู้ที่เย็นกาย เย็นใจ และมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง ปลอดภัยอยู่เสมอ
      สำหรับความหมายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคนั้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวไว้ว่า

     ศีล คือ “ เจตนาŽ” ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)

     ศีล คือ “ เจตสิกŽ” หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต 3 (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น, มีจิตคิดพยาบาท, มีความเห็นผิด)

     ศีล คือ ความสำรวมระวังŽ ปิดกั้นความชั่ว

     ศีล คือ การไม่ล่วงละเมิดข้อห้ามŽ

แม้ศีลจะมีหลายความหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เจตนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า

     ศีล คือ ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ

     การรักษาศีล จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุ คือวิธีการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราตั้งใจงดเว้นจาก ความชั่ว ตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ย่อมจะเกิดกระแสแห่งความดี เกิดความเมตตาขึ้นมาในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ อันเป็นเครื่องชำระจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ การรักษาศีลจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจิตใจให้บริสุทธิ์ดีงามยิ่งขึ้น

     นอกจากนี้ ศีลยังเป็นคุณธรรมอันงามด้วยคุณลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นคุณธรรมที่รักษา กาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นคุณธรรมอันจะนำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง คือ สมาธิ และปัญญา ต่อไป

วัตถุประสงค์ของการรักษาศีล

     หากเราเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการรักษาศีล ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องรักษา ก็จะทำให้เราสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้อง รักษาแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ที่แท้จริงของศีล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การรักษาแบบทำตามกันมา หรือว่ารักษาไปอย่างนั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย

     การรักษาศีล มีวัตถุประสงค์สำคัญ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

     1. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติปัจจุบัน ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

     2. เพื่อให้เกิดความสุข ความดีงาม ในการดำเนินชีวิต

     3. เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็น และความดีงามแก่ครอบครัว และสังคม

     4. เพื่อเป็นการป้องกันชีวิตของเราในภพชาติต่อไป ไม่ให้ต้องพบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน และความเสื่อมเสียอันเนื่องมาจากการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น

     5. เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมที่สูงขึ้นไป ได้แก่ สมาธิ และปัญญา อันจะทำให้บรรลุ มรรคผลนิพพานได้

     วัตถุประสงค์ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุข ไม่ต้อง ประสบพบเจอกับความทุกข์ ความเดือดร้อน หรือความเสื่อมเสีย ในภพชาติปัจจุบัน เพราะผู้ที่ไม่รักษาศีล มักเบียดเบียน หรือทำความเดือดร้อนให้กับตนเอง หรือผู้อื่น และเมื่อทำแล้ว ความเดือดร้อนที่เป็นผลจาก การกระทำนั้น ย่อมย้อนกลับมาหาตัวเอง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยสังคามวัตถุสูตร4) ว่า

“ ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ ผู้ด่าย่อมได้ รับการด่าตอบ และผู้ขึ้งเคียดย่อมได้รับความขึ้งเคียดตอบ ฉะนั้น เพราะความหมุนกลับแห่งกรรม ผู้แย่งชิงนั้น ย่อมถูกเขาแย่งชิงŽ”


     หากแต่ละคนในสังคมรักษาศีล ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ครอบครัวหรือสังคมนั้นย่อมมีความ สงบสุขเรียบร้อย ไม่เกิดความวุ่นวาย การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมอย่างนี้

     วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เป็นวัตถุประสงค์สำหรับป้องกันความทุกข์ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น ในภพชาติเบื้องหน้า เพราะการไม่รักษาศีล ย่อมเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ และหากเกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ก็จะมีอายุสั้น เป็นผู้ที่ไม่สมประกอบ ร่างกายพิกลพิการ เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจำ สิ่งเหล่านี้ล้วน นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อป้องกันความทุกข์ในภพชาติเบื้องหน้าอย่างนี้

     วัตถุประสงค์ข้อที่ 5 การรักษาศีล เป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรม คือสมาธิและปัญญา โดย สมาธิจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยศีลที่บริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน หากไม่มีศีล สมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะศีลเป็นเครื่อง ช่วยควบคุมกายกับวาจา ในขณะที่สมาธิเป็นเครื่องช่วยควบคุมใจ ดังนั้น เมื่อกายกับวาจาไม่สงบ ใจก็ยากที่จะสงบได้ เมื่อใจไม่สงบแล้ว สมาธิก็ยากที่จะเกิด และเมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญารู้แจ้งในเรื่องความจริงของ ชีวิตก็ย่อมไม่เกิดขึ้นไปด้วย เมื่อไม่มีปัญญา ก็ไม่สามารถกำจัดกิเลสอาสวะเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เมื่อไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็ต้องประสบกับความทุกข์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อยู่ร่ำไป แต่เมื่อรักษาศีลได้เป็นอย่างดี สมาธิก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และเมื่อสมาธิเกิด ปัญญาก็เกิดตามมา เมื่อปัญญาเกิด ก็สามารถจะกำจัดกิเลสอาสวะ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ดังนั้น การรักษาศีลจึงเป็นไปเพื่อ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพานอย่างนี้
 
ศีล5มีวิธีสมาทาน 3 แบบด้วยกัน

ศีล 5 ได้แก่

1. เว้นจากการฆ่าสัตว์

2. เว้นจากการลักทรัพย์

3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

4. เว้นจากการพูดเท็จ

5. เว้นจากการดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
 

ศีล คือ ปกติของความเป็นมนุษย์

      ศีล แปลว่า ปกติ ผู้ที่มีศีลจึงหมายถึงผู้ที่เป็นคนปกติ เป็นมนุษย์ที่ปกติ ความปกตินั้นเป็น พื้นฐานของความสงบเรียบร้อยของทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต แต่เมื่อใดเกิดความไม่ปกติ ขึ้น ความยุ่งยาก ความเดือดร้อนหรือเสียหายย่อมเกิดขึ้นตามมา เช่น ดวงอาทิตย์ปกติจะส่องสว่าง ในเวลากลางวันเป็นปกติ ถ้าตราบใดที่พระอาทิตย์ยังส่องแสงเป็นปกติอยู่อย่างนี้ เราทั้งหลายก็ยังมีชีวิต ที่สงบสุขอยู่ตราบนั้น แต่หากวันใดพระอาทิตย์เกิดความผิดปกติขึ้นมา คือไม่ส่องแสงในเวลากลางวันดังที่ เคยเป็นมา การงานย่อมเสียหาย ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้น เพียงการเกิดสุริยุปราคา การงานก็เสียหาย ไม่น้อย หรือฤดูฝนปกติฝนจะต้องตก การทำเกษตรจึงสามารถทำไปได้อย่างเต็มที่ แต่หากปีใดที่ถึงฤดูฝน แล้วฝนกลับไม่ตก ปีนั้นก็กลายเป็นปีที่ผิดปกติไป และสิ่งที่เกิดตามมาคือข้าวยากหมากแพง พืชผลทาง การเกษตรก็เสียหายคนเราก็เช่นกัน ถ้ามีความเป็นปกติ การดำเนินชีวิตก็มีแต่ความสงบสุข สังคมก็อยู่อย่างปกติ เรียบร้อย แต่วันใดที่คนปกติกลายเป็นคนไม่ปกติไป เมื่อนั้นความทุกข์ ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้น ทั้งต่อตนเองและบุคคลที่อยู่รอบข้างด้วย อะไรคือความเป็นปกติของมนุษย์ และอะไรคือความผิดปกติของมนุษย์ ศีล 5 คือปกติของความเป็นมนุษย์ หรือมนุษยธรรม คือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ ผู้ที่ผิด ศีลก็ชื่อว่า เป็นคนที่ผิดปกติไป

ศีล 5 เป็นคุณธรรมพื้นฐาน

      ศีล 5 เป็นคุณธรรมพื้นฐาน เป็นเครื่องช่วยควบคุมกายวาจาของมนุษย์ให้เรียบร้อย เพื่อ ให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุขพอสมควร หากมีผู้ใดทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อแล้ว ก็จะแสดงพฤติกรรม หรือการกระทำที่ผิดปกติของมนุษย์ออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายเกิด ความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง หมู่คณะ และสังคมส่วนรวม
 
 

ศีล 5 เกิดขึ้นจากสามัญสำนึกของมนุษย์

    ศีล 5 เกิดขึ้นจากสามัญสำนึกของมนุษย์ ที่ปรารถนาจะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข ปลอดภัย โดยไม่ต้องหวาดระแวงหรือกลัวอันตราย หรือกลัวว่าจะถูกเบียดเบียนทำร้าย ไม่ว่าจากใคร หรือด้วยวิธีใดก็ตาม

ศีล เป็นมหาทาน

      การรักษาศีล ไม่เพียงเป็นการรักษาความเป็นปกติของความเป็นมนุษย์ หรือเพื่อรักษากฎเกณฑ์ ในการอยู่ร่วมกันในสังคมเอาไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ทานที่มีคุณค่ายิ่งกว่าการให้วัตถุใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในขณะที่ใครคนหนึ่งรักษาศีล ทุกชีวิตจะได้รับประโยชน์อันมหาศาล นั่นคือได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินทันที กล่าวคือ
 
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 1 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ย่อมได้ชื่อว่า ให้ชีวิต ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิต ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการให้สิ่งที่สูงค่ายิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ
 
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 2 คือ ไม่ลักทรัพย์ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นการให้ฐานะความเป็นอยู่อันมั่นคง
 
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 3 คือ ไม่ประพฤติผิดในกาม ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความสุข ให้ความปลอดภัย แก่บุตร ธิดา ภรรยา สามีของผู้อื่น เป็นการให้ความคุ้มครองแก่สถาบันครอบครัวอย่างดีที่สุด
 
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 4 คือ ไม่กล่าวคำเท็จ ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความจริงแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความสบายใจในการดำเนินชีวิต โดยไม่ต้องหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
 
เมื่อเรารักษาศีลข้อที่ 5 คือ ไม่ดื่มสุราเมรัย ย่อมได้ชื่อว่า ให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่ง เพราะคนที่ประมาทขาดสตินั้น สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง จะฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือพูดเท็จก็ทำได้ทั้งสิ้น

      การรักษาศีล จึงเป็นบุญอันพิเศษอย่างยิ่ง เพราะได้ทั้งบุญจากการบำเพ็ญมหาทาน และบุญจากการรักษาศีล และนี่เป็นเพียงศีล 5 อันเป็นเบื้องต้นเท่านั้น หากรักษาศีลในข้อที่สูงยิ่งขึ้นไป ย่อมเป็น มหาทานอันยิ่งใหญ่ เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ อย่างสุดที่จะประมาณได้


 
 
 
 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย

บทสวดสรรเสริญคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงบทสวดสรรเสริญคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

บทสวดสรรเสริญพระมหาสิริราชธาตุบทสวดสรรเสริญพระมหาสิริราชธาตุ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

บทสวดมนต์