ผ้ากฐินธรรมชัย ผ้าแห่งความสมปรารถนา


[ 23 ก.ย. 2557 ] - [ 18291 ] LINE it!

ทำบุญ

ผ้ากฐินธรรมชัย

ผ้าแห่งความสมปรารถนา

 

บทความโดย พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร


อานิสงส์ของการทำบุญกฐิน, กฐิน, ทอดกฐิน

ภาพ ผ้ากฐินตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


          อีกไม่กี่วันแล้วก็จะถึงวันออกพรรษา ซึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว ช่วงนั้นก็คือช่วงของเทศกาลกฐิน ซึ่งเป็นบุญที่จำกัดช่วงการทำบุญคือสามารทำบุญกฐินได้เพียงช่วง 1 เดือนหลังจากออกพรรษาแล้วเท่านั้น กฐินจึงเป็นกาลทาน และเป็นบุญใหญ่มาก ซึ่งบุญกฐินที่วัดพระธรรมกายปีก็จะตรงกับวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน ก็เป็นโอกาสในการสั่งสมบุญใหญ่ของลูกพระธัมฯทุกท่านอีกแล้ว สำหรับวันนี้พระอาจารย์ก็มีเรื่องราวดีๆของกฐินธรรมชัย ในเรื่อง "ผ้ากฐินธรรมชัย ผ้าแห่งความสมปรารถนา"



ผ้ากฐิน ทำความสมปรารถนาได้อย่างไร ?


          ผ้ากฐินที่ทุกท่านได้ร่วมบุญมา จะเป็นปัจจัยก็ดี หรือจะเป็นผ้าไตรก็ดี นำผ้ากฐินนี้มาน้อมถวายแด่คณะสงฆ์ในวันทอดกฐิน ผ้ากฐินนี้เองคือผ้าที่ยังความปรารถนาของบุคคล 2 ฝ่ายให้สำเร็จ ฝ่ายแรกก็คือ ฝ่ายคณะสงฆ์ และอีกฝ่ายคือ ฝ่ายฆราวาส แล้วผ้ากฐินทำให้พระภิกษุสงฆ์สมปรารถนาอย่างได้อย่างไร?

 


กำเนิดผ้าจีวร


          ผ้าจีวร ก็คือ ผ้าที่พระภิกษุสงฆ์ใช้นุ่งห่ม ประกอบด้วยผ้า 3 ผืน หรือที่เราเรียกว่า ผ้าไตรจีวร ได้แก่ 

          1. ผ้าอุตราสงฆ์ หรือ ผ้าจีวรที่ใช้ห่ม 

          2. ผ้าสังฆาฏิ ก็คือ ผ้าที่ใช้ห่มซ้อนกับจีวร เพื่อป้องกันความหนาว หรือจะนำมาบังแดด หรือพับเพื่อปูรองนั่งก็ได้ 

          3. ผ้าอันตรวาสก ก็คือผ้าสบงที่ใช้ในการนุ่ง 

          ผ้าทั้ง 3 ผืนนี้รวมเรียกว่า "ผ้าไตรจีวร"


 

          โดยผ้าจีวรนี้ ก็มีสาเหตุมาจาก ในช่วงต้นพุทธกาล ยังไม่มีพุทธบัญญัติเรื่องผ้าจีวร พระภิกษุก็ใช้ผ้าที่หาได้มาได้เย็บต่อกัน ไม่เป็นระเบียบบ้าง ไม่เป็นรูปแบบเดียวกันบ้าง พระภิกษุบางรูปก็ได้รับถวายผ้าอย่างดีจากญาติโยม เนื่องจากว่าผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล ผ้าเหล่านั้นจึงมักถูกลักขโมยอยู่บ่อยครั้ง

 


ภาพ ผ้าจีวรมีลายและรอยต่อคล้ายคันนาทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ


          ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จผ่านคันนาในแคว้นมคธ จึงมีดำริที่จะทำผ้าจีวร ให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน  ที่มีลักษณะเป็นผ้าคล้ายคันนา ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ และเหมาะสมกับสมณะ  จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปออกแบบจีวรที่มีลักษณะคล้ายคันนานี้ และต่อมาก็ทรงอนุญาตให้ใช้เป็น ผ้าไตรจีวร ที่พระภิกษุสามเณรนุ่งห่มมาจนถึงปัจจุบันนี้


 

ผ้าจีวร ผ้าแห่งการกำจัดกิเลส

 

          ผ้าจีวรนี้เป็นหนึ่งในอัฏฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตสมณะเป็นอย่างมาก ผ้าจีวรนี้ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิต นั่นก็คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค โดยในการใช้สอยจีวร พระภิกษุทุกรูปจะต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ของผ้าจีวร เพื่อจะได้ใช้ได้อย่างถูกต้อง นั่นก็คือ  

 

          1. ป้องกันอากาศหนาว 

          2. ป้องกันอากาศร้อน 

          3. ป้องสัมผัสจาก เหลือบ ยุง ลม แดด หรือสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ

          4. ปกปิดร่างกายไม่ให้เกิดความละอาย


          ซึ่งการใช้สอยจีวรนั้น พระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้พระภิกษุบริโภคใช้สอยปัจจัยอย่างถูกต้องเหมาะสม พระภิกษุแต่ละรูปจึงต้องนุ่งห่มจีวรอย่างมีสติ โดยต้องพิจารณาจีวร ตั้งแต่การรับจีวร คือถ้ารับผ้าจีวรมามากเกินไป ก็จะเป็นห่วงเป็นกังวลต้องคอยดูแลรักษา ถ้ารับผ้าจีวรมาน้อยเกินไปก็ขาดไม่พอใช้ ดังนั้นต้องพิจารณารับจีวรอย่างพอดี


          เมื่อได้ผ้าจีวรมาแล้ว ก็ต้องทำการพิจารณาผ้าจีวรทั้ง ก่อนใช้ ขณะใช้ และหลังจากใช้จีวรแล้ว โดยต้องพิจารณาด้วยอย่างแยบคายว่า ไม่ใช้จีวรเพื่อการประดับตกแต่งร่างกาย แต่ใช้เพียงเพื่ออนุเคราะห์ป้องกันร่างกายนี้ให้ดำรงอยู่ได้ เพื่อเป็นไปเพื่อการฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อการกำจัดกิเลสอาสวะ 


   

ภาพ พระภิกษุสงฆ์ต้องพิจารณาใช้ผ้าจีวรอย่างมีสติ

 

          พิจารณาโดยแยบคายว่า จีวรนี้เองก็เป็นของเกิดขึ้นกำลังเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เป็นของไม่ยั่งยืน ผ้าจีวรนี้แต่เดิมเป็นของสะอาด ไม่น่าเกลียด แต่พอเราได้ใช้สอยจีวรนี้ จีวรได้สัมผัสกับร่างกายของเรา จากจีวรที่เคยสะอาดก็กลับมีสภาพสกปรกน่ารังเกลียดขึ้นมาทันที 


          ทำให้พิจารณาเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของไม่สะอาดเน่ากำลังเสื่อมสลายไปในทุกขณะ ควรที่พระภิกษุจะต้องเร่งทำความเพียรฝึกฝนอบรมตนเองให้พ้นจากกิเลสอาสวะ


          ซึ่งแท้จริงแล้ว ผ้าจีวรนี้ เป็นเครื่องอุปกรณ์สำคัญในประคองสติ เป็นอุปกรณ์ในการพิจารณาความไม่เที่ยงแห่งสังขาร นั่นคือ ผ้าจีวรนี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลสของพระภิกษุสามเณรให้หมดไปนั่นเอง ผู้ที่ได้ถวายผ้าจีวรนี้จึงชื่อว่า ถวายอุปกรณ์สำหรับให้พระภิกษุท่านได้ใช้ในการกำจัดกิเลส 


          ความปรารถนาที่พระภิกษุทุกรูปได้ตั้งไว้เมื่อคราวออกบวชว่า "สัพพะทุกขะนิสสะระณะ นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ" ก็คือ ข้าพเจ้าขอออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ผ้าจีวรนี้เองเป็นผ้าที่ยังความปรารถนาของพระภิกษุทุกรูปให้สำเร็จ เพราะเป็นผ้าที่ใช้ในการกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป นี้คือความสมปรารถนาของพระภิกษุในข้อแรก


 

กฐินฤดูกาลเปลี่ยนผ้าใหม่

 

          ความสมปรารถนาอีกประการหนึ่งก็คือ เทศกาลกฐินนี้นับได้ว่าเป็นช่วงฤดูเปลี่ยนผ้าใหม่ของพระภิกษุสามเณร ผ้าจีวรที่พระภิกษุแต่ละรูปได้นุ่งห่มมาตลอดพรรษาย่อมมีการเก่าขาดผุพังเป็นธรรมดา ช่วงเทศกาลกฐินนี้จึงเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ้าจีวรใหม่ของพระภิกษุสงฆ์ 


          โดยในวันทอดกฐินเมื่อเราได้ถวายผ้ากฐินและผ้าบริวารไปแล้ว พระภิกษุสงฆ์ก็จะทำการ "อปโลกน์กฐิน" ก็คือการแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบโดยทั่วกัน เพื่อจะมอบผ้ากฐินให้กับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนั้นก็จะต้องมีธรรมเนียมในการขอปรึกษากันท่ามกลางสงฆ์ ว่าจะมอบให้แก่ภิกษุรูปใด ซึ่งหลายๆท่านที่เคยมาร่วมงานกฐินก็คงจะคุ้นเคยกันดี

 

กฐินธรรมชัย

ภาพ การอปโลกน์กฐิน คือ การถามความเห็นปรึกษากันของคณะสงฆ์


          เมื่อคณะสงฆ์ได้อปโลกน์กฐินเสร็จแล้ว หลังจากนั้นพระภิกษุทุกรูปก็จะไปประชุมกันที่พระอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรมว่าด้วยเรื่องกฐิน พระภิกษุผู้ได้รับผ้ากฐินจะได้ทำการเปลี่ยนผ้าใหม่และกรานกฐินด้วยผ้ากฐินนั้นเอง จากนั้นคณะสงฆ์ก็จะทำการอนุโมทนากฐินกับพระภิกษุที่ได้รับผ้ากฐิน และพระภิกษุทุกรูปที่จำพรรษาครบ 3 เดือน ณ อาวาสแห่งนั้นก็จะได้รับอานิสงส์ 5 ข้อด้วยกันคือ


          1. เที่ยวไปสู่ที่สงัด เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมได้ตามสะดวก โดยไม่ต้องบอกลา

          2. เที่ยวไปได้ โดยไม่ต้องนำผ้าไตรจีวรไปครบ 3 ผืน

          3. ฉันคณะโภชนะได้ คือ ฉันภัตตาหารร่วมวงฉันด้วยกันได้

          4. รับจีวรได้ตามปรารถนา คือ รับผ้าจีวรได้หลายผืน

          5. จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้น จะเป็นของภิกษุรูปนั้น คือ หากได้ผ้าจีวรมาเพิ่มอีกก็สามารถเก็บไว้ใช้เองได้


          จะเห็นได้ว่า ผ้ากฐินที่เราได้ทอดถวายแด่พระภิกษุสงฆ์นี้เอง สามารถยังความปรารถนาของพระภิกษุสามเณรให้สำเร็จได้ ทั้งความปรารถนาในการเปลี่ยนผ้าเก่าที่ชำรุดให้เป็นผ้าใหม่ ทั้งทำให้พระภิกษุท่านได้รับอานิสงส์กฐิน 5 ข้อ และผ้ากฐินนี้เองเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกำจัดกิเลสอาสวะของพระภิกษุสงฆ์ 


          กล่าวได้ว่าผ้ากฐินนี้ ทำให้พระภิกษุท่านได้สมปรารถนาได้รับอัฐบริขารอันเป็นเครื่องใช้จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้สมปรารถนตามพระธรรมวินัย และได้สมปรารถนาในการบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป 


 

ผ้าแห่งความสมปรารถนา ฝ่ายฆราวาส

 

          ผ้ากฐินไม่เพียงยังความปรารถนาของพระภิกษุสงฆ์ให้สำเร็จเท่านั้น ยังสามารถทำความปรารถนาของฝ่ายฆราวาสที่ถวายผ้ากฐินให้สำเร็จได้เช่นกัน เพราะผู้ถวายผ้ากฐินย่อมได้บุญกุศลอันใหญ่ยิ่ง บุญนี้เองสามารถยังความปรารถนาของเราให้สำเร็จได้เช่นกัน ดังเรื่องราวในสมัยพุทธกาลในเรื่องของ พระเจ้านันทราช เรื่องก็มีอยู่ว่า


 

บุญจากการถวายผ้าแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า


          ในอดีตกาล มีมานพหนุ่มท่านหนึ่งได้เกิดในสมัยที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนา แต่ว่ามานพท่านนี้เป็นผู้ที่มีบุญเก่า ขณะที่ท่านเดินเที่ยวไปในป่า ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่ง ซึ่งท่านกำลังทำจีวรอยู่  มานพหนุ่มจึงเข้าไปถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า “ท่านกำลังทำอะไรครับ”-ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้ามิได้กล่าวสิ่งใด เพราะท่านเป็นผู้มักน้อย แต่มานพหนุ่มมีปัญญามาก รู้ว่าท่านกำลังต้องการผ้าเพื่อนำมาทำจีวร จึงวางผ้าสำหรับห่มคลุมไหล่เนื้อดีของตน ทอดถวายไว้ใกล้ๆ เท้าของพระปัจเจกพุทธเจ้า 

 

 มาณพหนุ่มผู้ได้ผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์

ภาพ มานพหนุ่มผู้มีบุญ ถวายผ้าแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า


          ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้รับเอาผ้าห่มคลุมไหล่ผืนนั้น มาใช้เย็บทำจีวรจนเสร็จ แล้วก็ได้ใช้เปลี่ยนกับจีวรผืนเก่าของท่าน เมื่อมานพหนุ่มนั้นสิ้นอายุขัยก็ได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยทิพยสมบัติยาวนาน


          ในช่วงระหว่างรอยต่อศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เราพระสมณโคดม มานพหนุ่มผู้นี้ก็มาบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ในที่ไม่ไกลจากรุงพาราณสี วันหนึ่งมีข่าวการเล่นนักขัตฤกษ์ มานพนั้นจึงไปบอกมารดาว่า “ขอผ้าเนื้อดีที่สุดให้ผมเถิด ผมจะออกไปเล่นนักขัตฤกษ์”-มารดาของท่านจึงไปนำเอาผ้าผืนดีที่สุดมาให้ แต่บุตรชายกลับไม่รับและบอกว่าผ้าผืนนี้เนื้อหยาบเกินไป ฝ่ายเป็นมารดาจึงบอกว่า “บ้านของเรามีฐานะเท่านี้ ไม่มีผ้าที่เนื้อดีกว่านี้อีกแล้ว”-มานพนั้นจึงกล่าวว่า “ไม่เป็นไรครับ ผมจะไปแสวงหาผ้าเนื้อดีเอง”


          ว่าแล้วมานพหนุ่มจึงเดินออกไปแสวงหาผ้า เดินไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองพาราณสี ด้วยบุญชักนำจึงเดินเข้าไปในราชอุทยานของพระราชา มานพหนุ่มเห็นสวนของพระราชาบรรยากาศร่มรื่น จึงนอนพักผ่อนบนแท่นหินศิลามงคล โดยเอาผ้าคลุมตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าไว้

 

มาณพหนุ่มผู้ได้ผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์

ภาพ มานพหนุ่มผู้มีบุญนอนพักอยู่ในสวนของพระราชา


          ในวันนั้นเอง เป็นวันครบรอบเจ็ดวันของการสวรรคตของพระเจ้ากรุงพาราณสีพอดี เหล่าอำมาตย์ต่างประชุมปรึกษากันว่า จะเลือกใครขึ้นเป็นพระราชาองค์ต่อไป เหล่าเสนาอำมาตย์จึงตกลงกันว่า จะทำพิธีเสี่ยงทาย โดยใช้รถม้าของพระราชาให้วิ่งออกไป ถ้าไปหยุดอยู่ตรงหน้าใคร ก็จะให้ผู้นั้นเป็นพระราชา


          ราชรถได้วิ่งออกนอกเมืองไปด้วยความเร็ว จากนั้นก็วิ่งย้อนกลับมาเข้าไปในราชอุทยานของพระราชา ด้วยบุญเก่าที่มานพได้สั่งสมไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้า ราชรถนั้นวิ่งมาหยุดตรงแท่นศิลาที่มานพหนุ่มนอนหลับอยู่พอดี 


          เมื่อมานพหนุ่มตื่นขึ้นมา เหล่าอำมาตย์ก็ได้ทูลเชิญมานพหนุ่มนั้น ให้เสวยราชสมบัติเป็นพระราชาปกครองเมืองพาราณสีต่อไป มานพหนุ่มจึงถามว่า "พระราชาเมืองพาราณสีไม่มีพระราชโอรสหรือ" เหล่าอำมาตย์ก็ทูลว่า "ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา พระเจ้าข้า" มานพหนุ่มจึงตอบตกลงว่า “ ถ้าเช่นนั้น เราจะเป็นพระราชา”

 

          เมื่อมานพหนุ่มรับปากว่าจะเป็นพระราชา เหล่าอำมาตย์จึงน้อมเอาผ้าของพระราชามามอบให้ พอมานพหนุ่มเห็นผ้าของพระราชา ก็บอกว่า “ผ้าพระราชานี้เป็นผ้าเนื้อหยาบเสียจริง พวกท่านมีผ้าเนื้อดีกว่านี้อีกไหม”-อำมาตย์ตอบว่า “ไม่มีแล้ว พระเจ้าค่ะ”

 

          มานพหนุ่มจึงให้ไปนำพระเต้าทองคำมาและได้พรมน้ำออกไปในทิศทั้งสี่ ทันทีที่น้ำพรมลงบนพื้นดิน ก็บังเกิดความอัศจรรย์ คือมีต้นกัลปพฤกษ์เกิดขึ้นมาในทิศทั้งสี่ ทิศละแปดต้น รวมเป็นสามสิบสองต้น เกิดด้วยบุญของมานพหนุ่มนั้น มีขนาดใหญ่ มีรัศมีเรืองรอง มานพหนุ่มจึงได้เหยียดมือออกไป ดอกกัลปพฤกษ์ขนาดใหญ่ก็ค่อยๆบานออกแล้วโน้มช่อดอกลงมา ที่กลางดอกนั้นมีผ้าทิพย์ มานพนั้นได้ผ้าทิพย์เนื้อละเอียดนั้น และด้วยผลบุญที่เขาได้ทำไว้ดีแล้ว ทั่วทั้งพระนครไม่ต้องทอผ้าอีกเลยนับตั้งแต่บัดนั้น ผู้ใดปรารถนาผ้าก็มารับเอาจากต้นกัลปพฤกษ์นี้ได้ มานพหนุ่มได้ขึ้นครองราชย์ และได้พระนามว่า “พระเจ้านันทราช” 

 

 มาณพหนุ่มผู้ได้ผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์

ภาพ ต้นกัลปพฤกษ์มีดอกเป็นโน้มลง กลางดอกมีผ้าทิพย์ อันเกิดด้วยบุญของมานพหนุ่ม

 

          พระเจ้านันทราชได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาแล้ว ส่วนพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงพาราณสีเดิม ก็ได้อภิเสกสมรภกับพระเจ้านันทราช เป็นคู่บุญคู่บารมีกัน วันหนึ่งพระราชเทวี ก็ได้กราบทูลว่า "ที่ท่านได้ เป็นพระราชา มีสมบัติมากมาย ถึงเพียงนี้ ก็เพราะว่าท่านได้สั่งสมบุญไว้ดีแล้วในกาลก่อน ท่านอย่าประมาทเลย ขอให้ท่านสั่งสมบุญเถิด" พระเจ้านันทราชจึงตรัสว่า "ในยุคสมัยเช่นนี้ เราจะหาเนื้อนาบุญได้จากที่ใดเล่า ?" พระราชเทวีทูลว่า "ขอให้ท่านจัดไทยธรรมไว้ในทิศทั้งสี่ เพื่อเตรียมไว้ถวายแด่เนื้อนาบุญเถิด ส่วนการนิมนต์เนื้อนาบุญเป็นหน้าที่ของหม่อมฉันเอง" 

 

          พระราชาได้รับส่ังให้อำมาตย์ตระเตรียมเครื่องไทยธรรมไว้ในทิศทั้งสี่ ฝ่ายพระราชเทวีในวันแรกได้หันหน้าไปทิศตะวันออกและอธิษฐานว่า "ถ้าพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ ขอนิมนต์เป็นเนื้อนาบุญแก่หม่อมฉันด้วย" ทำเช่นนี้ทุกวันในทิศต่างๆ จนถึงในทิศเหนือ พระปัจเจกพุทธเจ้า 500 พระองค์ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เงื้อมผานันทมูลกะ เขาคันธมาส ได้ทราบดำริของพระราชเทวี วันรุ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง 500 รูปจึงเหาะเข้าไปยังพระนคร พระราชาและพระราชเทวีจึงมีความปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ถวายมหาทานและกราบอารารธนาให้พระปัจเจกพุทธทั้ง 500 พระองค์ได้อาศัยอยู่ในพระนคร โดยสร้างพระคันธกุฎีถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า พระราชาได้ถวายมหาทานเช่นนี้เป็นเวลายาวนาน

 

ภาพ พระปัจเจกพุทธเจ้ารับนิมนต์ เหาะมาทางอากาศ

 

          วันหนึ่งมีข้าศึกบุกประชิดชายแดน ทำให้พระราชาต้องออกไปปราบศึก จึงรับสั่งให้พระราชเทวีดูแลพระปัจเจกพุทธเจ้าแทนพระองค์ ฝ่ายพระเทวีได้อุปัฏฐากบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างดี ขณะที่พระราชาออกไปปราบข้าศึก พระปัจเจกพุทธเจ้าก็หมดอายุสังขาร ยืนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทั้ง 500 รูปนั่นเอง ฝ่ายพระเทวีทราบเรื่องจึงเกิดความเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จัดให้ทำพิธีถวายพระเพลิง และให้เก็บพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์ 

 

          เมื่อพระเจ้านันทราชเสด็จชนะศึกกลับมาแล้ว พระราชเทวีจึงออกไปต้อนรับ สิ่งแรกที่พระราชาถามคือ "พระปัจเจกพุทธเจ้าสบายดีไหม" แต่พอทราบว่าพระปัจเจกพุทธเสด็จดับขันธปริพพานแล้ว แทนที่พระราชาจะเสด็จเข้าไปในพระราชวัง กลับเสด็จไปที่พระเจดีย์ เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระสถูปก็ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า "ในเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีอานุภาพมาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ยังต้องถึงแก่ความตาย แล้วเราหละจะพ้นความตายได้อย่างไร" จึงรับสั่งให้เรียกราชโอรสมาและมอบราชสมบัติให้ครองราชย์ เพราะทรงปรารถนาจะออกผนวช ฝ่ายพระราชเทวีเห็นพระราชาออกผนวชเช่นนั้น จึงเสด็จออกผนวชตาม ทั้งคู่ได้ออกบวชเป็นดาบสและได้บำเพ็ญเพียรได้ฌานสมาบัติ ละโลกไปแล้วไปบังเกิดบนพรหมโลก

 

          ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เรา พระสมณโคดม ฝ่ายชายได้มาบังเกิดเป็น พระมหากัสสปะ ผู้เป็นเลิศทางด้านการถือธุดงควัตร ส่วนฝ่ายหญิงบังเกิดเป็น ภิกษุณีภัททกาปิลานี เป็นผู้เลิศทางด้านการละลึกชาติ ทั้งสองได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

 

ภาพ พระเจ้านันทราชและพระราชเทวี ก็คืออดีตชาติของคู่สร้างบารมีคือ

พระมหากัสสปะ และพระภัททกาปิลานี


          บุญที่เกิดจากการถวายผ้านี้เอง ย่อมทำให้ผู้ที่ได้ถวายได้สมปรารถนาได้ คือได้ทั้งผ้าทิพย์ ได้ทรัพย์สมบัติมากมาย ได้ความเป็นพระราชา และเป็นเหตุปัจจัยในการบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปในอนาคต  


 

เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นยอดปรารถนาของลูกผู้ชาย


บาตรและจีวร

ภาพ เอหิภิกขุอุปสัมปทา จะเกิดเฉพาะผู้ที่เคยถวายบาตรและจีวรมาในกาลก่อน


          การทอดกฐินนี้ยังทำให้ผู้ที่ได้ถวายกฐิน ได้บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ มีเรื่องอานิสงส์กฐินที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เคยเล่าไว้ในโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ก็คือว่า หากผู้ใดได้ถวายผ้ากฐินทาน และได้เกิดเป็นผู้ชาย ได้เคยถวายบาตรและจีวรมามากพอในกาลก่อน ก็จะได้รับการประทานบวชแบบ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" 


          คือ ถ้าบุคคลนั้นได้บรรลุธรรมตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป แต่ไม่ถึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะที่ได้รับการประทานการบวชนั้น จีวรซึ่งสำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ก็จะเกิดขึ้นในวงแขน แต่ร่างกายนั้นยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อจีวรทิพย์เกิดขึ้นแล้ว อุบาสกท่านนั้นก็จะต้องได้รับการปลงผม และนุ่งห่มจีวรในภายหลัง ก็เป็นอันว่า ได้สำเร็จขั้นตอนในการบวช


          ส่วนบุคคลที่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วในขณะที่ได้รับการประทานการบวชนั้น ด้วยอำนาจแห่งบุญก็จะก่อให้เกิดความสว่างขึ้นครอบคลุม ร่างกายก็จะค่อยๆสว่างขึ้น และก็จะมีจีวรอันเป็นทิพย์ซึ่งเกิดด้วยบุญฤทธิ์ ห่มแทนชุดฆราวาส บาตรอันเป็นทิพย์เกิดขึ้น ผมบนศีรษะก็เป็นเช่นเดียวกับพระเถระผู้บวชมานาน สำเร็จการบวชเป็นพระภิกษุ ณ ที่ตรงนั้นเอง นี้คือผลแห่งการถวายผ้าจีวรในพระพุทธศาสนา


 

มหาลดาประสาธน์ เครื่องประดับเฉพาะผู้มีบุญ

 

 เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์

ภาพ มหาอุบาสิกาวิสาขาผู้ได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์


          สำหรับผู้ที่เป็นสตรีนั้น เมื่อได้สั่งสมบุญทอดกฐิน ได้เคยถวายจีวรและบริขารมาเป็นอันมากแล้ว เมื่อบุญส่งผลก็จะได้เครื่องประดับ "มหาลดาประสาธน์" อันเป็นเครื่องประดับที่สูงค่า ซึ่งในยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เรา ก็มีสตรีผู้มีบุญมากได้ครอบครองเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นี้อยู่เพียงสามท่านเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ "มหาอุบาสิกาวิสาขา" เพราะเหตุที่ได้เคยสั่งสมบุญใหญ่ไว้ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เรื่องราวก็มีอยู่ว่า


          ในครั้งนั้น นางวิสาขาได้บังเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากิกิ มีชื่อว่า “สังฆทาสี”-เป็นผู้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ได้ถวายผ้าไตรจีวรพร้อมด้วยด้ายและเข็มแด่พระภิกษุสงฆ์ถึงสองหมื่นรูป โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนางได้ถวายด้วยมือตนเองและถวายด้วยจิตเลื่อมใส ด้วยเหตุแห่งมหาทานครั้งนั้นเอง จึงทำให้มหาอุบาสิกาวิสาขาได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์นี้ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ


 

          ท่านสาธุชนทั้งหลาย...ผู้ที่ได้ถวายผ้ากฐินนั้นชื่อว่า ผู้ถวายผ้าแห่งความสมปรารถนา เพราะว่าผ้ากฐินนี้ยังความปรารถนาของพระภิกษุสงฆ์ให้สำเร็จ คือ ทำให้พระภิกษุได้เปลี่ยนจากผ้าจีวรเก่าๆที่ขาดชำรุด เป็นผ้าใหม่ที่สวยงามแข็งแรงคงทน ทำให้พระภิกษุสงฆ์ได้รับอานิสงส์กฐินตามพระธรรมวินัย และผ้ากฐินนี้เองเป็นอุปกรณ์ในการกำจัดกิเลสอาสวะของพระภิกษุให้หมดสิ้นไป ทำให้ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมได้สมปรารถนา 

 

ภาพ ถวายกฐินธรรมชัย เพื่อความสมปรารถนา


          ส่วนฝ่ายฆราวาสผู้ถวายผ้ากฐินได้ยังความปรารถนาของพระภิกษุสงฆ์ให้สำเร็จ เมื่อผู้นั้นเมื่อตั้งความปรารถนาใดๆ แล้ว ความปรารถนานั้นย่อมสำเร็จได้อย่างง่ายๆ ดังเรื่องราวที่พระอาจารย์ยกมาในวันนี้ การถวายผ้าจีวรนั้น ทำให้ได้ทั้งทรัพย์สมบัติมากมายได้ผ้าทิพย์ ได้เป็นพระราชา ได้รูปร่างที่สมส่วนแข็งแรง ได้บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเมื่อบุญส่งผลเต็มที่ ฝ่ายชายย่อมได้รับการอุปสมบทแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฝ่ายหญิงก็ได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ ผ้ากฐินนี้จึงชื่อว่า... "ผ้าแห่งความสมปรารนา"


          พระอาจารย์จึงขอเชิญชวนทุกๆท่าน มาร่วมกันถวายกฐินธรรมชัย ซึ่งจะเป็นกฐินที่ยังความสมปรารถนามาให้แก่ทุกๆ ท่าน โดยใครที่ตั้งใจเป็นประธานกฐินแล้ว หากมีความพร้อมทางด้านปัจจัยก็ขอเชิญมาปิดกองกฐินก่อน โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันทอดกฐิน ส่วนใครที่ยังไม่พร้อมด้านปัจจัย ก็ใช้ร่างกายอันเป็นมงคล ใช้เสียงอันเป็นมงคลของเรานี้ออกไปทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนญาติพี่น้องบุคคลอันเป็นที่รักให้มาร่วมบุญกฐินธรรมชัยกัน เชื่อแน่ว่าถ้าทุกท่านทุ่มเททำหน้าที่กัลยาณมิตรเช่นนี้แล้ว ทุกๆท่าน ก็สามารถเป็นประธานกองกฐินได้สำเร็จอย่างแน่นอน และกฐินธรรมชัยปีนี้ก็จะเป็น กฐินแห่งความสมปรารถนาของทุกๆ ท่าน สมดังชื่อเรื่องในวันนี้ว่า "ผ้ากฐินธรรมชัย  ผ้าแห่งความสมปรารนา"


          สำหรับวันนี้พระอาจารย์ก็ขอให้ทุกๆ ท่าน จงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีดวงปัญญาสว่างไสว ปฏิบัติธรรมะได้เข้าถึงพระธรรมกายโดยง่ายโดยเร็วพลันทุกท่าน เทอญ 

 


ขอให้เจริญในธรรม

พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร

 

 

 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติปฏิทินวันพระ 2567 ปฏิทินจันทรคติ

รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์รูปการ์ตูนวันสงกรานต์ รวมการ์ตูนน่ารักสำหรับส่งในวันสงกรานต์

ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)ข่าวจากปรโลก - สึนามิ (Tsunami)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์