มรดกโลกจำเป็นและสำคัญอย่างไร


[ 20 ส.ค. 2555 ] - [ 18309 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
มรดกโลก
 
        ปัจจุบันมรดกโลกแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากธรรมชาติสร้างขึ้นมา และอีกส่วนก็มาจากมนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง องค์การ UNESCO ก็ได้มีการประกาศให้แต่ละพื้นที่เป็นมรดกโลก เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ชื่นชมและคงอยู่ต่อไป
 

ทำไมในบางพื้นที่ที่มีมรดกโลกร่วมกันหลายประเทศ และต้องช่วยกันอนุรักษ์แต่บางครั้งก็ขัดแย้งกัน?

 
        มรดกโลก คือ สิ่งที่เขาเลือกใน 2 ด้าน อันหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามและควรคู่แก่การรักษาไว้เป็นมรดกของโลก ของไทยเราก็เช่น เขาใหญ่ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือมีคุณค่าคู่ควรแก่การเป็นมรดกโลก ถ้าขึ้นทะเบียนเมื่อไหร่คนทั้งโลกก็จะรู้ว่านี่เป็นมรดกโลก ก็จะทำให้เครดิตดีด้วย คนก็อยากจะมาเที่ยวดู เสริมคุณค่าขึ้นไปอีกว่าโลกยอมรับ
 
        อย่างเมืองจีนก็เช่นว่า กำแพงเมืองจีน นี่ก็เป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรมด้วย คือเกิดจากการสรรค์สร้างของมนุษย์ที่ดูแล้วน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ ควรคู่ต่อการยกขึ้นเป็นมรดกโลก ฉะนั้นเรื่องของธรรมชาติก็อันหนึ่ง เรื่องของมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมก็อีกอันหนึ่ง รวมแล้วทั้งโลกมีอยู่ประมาณ 900 กว่าแห่ง จะค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นๆ
 
        ของไทยเราทางด้านวัฒนธรรมก็เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ที่อยุธยาและสุโขทัยเป็นต้น ถ้าในแง่เป้าหมายแล้ว มรดกโลกเกิดขึ้นก็เพื่อว่า หลักจริงๆ คืออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของโลกสืบต่อไป ถ้าดูแลไม่ดีเขาถอนออกจากการเป็นมรดกโลกก็มีนะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบในบางด้าน เช่น บางประเทศก็อาศัยกติกาของโลกมาแก้ปัญหาภายในประเทศ เช่น ในจีนกับการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก คือเดิมเศรษฐกิจของจีนเป็นแบบคอมมิวนิสต์ พอใช้นโยบายเปิดประเทศแล้วจะเป็นเศรษฐกิจแบบวางแผน หรือจะเป็นเศรษฐกิจแบบการตลาดก็ใช้ได้ทั้งนั้น ขอให้คนอยู่ดีกินดีก็ใช้ได้แล้ว และก็ค่อยๆ เปิดมากขึ้นๆ ปรากฏว่าคนที่เป็นคอมมิวนิสต์แบบสายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่พักหนึ่ง วิธีการแก้ปัญหาก็คือ เอาประเทศจีนไปสมัครเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อสมัครผ่านแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกจะต้องมีข้อปฏิบัติและถือตามระเบียบขององค์การการค้าโลก ทำให้เสียงต่อต้านในประเทศเบาลง ทำให้ผู้นำจีนที่ต้องการพัฒนาประเทศนั้น สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะอาศัยกติกาโลกมาสงบแรงต้านของคนในประเทศ นี่เป็นกรณีเศรษฐกิจการค้า เรื่องมรดกโลกก็จะคล้ายๆ กัน จึงทำให้เห็นว่ากติกาอะไรที่มันเกี่ยวพันกับโลกจะมีผลกับประเทศด้วย ถ้าหยิบยกมาใช้เป็น โดยเฉพาะนำมาใช้ในทางสร้างสรรค์ให้เป็น
 
ในบางพื้นที่ก็มีมรดกโลกร่วมกันหลายประเทศที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์
ในบางพื้นที่ก็มีมรดกโลกร่วมกันหลายประเทศที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์
 
        และการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น โดยรวมถือว่าเป็นข้อดี เพราะเราอนุรักษ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่า เป็นสมบัติไม่เฉพาะของชาติๆ นั้น แต่เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลกเลย และจะเป็นความภูมิใจของเจ้าของประเทศว่าเป็นสมบัติของชาติเราเองที่โลกยอมรับ จนชาวโลกต้องแห่กันมาดูมาเยี่ยมชม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำอะไรได้ตามใจชอบแล้ว แม้เราจะเป็นเจ้าของก็จริงแต่สายตาชาวโลกกำลังจับจ้องอยู่ จะทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีก่อน
 
        ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งก็คือ การสร้างเขื่อน ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ในชนบทบางพื้นที่ราชการมีงบประมาณให้ ให้ขุดบ่อน้ำ ขุดสระ ขุดให้ฟรีเลย แต่ชาวบ้านก็บอกว่าไม่รู้จะให้ขุดตรงไหน เพราะเขาหวงพื้นที่ไม่อยากจะให้ ทางผู้ใหญ่บ้านก็บอกให้เอาที่ของผู้ใหญ่บ้านเองก็แล้วกัน เพราะงบประมาณมาแล้ว แค่ว่าหาพื้นที่ให้งบประมาณลง แล้วตัวเองก็ไปแบ่งกันกับผู้รับเหมาก่อสร้าง กี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป ตัวเองเสียพื้นที่ไปนิดหน่อยแต่คิดดูแล้วก็คุ้มค่ากับที่ได้มา แต่ฝายหรือเขื่อนที่สร้างขึ้นนั้นมันไม่เกิดประโยชน์กับชุมชนเลย เป็นแบบนี้อยู่หลายที่ ก็เลยกลายเป็นว่าประเทศไทยนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการและการวางแผนที่ดีมากกว่า
 
        ในปัจจุบันพื้นที่นาถูกภาคอุตสาหกรรมไปกว้านซื้อไว้หมด ทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นมากมาย ผืนที่นาก็เหลือน้อยลงไปทุกที แต่ถ้าดูดีๆ เราจะพบว่า ในประเทศไทยมีการใช้พื้นที่ยังไม่คุ้มค่า จะเห็นมีที่ว่างเปล่าก็มาก ประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ถ้ามีพื้นที่ว่างเปล่าอยู่นิดหน่อยเขาก็ใช้ปลูกพืชผักแล้ว จะไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเปล่าโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์เลย เพราะเขามีภาษีมาคุม ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกก็คิดภาษี 2 % ต่อปี แต่ถ้าทำการเกษตรเก็บภาษี 0.01 % ต่อปี เป็นลักษณะบังคับให้ใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์
 

เราจะมีวิธีการบริหารไม่ให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องการอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรต่างๆ?

 
        หัวใจสำคัญคือ ต้องบริหารความขัดแย้งด้วยข้อมูล ไม่ใช้อารมณ์ ถ้าสังเกตสังคมไทยตอนนี้จะเป็นลักษณะปลุกเร้าอารมณ์ ไม่ได้สู้กันด้วยข้อมูล แต่สู้กันด้วยวาทะ เราต้องสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ต้องแสวงหาความจริง จะบอกว่าอะไรถูกหรือผิดให้เอาข้อมูลมาคุยกัน และต้องพิจารณาดูเอาด้วยความเป็นธรรม ไม่เข้าข้างคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ เพราะคนๆ เดียวนั้นมีสิทธิทำถูกและผิดได้ ให้ดูในเนื้อหาที่เขาทำแล้วตัดสินด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ถ้าทำได้อย่างนี้สังคมไทยเราจะเติบโตขึ้นเป็นสังคมที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่ และพอคนในสังคมเริ่มมองถึงข้อมูลที่เป็นจริงแล้ว จะทำให้คนต่างๆ ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ตอนนี้ผู้มีอำนาจบางคนก็ยังคิดอะไรตามอำเภอใจตนอยู่ ขอให้สร้างภาพดีไว้ก่อน พอจะทำอะไรก็หาทางให้เหตุผลไป เดี๋ยวเวลาผ่านไปก็จะปกปิดได้ สังคมก็จะลืมแล้วเรื่องใหม่ก็จะเข้ามาแทน เลยกล้าที่จะทำอะไรตามอำเภอใจ เพราะคิดว่าไม่เป็นไร สามารถให้เหตุผลกลบเกลื่อนไปได้
 
        แต่ถ้าคนในสังคมแสวงหาความจริงแล้วเขาจะไม่กล้าทำ เมื่อสังคมรับรู้ก็จะสามรถก้าวไปได้พร้อมๆ กัน ต้องสู้กันด้วยข้อมูลความจริงเราถึงจะหลุดพ้นจากสังคมที่คอยดูผู้ใหญ่ หรือผู้นำต่างๆ แล้วเราจะสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ตัดสินวินิจฉัยโดยมีเหตุมีผล ตัดสินด้วยข้อมูลและปัญญา
 
เราควรมีหลักในการพิจารณาข้อมูลอย่างไรให้ถูกต้องแม่นยำ ตรงตามความเป็นจริง?
 
        ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้น แรกๆ จะเริ่มรู้สึกว่ามันมีปัญหาเยอะแยะไปหมด แต่ให้เราตัดสินทุกอย่างด้วยข้อมูล ให้เริ่มที่ตัวเราเอง แล้วค่อยๆ ดูและศึกษา เราจะเริ่มวินิจฉัยออกว่าข้อมูลที่มาถึงเรานั้น ข้อมูลไหนเป็นเรื่องจริง ข้อมูลไหนเป็นเรื่องของความเห็น เราก็กลั่นกรองเอาเฉพาะความจริง เพราะบางครั้งความเห็นมันอาจจะผิดก็ได้ พอคนในสังคมพัฒนาได้อย่างนี้มากขึ้นๆ คนที่ป้อนข้อมูลหลอกๆ ก็จะไม่กล้าให้ข้อมูลแบบนี้อีก เพราะเขารู้ว่าคนเริ่มรู้ทันแล้ว
 
        ฉะนั้นสังคมก็จะเริ่มเดินไปในทิศทางที่อิงหลักความจริงมากขึ้นๆ สื่อมวลชนก็จะมีบทบาทสำคัญ แต่ประชาชนกับสื่อมวลชนจะส่งผลซึ่งกันและกัน พอสื่อเริ่มให้ข้อมูลความจริงมากขึ้น คนก็จะเริ่มฉลาดขึ้น คิดเป็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันพอคนเริ่มคิดเป็นมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น ก็จะเป็นตัวบีบให้สื่อต้องเสนอแต่ความจริงมากขึ้น จะเสนอข่าวมั่วๆ ตามใจชอบไม่ได้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นและเราจะก้าวหน้าไปอย่างดี
 
        ปัญหาแต่ละเรื่องไม่ใช่ว่าจะหาจุดจบไม่ได้ เรื่องตัดถนนขึ้นเขาใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุยด้วยข้อมูลความจริงกันและไม่เอาอำนาจเข้าข่มกัน ทำแบบไหนแล้วออกมาในเชิงอนุรักษ์มากที่สุด แล้วจะมีทางออกมาได้เอง
 
        ดูตัวอย่างในกรุงเทพฯ ก็มี ในสมัยก่อน กรุงเทพฯ นั้นเป็นอุทยานนคร มีต้นไม้เต็มไปหมด แต่มียุคหนึ่งที่เราจะขยายถนนแล้วบอกว่าต้นไม้นั้นเกะกะ ไถออกให้หมดเพื่อจะได้ทำถนนให้กว้างๆ เหลือแค่ถนนวิทยุเพราะอยู่ใกล้สถานทูตอเมริกาเขาขอเอาไว้ไม่ให้ตัด รัฐบาลไทยเกรงใจอเมริกาก็เลยไม่ตัด ส่งผลให้มีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นตรงหน้าสถานทูตอเมริกา ถ้าเราดูแลอย่างนี้ถนนอื่นก็จะมีอยู่เหมือนกัน
 
        โดยสรุปก็คือ ให้เราทุกคนแสวงหาความจริง โดยเริ่มจากตัวของเราเอง แรกๆ เราอาจจะงงๆ แต่ต่อไปเราจะชำนาญขึ้น สังคมไทยก็จะค่อยๆ ดีขึ้น จะนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคมไทยได้ เพราะประเทศไทยเราอยู่ในที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ และมีรากฐานวัฒนธรรมจากพระพุทธศาสนาที่เราได้เปรียบมาก ถ้าทำดีๆ แล้ว ทั้งเศรษฐกิจและจิตใจของประเทศไทยจะก้าวหน้ากันครั้งใหญ่ เพราะสถานการณ์ทุกอย่างเอื้อให้เราทั้งหมดเลยในตอนนี้ แล้วประเทศไทยทั้งประเทศจะเป็นมรดกโลก เป็นแบบอย่างทั้งด้านวัตถุและจิตใจ เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญควบคู่ไปกับจิตใจได้เป็นอย่างดี ให้คนทั้งโลกได้เห็นเป็นตัวอย่าง


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
บัณฑิตกับพหูสูตแตกต่างกันอย่างไรบัณฑิตกับพหูสูตแตกต่างกันอย่างไร

ศิลปะกับศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างไรศิลปะกับศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว