ศิลปะกับศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างไร


[ 22 ส.ค. 2555 ] - [ 18326 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
โดย พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑโฒ
เรียบเรียงจากรายการข้อคิดรอบตัว ทาง DMC
 
 
ศิลปะกับศาสนา
 
        ถ้าย้อนไปดูในยุคประวัติศาสตร์จะเห็นว่า มนุษย์เริ่มเขียนรูปในถ้ำ เริ่มเอาหินมาวางเป็นอนุสรณ์หรือทำสิ่งที่เคารพบูชาขึ้นมา เมื่อศาสนาเกิดขึ้นก็ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ศาสนา หรือแม้กระทั่งการสร้างศาสนสถานขึ้นมา เพื่อให้ศาสนิกชนได้ทำพิธีหรือเคารพบูชา ซึ่งในทุกศาสนาก็มีศิลปะเป็นเครื่องมือ
 
        ในกรณีพุทธศาสนานั้น ก็ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือหรือเป็นเครื่องช่วยในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมนั้นเราก็มีการสร้างสถูปเจดีย์ สร้างวิหารเป็นศาสนสถานเป็นที่สักการะ
 

ศิลปะกับศาสนานั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

 
        ต้องบอกอย่างนี้ว่า บ่อเกิดของศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ ศาสนา เพราะคนเราเมื่อมีความศรัทธาในศาสนาแล้วก็จะทุ่มเท อุทิศตน และต้องการให้สิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นกับศาสนาที่ตัวเองนับถือ ฉะนั้นศาสนสถานแต่ละแห่งนั้นก็เกิดจากพลังศรัทธาของคนในชุมชนรวมกัน ฉะนั้นจะสวยกว่าบ้านแน่นอน เพราะบ้านเกิดจากทุนทรัพย์ของคนๆ เดียว แต่ศาสนสถานเกิดจากกำลังทุนของทุกคนรวมกัน และหาช่างที่ฝีมือดีที่สุด ทำอย่างตั้งใจที่สุด ทำให้ศิลปะทั้งหลายมีการพัฒนา ไม่เฉพาะสิ่งปลูกสร้างอย่างเดียว ศิลปะที่เนื่องด้วยเรื่องทางศาสนาทั้งหมดก็จะพัฒนาตามกันมาทั้งหมดเลย ขนาดจารึกคำสอน อย่างคัมภีร์โบราณเขาก็มีการพัฒนา สมัยก่อนไม่มีกระดาษ ก็ใช้ใบลานในการจารึก เพราะใบลานมีความทนทานสามารถเก็บได้หลายร้อยปี
 

สถาปัตยกรรมทางด้านศาสนาที่สร้างด้วยทองคำหรือจินดามณีของแท้นั้น จะขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาหรือไม่?

 
        ต้องบอกว่าส่วนตัวนั้นต้องเรียบง่าย แต่ถ้าเป็นส่วนรวมที่ต้องแสดงออกถึงความเคารพบูชาแล้ว ก็ควรเอาสิ่งที่ดีที่สุดที่ตนมีอยู่เพื่อไปบูชา สิ่งที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
 
        อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี จะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ต้องไปเลือกเอาทำเลที่เหมาะสมที่สุด พอมาเจอสวนเจ้าเชษรฐ์ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเมืองจนเกินไป มีบรรยากาศร่มรื่น เจ้าของเขาไม่อยากขายจึงพูดไปในลักษณะว่าให้เอาเงินมาปูเรียงให้เต็มพื้นที่นั้นถึงจะขายให้ และไม่บอกราคาเลย แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังแล้วไม่ต่อรองราคาเลย กลับไปบ้านขนเงินมาปูเรียงจนเต็มผืนแผ่นดินนั้นเลย มีศรัทธาขนาดนั้นเลยนะ ซึ่งก็ไม่ได้ทำเกินไปเลย เพราะต้องการหาที่ๆ เหมาะสมที่สุด เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อพระพุทธศาสนาและเพื่อส่วนรวมแล้วจึงเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุด แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ เชตวันมหาวิหารได้กลายเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล พระภิกษุจากทั่วทุกสารทิศจาริกมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ ชาวเมืองสารถีเองก็มาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ ถ้าอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปหาที่สร้างวัดไกลๆ จากเมือง พระที่มาอยู่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าบางทีเป็นพันเป็นหมื่นรูปนั้น แล้วใครจะมาใส่บาตรเพราะไม่สะดวก แต่พอยอมตัดใจถึงแม้ที่จะแพงแต่ทำเลเหมาะสม ก็เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ที่พระพุทธศาสนาเป็นปึกแผ่นมาถึงปัจจุบันนี้ได้ ทำเลที่ตั้งของพระเชตะวันมหาวิหารนั้นมีส่วนอย่างยิ่ง เป็นศูนย์กลางในการประมวลคำสอน ประมวลพระวินัยในพระพุทธศาสนา จนตกทอดมาถึงเราในยุคปัจจุบัน
 
อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างเชตวันมหาวิหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สร้างเชตวันมหาวิหารถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
        เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนว่า ทุกคนนั้นพร้อมที่จะเข้าถึงธรรมได้ในทันทีทันใดเดี๋ยวนั้นได้หรือไม่ ก็มีทั้งคนพร้อมและไม่พร้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเปรียบคนเอาไว้เหมือนดอกบัว 4 เหล่า บัวประเภทปริ่มน้ำแค่เจอแสงแดดนิดเดียวก็พร้อมจะเบ่งบานได้เลยก็มี บัวกลางน้ำจังหวะดีๆ ก็บาน จังหวะไม่ดีอยู่กลางน้ำไม่ยอมบานก็มีเหมือนกัน คนที่ปริ่มน้ำจะบานอยู่แล้วกลุ่มนี้ไม่มีปัญหา แต่กลุ่มนี้มีน้อย กลุ่มคนส่วนใหญ่คือยังไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ ศรัทธาก็มีบ้างพอประมาณ คนเหล่านี้แหละที่เราต้องทอดบันไดลงไปรับเขาขึ้นมา ฉะนั้นคนกลุ่มนี้พอมาถึงวัดแล้วได้เห็นสิ่งประณีตงดงาม วัดวาอารามสะอาด ใจเขาจะเริ่มเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ใจเริ่มเปิดพอพระเทศน์สอนก็จะเข้าใจได้ง่าย นี่เป็นเครื่องช่วยพวกเขา
 
        ดังนั้น สิ่งที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัย ควรทำให้ดีและประณีตเลย เป็นบุญเป็นกุศลต่อตัวผู้ทำเองด้วย และเป็นประโยชน์ต่อมหาชนด้วย แต่ตัวเราเองนั้นให้อยู่อย่างเรียบง่าย กินใช้อย่างพอดีๆ ตามอัตภาพของเรา
 
ทำไมในแต่ละประเทศแต่ละยุค จึงมีศิลปะที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแตกต่างกันออกไป?
 
        เราคงเคยสังเกตเห็นเวลาไปวัดจีน วัดญี่ปุ่น วัดไทย หรือวัดพม่า ลักษณะพระพุทธรูปก็จะมีเอกลักษณ์บางอย่างต่างกันบ้าง แต่เราก็ดูออกว่าเป็นพระพุทธรูป เพราะมีลักษณะร่วมกันในบางอย่างที่ทำให้ดูออกว่าเป็นพระพุทธรูป ซึ่งมีลักษณะที่สอดคล้องกับลักษณะมหาบุรุษหลายอย่างร่วมกันอยู่ เช่น เส้นพระเกศาขดเป็นก้นหอย ใบหูก็จะยาวออกมา พระเนตรเรียวยาวโค้ง พระพักตร์มีความเมตตา อย่างนี้เป็นต้น
 
        และลักษณะบางอย่างที่ดูแล้วแตกต่างกันนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าในครั้งพุทธกาลหรือตอนหลังพุทธกาลใหม่ๆ ช่วงนั้นยังไม่มีการปั้นพระพุทธรูป เพราะผู้คนทั้งหลายมีความเคารพศรัทธาพระพุทธเจ้าสูงมาก และลักษณะมหาบุรุษนั้นก็สมบูรณ์มาก จนไม่มีใครอาจหาญปั้นขึ้นมาเพราะเกรงว่าถ้าปั้นผิดเพี้ยนไปแม้แต่นิดเดียว ก็กลัวว่าจะเป็นการลบหลู่พระพุทธเจ้า ดังนั้นพอมีอะไรที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธเจ้าเขาก็จะเลี่ยงมาใช้เป็นลักษณะทำเป็นรูปธรรมจักรบ้าง หรือเป็นรูปต้นโพธิ์ อย่างมากก็ทำเป็นรูปคล้ายๆ เห็นจากข้างหลังบ้าง ไม่กล้าให้เห็นพระพักตร์เพราะเกรงจะไม่เหมือน พระราชาเองก็ยังไม่กล้าทำ
 
        เริ่มมีการปั้นพระพุทธรูปกันจริงๆ จังๆ ตอนที่กรีกเข้ามาในอินเดีย และในกรีกก็มีการปั้นรูปปั้นต่างๆ มาก ก็เลยเอาศิลปะอย่างนั้นมาประยุกต์กับพุทธศิลป์ คือเอาลักษณะพระพุทธรูปที่มีการกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ที่มีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ พยัญชนะ 80 อย่างนี้เป็นต้น ออกเป็นพระพุทธรูป ในยุคแรกๆ เป็นยุคพระพุทธรูปคันธาระ ศิลปะคันธาระซึ่งเป็นแถบที่อิทธิพลของกรีกมีมาก ต่อมาก็มีการพัฒนาไปทางประเทศต่างๆ เข้าประเทศไหนก็มีการปรับลักษณะพระพักตร์ความคล้ายของคนในชาตินั้นบ้าง ในแต่ละยุคสมัยได้รับอิทธิพลมาจากทางไหนก็จะมีลักษณะเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกัน ตามแต่ที่มาและที่ไป เราเองก็ให้ศึกษาไว้ว่าเป็นความรู้เรื่องพุทธศิลป์ แต่สาระสำคัญคือให้ทราบว่านั่นคือ องค์แทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกราบท่านแล้วก็ให้ระลึกนึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตั้งใจฝึกตัวเองให้ทำความดีให้มีคุณตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างนี้เป็นการบูชาที่ถูกหลัก ถือเป็นปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า เป็นการบูชาที่สูงสุด ส่วนลักษณะที่แตกต่างกันบ้างทางภายนอกนั้นก็ให้รู้ไว้เป็นความรู้
 
พระพุทธรูปของทางวัดพระธรรมกายนั้นมีที่มาอย่างไร?
 
        พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย พระเทพญาณมหามุนี ท่านมีความตั้งใจว่า สิ่งใดที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัยแล้วท่านอยากจะทำให้ดีที่สุด ประณีตที่สุด ท่านใช้เวลาในการพัฒนาแบบมา 40 กว่าปีแล้ว แค่ปั้นพระพุทธรูปองค์เดียวนี่นะใช้เวลาตั้ง 40 กว่าปี ถ้านับแบบแล้วต้องบอกว่ามีเป็นพันๆ แบบ บางแบบต่างกันแค่มิลเดียวเท่านั้นเอง แต่หลวงพ่อท่านไม่ได้เลย อย่างลักษณะการวางมืออย่างเดียวนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปประมาณ 30 ครั้ง ทุกอย่างจะต้องลงตัวและประณีตที่สุด โดยเป้าหลักของท่านนั้นถอดแบบมาจากลักษณะพระธรรมกายภายใน ต้องการให้ตรงกับลักษณะของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่เอาเพียงศิลปะแบบกรีกหรือแบบประเทศต่างๆ มาแล้วก็ดูว่าลักษณะมหาบุรุษเป็นอย่างไรแล้วก็ปั้นไป หลวงพ่อท่านต้องการให้มีการถอดแบบให้เหมือนองค์พระธรรมกาย ที่เหมือนลักษณะมหาบุรุษ เหมือนพระพุทธเจ้าแบบ 100 % เลย ทุกอย่างต้องเที่ยงตรงที่สุด มิลเดียวก็ไม่ยอม
 
ลักษณะพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย
ลักษณะพระพุทธรูปของวัดพระธรรมกาย
 
        บางท่านอาจจะเห็นว่า ลักษณะพระธรรมกายดูแล้วรู้สึกว่าช่วงขาจะดูยาวกว่าพระพุทธรูปโดยทั่วๆ ไป ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้วเป็นเพราะเราคุ้นกับลักษณะพระพุทธรูปโดยทั่วๆ ไป และพระพุทธรูปโดยทั่วๆ ไป อย่างพระประธานในโบสถ์นั้นจะเป็นองค์ใหญ่ ในสมัยโบราณพอคนเข้าโบสถ์มามีฐานพระพุทธรูปขึ้นมาอีก แค่ตรงฐานนั้นก็สูงเลยหัวไปแล้ว เวลาคนมากราบพระพอจะดูพระก็ต้องเงยหน้าดู ฉะนั้นส่วนที่อยู่ใกล้ตาก็คือช่วงขา ส่วนช่วงเศียรก็จะอยู่ไกลตาหน่อย จะให้ดูสมส่วนสมดุลก็ต้องทำให้ขาเล็กๆ ส่วนหน้าอก ส่วนเศียรให้โตๆ พอเงยหน้าดูก็จะเห็นว่าพอดี เป็นการปรับสัดส่วนเพื่อให้คนที่มากราบไหว้พระพุทธรูปแล้วเงยหน้าดูให้ได้สัดส่วนงามพอดี แต่ของหลวงพ่อเองท่านต้องการให้เหมือนของจริงมากที่สุด จึงออกมาในลักษณะอย่างที่เห็น คือถอดแบบออกมาเลย ซึ่งจะพบว่าถ้าท่านลุกขึ้นยืนจะสมส่วนพอดีเลย ทุกอย่างจะได้สัดส่วนเที่ยงตรงหมด เป็นสัดส่วนมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดด้วย ฉะนั้นในการปั้นนั้นต้องใช้ศิลปะเป็นอย่างมาก ที่มาที่ไปนั้นละเอียดมาก และเมื่อสำเร็จเป็นองค์เล็กๆ แล้ว จะขยายเป็นองค์ใหญ่กี่เมตรก็ง่ายมากเลย ขอให้องค์ต้นแบบสำเร็จก่อน มีเทคนิคอะไรมากมายที่ผ่านการพัฒนามาตลอด 40 กว่าปี วัตถุประสงค์หลักก็คือต้องการให้เหมือนลักษณะมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มากที่สุด จึงเป็นลักษณะอย่างที่เราเห็น แต่สาระสำคัญของการบูชาก็คือ บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และตั้งใจปฏิบัติตามปฏิปทาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำเนินไป
 
มีข้อคิดอย่างไรในการธำรงรักษางานด้านพุทธศิลป์เอาไว้ สืบต่อกันไปตราบนานเท่านาน?
 
        ขอฝากข้อคิดไว้อย่างนี้ คือ ในด้านของผู้สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์นั้น ขอฝากไว้ว่าอย่าทำด้วยความสนุกและคึกคะนอง ทำแบบลวกๆ ผ่านๆ แต่ให้ทำตามแบบอย่างดั้งเดิมคือว่า ทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธาจากหัวใจอย่างแท้จริง และทำให้ดีที่สุดอย่างสุดฝีมือจริงๆ โบราณเขาถือด้วยว่าอย่างคนที่จะมาปั้นพระหรือสร้างโบสถ์สร้างวิหารนั้นเขาจะไม่ดื่มเหล้า ต้องรักษาศีล ตั้งใจสวดมนต์เจริญภาวนา เพราะเมื่อใจละเอียดอยู่ในบุญมีศีลธรรมแล้วผลงานจะออกมาดี
 
        ส่วนในด้านของประชาชนทั่วไป ที่มาเคารพสักการบูชานั้น ขอฝากว่าเมื่อกราบแล้วให้เน้นการปฏิบัติบูชา ขณะเดียวกันก็ให้มองไปถึงใจผู้สร้างพุทธศิลป์นั้น ว่าเขาทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ให้เรามองในเชิงสร้างสรรค์ มองด้วยความกตัญญูรู้คุณของผู้ที่สร้างสรรค์งานพุทธศิลป์นั้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปจากที่ไหนก็แล้วแต่ เมื่อเราทราบว่าเป็นพระพุทธรูปแล้วเราก็กราบได้ ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์เมื่อเห็นว่าไม่เหมือนกับของเราหรือที่เราคุ้นเคย ถ้าทำแบบนี้เราจะเสียสิริมงคลเอง ที่เรากราบนั้นคือองค์แทนของพระพุทธเจ้าอย่าไปวิจารณ์ จะเป็นวิบากกรรมติดตัว ให้เรามองพุทธศิลป์ทุกอย่างว่าคือภาพสะท้อนเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า แล้วมองเข้าไปถึงแก่นของการเคารพบูชาคือการปฏิบัติบูชา ถ้าใครที่เห็นพุทธศิลป์แล้วไม่ตรงกับความชอบหรือความคุ้นเคยของตัวเอง แล้ววิพากษ์วิจารณ์ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะผู้วิจารณ์นั้นแบกบาปไปมหาศาลโดยไม่รู้ตัวเลย


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย

ทำอย่างไรจะได้ไม่เกิดมาเป็นคนพิการทำอย่างไรจะได้ไม่เกิดมาเป็นคนพิการ

จะมีวิธีการเติมบุญให้กับชีวิตเราได้อย่างไรบ้างจะมีวิธีการเติมบุญให้กับชีวิตเราได้อย่างไรบ้าง



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว