ครูนั้นมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน


[ 4 ก.ย. 2555 ] - [ 18286 ] LINE it!

ข้อคิดรอบตัว
 
 
 
คุณค่าของครู
 
        คำว่า ครู นั้นคือบุคคลผู้ที่มีความสำคัญมากต่อลูกศิษย์ และเป็นผู้ที่มีพระคุณอย่างมากด้วย เพราะมีหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้ความเมตตา เปรียบเสมือนเป็นบิดามารดาคนที่ 2 ก็ว่าได้ เรียกได้ว่าคุณครูนั้นเป็นผู้ที่เสียสละและทุ่มเทมากๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเด็กจะสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนดีของสังคมได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการอบรมพร่ำสอนของครูบาอาจารย์ด้วย
 

ครูนั้นมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

 
        เราลองนึกดูง่ายๆ ว่าถ้าเราเกิดมาแล้วไม่มีครูสอนอะไรเราเลย แล้วเราจะรู้อะไรได้แค่ไหน เราก็คงจะเป็นเหมือนคนป่าเลย ฉะนั้นตัวเราเองกว่าจะมาได้ขนาดนี้นั้นก็มาได้เพราะครู และองค์ความรู้ที่ต่อเนื่องสะสมมาเป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนปีนั้น ก็เกิดจากครูบาอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์แล้วถ่ายทอดกันไปรุ่นต่อรุ่น ศิษย์รับจากอาจารย์ก็ไปพัฒนาต่อ เพิ่มพูนความรู้แล้วถ่ายทอดต่อไปอีกเรื่อยๆ โลกจึงเจริญมาได้ถึงปัจจุบันนี้ ถ้าขาดครูละก็โลกเราก็คงจะเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนกันแน่ๆ
 
        เราต้องตระหนักให้ได้ว่าคุณครูนั้นมีความสำคัญมาก และในวันครูก็จะเป็นวันปลุกกระแสให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของวันครู การที่มีการกำหนดวันครูเอาไว้ทุกปี ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและให้เห็นความสำคัญของครูบาอาจารย์ เราต้องอาศัยโอกาสนี้มาทบทวนตัวเองให้รู้ว่าคุณครูมีความสำคัญแค่ไหน
 
        ให้ดูตัวอย่างตรงที่ว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอพระองค์บรรลุธรรมแล้ว พระองค์ก็นึกถึงว่าใครหนอในโลกที่เราควรให้ความเคารพ พอสำรวจดูแล้วปรากฏว่าไม่มีเลย เพราะพระองค์เป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงสุด หมดกิเลสแล้วด้วยพระองค์เองและเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แต่พระองค์ก็คิดถึงได้ว่าบุคคลใดที่ไม่มีใครที่ตัวเองควรจะต้องให้ความเคารพนั้นอันตราย ไม่ดี พระองค์เลยนึกต่อว่า พระองค์ควรให้ความเคารพต่อพระธรรมซึ่งไม่เป็นตัวบุคคล เพราะตัวบุคคลที่สูงกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่มี
 
        ดังนั้นคนในโลกทั่วไปอย่างเราๆ นี้ที่ยังไม่หมดกิเลส ใครเป็นคนที่ตระหนักถึงพระคุณครูบาอาจารย์ ต้องบอกว่าคนนั้นโชคดีมากๆ และจะเหมือนมีสิ่งวิเศษคอยคุ้มครองตัวเองอยู่ โบราณเรียกว่าเป็นศิษย์มีครู คนไหนที่มีความเคารพครูบาอาจารย์เหมือนหลังมีที่พิง ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นมาแล้วหรือรู้สึกติดอะไรขึ้นมาก็คิดว่าควรไปหาครูดีกว่า ปรึกษาท่านรู้สึกเหมือนมีคนคอยให้คำแนะนำ คอยให้กำลังใจ คอยเป็นที่ปรึกษาให้
 
        บางคนอาจจะคิดว่า ตัวเองนั้นเรียนหนังสือมามากและมีความรู้มากกว่าครู บางคนที่คิดอย่างนี้ก็มีจริงๆ นะ แต่ต้องบอกว่า ครูที่ปรารถนาดีต่อศิษย์ เรามีอะไรขึ้นมาแล้วเราปรึกษาท่านได้ ท่านมีความหวังดีจริงใจกับเรา แค่มีคนรับฟังปัญหาเราแค่นี้ก็เบาไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว คือทำให้เรามีที่ปรึกษาชั้น 1 นั่นเอง ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ แต่คนไหนที่คิดว่าตัวเองเก่งแล้วความรู้มากแล้ว และขาดความเคารพต่อครูบาอาจารย์และละก็ ต้องบอกว่าเหมือนหนทางแห่งความมีสิริสวัสดิ์พิพัฒนะมงคลของตัวเองไปโดยปริยาย ซึ่งน่าเสียดายมาก
 

การจัดพิธีไหว้ครูขึ้นมานั้นช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง?

 
        อย่าไปดูว่าเป็นแค่พิธีการที่ไม่มีความหมายอะไรเลยนะ พิธีการนั้นเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของทุกคน เช่นเด็กตัวเล็กๆ ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก พ่อแม่สอนให้กราบไหว้พระ เด็กก็จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในใจ จากวิธีการกรอบรูปแบบการแสดงออกภายนอก จะค่อยๆ กระตุ้นเข้าไปสู่จิตสำนึกภายในและปลูกฝังให้ลึกเข้า ดังนั้นพิธีไหว้ครูจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญ บางที่ก็จัดในวันครู บางที่ก็พอเปิดเรียนไปได้สักพักหนึ่งก็เอาวันพฤหัสบดีที่ถือว่าเป็นวันครู แล้วจัดพิธีไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่ควรทำมากเลย แล้วผลที่ได้ก็ได้ถึง 2 ทาง
 
พิธีไหว้ครูเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของทุกคนให้มีความเคารพต่อคุณครู
พิธีไหว้ครูเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของทุกคนให้มีความเคารพต่อคุณครู
 
        ทางที่ 1 คือ ฝ่ายศิษย์ได้มีการแสดงความเคารพต่อคุณครู เช่นจัดพานดอกไม้ธูปเทียนตกแต่งให้สวยงาม บางคนสงสัยว่าทำไมต้องจัดพานดอกไม้ให้สวยงามด้วย มันคือการกระตุ้นความใส่ใจเป็นแรงจูงใจชนิดหนึ่ง ระหว่างที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ก็เป็นการตอกย้ำความเคารพในพระคุณครูให้มากยิ่งขึ้น เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง และยังให้เด็กๆ ไปหาหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ เพื่อนำมาแสดงความเคารพต่อคุณครู ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า เราเองต้องอดทนเหมือนหญ้าแพรก และมีความเคารพเหมือนดอกมะเขือซึ่งมันมีลักษณะโค้งตัวลง และมีความอยู่ในวินัยเหมือนข้าวตอกเพราะข้าวตอกพอโดนความร้อนมันจะเต้น ตัวไหนเต้นออกมานอกกระทะเหมือนคนที่ออกนอกระเบียบวินัยก็จะร่วงลงพื้นแล้วโดนเขากวาดลงถังขยะ แต่ถ้าอดทนอยู่ในกรอบของวินัยได้เหมือนอยู่ในกระทะจะร้อนเท่าไหร่ ถูกวินัยควบไว้แม้มันจะอึดอัดขัดใจบ้าง แต่ถ้าทนอยู่ได้ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนข้าวที่มันแตกแล้วกลายเป็นข้าวตอกได้
 
        ทางที่ 2 คือ การกระทำลักษณะนี้นั้นผลไม่ได้เกิดกับเด็กนักเรียนอย่างเดียว แต่เกิดกับครูด้วย เมื่อลูกศิษย์มาแสดงความเคารพ กราบเท้าเราก็จะทำให้ครูเริ่มคิดแล้วว่า ตัวเราเองมีคุณธรรมของความเป็นครูเพียงพอหรือยัง จึงจะทำให้ความเอ็นดูเมตตาต่อศิษย์ ความกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้มาเพิ่มพูนให้กับศิษย์ก็จะมีมากขึ้นด้วย
 
การทดแทนพระคุณครูนั้นเราจะได้อานิสงส์อย่างไรบ้าง?
 
        ผู้ที่คิดถึงพระคุณของครูและคิดจะทดแทนพระคุณครูนั้น จะเป็นคนที่เมื่อไปถึงไหนแล้วจะมีแต่คนเมตตา จะเป็นคนน่ารัก เป็นคนมีเสน่ห์ในตัว ผู้ใหญ่ให้ความเมตตาช่วยเหลือ ด้วยความกตัญญูความเคารพอย่างนี้ต่อครูบาอาจารย์บุญจะส่งผลเลย ไม่ใช่ส่งแค่ภายในอย่างเดียวแต่เป็นการส่งจากภายในใจออกมาสู่ภายนอกด้วย เพราะคนที่มีความเคารพต่อครูบาอาจารย์เขาจะมีความอ่อนน้อมโดยไม่รู้ตัว ตรงนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนอื่นเห็นแล้วรู้สึกเมตตาเอ็นดู อยากจะช่วยเหลือ อยากจะสอน อยากจะแนะนำ นั้นคือเขาได้มี สิริ ติดตัวไปด้วยความเป็นผู้ที่มีความเคารพกตัญญูต่อครูบาอาจารย์นี้เอง
 
        แต่ในทางตรงข้าม ใครที่มีใจกระด้างคางแข็ง นึกว่าตัวเองเก่งแล้วไม่เห็นคุณงามความดีของครู ไม่เคารพและกตัญญูต่อครู บาปก็ส่งผลได้เหมือนกัน ไปถึงไหนคนก็รู้สึกหมั่นไส้ไม่อยากจะช่วย บาปไม่ได้ส่งแค่ใจอย่างเดียวแต่ส่งถึงภายนอกคือ เขาจะเป็นคนที่ดูแข็งๆ กระด้าง บั้นปึ่ง เย็นชา ใครเห็นเข้าเขาก็หมั่นไส้แล้ว จึงมีปัญหากระทบมาก ผู้ใหญ่เห็นก็ไม่อยากยุ่งหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ จึงทำให้ชีวิตมีความลำบาก
 
        ฉะนั้นเราเองถ้าอยากเป็นคนที่มีสิริติดตัว มีเสน่ห์ ไปถึงไหนก็มีแต่คนเมตตา ให้ความเอ็นดูช่วยเหลือ ก็ขอให้มีความเคารพต่อครูบาอาจารย์เถิด แล้วจะส่งผลต่อเนื่องคือ จะทำให้ใจเราเปิดกว้าง ท่านสอนอะไรเรารับได้ แต่คนใจกระด้างคางแข็งนั้นใจมันจะปิด เหมือนแก้วน้ำที่ปิดฝาไว้ เทน้ำลงไปเท่าไหร่ก็ไม่เข้า แต่ถ้าเราเองมีความเคารพจะเหมือนเปิดฝาออก สามารถรองรับความรู้จากครูบาอาจารย์ได้ ที่ท่านพูดมาเราอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ว่าถ้าเราตั้งใจฟังด้วยความเคารพ เราจะสามารถจับสาระที่เป็นประโยชน์ได้ ทำให้เราเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้
 
การที่คุณครูทำโทษเด็กนักเรียนนั้นจะมีผลดีหรือเสียอย่างไรบ้าง?
 
        คติของไทยแต่เดิมคือ รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี (รักลูกศิษย์ต้องตีหนักๆ) ความจริงเรื่องนี้อาตมาเองไม่สนับสนุนให้มีการตีหรอก แต่เราต้องมองนัยคำว่าตีให้ดี ถ้าตีนั้นคือการกระนาบแล้วกระนาบอีกคือการอบรมพร่ำสอนอย่างฉลาดนั่นเองซึ่งมันยากกว่าการใช้ไม้เรียว การใช้ไม้เรียวนั้นมันง่ายแต่หย่อนในการสอนและการใช้เหตุผล ถ้าไม่ใช้ไม้เรียวแล้วจะกระนาบลูกหรือลูกศิษย์ให้อยู่นั้น เราต้องใช้สติปัญญาและหาวิธีการเป็นอย่างมากในการอธิบายให้เขารู้ว่าทำอย่างนี้แล้วไม่ดีอย่างไร แล้วเราก็ต้องพยายามเข้าใจเด็กก่อนที่เขาทำอย่างนั้นเพราะเขาคิดอย่างไร ถ้าเขามีเหตุผลก็ต้องฟังเขาแล้วก็ค่อยๆ แก้ พ่อแม่จะต้องเค้นสติปัญญาอย่างยิ่งและต้องเอาใจใส่อย่างมากเลย แต่สุดท้ายเด็กจะได้ดีและไม่มีบาดแผลในใจ
 
        ทำไมอาตมาจึงคิดว่าไม่น่าจะใช้ไม้เรียวแต่ให้ใช้วิธีคิดในการสอน อบรมพร่ำสอนแทน คือดูตัวอย่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง ตั้งแต่บวชพระ บวชสามเณร พระองค์ไม่เคยใช้ไม้เรียวเลย แต่ใช้การอบรมพร่ำสอน จนพระองค์ได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย คือเป็นสุดยอดของครู ไม่ใช่เฉพาะแต่มนุษย์แม้ของเทวดาทั้งหลายด้วย
 
        แต่พระองค์ก็ไม่ได้ปล่อยตามใจชอบ พระองค์บอกกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะไม่ทำกับเธออย่างทะนุถนอม เหมือนช่างปั้นหม้อที่ทำกับหม้อในขณะที่ยังดิบๆ อยู่ คือมันยังอ่อนอยู่ที่สามารถปั้นเป็นรูปต่างๆ ได้ แต่เราจะกระนาบแล้วกระนาบอีกไม่มีหยุด เราจะชี้โทษแล้วชี้โทษอีกไม่มีหยุด ผู้ใดมีมรรค ผล นิพพาน เป็นแก่นสาร ผู้นั้นจึงจะทนเราได้ พระองค์ใช้วิธีการชี้โทษ พร่ำสอน
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
 
        กรณีมีพระภิกษุทำผิดอันนี้เห็นตัวอย่างชัดเลย พระวินัยทั้ง 227 ข้อมีที่มาทั้งนั้น พอมีคนมากราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทราบว่ามีคนทำผิดอย่างไร พระองค์ก็จะตามมาแล้วเรียกประชุมสงฆ์ทั้งหมด แล้วสอบถามกลางที่ประชุมว่า มีข่าวมาว่าเธอไปทำอย่างนั้นอย่างนี้มาจริงหรือไม่ เมื่อยอมรับว่าจริง พระองค์จะบอกว่ามันไม่ดีอย่างไร ถูกหรือผิดอย่างไร ถ้ามันผิดพระองค์ก็จะบอกว่าอย่างนี้ไม่ควรทำ แล้วกำหนดเป็นพระวินัยว่าต่อไปพระภิกษุทั้งหลายห้ามทำอย่างนี้ๆ
 
        และที่น่าอัศจรรย์คือ พระวินัยที่พระองค์กำหนดไว้นั้นไม่ใช้คนอื่นมาชี้โทษ แต่เป็นการลงโทษตัวเอง ถ้าเป็นกฎหมายในปัจจุบันที่เราบัญญัติไว้แล้วเราไปทำผิดเข้า ถ้าตำรวจไม่รู้เราก็รอดตัวไป ไม่ผิด ไม่ถูกลงโทษ แต่ของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ ศีลของพระ 227 ข้อนั้นทำผิดเมื่อไหร่ก็ผิดเมื่อนั้นเลย มีผลเลย แม้ว่าจะไม่มีใครในโลกรู้เลยก็ตามแต่เรารู้อยู่คนเดียวก็ถือว่าผิด เพราะคนที่ต้องคอยจับผิดคือตัวเราเอง และเป็นพระวินัยที่ยั่งยืนที่สุดคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ใช้การจับผิดตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง และผู้ที่ตรากฎนั้นให้เหตุผลอย่างละเอียดชัดเจนไว้ทุกอย่าง
 
        ฉะนั้นเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นครูของโลก พระองค์ทรงเอาใจใส่ลูกศิษย์ อบรมพร่ำสอนทุกอย่างเป็นอย่างดียิ่ง ชี้ให้เห็นถึงจุดเล็กจุดน้อยละเอียดหมดเลย กระนาบแล้วกระนาบอีกไม่มีหยุด ไม่เบื่อสอนแต่ไม่ได้ใช้ไม้เรียว ถ้าเราเองหวังจะให้ลูกดีก็ให้เอาแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณครูทั้งหลายก็ควรถือตามแบบอย่างพระบรมครูเถิด คือชี้โทษลูกศิษย์ อธิบาย พร่ำสอน จนลูกศิษย์ซึ้งใจว่าอาจารย์หวังดีกับเราจริงๆ
 
ถ้าอยากจะเป็นอาจารย์ที่ลูกศิษย์ยอมรับนับถือเชื่อฟังนั้นจะต้องทำอย่างไร?
 
        หน้าที่ของอาจารย์จริงๆ นั้นมีอยู่ 2 ข้อ คือ แนะ แล้วก็ นำ แนะ คือ สอนนั่นเอง ฉะนั้นเราเองก็ต้องไปขวนขวายหาความรู้มาสอนลูกศิษย์ ให้พัฒนาตามยุคสมัยเพิ่มพูนให้มากขึ้นๆ วิทยาการต่างๆ ที่เราสอนนั้นก็ต้อทันโลก และต้องตั้งเป้าว่าเมื่อลูกศิษย์มาเรียนกับเราแล้วต้องได้ความรู้มากที่สุด เราจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่และเราจะต้องเก่งขึ้นทุกปีๆ จึงจะเป็นการทำหน้าที่ของครูได้ดี
 
        นำ คือ การทำให้ดู คือการประพฤติปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างในการครองตนให้กับลูกศิษย์ได้ ไม่ใช่ไปสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีแล้วตัวเองก็ไปกินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน แล้วลูกศิษย์จะเชื่อได้อย่างไร ในสมัยโบราณนั้นเขาถือกันมาก ในหมู่บ้านชนบทจะเคารพครูบาอาจารย์มาก เพราะครูเขาตระหนักในคุณธรรมของครู คุณครูจึงไม่มีทางไปกินเหล้าเลย เพราะมันจะทำให้เสียชื่อเสียง เป็นครูกินเหล้า เจ้าชู้ไม่ได้ เพราะมีคนรู้จักมาก เป็นครูแล้วมีคนให้ความเคารพรองจากพระเลย มีสายตาเป็นร้อยเป็นพันคู่ทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลที่เขามองอยู่ ครูจึงต้องระวังการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมาก จึงสะท้อนกลับมาเป็นการเสริมความเคารพของสังคมที่มีต่อครู เพราะครูเป็นผู้ที่มีความรู้และครูเป็นคนดี ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีมาก ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วละก็ เราจะเป็นครูดีที่โลกต้องการ เป็นผู้ที่ลูกศิษย์ควรกราบไหว้และเคารพบูชา
 
มีข้อคิดอะไรบ้างที่อยากจะฝากถึงผู้ที่เป็นลูกศิษย์ทุกคน?
 
        ขอย้ำอีกครั้งว่า ให้เราเป็นคนที่มีครู ระลึกถึงพระคุณครูตลอดชีวิต ไม่ระลึกถึงเฉพาะในวัยเรียนเท่านั้น แล้วเราจะมีสิริสวัสดิ์พิพัฒนะมงคลติดตัวตลอดไป
ขนาดศรีปราชญ์ ที่เป็นปราชญ์เอกในยุคของพระนารายณ์มหาราช ไปอยู่นครศรีธรรมราช พอถึงคราวจะถูกกลั่นแกล้งให้ถูกประหารชีวิต ก็จารึกโคลงสุดท้ายของชีวิตไว้บนพื้นในลานประหารไว้ด้วยว่า “ธรณีนี่นี้ใครครอง เราก็ศิษย์มีอาจารย์หนึ่งบ้าง เราผิดท่านประหาร เราชอบ เราบ่ผิด ท่านมาล้าง ดาบนี้คืนสนอง” จะฝากคำสุดท้ายไว้บนแผ่นดินก็ยังอ้างถึงครูบาอาจารย์เลย ในที่สุดพอเรื่องราวรู้ถึงพระนารายมหาราช เจ้าพระยานครศรีธรรมราชที่กลั่นแกล้งจะสั่งฆ่านั้นก็คอขาด
 
        ฉะนั้น อย่างไรเสียเราเองก็ควรจะเป็นศิษย์มีอาจารย์เสียเถิด อย่าอวดทะนงความเก่งของตัวเอง จนเป็นคนคอกระด้างคางแข็งแล้วมองไม่เห็นหัวครู ไม่เห็นคุณงามความดีหรือพระคุณของครู อย่างนี้เราจะพลาด เมื่อเราเคารพครูเราจะมีความสุขความเจริญ และมีสิริมงคลติดตัวตลอดไป


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทำอย่างไรจึงจะเป็นเศรษฐีทำอย่างไรจึงจะเป็นเศรษฐี

พุทธชยันตี 2600 ปีมีความหมายและความสำคัญอย่างไรพุทธชยันตี 2600 ปีมีความหมายและความสำคัญอย่างไร

ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในชีวิตทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ข้อคิดรอบตัว