พระนันทกเถระ (๑)


[ 29 พ.ย. 2556 ] - [ 18298 ] LINE it!

พระนันทกเถระ (๑)

     การเดินทางในสังสารวัฏอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายไม่ได้นี้ หมู่สัตว์ถูกอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงปิดบัง เห็น จำ คิด รู้ ให้มืดมนอนธกาล เมื่อเกิดมาและตกอยู่ในความประมาท มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์อันเป็นบ่วงของพญามาร ถูกสิ่งเหล่านี้ร้อยรัดไว้ ทำให้เพลิดเพลิน และหลงลืมเป้าหมายดั้งเดิมที่เกิดมาเพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน สรรพสัตว์ได้ถูกกิเลสอาสวะครอบงำจิตใจอยู่อย่างนี้มายาวนาน ทำให้ไม่ได้เฉลียวใจว่าเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน มีอะไรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต  

     หากว่าใครก็ตาม ได้มีโอกาสตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยการหมั่นตรึกระลึกนึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนใจหยุดนิ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ ก็จะรู้เห็นเรื่องราวของชีวิตไปตามความเป็นจริง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นันทโกวาทสูตร ว่า

     “ความเคลือบแคลงสงสัยของหมู่ชน ย่อมไม่มีในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ว่าพระจันทร์จะพร่องหรือเต็มก็ตาม แต่พระจันทร์ก็คงเต็มดวง ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้น มีความชื่นชมยินดีต่อการแสดงธรรมของพระนันทกะ และมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ก็ฉันนั้น”

     * ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณี ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกราบทูลขอให้ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุณีสงฆ์ พระบรมศาสดารับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปให้โอวาทแก่ภิกษุณีตามวาระ เมื่อวาระการสอนธรรมะมาถึงพระนันทกเถระ ท่านก็ให้ภิกษุรูปอื่นไปแทนทุกครั้ง เนื่องจากพระเถระได้เห็นด้วยญาณทัสสนะว่า พวกนางภิกษุณีเหล่านั้นเคยเกิดเป็นนางสนมของท่าน เมื่อครั้งเกิดเป็นพระราชาในอดีตชาติ เพื่อจะเปลื้องตนเองจากคำครหานินทาต่างๆ จึงส่งภิกษุรูปอื่นไปแทน แต่นางภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป อยากจะได้รับฟังโอวาทจากท่านพระนันทกะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ยกเว้นพระนันทกะแล้ว ไม่มีใครสามารถแนะนำให้ภิกษุณีได้เข้าถึงธรรมภายในได้ จึงมีพุทธบัญชาให้ท่านไปด้วยตนเอง เมื่อพระนันทกะรับพระดำรัสแล้ว จึงเดินทางไปแสดงธรรมแก่ภิกษุณีด้วยตัวเอง

     พวกภิกษุณีครั้นเห็นพระนันทกะมา พวกเธอก็มีใบหน้าอิ่มเอิบเบิกบาน เหมือนดอกไม้ที่แย้มบานในยามรุ่งอรุณ ได้จัดเตรียมอาสนะกันเป็นการใหญ่ นิมนต์ให้ท่านนั่งบนอาสนะด้วยความเคารพนอบน้อม ภิกษุณีทั้งหมดเข้ามากราบพระเถระ แล้วพากันหาที่นั่งเพื่อฟังธรรม

     พระเถระได้เทศน์ให้ภิกษุณีฟังเป็นลักษณะปุจฉาวิสัชนา พระเถระได้เทศน์เรื่องอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกว่า “ดูก่อนน้องหญิง พวกเธอเข้าใจว่าอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ทั้งหลาย เมื่อเกิดการกระทบกัน จึงเกิดความรู้แจ้งทางจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ อายตนะนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง”

     เมื่อพวกนางภิกษุณีตอบว่า “ไม่เที่ยง เจ้าข้า” พระเถระจึงกล่าวเสริมอีกว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา การเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ควรหรือไม่หนอ” พวกภิกษุณีพากันเรียนว่า “ไม่ควร เจ้าข้า” พระเถระจึงค่อยๆ กล่าวสอนพวกเธอ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องอายตนะภายในและภายนอก ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วกล่าวต่ออีกว่า ความเห็นว่าไม่เที่ยงของอายตนะภายในและภายนอกอย่างนี้ ย่อมมีแก่พระอริยสาวก ผู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ

     เหมือนบุคคลจุดประทีปน้ำมัน น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวประทีปก็ดี แสงประทีปก็ดี ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา หากมีผู้กล่าวว่า ประทีปน้ำมันเมื่อถูกไฟไหม้ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวประทีปก็ดี ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เว้นแต่เแสงประทีปเท่านั้นเป็นของเที่ยง มีความยั่งยืนถาวร ไม่เปลี่ยนแปร ผู้นั้นกล่าวถูกหรือไม่

     ภิกษุณีเหล่านั้นเรียนว่า “ไม่ถูกเลย เจ้าข้า เพราะว่าเมื่อประทีปน้ำมันถูกไฟไหม้อยู่ น้ำมันก็ดี ไส้ก็ดี เปลวประทีปก็ดี ล้วนแต่ไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนแปรไปทั้งหมด ดังนั้นแสงประทีปก็ต้องเป็นของไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เพราะแสงประทีปจะมีได้นั้น ก็ต้องอาศัยไส้ และน้ำมัน”

     พระเถระจึงสรุปว่า “ข้ออุปมานี้ก็เหมือนกัน ผู้ใดกล่าวว่า อายตนะภายใน ๖ ของเราเป็นของไม่เที่ยง เราอาศัยอายตนะภายในเสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข เวทนานั้นเป็นของเที่ยง มีสภาพยั่งยืน คงทนถาวร ไม่แปรเปลี่ยน ผู้นั้นกล่าวถูกหรือไม่”

     พวกภิกษุณีเรียนท่านว่า “ไม่ถูก เจ้าข้า เพราะเวทนาที่เกิดจาก อายตนะภายในนั้น อาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายในนั้นแล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เมื่อปัจจัยนั้นดับ เวทนาที่เกิดจากอายตนะภายในนั้น จึงดับไปด้วย” พระเถระรับว่า “ถูกต้อง” แล้วกล่าวเปรียบเทียบต่ออีกว่า “ราก ลำต้น กิ่ง ใบ ของต้นไม้ใหญ่ เป็นของไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา แต่ว่าเงาของต้นไม้ใหญ่นั้น เป็นของเที่ยง คือ เป็นของยั่งยืนคงทนไม่แปรเปลี่ยน การกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่”

     พวกภิกษุณีพากันเรียนว่า “ไม่ถูก เจ้าข้า เพราะว่า ราก ลำต้น กิ่ง ใบ ตลอดถึงเงาของต้นไม้ใหญ่นั้น ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา เพราะเมื่อต้นไม้ยังไม่เที่ยง เงาของต้นไม้จะเที่ยงได้อย่างไร”

     พระเถระกล่าวเสริมว่า “ข้อนี้ก็ฉันนั้น ผู้ใดกล่าวว่า อายตนะภายนอก ๖ ของเรา เป็นของไม่เที่ยง เราอาศัยอายตนะภายนอกเสวยเวทนาที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข เวทนานั้นเป็นของเที่ยง เป็นของยั่งยืนคงทนถาวร ไม่แปรผัน การกล่าวนี้ถูกหรือไม่หนอ”

     พวกภิกษุณีกล่าวว่า “ไม่ถูกเลย พระคุณเจ้า เพราะเวทนาที่เกิดจากอายตนะภายนอกนั้น อาศัยปัจจัยที่เกิดจากอายตนะภายนอก แล้วจึงเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจัยนั้นดับ เวทนาที่เกิดจากอายตนะภายนอกจึงดับไปด้วย”

     พระเถระรับว่า “ถูกแล้ว ความเห็นเช่นนั้น ย่อมมีแก่พระอริยสาวก ผู้เห็นแจ้งด้วยปัญญาตามความเป็นจริง” เมื่อพระเถระสอนธรรมะแก่ภิกษุณีเสร็จแล้ว จึงให้พวกเธอกลับไป ภิกษุณีสงฆ์ต่างชื่นชมยินดีในพระธรรมที่พระเถระแสดง จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลสรรเสริญความเป็นธรรมกถึกของพระเถระให้ทรงทราบ เมื่อพวกภิกษุณีกลับไปแล้ว พระบรมศาสดาตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ความเคลือบแคลงสงสัยของหมู่ชนย่อมไม่มีในวันอุโบสถที่ ๑๕ ค่ำ ว่าพระจันทร์พร่องหรือเต็ม แต่พระจันทร์ก็ยังพร่องอยู่ ฉันใด ภิกษุณีเหล่านั้น ถึงจะมีความยินดีต่อการแสดงธรรมของพระนันทกะก็จริง แต่ความประสงค์ยังไม่เต็มเปี่ยม คือยังไม่ได้บรรลุอรหัตผล ฉันนั้น”

     แล้วพระองค์ทรงตรัสสั่งพระนันทกเถระว่า "ดูก่อนนันทกะ พรุ่งนี้เช้า เธอจงสอนภิกษุณีเหล่านั้นด้วยธรรโมวาทนั้นอีกครั้งหนึ่ง" พระเถระรับพุทธบัญชาแล้ว พอรุ่งเช้าจึงไปสอนภิกษุณีอีกครั้ง พวกภิกษุณีครั้นฟังธรรมิกถานั้นซํ้าอีก ก็ได้บรรลุอรหัตผล ภิกษุณีรูปที่บรรลุคุณวิเศษอย่างต่ำที่สุดได้เป็นพระโสดาบัน ความสามารถพิเศษในการแสดงธรรมต่อภิกษุณีของท่านนันทกะนี้ จึงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วหมู่สงฆ์ จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า เป็นเลิศในด้านสอนธรรมแก่ภิกษุณี

     นี่ก็เป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวของท่านพระนันทกเถระ ตามปกติแล้วหมู่สัตว์จะเข้ากันได้ เพราะมีธาตุธรรมใกล้เคียงกัน อีกทั้งพระเถระเคยสร้างบารมีร่วมกับภิกษุณีเหล่านี้มาหลายภพหลายชาติ  เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต่างก็เกิดจากการประกอบเหตุไว้ในอดีตทั้งนั้น ส่วนว่าเหตุในอดีตท่านได้สร้างบุญอะไรร่วมกันมา คงต้องมาติดตามกันในครั้งต่อไป สำหรับครั้งนี้ ก็ให้ทุกท่านหมั่นเพิ่มเติมบุญบารมีให้กับตนเอง และประคับประคองใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง ให้ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกๆ คน


 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๒๓ หน้า , ๕๐
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พระนันทกเถระ (๒)พระนันทกเถระ (๒)

พระโปฐิลเถระพระโปฐิลเถระ

พุทธชิโนรส (๑)พุทธชิโนรส (๑)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน