พระโปฐิลเถระ


[ 3 ธ.ค. 2556 ] - [ 18333 ] LINE it!

พระโปฐิลเถระ

     ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ที่นำไปสู่การรู้แจ้ง มีความละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่ความรู้ที่เกิดจากการคาดคะเน จะรู้ได้เฉพาะผู้ที่ลงมือปฏิบัติเท่านั้น เป็นของเฉพาะตน ผู้ที่ได้บรรลุจะรู้เห็นเอง เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นเพียงผู้ชี้แนะหนทาง หากเราตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ และปฏิบัติอย่างถูกวิธี เราย่อมเข้าถึงธรรมอย่างแน่นอน เนื่องจากธรรมทั้งหลายมีอยู่ภายในตัวของทุกคน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นหรือสมมติขึ้นมาเอง แต่เป็นของที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก ซึ่งจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อทำใจให้หยุดนิ่งเท่านั้น และการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้เราเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง ชีวิตของเราจะดำเนินไปในทางแห่งความสุข ทางที่ถูกต้องดีงาม และปลอดภัยเสมอ

พระบรมศาสดาตรัสเรื่องกิจที่ต้องทำในทางพุทธศาสนาไว้ ๒ ประการว่า

     “การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี ตามสมควรแก่ปัญญาของตนแล้วทรงไว้ กล่าวบอกพุทธวจนะนั้น ชื่อว่า การศึกษาคันถธุระ ส่วนการเริ่มตั้งความสิ้นไป และความเสื่อมไปในอัตภาพ  เจริญวิปัสสนาด้วยอำนาจความเพียรพยายามแล้ว บรรลุพระอรหัต ชื่อว่า วิปัสสนาธุระ”

     วิชาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ที่นำไปสู่การเห็นแจ้งภายใน ยิ่งเรียนก็ยิ่งมีความสุข อยากเพิ่มพูนความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจให้มากยิ่งขึ้น ผู้ได้ศึกษาคำสอนของพระบรมศาสดา นับว่าเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ เพราะความรู้นี้ไม่ใช่เกิดจากการวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์ หรือทดลองได้ผลระดับหนึ่ง แล้วนำมาเขียนเป็นตำรับตำราสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา แต่เป็นคำสอนที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริงที่เรียกว่า เกิดจากการตรัสรู้ธรรม เป็นความรู้ที่หลั่งไหลมาจากกลางพระธรรมกายอรหัตของพระพุทธองค์ เป็นความรู้ที่คู่กับความสุข และความบริสุทธิ์  ผู้ที่มีโอกาสได้ศึกษาจึงเหมือนกับได้เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธองค์ นั่งใกล้พระรัตนตรัย

     พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านได้มีมหากรุณาแสดงไว้ ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีทั้งที่เป็นคำสั่งที่เรียกว่า วินัยปิฎก และคำสอนที่เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก รวมทั้งพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นความรู้ขั้นสูง ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนควรศึกษา รวมแล้วเรียกว่า พระไตรปิฎก ที่พระมหาเถระพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ได้รวบรวมเรียบเรียงไว้เป็นหมวดเป็นหมู่ สืบทอดกันมาจนถึงพวกเรา ทำให้ได้รู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดา ได้รู้จักหลักคำสอนที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นอย่างแท้จริง  

     คำสอนของพระบรมศาสดา ปัจจุบันเราสามารถหาศึกษาได้จากในพระไตรปิฎก หรือในคัมภีร์โบราณบ้าง พวกเราในฐานะเป็นสาวกของพระองค์ควรหาโอกาสศึกษาให้มีความรู้แตกฉานให้สมกับที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง นอกจากจะได้ความรู้ที่เป็นสุตมยปัญญาแล้ว ยังจะเป็นพลวปัจจัยเพิ่มพูนปัญญาบารมีของเรา และยังเป็นเหตุให้ก้าวไปสู่ขั้นภาวนามยปัญญาได้อย่างง่ายดาย เพื่อนำไปสู่หนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ

     * เหมือนดังเรื่องของพระโปฐิลเถระ ซึ่งเรารู้จักกันในนามของพระใบลานเปล่า ท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกในศาสนาของพระพุทธเจ้ามาถึง ๗ พระองค์ ครั้นออกบวชก็ตั้งใจศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน และยังสอนธรรมะให้กับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป นอกจากนี้ ท่านยังเป็นเจ้าคณะใหญ่ถึง ๑๘ คณะ ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักของภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี  

     พระบรมศาสดาปรารถนาจะให้พระโปฐิละเป็นผู้มีความรู้ทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และเทศนา คือได้ทั้งคันถะธุระและวิปัสสนาธุระ สมกับที่เป็นสาวกของพระพุทธองค์ แต่เนื่องจากพระโปฐิละมัวแต่สอนคนอื่นจนไม่มีเวลาสอนตนเอง ไม่ยอมปลีกวิเวกไปบำเพ็ญสมณธรรมตามลำพังบ้าง วันๆ ได้แต่เตรียมสอนธรรมะ และตอบปัญหาข้อสงสัยให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย ท่านจึงไม่มีความคิดที่จะสลัดออกจากกองทุกข์เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน

     เพราะฉะนั้น เวลาท่านไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา จึงถูกพระพุทธองค์ทักทายว่า “ท่านใบลานเปล่ามาแล้วเหรอ เชิญนั่งเถิดท่านใบลานเปล่า” ครั้นท่านกราบนมัสการลา ก็ถูกทักอีกว่า “ท่านใบลานเปล่าไปแล้วหรือ” ทำให้ท่านกลับไปคิดตริตรองว่า “เราเป็นผู้ทรงไว้ทั้งพระไตรปิฎก แต่พระบรมศาสดาก็ยังตรัสเรียกเราว่าใบลานเปล่า อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้ไม่มีคุณวิเศษภายใน”

     เนื่องจากท่านมีปัญญามาก จึงรู้ถึงนัยของพุทธองค์ กล่าวคือ ผู้รู้ เขาแค่เตือนแบบสะกิดกันนิดเดียว ก็สามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง พระเถระรู้ตัวเช่นนี้เกิดความสลดสังเวชใจว่า ที่ผ่านมาตนเองเปรียบเหมือนคนเลี้ยงโค แต่ไม่เคยดื่มกินปัญจโครสเลย คือรู้ธรรมะด้วยสุตมยปัญญา เพราะอ่านมามาก ได้ยินได้ฟังมามาก แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติให้เข้าถึงเลย

     ท่านตัดสินใจออกปลีกวิเวกตามลำพังในป่า แต่เมื่อจะลงมือปฏิบัติ ก็กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลยคือ รู้มากยิ่งยากนาน ครั้นจะถามพระเณรในวัดก็เขินอาย เพราะเกือบทุกรูปล้วนเคยเป็นลูกศิษย์ของท่าน ท่านจึงออกเดินทางไปไกลถึงสองพันโยชน์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้จำท่านได้ ตั้งแต่พระสังฆเถระ ไล่เรื่อยลงมาจนถึงพระนวกะ  ต่างก็ปฏิเสธที่จะแนะนำธรรมะให้ท่าน เพราะรู้ว่าท่านเป็นพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงมาก และที่ท่านเหล่านั้นได้บรรลุธรรมาภิสมัย ก็เพราะอาศัยพระเถระเป็นอาจารย์  ดังนั้น ต่างเกรงว่าสิ่งที่แนะนำไปจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

     เมื่อไม่มีใครแนะนำ สุดท้ายท่านต้องยอมตนไปขอความรู้ภาคปฏิบัติกับสามเณรน้อยซึ่งอายุเพียง ๗ ขวบ แต่เป็นสามเณรอรหันต์ พระเถระเป็นผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมมาก แต่ท่านยอมทำตัวเหมือนเด็กอนุบาล เป็นนักศึกษาที่ดีมาก แม้สามเณรจะทดสอบให้ท่านเดินลงไปในสระน้ำ ท่านก็ไม่ได้ลังเลใจ ยอมทำตามที่สามเณรบอกทันที

     สามเณรเห็นว่า พระโปฐิละเป็นผู้ว่าง่าย ยอมอยู่ในโอวาท แม้จะให้ไปกระโจนลงเหว หรือกระโดดเข้ากองเพลิง ท่านก็ยอมทำตามทุกอย่าง สามเณรจึงให้ท่านกลับขึ้นมายืนที่ริมฝั่ง แล้วกล่าวให้นัยว่า “ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง มีช่องอยู่ ๖ ช่อง เหี้ยได้เข้าไปในจอมปลวกช่องหนึ่ง ผู้หวังจะจับเหี้ย จึงอุดช่องทั้ง ๕ ไว้ คอยจับเหี้ยออกทางช่องที่ ๖  บรรดาทวารทั้งหก แม้ท่านจงปิดทวารทั้ง ๕ แล้วเปิดมโนทวาร กำหนดใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนั้น”

     เนื่องจากพระเถระเป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎกมาหลายภพหลายชาติ นัยที่สามเณรให้จึงเป็นประดุจการลุกโพลงขึ้นของดวงประทีป ท่านเริ่มประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน มีสติตั้งมั่นเป็นสมาธิ แม้พระบรมศาสดาประทับนั่งในที่ไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ ทรงเห็นความแก่รอบแห่งญาณของพระโปฐิละ จึงเปล่งรัศมีออกไปดุจปรากฏต่อหน้าพระเถระ แล้วตรัสว่า “ปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบความเพียร ท่านพึงตั้งตนไว้โดยประการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้เถิด” พระเถระตั้งใจทำภาวนาจนเกิดภาวนามยปัญญา และในที่สุดก็แทงตลอดในคำสอนของพระบรมศาสดา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในท่ายืนนั่นเอง

     ดังนั้น อานิสงส์ของการศึกษาธรรมะมามาก เมื่อถึงคราวที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติก็สามารถทำให้เราได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมได้ จากสุตมยปัญญาก็กลายมาเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้ง เพราะเกิดจากความเจริญของใจที่หยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์  เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรากำลังสร้างบารมี เราควรทำความสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นควบคู่กันไปทั้งคันถะธุระ คือศึกษาเล่าเรียนธรรมะในภาคทฤษฏี และวิปัสสนาธุระ ก็ต้องลงมือปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้

     สรุปคือ เมื่อเราเรียนรู้แล้วเข้าใจแล้ว ควรหาโอกาสลงมือปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงภายใน จะได้ช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ เพราะการศึกษาพุทธศาสตร์จะต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่งเพียงอย่างเดียว จะไปวิเคราะห์วิจัยวิจารณ์กันอย่างไร ก็หาข้อสรุปได้ยาก จำเป็นต้องรู้เองเห็นเองว่าความสุขที่เกิดจากการปฏิบัตินั้นเป็นอย่างไร ดวงธรรมต่างๆ กายภายใน หรือพระธรรมกายเป็นอย่างไร ดีอย่างไร เมื่อรู้แล้วเห็นแล้วจะได้หายสงสัย เพราะฉะนั้น เหลืออยู่อย่างเดียว คือลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะในช่วงพรรษานี้ ควรเป็นพรรษาที่พิเศษกว่าทุกพรรษาที่ผ่านมาคือ ตั้งใจศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป ใช้วันเวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วเราจะสมปรารถนาได้เข้าถึงธรรมภายในพรรษานี้กันทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม หน้า ๑๑๘
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พุทธชิโนรส (๑)พุทธชิโนรส (๑)

พุทธชิโนรส (๒)พุทธชิโนรส (๒)

พุทธชิโนรส (๓)พุทธชิโนรส (๓)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน