พุทธชิโนรส (๑)


[ 4 ธ.ค. 2556 ] - [ 18288 ] LINE it!

พุทธชิโนรส (๑)

     คนส่วนใหญ่มักมองเห็นความทุกข์เป็นความสุข เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าเป็นสาระ เป็นกำไรของชีวิต ทั้งๆ ที่ความจริงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นการขาดทุนชีวิตทั้งสิ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นการยาก  ดังนั้น เมื่อเราได้กายมนุษย์ซึ่งเปรียบเสมือนต้นทุนมาแล้ว อยู่ที่ว่าใครจะใช้ชีวิตนี้ได้คุ้มค่ามากกว่ากัน จะกำไรหรือขาดทุนขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตของเรา  เพราะฉะนั้น ผู้รู้ทั้งหลายต่างก็หมั่นสั่งสมบุญกุศลกันอย่างเต็มที่ บุญกุศลที่เพิ่มขึ้น บารมีที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ชื่อว่า เป็นกำไรชีวิตอย่างแท้จริง โดยเฉพาะถ้าเราเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้ มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน ชีวิตจะปลอดภัย และชื่อว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เป็นกำไรชีวิตที่คุ้มค่ายิ่งกว่ากำไรทั้งปวง

มีพระโบราณาจารย์ ได้สอนการอธิษฐานจิตไว้ว่า

"สุทินฺนํ วต เม ทานํ อาสวกฺขยาวหํ นิพฺพานํ โหตุ

ขอทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว จงนำไปสู่พระนิพพานอันสูญสิ้นกิเลสอาสวะ"

     โบราณาจารย์ทั้งหลาย ท่านมักจะสอนว่าเวลาที่เราทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นบุญที่เกิดจากให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาก็ตาม อย่าลืมอธิษฐานจิตกำกับไว้เพื่อเป็นแผนผังชีวิตในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ส่วนการอธิษฐานนั้น คำอธิษฐานจะต้องมีคำว่า ขอให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือให้เป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน นอกนั้นเป็นคำอธิษฐานที่รองลงมา การอธิษฐานจิตไว้ผิดจะทำให้ชีวิตมืดมน เหมือนเรื่องในอดีตชาติของพระราหุลเถระ

     * ในสมัยของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ประมาณหนึ่งแสนกัปจากภัทรกัปนี้ พระราหุลท่านเคยเกิดเป็นบุตรของคฤหบดีเช่นเดียวกับพระรัฐบาลเถระ ในเมืองหงสาวดี เมื่อบิดาของท่านล่วงลับไปแล้ว ท่านทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกที่ตกทอดมาทั้งหมด ครั้นได้รับแล้ว ก็คิดว่าทรัพย์สมบัติจำนวนมากขนาดนี้ ติดตัวบรรพชนของเราไปไม่ได้ ต่างพากันทอดทิ้งไว้ เราทั้งสองควรจะหาทางทำให้ทรัพย์เหล่านี้ นำติดตัวไปได้ในภพชาติเบื้องหน้า

     เมื่อคฤหบดีบุตรทั้งสองคิดหาวิธีการได้แล้ว สั่งให้สร้างโรงทานขึ้นที่ประตูเรือนทั้ง ๔ แห่ง ท่านทั้งสองได้ตั้งใจบริจาคมหาทานแก่มหาชน มีคนกำพร้า และคนเดินทางไกลเป็นต้น แต่ว่าการบริจาคทานของสองสหาย มีความแตกต่างกันคนละแบบคือ คนหนึ่งก่อนให้ทานสิ่งใด จะถามผู้มาขอก่อนว่าต้องการอะไร แล้วจึงค่อยมอบสิ่งนั้นให้ จึงได้นามว่า “อาคตวาจก” ซึ่งแปลว่า ผู้ให้ตามที่ผู้ขอต้องการ ส่วนอีกคนหนึ่งไม่เคยถามผู้มาขอ เมื่อมีผู้มาขอก็จัดสิ่งของใส่ลงในภาชนะของผู้ขอทันที และส่งให้ไป ดังนั้นจึงได้นามว่า "อนาคตวาจก" หมายถึง ผู้ไม่ให้ตามที่ผู้ขอต้องการ

     วันหนึ่ง ท่านทั้ง ๒ ได้ชวนกันออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ เพื่อจะอาบน้ำชำระร่างกาย ขณะนั้นเอง มีดาบสผู้ทรงอภิญญา มีฤทธิ์มาก ๒ ตน เหาะมาจากป่าหิมพานต์ ได้เหาะลงมายืนในสถานที่ใกล้ๆ กันกับที่ท่านทั้ง ๒ ยืนอยู่ ดาบสทั้งสองท่านกำลังจัดเครื่องบริขาร เตรียมจะเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อภิกขาจาร ท่านทั้งสองจึงชักชวนกันตรงไปหาดาบส แล้วนมัสการด้วยความเคารพ จากนั้นเชื้อเชิญให้ดาบสนั้นไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน หลังจากถวายภัตตาหารให้ดาบสทั้งสองขบฉันเสร็จแล้ว ก็ถือโอกาสนิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตตาหารที่บ้านเป็นประจำ

     ซึ่งตามปกติเมื่อดาบสทั้งสองฉันอิ่มแล้ว จะมีที่พักกลางวันแตกต่างกัน ตนหนึ่งเป็นคนขี้ร้อน มักลงไปพักกลางวันอยู่ในนาคพิภพใต้มหาสมุทร จึงทำให้เวลามาฉันภัตตาหารที่บ้านของอุปัฏฐากของตนมักจะให้พรว่า “ขอให้ภพอันเป็นที่อยู่ของท่านอุปัฏฐาก จงเป็นประดุจดังภพของพญาปฐวินทรนาคราชเถิด” ทำให้คฤหบดีบุตรท่านนั้นสงสัยแต่ไม่มีโอกาสถาม จนกระทั่งวันหนึ่งก็กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังไม่ทราบความหมายของคำอนุโมทนาทานนั้นเลย ช่วยเล่าเรื่องภพของนาคราชให้ข้าพเจ้าฟังด้วยเถิด”

     ดาบสชี้แจงให้ฟังว่า "ท่านกุฎุมพี คำอนุโมทนาทานนั้น หมายความว่า ขอให้สมบัติของท่านจงเป็นเช่นกับสมบัติของพญานาคราช สมบัติของวังบาดาลนั้น มีความสวยสดงดงาม วิจิตรอลังการยิ่งนัก อาตมาอยากให้ท่านได้ไปเสวยสมบัติในพิภพของพญานาค จึงได้กล่าวอนุโมทนาทานของท่าน" ท่านคฤหบดีผู้เป็นอุปัฏฐาก เมื่อทราบความหมายแล้ว จึงตั้งความปรารถนาทุกครั้งที่ถวายทาน เพื่อให้ได้สมบัติแห่งพญาปฐวินทรนาคราช

     ส่วนดาบสอีกตนหนึ่ง มักจะเหาะขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปพักผ่อนกลางวันที่เสรีสกวิมานที่ว่างเปล่าจากเทพบุตรและเทพธิดา เมื่อได้เห็นทิพยสมบัติอันมากมายของท้าวสักกเทวราชแล้ว จึงกล่าวให้พรแก่คฤหบดีบุตรผู้เป็นอุปัฏฐากของตนว่า “ขอให้ที่อยู่ของท่าน จงเป็นดังวิมานของท้าวสักกเทวราชเถิด” คฤหบดีบุตรเกิดข้องใจ จึงถามท่านดาบสนั้นว่า “ทำไมพระผู้เป็นเจ้าจึงกล่าวอย่างนั้น” ครั้นทราบความหมายของคำให้พรแล้ว ก็ตั้งความปรารถนาเป็นท้าวสักกเทวราชตลอดมา

     คฤหบดีบุตรทั้งสองละโลกไปแล้ว ได้ไปเกิดในสถานที่ตามที่ตนตั้งความปรารถนาไว้ คนที่ตั้งความปรารถนาเพื่อจะให้ได้สมบัติของพญาปฐวินทรนาคราช ก็ไปบังเกิดเป็นพญานาค ชื่อว่า ปฐวินทร พญานาคนั้นเมื่อเห็นอัตภาพของตนที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง เกิดความเสียใจ หวนคิดว่า ดาบสพรรณนาคุณของสถานที่อันไม่เป็นที่เจริญใจแก่เราเลย เพราะกำเนิดของนาคนี้ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง สงสัยดาบสที่เราอุปัฏฐาก คงจะไม่รู้จักสถานที่อื่นเป็นแน่

     ขณะนั้นเอง พวกนางนาคที่ประดับตกแต่งร่างกายงดงาม ต่างถือเครื่องทิพยดุริยางค์ดนตรีมาบรรเลงขับกล่อมขึ้นทั่วทุกทิศทางแก่พญานาคนั้น และในขณะเดียวกัน พญานาคปฐวินทรก็กลายร่างเป็นมาณพหนุ่มทันที ซึ่งตามปกติ เมื่อเหตุ ๕ อย่าง ตั้งแต่ถือปฏิสนธิ ลอกคราบ นอนหลับ เสพเมถุนกับนางนาค และตนเองจะต้องจุติ เกิดขึ้นกับนาคทั้งหลายที่แปลงเป็นมนุษย์ จะต้องกลายร่างเป็นนาคตามเดิมทันที

     ส่วนคฤหบดีบุตรอีกท่านหนึ่ง ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชสมความปรารถนา ส่วนว่าทั้งสองท่านนั้น เมื่อมาพบกันในสัมปรายภพแล้วจะรู้สึกอย่างไร และเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น เราคงต้องมาติดตามศึกษากันต่อในคราวต่อไป

     จะเห็นได้ว่า การตั้งเป้าหมายการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏนั้นมีความสำคัญมาก ถ้าเราตั้งเป้าหมายไว้ถูกต้อง จะทำให้เราย่นย่อหนทางการสร้างบารมีให้สั้นลง และถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วยิ่งขึ้น แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ผิดพลาด ชีวิตจะคลาดเคลื่อนจากพระนิพพาน เหมือนคนเดินหลงทาง ต้องเสียเวลา กว่าจะกลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง และพบทางออกได้ ต้องใช้เวลานานมาก เสียทั้งเวลา และอารมณ์

     ดังนั้น การได้รับคำแนะนำจากกัลยาณมิตรผู้ชี้หนทางสว่าง ซึ่งเปรียบเสมือนการกำหนดเข็มทิศของชีวิต ที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายคือ ที่สุดแห่งธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นให้พวกเราทุกคน หมั่นคบหากับกัลยาณมิตรผู้ชี้ทางสว่าง เราจะได้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ผู้รู้ทางออกจากสังสารวัฏ ทำให้เราไม่ประมาทในการสั่งสมบุญ กลับเร่งเพิ่มพูนความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจอย่างเต็มที่ เมื่อเรามีความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เราจะเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตนเอง และชาวโลกได้อย่างแท้จริง

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๓๒ หน้า ๓๙๕
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พุทธชิโนรส (๒)พุทธชิโนรส (๒)

พุทธชิโนรส (๓)พุทธชิโนรส (๓)

พุทธชิโนรส (๔)พุทธชิโนรส (๔)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน