พุทธชิโนรส (๔)


[ 7 ธ.ค. 2556 ] - [ 18291 ] LINE it!

พุทธชิโนรส (๔)

     ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นอนุสาวรีย์แห่งความเพียรพยายาม ต้องทุ่มเทพลังกายพลังใจมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทาง ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยความเพียร มิใช่วาสนาโชคชะตา เนื้อกวางจะเข้าปากราชสีห์ซึ่งกำลังหลับอยู่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นบุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ดังนั้นเราต้องเร่งประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้เต็มที่ แข่งกับเวลาที่เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม ไม่ผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไป ความเพียรที่คิดว่าจะทำในวันพรุ่งนี้ให้เร่งรีบทำเสียตั้งแต่วันนี้ ส่วนความเพียรที่คิดว่าจะทำในวันนี้ ก็ให้ทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าชั่วโมงต่อไปจะมีสำหรับเราหรือไม่ วินาทีนี้เท่านั้นที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ฉะนั้น ให้พวกเราทุกคนหมั่นทำใจให้หยุดให้นิ่ง ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ภายใน ให้ตั้งใจมั่นว่าเราจะทำความเพียรกัน จนกว่าเราจะเข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้

มีเถรวาทะที่พระราหุลเถระกล่าวไว้ใน มัชฌิมนิกาย ว่า

     "พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิด พึงรักษาไข่ เหมือนเนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น"

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต พระองค์ผ่านชีวิตมาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ต่ำสุดจนกระทั่งสูงสุด สุดท้ายทรงสรุปว่าชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่ดีที่สุด พระนิพพานเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุด เมื่อพระองค์จะทรงมอบสมบัติให้แก่ราหุลกุมาร ซึ่งเป็นดุจแก้วตาดวงใจที่พระองค์ทรงรัก และห่วงใย เหมือนดังจามรีที่รักษาขนหางยิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อจะมอบสิ่งใดให้ สิ่งนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่พระองค์พิจารณาแล้วว่า เป็นสิ่งที่ดีที่สุดประเสริฐที่สุด ดังนั้น จึงมอบหนทางอันประเสริฐที่สุดคือ การให้บวชเป็นสมณะ และมอบสมบัติอันลํ้าค่าที่สุดคือ นิพพานสมบัติ อันประเสริฐกว่าสมบัติใดๆ ในภพทั้งสาม

     * เมื่อครั้งก่อนได้กล่าวถึงตอนที่ราหุลกุมารประสูติ พร้อมกันกับเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ต่อมาภายหลัง เมื่อพระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้เสด็จกลับมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม

     ในวันที่ ๗ พระองค์เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระนางพิมพา พระนางจัดแจงให้ราหุลกุมารทรงเสื้อผ้าอาภรณ์แล้ว จึงให้พระกุมารเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาด้วยการแนะนำพระกุมารว่า “ลูกเอ๋ย เจ้าจงดูสมณะผู้มีภิกษุสองหมื่นรูปแวดล้อม ทรงมีวรรณะดุจดังสีทองคำ มีรูปกายดุจดังพรหมนั้นเถิด สมณะนี้แหละเป็นพระบิดาของเจ้า ในเวลาที่พระบิดาของลูกประสูติ ได้มีขุมทรัพย์ใหญ่ปรากฏขึ้น แต่ว่าเมื่อพระบิดาของลูกเสด็จออกผนวชแล้ว ขุมทรัพย์ใหญ่เหล่านั้น ได้อันตรธานไปแล้ว ลูกจงไปกราบทูลขอมรดกนั้นกับพระบิดาเถิด” ว่าแล้วพระนางก็ซักซ้อมคำพูดให้ราหุลกุมารว่า "ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันเป็นกุมาร เมื่อได้อภิเษกแล้วจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หม่อมฉันมีความต้องการทรัพย์สมบัติ ขอพระบิดาโปรดประทานสมบัตินั้นแก่หม่อมฉัน เพราะว่าบุตรย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติที่เป็นของบิดา"

     พระกุมารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามพระดำรัสของพระมารดา ครั้นเสด็จถึงที่ประทับแล้ว ถวายบังคมเสร็จเท่านั้น ความรักเหมือนดังบุตรทั้งหลายรักบิดาก็เกิดขึ้นในหทัยของพระกุมาร ทรงร่าเริงยินดีกราบทูลว่า "ข้าแต่พระสมณะ ร่มเงาของเสด็จพ่อเป็นสุขอย่างยิ่ง" แล้วประทับยืนอยู่ใกล้กับพระพุทธองค์

     พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นกระทำภัตกิจเสร็จแล้ว จึงทรงอนุโมทนาทาน จากนั้นเสด็จลุกจากที่ประทับเสด็จกลับไป ฝ่ายราหุลกุมารตามเสด็จไป พร้อมกับทูลขอว่า "ข้าแต่พระสมณะ ขอโปรดประทานทรัพย์มรดกแก่ข้าพระองค์เถิด" พระกุมารตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงพระอาราม แต่พระพุทธองค์ไม่ได้ให้ราหุลกุมารเสด็จกลับไป และยังไม่มอบสมบัติให้

     เพราะพระองค์ทรงดำริว่า กุมารนี้ต้องการทรัพย์อันเป็นสมบัติของบิดา ทรัพย์นั้นยังเป็นไปตามวัฏฏะคือ ยังเป็นทรัพย์ภายนอกอยู่ ครั้นได้มาแล้ว ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อน ตถาคตจะไม่ให้ทรัพย์ที่กุมารนี้ขอ แต่จะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการที่ตถาคตได้ ณ ภายใต้ควงไม้ศรีมหาโพธิ์แก่เธอ จะทำเธอให้เป็นเจ้าของมรดกอันเป็นโลกุตตรทรัพย์ที่ช่วยให้ตนข้ามพ้นจากวัฏสงสาร

     เนื่องจากพระราหุลกุมารยังทรงพระเยาว์อยู่ มีพระชันษายังไม่ครบอุปสมบท พระพุทธองค์จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาให้แก่ราหุลกุมาร ซึ่งถือว่าเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงปรารภพระกุมารเป็นมูลเหตุ จึงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณคมน์ ภิกษุพึงให้กุลบุตรบวชอย่างนี้” การบวชแบบไตรสรณคมน์คือ การที่ผู้บวชขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พร้อมกับให้รับเอาสิกขาบท ๑๐ ข้อ เป็นวินัยในการฝึกฝนตนเองตามพระธรรมวินัยต่อไป

     ภายหลังบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทราบข่าวว่าพระราหุลบรรพชาเป็นสามเณร แทนที่จะพอพระทัยอนุโมทนาในการบวชของสามเณรหลานชาย กลับทรงทุกข์โทมนัสอย่างยิ่ง เพราะทรงหวังจะให้พระกุมารสืบสันตติวงศ์ แต่ก็ทรงสิ้นหวัง เมื่อก่อนเคยมุ่งหวังท่านพระนันทเถระซึ่งเป็นพระราชโอรส แต่ก็ทรงผิดหวังมาแล้ว พระองค์จึงรีบเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วทูลขอพรว่า "หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส ขออย่าให้พระคุณเจ้าทั้งหลายบวชกุลบุตรที่มารดาบิดายังมิได้อนุญาตเลย พระเจ้าข้า"

     พระพุทธองค์ทรงรับคำ และแสดงธรรมโปรดพระราชบิดาให้คลายความกังวลใจในเรื่องราชบัลลังก์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี จากนั้นจึงเสด็จกลับไป พระพุทธองค์ทรงปรารภราหุลสามเณร จึงมีพุทธบัญญัติว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต ภิกษุไม่พึงบวชให้ ภิกษุรูปใดบวชให้ ต้องอาบัติทุกกฎ"

     เมื่อสามเณรบวชแล้ว แม้มีวัยได้เพียง ๗ ขวบ แต่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพุทธโอวาทเป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ให้โอวาทแก่สามเณรว่า "ราหุล เธอจงละกามคุณ ๕ อย่าง มีรูปเป็นที่รักใคร่พอใจ เธอได้ออกบรรพชาด้วยศรัทธาแล้ว เธอจงทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป จงคบแต่มิตรที่ดี อยู่ในเสนาสนะอันสงัด จงรู้ประมาณในการฉันอาหาร เธออย่ามีความทะยานอยากในจีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงสำรวมในปาฏิโมกข์ และในอินทรีย์ ๕ มีสติในกายด้วยอานาปานสติบ้าง ด้วยอาหาเรปฏิกูลสัญญาบ้าง จงเป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด จงงดเว้นสุภนิมิตอันก่อให้เกิดราคะ จงอบรมจิตให้มีอารมณ์อย่างเดียว ตั้งมั่นอยู่ด้วยอสุภภาวนา จงละอนุสัยคือ มานะ เมื่อเธอละมานะได้แล้ว เธอจะเป็นผู้สงบ” ครั้นสามเณรปฏิบัติตาม ก็บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์

     สามเณรราหุลมีความโดดเด่นในด้านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษามาก  ส่วนวิธีการที่ท่านแสดงออกเป็นอย่างไร และมีคุณธรรมอย่างไรนั้น เราคงต้องมาติดตามในครั้งต่อไป

     เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตสมณะนั้นเป็นชีวิตที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏ เป็นเส้นทางที่สงวนไว้เฉพาะผู้มีบุญเท่านั้น จึงจะได้โอกาสอันประเสริฐเช่นนี้ สมบัติใดที่ว่าเลิศในภพทั้งสาม ก็เทียบกับชีวิตภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงทดลองเป็นมาหมดทุกอย่างแล้ว สุดท้ายสรุปลงตรงกันหมดว่า ชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่สูงสุดแล้ว เป็นชีวิตที่เรียบง่าย สั่งสมแต่ความบริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นเส้นทางที่ลัดที่สุดในการออกจากสังสารวัฏ ดำเนินชีวิตเส้นทางอื่นก็เป็นทางอ้อม เสียเวลายาวนาน ดังนั้น ให้เราหมั่นสั่งสมบุญให้มากๆ อธิษฐานขอให้มีโอกาสได้บวช บวชอยู่แล้ว ให้ภาคภูมิใจว่าเรามาถูกทางแล้ว ให้ตั้งใจทำพระนิพพานให้แจ้งกันให้ได้ทุกๆ คน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๔๐ หน้า ๑๕๗
 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พุทธชิโนรส (๕)พุทธชิโนรส (๕)

พุทธชิโนรส (๖)พุทธชิโนรส (๖)

สุมนสามเณรสุมนสามเณร



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน