พุทธชิโนรส (๕)


[ 9 ธ.ค. 2556 ] - [ 18271 ] LINE it!

พุทธชิโนรส (๕)

     การที่เราศึกษาเล่าเรียนเพียงเพื่อใช้แสวงหาทรัพย์ในการหล่อเลี้ยงสังขารร่างกายให้มีชีวิตรอดต่อไปได้นั้น แม้มีชีวิตรอดจริงแต่ยังไม่ปลอดภัย แต่ความรู้ทางธรรมเราไม่รู้ไม่ได้ ถ้าไม่รู้ชีวิตไม่ปลอดภัย ทั้งภัยในอบายภูมิ และภัยในสังสารวัฏ เหมือนอาหารถ้าเราไม่รับประทานก็ตาย ความรู้ทางธรรมถ้าไม่ศึกษาก็ตายเช่นกันคือ ตายจากกุศลความดี เหินห่างจากหนทางพระนิพพาน บางทีอาจต้องไปรับทุกข์ทรมานในอบายภูมิสิ้นกาลนาน เพราะฉะนั้น การศึกษาทางธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ จะรู้แจ้งเห็นจริงได้ต้องอาศัยพระธรรมกายภายใน เมื่อเราเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน ได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย เราจะรู้เรื่องราวของโลก และชีวิตที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา สิ่งที่เป็นความลับจะถูกเปิดเผยออกมา ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความลับสำหรับผู้รู้แจ้งภายใน

มีวาระพระบาลีที่ตรัสไว้ ในคาถาธรรมบท ว่า

“มุหุตฺตมปิ เจ วิญฺญู    ปณฺฑิตํ ปยิรุปาสติ

 ขิปฺปํ ธมฺมํ วิชานาติ    ชิวฺหา สูปรสํ ยถา

     ถ้าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้เพียงครู่เดียว เขาย่อมรู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นที่รู้รสแกงฉะนั้น”

     การคบหากัลยาณมิตรผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ เหมือนการค้นพบขุมมหาสมบัติ แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่เราจะได้สิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ดังนั้นความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา จึงเป็นสิ่งที่ดีที่พวกเราทุกคนควรจะมีไว้ เพราะความใฝ่รู้ธรรมะนั้น จะนำพาชีวิตของเราให้พ้นภัย หมั่นเข้าหากัลยาณมิตรผู้ชี้ทางสว่าง รับฟังคำแนะนำตักเตือนจากท่าน เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าง่ายสอนง่าย เมื่อนั้นสิ่งที่ดีๆ ทั้งบุญกุศลคุณธรรมความดีทั้งหลาย จะหลั่งไหลมาสู่ตัวเรา เราจะเป็นคนที่สูงค่าเหมือนกับพระราหุลเถระที่ท่านได้ทำเป็นแบบอย่างไว้

     สำหรับเรื่องราวของสามเณรราหุล เราได้ติดตามศึกษากันมาหลายตอนแล้วนั้น ครั้งนี้จะได้เรียนรู้กันถึงความเป็นผู้ว่าง่ายของสามเณรว่าเป็นมาอย่างไร

     * ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระนครโกสัมพี เหล่าพุทธบริษัทสี่พากันไปฟังธรรมที่วิหารเป็นประจำ มีการฟังธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน คืนวันหนึ่งหลังจากเลิกฟังธรรมแล้ว พระเถระทั้งหลายต่างพากันกลับไปสู่ที่พักของท่าน

     ส่วนพระบวชใหม่ก็นอนปะปนอยู่กับพวกอุบาสกอยู่บนศาลาซึ่งนอนค้างที่วัด เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นนอนหลับไปแบบขาดสติ จึงปรากฏอาการน่ารังเกียจหลายอย่าง เช่น นอนกรน นอนละเมอ ขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเสียงดัง น้ำลายไหลออกจากปาก พวกอุบาสกเห็นอาการเช่นนั้นเข้า จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุนอนร่วมกับผู้ไม่ใช่พระภิกษุต่อไป

     หลังจากมีพระพุทธบัญญัติแล้ว ด้วยกลัวจะผิดพระพุทธบัญญัติ คืนวันหนึ่ง พระภิกษุสงฆ์ได้ขอให้ราหุลสามเณรไปนอนเสียที่อื่น ไม่ยอมให้นอนร่วมเหมือนแต่ก่อน สามเณรราหุลเดินออกไปแต่โดยดี ไม่มีข้อแม้หรือแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง แต่เมื่อหาที่นอนไม่ได้ อีกทั้งไม่รู้ว่าจะไปนอนที่ไหน เลยตรงเข้าไปนอนในวัจกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า

     ในเวลารุ่งสาง พระบรมศาสดาเสด็จไปที่วัจกุฎีนั้น เพื่อทรงถ่ายพระบังคนหนัก ก่อนจะเสด็จเข้าไปพระองค์ทรงกระแอมไอให้เป็นอาณัติสัญญาณตามธรรมเนียมของผู้จะเข้าไปในวัจกุฏี ราหุลสามเณรได้ยินเสียงกระแอมของพระพุทธองค์ จึงกระแอมตอบ แล้วรีบออกมาถวายบังคม

     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า "ราหุล ทำไมเธอจึงมานอนอยู่ที่นี่ล่ะ" เมื่อสามเณรราหุลทูลสาเหตุให้ทรงทราบแล้ว ทรงสลดพระทัยว่า "ต่อไปภายหน้า ถ้ากุลบุตรทั้งหลายมาบรรพชาเป็นสามเณร พวกภิกษุจะพากันทอดทิ้งไม่สนใจ แม้แต่ราหุลสามเณรซึ่งเป็นโอรสของตถาคต ยังถูกทอดทิ้งขนาดนี้"

     เมื่อเสด็จกลับจากวัจกุฎีแล้ว โปรดให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์แต่เช้า และตรัสถามพระสารีบุตรเถระว่า "ดูก่อนสารีบุตร เธอรู้หรือไม่ว่า เมื่อคืนนี้ สามเณรราหุลไปนอนอยู่ที่ไหน" พระเถระทูลว่า "ข้าพระองค์ไม่ทราบ พระเจ้าข้า"  "ดูก่อนสารีบุตร เมื่อคืนนี้ ราหุลไปนอนอยู่ในวัจกุฎีของเรา ถ้าพวกเธอพากันเพิกเฉยต่อราหุลถึงเพียงนี้แล้ว ต่อไปภายภาคหน้า กุลบุตรทั้งหลาย ผู้มีศรัทธามาบรรพชาเป็นสามเณร พวกเธอจะทำอย่างไรกันเล่า"

     ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงบัญญัติสิกขาบทซ้ำอีกว่า “ให้ภิกษุทั้งหลายนอนร่วมกับผู้ไม่ใช่ภิกษุได้เพียง ๓ คืน พอถึงคืนที่ ๔ ให้เว้นเสียคืนหนึ่ง แล้วนอนต่อไปจนกว่าจะครบ ๓ คืน แล้วเว้นเสียอีกคืนหนึ่ง จนกว่าจะแยกที่นอนกันได้กับผู้ไม่ใช่ภิกษุ” ในเวลาเย็นวันนั้น พวกภิกษุมาประชุมกัน สรรเสริญพระราหุลเถระในโรงธรรมสภาว่า "พระราหุลเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย พระภิกษุบอกกล่าวเพียงคำเดียวเท่านั้น มิได้ขัดขืน ไปนอนอยู่ในวัจกุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้า”

     พระบรมศาสดาตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตราหุลสามเณรก็เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายเหมือนกัน" แล้วทรงนำอดีตของสามเณรราหุลมาเล่าให้ฟังว่า

     ในอดีตกาล ที่เมืองราชคฤห์ มีเนื้อฝูงใหญ่อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง พระองค์บังเกิดเป็นเนื้อหัวหน้าฝูง และเป็นพี่ของนางอุบลวรรณาผู้เกิดเป็นแม่เนื้อ พระราหุลเกิดเป็นลูกเนื้อที่ฉลาด แม่เนื้อรักและเป็นห่วงลูกมาก จึงนำลูกไปฝากเนื้อพี่ชายให้ช่วยแนะนำสั่งสอนวิธีการเอาตัวรอดให้ด้วย เนื้อพี่ชายรับไว้ และสั่งสอนเล่ห์กลอุบายให้แก่ลูกเนื้อทุกอย่าง ลูกเนื้อก็ร่ำเรียนด้วยความว่าง่าย

     วันหนึ่ง ลูกเนื้อเข้าไปติดบ่วงของนายพรานแล้วร้องเสียงดัง หมู่เนื้อได้ยินเสียงร้องก็ตกใจพากันวิ่งหนีไปหมด แม่เนื้อได้ยินเสียงลูกร้องก็จำได้ จึงไปหาเนื้อพี่ชาย เนื้อหัวหน้าฝูงตอบว่า "เจ้าไม่ต้องกังวล ลูกเนื้อเรียนรู้ และฉลาดพอที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะเราได้สอนให้รู้จักกลั้นลมหายใจ ผ่อนลมหายใจเข้าออกทางช่องจมูกข้างล่าง ซึ่งแนบสนิทติดอยู่กับพื้นดิน จะลวงนายพรานได้ด้วยกลอุบาย ๖ อย่าง คือ จักเหยียดเท้าทั้ง ๔ ออกแล้วนอนตะแคง เอากีบเท้าคุ้ยหญ้าและฝุ่น แลบลิ้นห้อยลง ทำให้ท้องพองนูนขึ้น จักถ่ายมูตร และคูถออกมา และกลั้นลมหายใจ  อีกอย่างหนึ่ง ลูกเนื้อจักกวาดฝุ่นและทรายมากองไว้เบื้องหน้า ผลักออกไปบ้าง กระทำอาการดิ้นไปมาข้างโน้นข้างนี้บ้าง เบ่งท้องขึ้น และแขม่วท้องลงบ้าง เนื้อผู้เป็นหลานชายจะทำอุบายลวงนายพรานให้หลงเชื่อได้"

     ต่อมาเมื่อนายพรานกลับมาเห็นลูกเนื้อติดบ่วง เข้าใจว่าตายแล้วจึงแก้บ่วงออก ไปเที่ยวหากิ่งไม้และใบไม้มาเพื่อใช้รองเชือดเนื้อของลูกเนื้อ แต่โชคไม่เป็นของนายพราน เพราะลูกเนื้อแสนฉลาดรีบลุกขึ้นสลัดร่างกาย วิ่งกลับมาหามารดาโดยปลอดภัย

     นี่เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระราหุลเถระ เมื่อครั้งยังสร้างบารมีอยู่ แม้จะเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังเป็นสัตว์ที่ว่านอนสอนง่าย ใฝ่ในการศึกษาหาความรู้ จึงเป็นเหตุนำพาให้ชีวิตพ้นภยันตรายไปได้ คุณธรรมคือ ความเป็นผู้ว่าง่ายนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นต้นทางแห่งความรู้ และคุณธรรมต่างๆ อีกมากมาย เหมือนพื้นทะเลจะสามารถรองรับน้ำทะเลอันกว้างใหญ่ ซึ่งไหลมาจากทุกทิศทุกทางได้ จะต้องอยู่ต่ำกว่าน้ำทะเล

     นอกจากจะเป็นผู้ที่ว่าง่ายแล้ว ท่านพระราหุลยังเป็นผู้ใฝ่รู้ในการศึกษาเล่าเรียนอีกด้วย ทุกๆ วัน ท่านจะลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เอามือกอบทรายขึ้นแล้วกล่าวว่า วันนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้รับโอวาทจากพระทศพล และอุปัชฌาย์อาจารย์ มีประมาณเท่าจำนวนเม็ดทรายในกำมือนี้ จนกระทั่งภายหลังท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านใฝ่ศึกษาหาความรู้  ดังนั้น ให้พวกเราทุกคนหมั่นฝึกฝนอบรมตน ให้เป็นผู้มีทั้งความรู้คู่คุณธรรม ฝึกตัวเราให้เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย เราจะได้เป็นแหล่งรวมทั้งความรู้และคุณธรรม จากนั้นจะได้ช่วยกันชี้นำชาวโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้มาพิสูจน์หลักธรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวลกันทุกคน

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
 
* มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๒๕๙
 

 



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
พุทธชิโนรส (๖)พุทธชิโนรส (๖)

สุมนสามเณรสุมนสามเณร

สามเณรนิโครธ (๑)สามเณรนิโครธ (๑)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ธรรมะเพื่อประชาชน