วันฉัตรมงคล


[ 1 พ.ค. 2565 ] - [ 18285 ] LINE it!

วันฉัตรมงคล

 
วันฉัตรมงคล 2566
วันพฤหัสดยที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2566
 

 
      วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489   แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป  จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ แล้วจึงได้เสด็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทย ได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก

      วันฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี (ความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) และ เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทย จึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล และในวันฉัตรมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

      พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณดังที่ปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “ในสมัยสุโขทัยมีพิธีต้อนรับประมุขของแผ่นดินอย่างมโหฬารตั้งแต่ที่พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย”

      สำหรับในสมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานตามพงศาวดารว่า “พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินอยุธยา เมื่อมีการเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ ทั่วทั้งเมืองจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกใหญ่โตไปทั่วทั้งพระนคร”

      ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและทรงต้องการให้ยึดถือเป็นระเบียบแบบแผนในรัชกาลต่อไป ซึ่งประกอบด้วย

      1. ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดียสถานสำคัญจากสถานที่ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก (น้ำรดพระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีป ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ 18 แห่ง จากภายในประเทศไทยแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกร (ตราประจำรัชกาล)

      2. พิธีเบื้องต้น
เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์

      3. พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (เป็นพระราชอาสน์ 8 เหลี่ยม ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในสมัยโบราณเป็นราชบัณฑิต) และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์ เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท เมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธ เป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

      4. พิธีเบื้องปลาย เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

      5. เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี
 



      การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคล ในอดีตยังไม่มีพิธีนี้ จะมีแต่พนักงานฝ่ายหน้าฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงกระทำพิธีพระบรมราชาภิเษก ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า “วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดินครองประเทศย่อมนับถือว่าวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาลต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์ ส่วนในประเทศของเรายังไม่มี ควรจะจัดขึ้น แต่จะประกาศแก่คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันบรมราชาภิเษกหรืองานฉัตรมงคล” ผู้คนในขณะนั้นยังไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจจึงต้องทรงอธิบายชี้แจงและทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อไปตามเก่าว่างานสมโภชเครื่องราชูปโภค แต่ทำในวันคล้ายวันราชาภิเษก นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

      ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) วันราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 ด้วยทรงมีความเข้าใจในเรื่องราวของพระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นอย่างดี ดังนั้น วันฉัตรมงคลก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เข้าใจในเรื่องราวพระราชพิธีฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขและออกเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้พระราชทานตรานี้ตรงกับวันบรมราชาภิเษก ข้าราชการผู้ใหญ่จึงยินยอมให้จัดงานวันฉัตรมงคลในวันที่ตรงกับพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกได้ ส่วนประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคก็มิได้ทรงละทิ้งไป

      การจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคลรวม 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี ในวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น
      ในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรงทหารเรือ และทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด นอกจากนี้ ยังมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้น ทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จพิธี

      สำหรับเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ หรือเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์นั้น เป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยศักดิ์แห่งความเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช พระมหาราชครูผู้ใหญ่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขณะประทับพระที่นั่งภัทรบิฐในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย

      1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อทรงรับพระปรมาภิไธยและทรงรับที่จะดำรงราชสมบัติ เพื่อเกื้อกูลประโยชน์สุขแห่งมหาชนแล้ว พระมหาพิชัยมงกุฎนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น ทำด้วยทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ โดยเฉพาะเพชรดวงใหญ่ประดับยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ มีชื่อว่า พระมหาวิเชียรมณี

      2. พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นเครื่องราชศัสตรา พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อจากพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีองค์นี้ ส่วนองค์พระแสงขรรค์เป็นเหล็กกล้า ตรงโคนพระแสงทั้งสองข้าง จำหลักเป็นภาพพญาสุบรรณ สมเด็จพระ อมรินทราธิราชทรงช้างเอราวัณ พระนารายณ์เป็นเจ้า และพระพรหมธาดา ลำดับกันขึ้นไปในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนด้ามและฝักพระแสงขรรค์ชัยศรี หุ้มทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ

      3. ธารพระกรชัยพฤกษ์ พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สามต่อจากพระแสงขรรค์ชัยศรี ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์หุ้มด้วยทองคำเกลี้ยง ส่วนศรีษะทำเป็นหัวเม็ดทรงบัวอ่อน เถลิงคอทำด้วยเหล็กคร่ำทองเป็นลายก้านแย่งดอกใน ประกอบแม่ลายกระหนาบทั้งล่างและบน ส่วนส้นทำเป็นส้อมสามขาด้วยเหล็กกล้าคร่ำทอง และรัดด้วยเถลิงส้นคร่ำทองลายเดียวกับเถลิงคอ

      4. พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สี่ถัดจากธารพระกรชัยพฤกษ์ พัดวาลวิชนี จะทำด้วยใบตาลขลิบทองหุ้มขอบ ด้ามและนมพัดทำด้วยทองคำเพลาลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ ส่วนพระแส้จามรี ด้ามเป็นแก้ว จงกลรัดโคนแส้และส้นทำด้วยทองคำเพลาลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ

      5. ฉลองพระบาทเชิงงอน พระมหาราชครูเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระมหากษัตริยาราชในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นลำดับที่สุดในส่วนเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลาย ลงยาราชาวดี ประดับด้วยรัตนชาติ ด้านในทั้งสององค์บุด้วยสักหลาดสีแดง

      เห็นได้ว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีหลวงของพระมหากษัตริย์ ที่ทุกพระองค์ทรงยึดถือปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนราชประเพณีมาแต่โบราณกาล ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะ เสียสละ เพื่อพสกนิกชาวไทยของพระองค์ได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จึงขอเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และพสกนิกรชาวไทย ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยสืบไป

ข้อเสนอแนะการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันฉัตรมงคล

      1. จัดสัมมนา/เสวนาทางวิชาการ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญ
      2.รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญ
      3. ประดับธงชาติตามสถานที่ราชการและอาคารบ้านเรือน
      4. กิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสม
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพการ์ตูนธรรมะ วันวิสาขบูชา ภาพการ์ตูนธรรมะ วันวิสาขบูชา

แผ่นดินไหว กับการค้นพบคำทำนายจากคัมภีร์ใบลานอายุ 200 ปีแผ่นดินไหว กับการค้นพบคำทำนายจากคัมภีร์ใบลานอายุ 200 ปี

บวชสามเณรล้านรูป พร้อมคำอธิษฐานจิตเสียงหลวงพ่อบวชสามเณรล้านรูป พร้อมคำอธิษฐานจิตเสียงหลวงพ่อ



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

เรื่องเด่นทันเหตุการณ์