คารวะ ๖


[ 10 มิ.ย. 2559 ] - [ 18278 ] LINE it!

คารวะ ๖
 
 
คารวะ ๖ อย่าง

     ในพระพุทธเจ้า ๑
     ในพระธรรม ๑
     ในพระสงฆ์ ๑
     ในความศึกษา ๑
     ในความไม่ประมาท ๑
     ในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย ๑

     ศัพท์ว่า "คารวะ" แปลกันว่า ความเคารพ หมายถึงความเอื้อเฟื้อ มักจะพูดติดต่อกันว่า ความเคารพเอื้อเฟื้อและมักจะใช้คู่กับคำว่า "นับถือบูชา" โดยความหมาย ก็คือ การปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยกย่องเชิดชู ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น ในบุคคลนั้นๆ และในธรรมนั้นๆ ตลอดถึงในวัตถุนั้นๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ ซึ่งในที่นี้มี ๖ อย่าง คือ

     ๑. ความเอื้อเฟื้อในพระพุทธเจ้า คือเคารพเอื้อเฟื้อนับถือบูชาด้วยอามิสและด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทางกายวาจาใจ อันประกอบด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แม้ดับขันธปรินิพพานนานแล้ว ก็ไม่ลบหลู่ดูหมิ่น แม้ทำท่าเล่นพูดเล่นเพื่อสรวลเสเฮฮา ก็ไม่ควรต้องเคารพสำรวมกิริยามารยาท ในสัมมาสัมพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ ประเภท คือ

         ก. พระบรมธาตุเจดีย์ๆ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
         ข. บริโภคเจดีย์ๆ บรรจุบริขารของพระพุทธเจ้า และสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
         ค. ธรรมเจดีย์ๆ บรรจุพระธรรม จารึกพระพุทธวจนะ
         ง. อุทเทสิกเจดีย์ อันได้แก่พระพุทธรูป

     ๒. ความเอื้อเฟื้อในพระธรรม คือเคารพเอื้อเฟื้อ ฯลฯ เลื่อมใสในพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แม้วัตถุที่จารึกพระธรรมก็ต้องให้ความเคารพ ไม่เหยียบย่ำข้ามกราย

     ๓. ความเอื้อเฟื้อในพระสงฆ์ คือเคารพเอื้อเฟื้อ ฯลฯ เลื่อมใสในพระสงฆ์ คือภิกษุ (สามเณร) ทั้งที่เป็นอริยสงฆ์ ทั้งที่เป็นสมมติสงฆ์ แม้กาสาวพัสตร์ คือผ้าย้อมน้ำฝาดที่พระสงฆ์นุ่งห่มอันเป็นดุจธงชัยในพระพุทธศาสนา ก็ต้องให้ความเคารพ ไม่แสดงกิริยาอาการล้อเล่นดูถูกดูหมิ่นพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สอนพระธรรมรักษาพระธรรมนำพระศาสนาสืบต่อมาไม่ขาดสาย ตั้งใจกราบไหว้ และปฏิบัติตามคำสอนของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้แทนพระพุทธเจ้า

     ๔. ความเอื้อเฟื้อในความศึกษา คือเคารพเอื้อเฟื้อในความศึกษาตั้งใจศึกษาหาความรู้ความเข้าใจความชำนาญ ในสิ่งที่ควรรู้ ทั้งคดีโลกทั้งคดีธรรมสิ่งที่ควรศึกษาหาความรู้ในทางโลก ได้แก่ศิลปะวิชาสาขาต่างๆ ซึ่งเป็นทางให้ดำรงชีพอยู่โดยผาสุกในโลก สิ่งที่ควรศึกษาหาความรู้ในทางธรรม ได้แก่ไตรสิกขา คือ ศีลสมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ดำรงชีวิตอยู่โดยความสงบร่มเย็น ไม่มีความเดือดร้อน

     ฉะนั้น ควรเคารพเอื้อเฟื้อในความศึกษาทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่เบื่อหน่าย ไม่ดูหมิ่น ควรปลูกฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ลงในความศึกษา ทำความศึกษาให้บริบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น

     ๕. ความเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาท คือเคารพเอื้อเฟื้อในความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน โดยใจความก็คือ มีสติควบคุมกาย วาจา จิต ในกาลทำพูดคิดอย่าให้ผิดสม่ำเสมอ ไม่พลั้งเผลอ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

     ๖. ความเอื้อเฟื้อในปฏิสันถารคือต้อนรับปราศรัย คือความเคารพเอื้อเฟื้อในปฏิสันถาร ๒ อย่าง คือ

         ก. อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับแขกด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น ที่นั่งที่พัก ข้าว น้ำ เป็นต้น
         ข. ธรรมปฏิสันถาร ต้อนรับแขก ด้วยการกล่าวเชื้อเชิญสนทนาปราศรัยด้วยไมตรีจิต และจัดแจงอามิสให้พอสมควรแก่ฐานะของแขก ตามสมควรแก่ฐานะของตน

ขอบคุณข้อมูลจาก www.ธรรมศึกษา.com


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556รางวัลสุนทรภู่กวีอาเซียน 2556

อนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทยรักษาไว้ให้แผ่นดินอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานไทยรักษาไว้ให้แผ่นดิน

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๔)หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๔)



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ความรู้รอบตัว