ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 15


[ 28 ส.ค. 2549 ] - [ 18262 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 15
 
    จากตอนที่แล้วสุนันทสารถีได้เที่ยวเดินเลือกรถอยู่แต่เช้าเทวดาได้ดลใจให้เลือกรถที่เป็นมงคลเทียมด้วยม้ามงคลครั้นได้รถแล้วจึงนำมาจอดรอไว้แทบพระราชทวาร แล้วขึ้นสู่ปราสาท เข้าไปนั่งคุกเข่าถวายบังคมพระราชเทวี แล้วกราบทูลขอพระราชทานอภัยต่อพระนางเจ้า ว่าตนรับพระราชบัญชามา จำเป็นต้องทำตามรับสั่ง ขอพระนางเจ้าอย่าได้ห้ามข้าพระบาทเลย

กราบทูลดังนี้แล้ว ก็กันพระเทวีออก แล้วอุ้มเอาพระราชกุมารเดินลงจากปราสาทไป ปล่อยให้พระนางทรงปริเทวนาการอยู่กับหมู่นางสนมในปราสาทนั้น ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงได้ยินพระมารดากรรแสง ก็ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูดกับพระชนนี พระหฤทัยของพระองค์ก็จะแตกสลาย แต่ก็ต้องตัดใจนิ่งเสียด้วยทรงนึกถึงความพยายามที่ทำมาถึง 16 ปี  ว่าหากเราไม่พูดนั่นแหละ จึงจะเกิดประโยชน์สำหรับทุกคน
 
จึงทรงปล่อยให้นายสารถี อุ้มพระองค์ขึ้นประทับบนรถขับมุ่งตรงออกจากพระราชวัง ด้วยพระหฤทัยที่เบิกบาน รถได้แล่นไกลออกจากพระนคร สิ้นระยะทางสามโยชน์ ถึงชายป่าแห่งหนึ่ง นายสารถีจึงชะลอรถแวะลงจอดที่ข้างทาง แล้วเริ่มลงมือขุดหลุมสี่เหลี่ยมในที่ไม่ไกลจากรถนัก

    ส่วนพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า บัดนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องเคลื่อนไหวแล้ว จึงค่อยๆ เอาพระหัตถ์ลูบพระหัตถ์  แล้วนวดพระบาททั้งสอง จากนั้นจึงเสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินกลับไปกลับมาสิ้นเวลาเล็กน้อย แล้วก็ทรงทดลองยกรถดู ก็ปรากฏว่าสามารถยกได้อย่างอัศจรรย์ ทรงดำริต่อไปว่า ก่อนที่จะออกบวช เราควรที่จะได้แต่งเครื่องประดับใหม่ที่เหมาะสม

ในขณะนั้นเอง วิมานของท้าวสักกเทวราชได้เกิดร้อนขึ้น ท้าวเธอจึงทรงตรวจดูว่า เพราะเหตุอะไรหนอ ก็ทรงเห็นเหตุทั้งหมด จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทพบุตรมามอบเครื่องประดับทิพย์ให้แล้วมีรับสั่งให้นำไปประดับพระเตมิยราชกุมาร ราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช
 
พระวิสสุกรรมเทวบุตรครั้นรับพระบัญชาของท้าวสักกะแล้ว ก็นำเครื่องประดับทิพย์นั้นมาสู่โลกมนุษย์ในทันที มาปรากฏกายอยู่เบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ ประดุจก้าวเท้าเพียงก้าวเดียว ทูลขออนุญาตที่จะประดับพระกายให้ แล้วก็ประดับพระกายของพระโพธิสัตว์ให้งดงามดังว่าท้าวสักกเทวราช ด้วยเครื่องประดับที่ท้าวเธอทรงประทานมาเอง ครั้นแล้วก็ทำเครื่องประดับนั้นให้เป็นของกึ่งทิพย์กึ่งมนุษย์ แล้วก็กลับวิมานของตนดังเดิม

พระโพธิสัตว์ครั้นได้รับการประดับพระกายเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปยังที่ซึ่งสุนันทสารถีขุดหลุมอยู่ ได้ประทับยืนที่ริมปากหลุมตรัสถามนายสารถีว่า “แน่ะนายสารถี ท่านจะขุดหลุมไปทำไม สารถีเพื่อนยาก ท่านจงบอกเราหน่อยเถิด ว่าท่านจะใช้หลุมนี้ทำประโยชน์อะไร”

ส่วนนายสารถีก็ขุดหลุมเรื่อยไป ไม่ได้สนใจแหงนหน้าขึ้นแลดูเลย ได้กล่าวตอบไปว่า “พระโอรสของพระราชาเป็นง่อยเปลี้ย เหมือนไม่มีจิตใจ พระราชารับสั่งให้เราฝังท้าวเธอเสียในป่าแห่งนี้”
 
พระโพธิสัตว์จึงตรัสต่อว่า "ดูก่อนสารถี เราไม่ได้เป็นคนหนวก ไม่ได้เป็นคนใบ้ ไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ย ไม่ได้มีร่างกายพิกลพิการ ดังนั้น ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ก็เท่ากับว่า ท่านทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"
 
ตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ออก แล้วทรงเชื้อเชิญให้นายสารถีมองดูพระองค์ด้วยพระดำรัสว่า “เชิญท่านดูขาและแขนของเราซิ แล้วเชิญฟังคำภาษิตของเรา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ก็เท่ากับว่าท่านทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

    สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า นี่ใครหนอ เมื่อมาถึงก็พูดสรรเสริญแต่ตนเองเท่านั้น เขาจึงหยุดพักการขุดหลุมแล้วเงยหน้าขึ้นแลดู เมื่อได้เห็นรูปสมบัติของพระโพธิสัตว์ซึ่งงดงามดุจท้าวสักกะจำแลงมา ก็ทั้งอัศจรรย์และตกใจ เพราะคิดไม่ถึงว่าจะได้พบกับคนที่แต่งกายงดงามดังเทวดาท่ามกลางราวไพรแห่งนี้

แม้เขาจะเห็นอย่างชัดเจนด้วยนัยน์ตาทั้งสอง ก็ยังจำไม่ได้ว่าเป็นพระเตมิยราชกุมาร แต่ก็รู้สึกคุ้นตาเหมือนเคยเห็น นึกรำพึงขึ้นในใจว่า ชายผู้นี้จะเป็นมนุษย์หรือเทวดากันหนอ จึงถามไปว่า “ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราชผู้ให้ทานในกาลก่อน ท่านเป็นใคร หรือว่าเป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร”

เมื่อทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันควร ที่จะบอกให้สารถีทราบว่าพระองค์เป็นใคร และจะได้แสดงธรรมให้สารถีงดการทำร้ายพระองค์เสีย จึงตรัสว่า “ดูก่อนสารถี เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์  ไม่ใช่ท้าวสักกะผู้ให้ทานในกาลก่อน เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราชผู้ที่ท่านกำลังจะฆ่าเสียในหลุมนั่นแหละ เราเป็นโอรสของพระราชาผู้ที่ท่านอาศัยร่มพระบารมีเลี้ยงชีวีตอยู่  ดูก่อนสารถี ถ้าท่านฆ่าเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหัดรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เมื่อคนทั้งหลายเข้าไปในป่าเพื่อเลือกหาต้นไม้นำมาปลูกบ้านเรือนไว้เป็นที่อยู่อาศัย ขณะที่พักอยู่ในป่านั้นได้อาศัยนั่งหรือนอนใต้ร่มไม้ต้นใด ก็จะงดเว้นไม่หักราน ไม่ตัดไม้ต้นนั้น เพราะถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีคุณต่อตน

ทำนองเดียวกันผู้ที่เป็นชาวนาชาวไร่ เมื่อได้ใช้วัวหรือควายตัวใดเทียมเกวียน หรือใช้ไถนาปลูกข้าว แม้เวลาผ่านไปวัวหรือควายตัวนั้นจะแก่เฒ่าจนใช้งานต่อไปไม่ได้ เขาก็จะไม่ฆ่า ไม่ขาย แต่จะเลี้ยงดูต่อไปจนมันตายไปเอง เพราะถือว่ามันทำงานเลี้ยงเรามา เมื่อมันแก่แล้วก็ควรจะเลี้ยงมันตอบแทนบ้าง ด้วยถือว่าผู้ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณเป็นคนอกตัญญู เป็นคนที่ไม่น่าคบหา และชีวิตของเขาก็จะไม่เจริญ

    พระโพธิสัตว์ได้ทรงนำต้นไม้ที่คนได้อาศัยร่มเงามาตรัสเปรียบเทียบ ว่าแม้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาคนเขายังไม่หักรานกิ่ง ก็พระองค์เป็นผู้ที่มีพระคุณจึงไม่ควรที่เขาจะฆ่าได้ลงคอ เพื่อให้สารถีได้ทราบถึงคุณธรรมที่เขาควรปฏิบัติตาม ว่าถ้าหากเขาฆ่าพระองค์เสียก็เท่ากับว่าฆ่าผู้ที่มีพระคุณ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

แม้พระโพธิสัตว์จะตรัสถึงเพียงนี้ สารถีก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง พระองค์จึงทรงดำริว่า เราจะทำให้สารถีเชื่อให้ได้ จึงได้ประกาศถึงพระบารมีที่ได้บำเพ็ญมา ทำชัฏแห่งป่านั้นให้บันลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเทวดา

จากนั้นจึงได้ตรัสพระคาถาบูชาคุณของมิตรถึง 10 คาถา
 
คาถาที่ 1 มีใจความว่า “บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร ทั้งเป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพของชนเป็นอันมาก บุคคลนั้นเมื่อจากบ้านเรือนของตนไปในที่ไหนๆ  ย่อมมีอาหารมากมาย” อย่างเช่นพระสีวลีมหาเถระ ซึ่งในชาติก่อนได้เคยชักชวนบุคคลเหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในศีล 5 และได้แจกจ่ายทานให้แก่คนจำนวนมาก มาในชาตินี้ เมื่อพระบรมศาสดาจะทรงนำหมู่ภิกษุไปโปรดหมู่มนุษย์และเทวดาในถิ่นกันดาร ก็จะทรงชวนพระสีวลีไปด้วย สถานที่นั้นแม้จะกันดารก็กลับกลายเป็นอุดมสมบูรณ์ไปได้

คาถาที่ 2 มีใจความว่า บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคม หรือราชธานีใด ย่อมได้รับการบูชาจากหมู่ชนในสถานที่เหล่านั้น อย่างเช่นสังกิจจสามเณร ซึ่งออกบวชตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในวันที่ 8 จากวันที่บวช แม้ถูกพวกโจรนำตัวไปเพื่อฆ่าบูชายัญ แต่ทำอย่างไรก็ฆ่าท่านไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดจึงเกิดความเลื่อมใสได้ทิ้งดาบเลิกความเป็นโจร แล้วก้มลงกราบกล่าวมอบตนเป็นลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด
 
คาถาที่ 3 มีใจความว่า บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร พวกโจรย่อมไม่ทำร้ายบุคคลผู้นั้น แม้กษัตริย์ก็เบียดเบียนเขาไม่ได้ เขาย่อมล่วงพ้นภัยจากหมู่อมิตรทั้งปวงเสียได้ อย่างเช่นโชติกเศรษฐี ผู้มีปราสาทแก้ว เสวยมนุษย์สมบัติดุจพระเจ้าจักรพรรดิ ด้วยผลบุญที่ตนเคยทำมาในกาลก่อน ขณะที่ท่านฟังธรรมอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน พระเจ้าอชาติศัตรูได้ยกกองทัพมาเพื่อยึดเอาปราสาทของท่าน แต่กลับถูกยักษ์ที่เฝ้าสมบัติของท่านขับไล่ให้หนีเตลิดไป

คาถาที่ 4 มีใจความว่า บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นมิได้โกรธเคืองต่อใครๆ มา เขาย่อมมีไมตรีจิตกลับมาสู่เรือน เป็นผู้สูงสุดในหมู่ญาติ เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมในสภา เขาย่อมได้รับความยินดีปรีดาในสภานั้น
 
คาถาที่ 5 มีใจความว่า บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เมื่อเขาสักการะคนเหล่าอื่น ก็ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพคนเหล่าอื่น ก็ย่อมได้รับการเคารพตอบ เขาย่อมได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติในที่นั้นๆ
 
คาถาที่พระเตมิยราชกุมารตรัสยังไม่จบ แต่คาถาที่เหลือนั้นท่านจะตรัสอย่างไรอีก โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 16ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 16

ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 17ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 17

ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 18ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 18



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก