ทศชาติชาดก เรื่อง พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ตอนที่ 22


[ 18 ก.ย. 2549 ] - [ 18284 ] LINE it!

 
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 22
 

    จากตอนที่แล้ว พระเตมียราชฤษีถูกพระราชบิดาเชื้อเชิญให้เสด็จกลับพระนครเพื่อครองราชย์ โดยทรงให้เหตุผลว่า พระราชกุมารยังเป็นหนุ่มอย่าเพิ่งออกบวชเลย จึงถวายพระพรว่า บุคคลผู้จะบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ควรจะบวชเสียแต่ยังหนุ่ม เพราะนักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญการบรรพชาของคนหนุ่ม  อีกอย่างหนึ่ง ฐานะกษัตริย์ที่พระองค์จะพระราชทานให้นั้น เป็นเหตุให้ต้องก่ออกุศลกรรมมากมาย แม้ในอดีตชาติที่ผ่านมา อาตมภาพก็เคยเป็นกษัตริย์ได้ครองราชสมบัติอยู่ 20 ปี แต่กลับต้องเสวยทุกขเวทนาในนรกถึง 8 หมื่นปี อาตมภาพมองเห็นภัยที่จะต้องตกนรก จึงประสงค์จะออกบวช เพื่อให้พ้นจากทุกข์ภัยเหล่านั้น

    พระราชาได้ทรงสดับธรรมที่พระเตมียราชฤษีแสดงตามลำดับ ก็ทรงมีพระราชหฤทัยน้อมไปในการบรรพชา ทรงดำริว่า เราจักบวชเสียแต่ในบัดนี้ จะไม่ขอกลับพระนครอีก แต่ก็ทรงเป็นห่วงพระโอรสว่ายังหนุ่ม ควรที่จะกลับไปครองราชย์เสียก่อน ต่อเมื่อเจริญด้วยบุตรธิดาแล้ว จึงค่อยบรรพชาในภายหลัง

    ทรงดำริเช่นนี้แล้ว จึงตรัสเชื้อเชิญพระเตมียราชฤษีอีกว่า “พ่อขอมอบราชสมบัติของตระกูล กับทั้งสนมนารีตลอดถึงราชนิเวศน์ให้แก่เจ้า ขอเจ้าจงกลับไปสืบราชสมบัติ มีพระชายาเสียก่อน เมื่อเจริญด้วยบุตรธิดาแล้วจึงค่อยบวชในภายหลัง  ลูกยังหนุ่มอยู่จะรีบบวชไปทำไม”

    พระเตมียราชฤษีจึงตรัสอธิบายเพิ่มเติมว่า “มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงเชื้อเชิญอาตมภาพด้วยพระราชสมบัติเลย เพราะบางคราวทรัพย์สมบัติก็พลัดพรากจากเราไปก่อน บางทีเราก็พลัดพรากจากทรัพย์นั้นไปก่อน ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้วล้วนแต่จะต้องตาย เปรียบเสมือนผลไม้แก่ก็จะต้องหล่น คนเราเห็นกันในเวลาเช้า แต่ถึงเวลาเย็นตายจากกันก็มี บางทีเห็นกันในเวลาเย็น แต่ถึงเวลาเช้าต้องมาตายจากก็มี

    พระเจ้ากาสิกราชทรงทราบว่าพระราชโอรสไม่มีเยื่อใยในราชสมบัติแม้เพียงนิด จึงทรงตัดอาลัยในราชบัลลังก์ มีพระประสงค์ที่จะทรงออกผนวชอย่างแน่วแน่ จึงมีรับสั่งให้ตีฆ้อง ป่าวประกาศไปให้ทั่วพระนครว่า “ผู้ใดมีความศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะบวชตามพระเตมียราชกุมาร ก็ขอจงบวชเถิด”

จากนั้นก็ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้เปิดท้องพระคลังทั้งหมด และให้จารึกแผ่นทองคำติดไว้ ณ เสาท้องพระโรงว่า “ผู้ใดต้องการทรัพย์สมบัติเงินทองของมีค่า ก็จงมาขนเอาไปจากท้องพระคลังหลวงนั้นเถิด”

แต่ก็ปรากฏว่า มิได้มีใครต้องการพระราชทรัพย์นั้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ชาวเมืองกลับพากันทิ้งบ้านทิ้งเมือง ชักชวนกันไปสู่สำนักของพระเตมียราชกุมารกันเป็นจำนวนมาก
 

    ในเวลานั้น ความอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น พระเจ้ากาสิกราช และพระอัครมเหสีได้นำเหล่าเสนามหาอำมาตย์ ข้าราชบริพารและมหาชนชาวเมืองพาราณสีที่ติดตามมา พาออกบวชเป็นฤษี ฤษิณี กันทั้งหมด
 

    สถานที่ซึ่งท้าวสักกเทวราชทรงประทานให้ ทั้งหมดมีพื้นที่ประมาณหนึ่งโยชน์ เป็นพื้นที่ซึ่งมีป่าไม้ออกดอกออกผลไม่จำกัดฤดูกาล จึงเต็มไปด้วยหมู่ฤษี ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้จัดให้เหล่าฤษิณี ที่เป็นนักบวชหญิงได้สร้างอาศรมอาศัยอยู่ตอนกลางของป่านั้น ให้เหล่าฤษีนักบวชชายสร้างอาศรมอยู่รอบนอก

    เมื่อคราวที่ฤษี หรือฤษิณีเหล่าใดเกิดนึกคิดในเรื่องกาม หรือเรื่องพยาบาท พระเตมียราชฤษีก็จะประทับนั่งบนอากาศประทานพระโอวาทให้แก่ฤษีและฤษิณีเหล่านั้น เมื่อพวกเขากระทำตามพระโอวาทของพระโพธิสัตว์ ต่างก็ได้สำเร็จอภิญญา 5 สมาบัติ 8 ตามกำลังแห่งความเพียร

    ส่วนพระนครพาราณสีเมื่อไร้พระราชาและรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ ก็ต้องกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด จะเหลือก็แต่เพียงเด็ก คนแก่ชรา และพวกนักเลงสุราที่ยังคงตกอยู่ในความประมาท จึงไม่ปรารถนาที่จะออกบวชตามพระเตมียราชฤษี

    ในเวลานั้น ท้าวสามนตราช (สา มน ตะ ราช)  กษัตริย์ที่ครองนครใกล้เคียงกันพระองค์หนึ่ง เมื่อได้ทราบว่าพระเจ้ากาสิกราชสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชในป่า และแม้เหล่าอำมาตย์ราชมนตรีและพสกนิกร ต่างก็ออกบวชตามพระองค์มากมาย จึงได้ยกกองทัพเร่งรุดเข้ามาประชิดพระนคร   ด้วยทรงหมายจะยึดเอาพระนครพาราณสีไว้ในครอบครอง แต่ครั้นมาถึง ก็พบว่าพระนครพาราณสีซึ่งแต่ก่อนเคยรุ่งเรืองนั้น มาบัดนี้กลายเป็นเมืองร้างไปเสียแล้ว 

    พระเจ้าสามนตราชรีบเสด็จขึ้นสู่ปราสาทราชนิเวศน์ ทอดพระเนตรดูกองรัตนะอันเลอค่า ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้โดยปราศจากผู้คนเหลียวแล ก็ยิ่งทรงฉงนพระหฤทัยยิ่งนัก ทรงดำริว่า “น่าจะมีภัยเพราะทรัพย์นี้กระมัง”
 
    ดำริดังนี้แล้วจึงให้เรียกพวกนักเลงสุรามาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า “ภัยบังเกิดขึ้นแก่เจ้าเหนือหัว พระมเหสี และพระโอรสของพวกท่านหรือ”       พวกนักเลงสุราจึงกราบทูลว่า “ไม่มีภัยอะไรเลย พระเจ้าข้า”

    พระองค์จึงตรัสซักว่า “แล้วเพราะเหตุไรเล่า ท้าวเธอถึงได้ทอดทิ้งราชสมบัติไปเสียเช่นนี้” พวกนักเลงสุราก็ทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ

    ท้าวสามนตราชจึงตรัสถามว่า “ก็แล้วพระราชาของพวกท่าน เสด็จออกไปทางไหนกันเล่า” พวกนักเลงสุราพากันกราบทูลหนทางที่พระราชาของตนเสด็จออกไป

    ท้าวสามนตราชและเหล่าเสนามหาอำมาตย์ จึงได้ยกไพร่พลติดตามไปยังชายป่านอกเมือง ครั้นเสด็จไปถึงอาศรมของพระเตมียราชฤษี ก็ได้เห็นพระราชา พระราชินี และบรรดาเสนาอำมาตย์มุขมนตรี อีกทั้งพสกนิการทั้งปวง ต่างพากันทรงเพศเป็นฤษีฤษิณี เป็นดาบสดาบสินีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าเป็นจำนวนมาก

    ท้าวสามนตราช จึงได้เข้าเฝ้าพระเตมียราชฤษี ครั้นท้าวเธอได้ทรงสดับเหตุผลที่ทรงเสด็จออกผนวช และพระโอวาทจากพระเตมียราชฤษีแล้ว ก็จึงบังเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ในที่สุดจึงได้ขอบวชอยู่ในสำนักของพระเตมิยราชฤษีพร้อมทั้งบริวาร

    ในสมัยต่อมา ได้มีกษัตริย์ต่างเมืองทรงทราบข่าวการเสด็จออกผนวชของพระเตมียราชกุมาร จึงได้สละราชสมบัติ ทิ้งราชบัลลังก์ทั้งแก้วแหวนเงินทองให้เกลื่อนกลาดกลายเป็นของไร้ค่า ทรงนำข้าราชบริพารเสด็จออกผนวชอยู่ในสำนักพระเตมียราชฤษี โดยทำนองนี้อีกถึง 3 พระองค์

    ส่วนช้างม้าที่ทรงขับขี่เป็นพาหนะเสด็จออกไป เมื่อไม่มีใครดูแลใช้สอยอีก ก็กลายเป็นช้างป่า ม้าป่า แต่ก็เป็นสัตว์ป่าที่คุ้นเชื่อง และมีใจเลื่อมใสในหมู่ฤษี ด้วยอำนาจจิตที่เลื่อมใสนั้น เมื่อสิ้นอายุขัยก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ตามกำลังแห่งความเลื่อมใสของตน

    ราวไพรซึ่งมีหมู่ฤษีอาศัยอยู่แต่เดิมนั้น เมื่อมีเหล่ากษัตริย์และข้าราชบริพารออกบวชตามมากขึ้น จึงขยายกว้างใหญ่ออกไปอีกถึง 10 โยชน์ กลายเป็นเมืองฤษีที่เต็มไปด้วยเหล่าฤษีฤษิณี และดาบสดาบสินี ล้วนตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าแห่งนั้นด้วยความสุขสำราญ ต่างได้รับผลของการปฏิบัติได้สำเร็จอภิญญาสมาบัติ ครั้นดับจิตก็ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก
 
    พระบรมศาสดาครั้นตรัสเล่าเตมิยชาดกนี้จบแล้ว ได้ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราสละราชสมบัติออกบวช แม้ในกาลก่อน เราก็ได้สละราชสมบัติออกบวชมาแล้ว”

    ตรัสดังนี้แล้วจึงทรงประกาศอริยสัจ ๔ แล้วประชุมชาดกว่า เทพธิดาผู้สถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในกาลนั้น ได้มาเป็นภิกษุณีชื่ออุบลวรรณาเถรีในบัดนี้ นายสุนันทสารถี มาเป็นพระสารีบุตรเถระ ท้าวสักกะมาเป็นพระอนุรุทธเถระ พระชนกและพระชนนีได้มาเป็นมหาราชสกุล ข้าราชบริพารนอกจากนี้ได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพระเตมิยราชกุมารผู้แสร้งทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือเราตถาคตนี้แล
 
    เรื่อง ”พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี” นี้ เป็นเรื่องราวการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีขั้นสูงสุด ที่เรียกว่า ปรมัตถบารมี ในชาติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเกิดเป็นพระราชกุมาร ในชาตินั้นแม้พระองค์จะยังทรงพระเยาว์ แต่ก็ทรงมีพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะเสด็จออกบรรพชา

    แม้ว่าจะต้องทนทุกข์ทรมานจากบททดสอบที่ยากยิ่งเพียงใด และไม่ว่าพระองค์จะต้องรอคอยเป็นเวลายาวนานสักเพียงไหน แต่เพื่อที่จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีให้เต็มเปี่ยม พระองค์ก็ไม่ทรงละทิ้งขันติธรรม  กระทั่งทรงออกผนวชได้สำเร็จ ทำให้เป็นที่เลื่อมใสของหมู่ญาติและชาวประชา จึงได้พากันออกบวชตาม

    ท่านผู้มีบุญทั้งหลาย ท่านใดที่ได้ติดตามประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภพชาติก่อนๆที่ได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้น ก็ย่อมจะทราบดีว่า คนเราทุกคนที่เกิดมาล้วนมีเป้าหมายคือการสร้างบารมี เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากการเวียนตายเวียนเกิด เพื่อเข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพาน

ไม่ว่าบุคคลนั้นปรารถนาเพื่อจะหลุดพ้นจากทุกข์ในฐานะใด คือ ต้องการจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์สาวกก็ตาม เมื่อหวังบุญบารมีอันไพบูลย์ จึงควรต้องเข้มแข็งหนักแน่น มุ่งมั่นอยู่ในเป้าหมายที่ตนปรารถนา โดยที่จะไม่ยอมละทิ้งความตั้งใจเดิม ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด
 
และการที่จะสร้างบารมีให้ได้ดีที่สุดนั้น ควรต้องอยู่ในฐานะนักบวช เพราะเพศนักบวชเป็นอุดมเพศ ซึ่งมีความปลอดโปร่ง มีโอกาสว่างในการสร้างบารมี เพื่อบ่มอินทรีย์ของตนให้แก่รอบโดยเร็ว บุคคลใดที่ไม่มีภาระทางครอบครัว เมื่อจะสร้างบารมีตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์ หรือตามอย่างบัณฑิตทั้งหลายที่ต้องการเพียงเพื่อความหลุดพ้นในฐานะพระอรหันต์สาวก จึงควรต้องออกบวช

    ส่วนผู้ที่มีภาระทางครอบครัว และภาระทางสังคมที่ผูกพันเหนียวแน่นเสียแล้ว ก็ควรตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ คือมีศีล 5 บริสุทธิ์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เว้นจากความลำเอียงด้วยอำนาจแห่งอคติทั้ง 4 ขวนขวายสร้างมหาทานบารมีอย่างเต็มกำลัง เพราะทานบารมีนั้นเป็นอุปการะทั้งต่อมนุษย์ทั้งต่อเทวดา และเป็นอุปการะทั้งแก่บรรพชิตทั้งหลาย

    ดังนั้น ถ้าเรารักตัวเอง ปรารถนาความเจริญก้าวหน้า อยากมีความสุขที่เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ จึงต้องศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในต้นแบบแห่งการการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด อันจะนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการดำเนินชีวิตของเราให้ถูกต้องดีงาม ซึ่งจะทำให้เราประสบความสำเร็จ และมีความสุขยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าจะหลุดพ้นจากทุกข์เข้าถึงบรมสุขอันเป็นอมตะคือพระนิพพาน เพราะเราคือผู้ออกแบบชีวิตของเราเอง
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 2ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 2

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 3ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 3

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 4ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 4



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก