ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 2


[ 23 ก.ย. 2549 ] - [ 18268 ] LINE it!

 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 2
 

    จากตอนที่ 1 ได้เกริ่นก่อนเข้าสู่เรื่องว่า ความเพียรเป็นอุปนิสัยที่ฝั่งแน่นอยู่ในจิตใจของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เพราะความเพียรเท่านั้น ที่จะสามารถเอาชนะความเกียจคร้านอันเป็นกิเลสที่ฝังลึกอยู่ในใจได้ ดังนั้น หากชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องเพียรต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ

    เพราะโดยปกติแล้ว ใจของคนนั้นจะคุ้นกับกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำ เมื่อจะต้องพรากจากนิสัยที่ไม่ดีจึงต้องอาศัยความกล้าหาญ เพราะใจจะดิ้นรนย้อนกลับไปทำในสิ่งที่คุ้นเคยนั้นอีก ทั้งยังต่อต้านกับสิ่งที่ดีที่กำลังจะเกิดขึ้นในใจ

    ดังนั้นผู้ที่มีความเพียร จึงต้องอาศัยความกล้า คือ กล้าที่จะตัดใจเลิกทำในสิ่งที่ไม่ดี ส่วนนิสัยอะไรที่ดีๆ ที่เรายังไม่มี ต้องเริ่มฝึกฝนทำให้มีขึ้น นิสัยที่ดีซึ่งมีอยู่แล้วก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไป ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อยไป บารมีจะค่อยๆ ก่อตัวเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น แล้วความนิ่งของใจก็จะเพิ่มขึ้น อย่างนี้เรียกว่าวิริยบารมีเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

    การเพิ่มพูนความเพียร แบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันนี้  มีอุปมาดั่งพญาราชสีห์เป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทั้งปวง ฉันใด พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ย่อหย่อนในการทำความดีทั้งปวง เป็นผู้เพิ่มพูนความเพียร มีความกล้าหาญที่จะประกอบกุศลกรรม ทำความดีทุกชนิดอย่างไม่ลดละ ฉันนั้น

    และได้เล่ามาถึงตอนที่ มีพระภิกษุหมู่ใหญ่ได้สนทนากันในโรงธรรมสภา   และได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวในอดีตว่า  “ในกาลก่อนที่พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่นั้น  ได้ทรงสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่  มีเรื่องราวเป็นอย่างไร  ขอพระองค์โปรดทรงแสดงให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด” 

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้เริ่มตรัสเล่า โดยมีเรื่องราวดังต่อไปนี้ ในอดีตกาล  มีพระราชาพระนามว่า  มหาชนก  ครองราชย์ในกรุงมิถิลา  แคว้นวิเทหะ  พระเจ้ามหาชนกราช ทรงมีพระราชโอรส  2  พระองค์  คือ  พระอริฏฐชนก (อะ ริด ถะ ชะ นก) และพระโปลชนก  (โป ละ ชะ นก)พระราชาได้พระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรสองค์พี่ คือ พระอริฏฐชนก  ส่วนองค์น้องนั้นทรงโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี

    ต่อมาเมื่อพระมหาชนกสวรรคต  พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ  ก็ได้ทรงแต่งตั้งพระโปลชนก ให้เป็นอุปราช  ทั้งสองพี่น้องทรงช่วยกันปกครองกิจการบ้านเมืองให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา  ทำให้มีแสนยานุภาพแผ่ขยายออกไปทั่วชมพูทวีป

    ต่อมาไม่นานได้เกิดเหตุการณ์  ที่นำไปสู่ความแตกร้าวกัน  ชนิดหมดเยื่อใยในความเป็นพี่เป็นน้อง  เนื่องจากมีอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดของพระราชาคนหนึ่ง  มีอัธยาศัยชอบพูดยุยงให้คนอื่นแตกกัน  ได้ไปเฝ้าพระราชา กราบทูลยุแหย่ว่า  “พระมหาอุปราชคิดจะปลงพระชนม์พระองค์เพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ 

    เมื่อพระอริฏฐชนกราช  ทรงสดับครั้งแรกก็ไม่ปักใจเชื่อ เพราะไม่เคยเห็นพิรุธหรือความผิดปกติของพระอนุชาเลย  แต่ด้วยวิสัยของผู้ปกครองแผ่นดินจึงรับฟังไว้เฉยๆ แต่เมื่อทรงสดับบ่อยเข้า ๆ  ก็บังเกิดความหวั่นไหวขึ้น  จึงรับสั่งให้ทหารไปจับพระอนุชา คือ พระโปลชนกมหาอุปราช  แล้วให้ตีตรวน  จากนั้นก็ให้ขังไว้ในคฤหาสน์หลังหนึ่งใกล้พระราชนิเวศน์  มีผู้คุมรักษาเพื่อรอคอยสำเร็จโทษ

    พระโปลชนกผู้ไม่มีความผิด เมื่อถูกมัดมือมัดเท้าอย่างแน่นหนา ก็ทรงรู้ได้ทันทีว่า  ภัยนี้เกิดจากพระเจ้าพี่เป็นคนหูเบา  ถ้าไม่หาทางหลบหนี  เห็นทีจะต้องตายเป็นแน่ จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า  "ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เคยคิดเป็นอริราชศัตรูต่อเจ้าพี่เลย  เรามีความรักและปรารถนาดี  ตั้งใจบริหารกิจการบ้านเมือง  ช่วยเหลือเจ้าพี่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ไม่เคยคิดที่จะแย่งชิงราชสมบัติเลย  ด้วยสัจจะวาจานี้  ขอให้เครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าโดยพลัน  แม้ประตูก็จงเปิดออก"

    ด้วยความที่พระโปลชนกมีความบริสุทธิ์ใจ  เทวดาที่คอยตามดูแลรักษาพระองค์  จึงบันดาลให้เครื่องจองจำแตกหักเป็นท่อนๆ  แล้วก็ได้เปิดประตูให้ในทันใด

    เมื่อได้โอกาสพระโปลชนกก็เสด็จควบม้าหนีออกไปนอกเมืองด้วยความเร็ว    ได้ทรงหนีไปพำนักอยู่ในตำบลบ้านชายพระราชอาณาเขตแห่งหนึ่ง  ชาวบ้านตำบลนั้นจำพระองค์ได้ก็บำรุงพระองค์อย่างดี  และได้ชักชวนกันมาสวามิภักดิ์มากมาย 

    ส่วนพระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่า พระอนุชาทรงหนีไปเพียงพระองค์เดียว คงไม่มีพิษภัยใหญ่หลวงอะไรนักหนา จึงมิได้ทรงให้เหล่าทหารไล่ล่าให้สิ้นซาก ได้ทรงปล่อยให้พระโปลชนกประทับอยู่อย่างสบายในตำบลบ้านชายแดนนั้น

    เมื่อพระโปลชนกทรงอยู่ในตำบลบ้านแห่งนั้นนานเข้า ก็มีผู้คนมาขอเข้าร่วมเป็นพวกพ้องบริวารมากขึ้น พระองค์ก็ทรงจัดการปกครองเป็นอย่างดี ทำให้ตำบลบ้านแห่งนั้นค่อยๆ เจริญขึ้นมาตามลำดับ  ส่วนผู้ปกครองตำบล และหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายที่เข้ามาสวามิภักตร์ด้วย ครั้นภายหลังได้ทราบว่า ที่พระโปลชนกต้องลำบากรอนแรมหนีออกจากพระนครมาอาศัยอยู่บ้านปลายแดน ก็เพราะพระองค์ถูกพระราชาผู้เป็นพี่จับด้วยข้อหาว่า เป็นผู้ก่อการกบฏคิดแย่งชิงราชบัลลังก์ ทั้งที่พระองค์ไม่ทรงเคยคิดอย่างนั้นเลย

    จึงต่างก็เป็นเดือดเป็นแค้นแทนพระโปลชนก จึงแอบรวบรวมกำลังพลอยู่เงียบๆ โดยที่ไม่ให้พระโปลชนกทรงทราบ ค่อยๆ ฝึกปรือฝีมือพวกชาวบ้านปลายแดนให้ขึ้นมาเป็นทหารอย่างเป็นระบบ   ปลุกใจชาวบ้าน  ฝึกให้เป็นนักรบ

    พระโปลชนกทรงเห็นผิดสังเกตว่า ทำไมจึงมีกำลังคนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งมีการฝึกอาวุธกันอย่างจริงจัง ก็ทรงถามว่า “พวกท่านจะฝึกคนเอาไว้ทำไมมากมาย”

    พวกหัวหน้ากำลังพลทั้งหลายก็ตอบว่า “ทหารส่วนหนึ่งมีเอาไว้เป็นกองทหารรักษาพระองค์ อีกส่วนก็เป็นกองกำลังป้องกันหมู่บ้านและตำบล เพื่อไม่ให้พวกโจรทั้งหลายเข้าปล้นได้โดยง่าย ขอพระองค์อย่าทรงสงสัยเลย”

    เมื่อกองทหารมีจำนวนมากขึ้น และได้ฝึกอาวุธมากเข้าก็เกิดอาการฮึกเหิม  ได้มีทหารจำนวนหนึ่งบุกเข้าปล้นกองทหารรักษาชายแดนของพระราชาในเวลากลางคืน ทั้งได้ฆ่ากองทหารของพระราชาตายไปเป็นจำนวนมาก

    ส่วนทหารของพระราชาที่เหลือก็รีบเข้าแจ้งต่อพระเจ้าอริฏฐชนกให้ทรงทราบว่า บัดนี้ได้มีกองกำลังกบฏจำนวนมากเกิดขึ้นที่ชายแดนนำโดยพระอนุชาคือพระโปลชนก ได้ฆ่าทหารที่ด่านนอกพระนครตายไปเป็นจำนวนมาก ขอให้พระองค์ส่งกำลังไปปราบโดยเร็วเถิด

    ส่วนพวกหัวหน้ากองทหารของพระโปลชนกนั้นเล่า ครั้นรุ่งเช้าได้ทราบว่ากองกำลังของตนได้ก่อเรื่องเข้าแล้ว และก็ได้มีทหารส่วนหนึ่งรอดตายหนีเข้าเมืองไป จึงคิดว่า ในวันนี้ตอนสาย อย่างไรเสียเรื่องทั้งหมดก็คงทราบถึงพระราชาอย่างแน่นอน

    ดังนั้น พวกหัวหน้ากองทหารทั้งหลาย จึงรีบเข้าทูลแจ้งเรื่องทั้งหมดแด่พระโปลชนกให้ทรงทราบ และกราบทูลว่า “ขอพระองค์ทรงตัดสินพระทัยโดยเร็วเถิด อีกอย่างช้าไม่ถึง 7 วัน กองทหารของพระราชาก็จะต้องยกกำลังมาปราบพวกเราอย่างแน่นอน การชิงลงมือก่อนย่อมได้เปรียบ บัดนี้กองทหารของเราก็พร้อมรบ ขอเพียงทรงสั่งการเท่านั้นทุกอย่างก็จะไปได้สวย ขอพระองค์จงทรงบัญชาการรบเองเถิด”

    การคบคนเช่นไร ย่อมเป็นคนเช่นนั้น พระโปลชนกซึ่งแต่เดิมก็ไม่ได้คิดชั่วเลย ทรงหวังจะอยู่อย่างสงบ แต่เมื่อทรงคบกับพาล ด้วยบารมีของพระองค์จึงมีกำลังมาเสริมมากขึ้นเรื่อยๆ     เมื่อกองกำลังเหล่านั้นไปก่อเรื่องร้ายๆ เข้า ก็เดือดร้อนถึงพระองค์เอง

ดังนั้น ผู้ที่เป็นใหญ่คุมกำลังอำนาจพึงสังวรให้ดีว่า หากไม่ฝึกกองกำลังนั้นให้มีศีลธรรมตั้งมั่นอยู่ในใจ ไม่ฝึกให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัย  ในไม่ช้ากองกำลังของตนนั้นก็จะทำให้ตนเดือดร้อนจนได้ เหมือนที่พระโปลชนกทรงประสบอยู่ในขณะนี้

    พระโปลชนกเมื่อทรงได้รับรายงานดังนั้น ก็ทรงประมวลเหตุการณ์ทั้งหมด แล้วดำริว่า “มีทางให้เลือกอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือหนี แต่ถ้าเราหนีไปก็คงไม่รอด เพราะพระเชษฐาได้ปล่อยให้เราอยู่อย่างสบายมาครั้งหนึ่งแล้ว คนของเรายังก่อความเดือดร้อนขึ้นอีก คราวนี้พระองค์คงไม่ปล่อยเราไว้เป็นแน่ แต่ถ้าเราสู้ โดยรีบยกกำลังเข้าล้อมพระนครไว้ก่อนก็มีสิทธิ์ชนะ ได้ขึ้นครองราชย์ เพราะกองทหารของพระเชษฐานั้นเรารู้กำลังดี เชิงยุทธทุกกระบวนรบเราก็เข้าใจทั้งหมด เพราะได้เคยบัญชาการกองทัพมาก่อน” เมื่อดำริดังนี้ พระโปลชนกจะตัดสินพระทัยอย่างไร จะทรงเสี่ยงหนีตาย หรือจะรบเพื่อชิงราชบัลลังก์ โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 3ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 3

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 4ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 4

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 5ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 5



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก