ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 150


[ 5 ก.พ. 2552 ] - [ 18271 ] LINE it!

" />
" />
ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 150
 
" /> " />
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์เกวัฏกลับเข้ามายังท้องพระโรง แล้วถวายบังคมอยู่เฉพาะพระพักตร์ สีหน้าบ่งบอกถึงความอัดอั้นตันใจอย่างที่สุด แล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ คนอย่างมโหสถไม่ควรนับว่าเป็นบัณฑิตเลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์เป็นฝ่ายไปหาถึงเรือน แต่มโหสถไม่ยอมพูดจาเลย กลับทำเป็นใบ้หูหนวกไปเสียอย่างนั้น แม้แต่ที่นั่งหน่อยหนึ่งก็ไม่มีให้ คนอย่างนี้ไม่ควรอยู่ในราชสำนักของพระองค์เลย พระเจ้าข้า”
 
" />    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำทูลของเกวัฏแล้ว ก็ทรงรู้สึกผิดหวังไม่น้อย ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงเห็นคล้อยตามทูลของเกวัฏ แต่มิได้ทรงตรัสคัดค้านแต่อย่างใด
หลังจากที่เกวัฏกลับไปยังที่พักแล้ว พระเจ้าวิเทหราชทรงใคร่ครวญถึงเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปเมื่อสักครู่ จึงทรงดำริขึ้นว่า “หากมโหสถไม่ยอมพูดคุยกับเกวัฏจริงๆ เชื่อแน่ว่าคงเป็นเพราะมโหสถ รู้ว่าการมาของเกวัฏในครั้งนี้ มิใช่มาด้วยประสงค์ดี หลอกให้เราเดินทางไปปัญจาลนคร แล้วจึงหาทางจับกุมตัวเราไว้เป็นแน่”
 
" />    ไม่นานนัก อาจารย์ทั้งสี่ก็พากันมาเข้าเฝ้า พระเจ้าวิเทหราชจึงรับสั่งถามอาจารย์เสนกะก่อนใครว่า “เราควรจะไปเมืองปัญจาลนครหรือไม่”
 
    อาจารย์เสนกะจึงกราบทูล คล้อยตามพระราชอัธยาศัยว่า “ควรอย่างยิ่งพระพุทธเจ้าข้า นับเป็นข่าวมงคลอย่างยิ่ง ก็ในเมื่อสิริมาถึงพระองค์แล้ว จะมัวทรงรอช้าอยู่ไย การปล่อยให้นารีรัตนะที่งามพร้อมเช่นนี้หลุดลอยไป หาควรไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำตอบของอาจารย์เสนกะ ก็ทรงดีพระทัยยิ่งนัก ท้าวเธอจึงลองตรัสถามอาจารย์ที่เหลือตามลำดับ ก็ทรงได้รับคำตอบในทำนองเดียวกันทั้งสิ้น ท้าวเธอก็ทรงคลายความระแวงพระทัย และทรงปักพระทัยมั่นที่จะเสด็จไปปัญจาลนคร ตามคำทูลเชิญของพระเจ้าจุลนี
 
" />
    ขณะที่พระเจ้าวิเทหราช กำลังตรัสกับอาจารย์ทั้งสี่นั้น พราหมณ์เกวัฏพิจารณาว่า “การอยู่ในมิถิลานครแม้เพียงราตรีเดียวนั้น เป็นความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง เพราะถูกมโหสถเหยียดหยามอย่างแสนจะชอกช้ำ ขืนอยู่ต่อไปก็รังแต่จะอัปยศ ดังนั้นเราควรรีบกลับเมืองของเราเสียโดยเร็วดีกว่า”
 
    จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชทันที พร้อมกราบทูลว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พวกข้าพระพุทธเจ้าจักรอช้าอยู่มิได้แล้ว จำต้องขอกราบทูลลากลับสู่เมืองของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้นำพระราชไมตรีแห่งสองพระนคร ไปกราบทูลแด่พระราชาของข้าพระพุทธเจ้าทันพระหฤทัยที่ทรงรอพระพุทธเจ้าข้า”
 
    “ถ้าเช่นนั้น ก็เป็นการสมควร ท่านอาจารย์จงช่วยกราบทูลความยินดีของฉันแด่พระราชาของท่านว่า ฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่พระนครทั้งสองจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน ชาวปัญจาละและชาวมิถิลาจะได้ไปมาหาสู่ด้วยอัธยาศัยไมตรี” พระเจ้าวิเทหราชตรัสด้วยความชื่นชม แล้วพระราชทานสิ่งของแก่ พราหมณ์เกวัฏตามควร
 
    พราหมณ์เกวัฏถวายบังคมลา เดินทางจากเมืองมิถิลาด้วยความแค้นเจือกระหยิ่ม เพราะคาดว่า “อย่างไรเสียวิเทหราชคงต้องไปปัญจาลพร้อมกับมโหสถเป็นแน่”
 
    ฝ่ายมโหสถบัณฑิต เมื่อทราบข่าวว่าเกวัฏกลับไปยังปัญจาลนครแล้ว ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชาทันที
" />พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรเห็นมโหสถมาเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ จึงรับสั่งถามเป็นทำนองขอความคิดเห็น เช่นเดียวกับที่ได้ถามอาจารย์ทั้งสี่ว่า “พ่อบัณฑิต ทั้งตัวเราเอง พราหมณ์เกวัฏ และอาจารย์ทั้งสี่ต่างมีมติเป็นอันเดียวกันว่า ควรไปปัญจาลนครเพื่อรับเอาพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีมาที่นี่ ส่วนเธอล่ะมีความเห็นอย่างไร”
 
    มโหสถได้ฟังพระราชดำรัสแล้ว ก็นึกตำหนิอยู่ในใจว่า “พระราชาของเรายังข้องอยู่ในกามมากเหลือเกิน พระองค์ทรงเชื่อถือถ้อยคำของอาจารย์ทั้งสี่ ผู้เขลาเบาปัญญา จึงยังไม่ทรงเห็นโทษของการเสด็จไปยังแดนของศัตรู เอาเถิด...เราจักเหนี่ยวรั้งพระองค์ไว้ ชี้โทษเหล่านั้นแก่พระองค์ เพื่อให้ทรงกลับพระทัยเสีย”
 
    คิดดังนั้นแล้ว จึงกราบทูลทักท้วงอย่างหนักแน่นว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบดีมิใช่หรือว่า พระเจ้าจุลนีทรงมีแสนยานุภาพมาก มีไพร่พลมากมายถึง 18กองทัพใหญ่ และทรงมุ่งหมายที่จะปลงพระชนม์ชีพของฝ่าพระบาทให้จงได้ เมื่อเป็นดังนี้ ฝ่าพระบาทยังจะเสด็จไปอีกหรือ พระพุทธเจ้าข้า...
 
    ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นายพรานผู้ฉลาดจับนางเนื้อมาฝึกให้เป็นนางเนื้อต่อ แล้วนำไปปล่อยไว้ในป่าอันอุดม สมบูรณ์ด้วยหญ้าและน้ำ นางเนื้อเมื่อจะล่อเนื้อโง่ให้มาหาตน ก็ร้องระรัวด้วยมารยา เนื้อโง่ได้ฟังเสียงของนางเนื้อนั้น มีจิตกำหนัดลุ่มหลง รีบเดินชะเง้อคอดู ครั้นเห็นนางเนื้อ ก็รี่เข้าหาด้วยอำนาจแห่งราคะ โดยมิได้ระแวดระวังภัย...
 
    นายพรานรอคอยโอกาสนั้นอยู่ ครั้นได้ช่อง ก็ใช้หอกอันคมกริบแทงสีข้างได้ตามปรารถนา ในที่สุดเนื้อนั้นก็ต้องมาสิ้นลมอย่างน่าอนาถ ณ ที่นั้นเอง”
 
    มโหสถแสดงอุปมาข้อแรกจบลงแล้ว ก็ยกข้ออุปมาต่อไปว่า “ปลากระหายเหยื่อ แม้จะอยู่ในน้ำลึกตั้งร้อยวา แต่ก็ยังขึ้นมาติดเบ็ดได้ มันอาศัยความอยากโดยแท้ จึงมองไม่เห็นความตายที่รออยู่ตรงหน้า
ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ก็ฉันนั้น ทรงปรารถนาพระราชธิดาของพระเจ้าจุลนี มิได้ทรงเฉลียวใจเลยว่า นั่นเป็นเพียงเหยื่อล่อที่ห่อเบ็ดไว้ พระองค์หารู้ไม่ว่ามรณภัยกำลังรอคอยพระองค์อยู่...
 
    หากว่า พระองค์ยังปรารถนาที่จะเสด็จไปปัญจาลนครอีก ก็ขอได้ทรงเลิกล้มความคิดนั้นเสียเถิด เพราะภัยอันใหญ่หลวงจักมาถึงพระองค์ เหมือนความตายที่มาถึงเนื้อโง่ซึ่งหลงนางเนื้อ พระพุทธเจ้าข้า”
 
    มโหสถบัณฑิตกราบทูลพระราชา ด้วยข้ออุปมาที่หนักหน่วงเช่นนั้น ก็ด้วยประสงค์จะให้ทรงยับยั้งพระหทัยเสีย เพราะทราบดีว่าขณะนี้ท้าวเธอถูกอำนาจแห่งตัณหาครอบงำพระหทัยจนมืดมิด คำกราบบังคมทูลของมโหสถบัณฑิต แม้นเกิดจากเจตนาดีที่หวังประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ในยามนี้กลับเป็นสิ่งที่ไร้ผล แทนที่พระเจ้าวิเทหราชจะได้ทรงยั้งคิดใคร่ครวญเหตุและผลให้รอบคอบ ท้าวเธอกลับยิ่งทรงพิโรธมโหสถ
 
    ด้วยทรงดำริว่า   “มโหสถช่างดูหมิ่นเราเหลือเกิน เปรียบเราเป็นเนื้อโง่บ้าง เป็นปลาติดเบ็ดบ้าง กล้าข่มขี่เราเหมือนข่มขู่ทาสในเรือนตน มิได้สำคัญมั่นหมายว่าเราเป็นพระราชาเสียเลย”
 
    ครั้นแล้ว พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงตวาดมโหสถว่า “มโหสถ ทำไมเจ้าจึงกล้าพูดกับเราได้ถึงเพียงนี้ ดูสิ...ใครๆเมื่อรู้ว่าพระเจ้าจุลนีจักทรงประทานพระราชธิดาให้เรา ต่างก็พากันพูดถึงแต่สิ่งที่เจริญเป็นมงคลแก่เรา แต่เจ้ากลับทำลายมงคลของเราเสีย เจ้านี่ช่างไม่รู้จักอะไรเสียเลย”
 
    พระเจ้าวิเทหราชทรงบริภาษมโหสถ ด้วยพระสุรเสียงเกรี้ยวกราด เท่านั้นยังไม่พอ พระองค์ยังตรัสประชดอีกว่า “เรานี่แหละเป็นคนเขลา เป็นพวกบ้าน้ำลาย ที่พากันกล่าวถึงเรื่องอันเป็นมงคลให้เจ้าฟัง ก็เจ้าเจริญเติบโตมาจากหางไถนิ รู้จักก็แต่เรื่องกระบือไถนา จะมารู้จักความเจริญเช่นคนอื่นเขาได้อย่างไร มิน่าล่ะ เจ้าถึงกล้าดีมาติเตียนเราเช่นนี้”
 
    ครั้นทรงบริภาษดังนี้แล้ว แทนที่จะทรงระงับพระหทัยไว้บ้าง พระองค์กลับตรัสไล่มโหสถด้วยพระสุรเสียงเฉียบขาดว่า  “ราชบุรุษ...จงขับไล่มโหสถออกไปจากแคว้นของเราเดี๋ยวนี้”
 
    ที่พระเจ้าวิเทหราช ทรงตรัสด้วยวาจารุนแรงถึงเพียงนี้ ก็เป็นเพียงชั่วแล่นที่ทรงกริ้วเท่านั้น ส่วนพระหทัยแท้จริงของพระองค์ ยังคงเห็นมโหสถเป็นคนสำคัญอยู่นั่นเอง ฉะนั้นพระองค์จึงมิได้ทรงคาดคั้นให้ราชบุรุษทำเช่นนั้นจริงๆ
 
    มโหสถบัณฑิตเมื่อรู้ว่า พระราชาทรงกริ้วตน จึงคิดว่า “หากมีใครถือตามคำสั่งของพระราชา แล้วมาจับมือหรือคอของเรา เราจะต้องละอายใจไปจนตลอดชีวิต ฉะนั้น เราออกไปจากที่นี่เสียเองจะดีกว่า” คิดดังนี้แล้ว จึงถวายบังคมพระราชา ลุกจากที่นั่ง แล้วกลับไปสู่เรือนของตน
 
    ผลจากเจตนาที่หวังประโยชน์อย่างแท้จริง แต่เป็นไปด้วยความรุนแรงนั้น ย่อมได้รับผลตอบสนองด้วยอาการรุนแรงทำนองเดียวกัน ส่วนว่าเมื่อมโหสถบัณทิตโดนพระเจ้าวิเทหราชทรงบริภาษ ขับไล่ออกจากเมืองด้วยความโกรธ จะคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 151ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 151

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 152ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 152

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 153ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 153



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก