ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 160


[ 15 เม.ย. 2552 ] - [ 18267 ] LINE it!

ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 160
 
 
    จากตอนที่แล้ว เมื่อสุวโปดกกลับมาถึงเรือนของมโหสถบัณฑิตโดยสวัสดิภาพ ก็มีอาการร่าเริงยินดี รีบบินตรงเข้าไปหามโหสถ แล้วจับลงที่บ่าเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเรื่องนี้เป็นความลับสำคัญ มโหสถรู้สัญญาณนั้นแล้ว ก็ไม่รอช้ารีบพาสุวโปดกขึ้นไปบนยอดปราสาท เพื่อไต่ถามเรื่องราวทั้งหมดทันที

    เมื่อได้ฟังความลับจากสุวโปดกแล้ว มโหสถถึงกับรำพึงในใจว่า “นั่นอย่างไรล่ะ เราคาดไว้แล้วไม่มีผิด แผนการของเกวัฏปุโรหิตช่างร้ายกาจนัก แต่ถึงอย่างไร ความพินาศก็จงอย่าได้มีแก่เจ้าเหนือหัวของเราเลย เราควรที่จะสนองคุณแด่พระองค์”
 
    ครั้นคิดหาอุบาย ป้องกันภยันตรายเบื้องหน้าที่จะเกิดขึ้นแก่พระเจ้าวิเทหราชได้แล้ว จึงรีบเข้าเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชทันที พร้อมกราบทูลถามถึงเรื่องที่พระองค์จะทรงตัดสินใจเสด็จไปปัญจาลนครจริงหรือ พระเจ้าวิเทหราชตรัสรับคำว่า “เราต้องไปแน่ และจะไม่เปลี่ยนใจอีกเป็นอันขาด”
 
    ครั้นแล้ว มโหสถจึงถือโอกาสนั้น กราบทูลความประสงค์ของตนว่า “ถ้าเช่นนั้น ข้าพระองค์จักขออาสาเดินทางล่วงหน้าไปก่อน เพื่อเตรียมสร้างพระราชวังไว้ภายในปัญจาลนคร เพื่อที่ว่าพระองค์จะได้ใช้เป็นที่ประทับอยู่ที่ปัญจาลนคร และหากการก่อสร้างเสร็จลงเมื่อใด ข้าพระองค์ก็จะรีบทูลเชิญเสด็จพระองค์ในทันที พระพุทธเจ้าข้า”
 
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำทูลของมโหสถแล้ว ก็ทรงดีพระทัยยิ่งนัก เพราะทรงเห็นว่า นอกจากมโหสถบัณฑิตจะมิได้ละทิ้งพระองค์แล้ว เขายังได้ช่วยให้ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จตามพระประสงค์อีกด้วย “ดีแล้วพ่อบัณฑิต หากเธอต้องการใช้สอยสิ่งใด เราก็อนุญาตให้เธอนำไปได้เต็มที่ตามที่เธอต้องการ” ท้าวเธอตรัสด้วยทรงปลื้มพระทัย
 
    “ขอเดชะ เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอพระราชทานไพร่พลและพาหนะ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในการก่อสร้าง พระพุทธเจ้าข้า”
 
    “เอาเลยพ่อบัณฑิต ต้องการเท่าไร ก็เชิญจัดสรรเอาไปตามที่ต้องการเถอะ”
 
    มโหสถบัณฑิตได้กราบทูลต่ออีกว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ขอพระกรุณาโปรดให้เปิดเรือนจำทั้ง 4แห่ง โดยการให้ปลดโซ่ตรวนพวกนักโทษทุกคน แล้วขอให้นักโทษทั้งหลายเหล่านั้น ได้เดินทางไปกับข้าพระองค์ด้วย เพื่อเป็นกำลังในการสร้างพระราชวัง พระเจ้าข้า” พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงอนุญาตให้มโหสถทำตามความปรารถนาได้ทุกประการ
 
    เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว มโหสถจึงได้สั่งให้ปล่อยนักโทษออกจากเรือนจำทั้ง 4แห่ง โดยการถอดเครื่องจองจำออกทุกคน แล้วรวบรวมผู้ที่ช่ำชองในงานศิลปกรรมต่างๆ ให้เป็นหัวหน้าในงานนั้นๆ โดยแบ่งงานตามความถนัดทั้ง ช่างไม้ ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างหนัง ช่างสลักหิน ช่างจิตรกรรม ช่างอิฐช่างปูน เป็นต้น แต่ละช่างล้วนมีพละกำลัง และความสามารถเชี่ยวชาญในศิลปกรรมนั้นๆ ส่วนผู้ที่องอาจกล้าหาญ ชำนาญในการสู้รบ ก็คัดเลือกเข้าไว้ในกองพลโยธา รวมได้ 18เหล่า
 
    นักโทษเหล่านั้น เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว ต่างก็พากันดีใจ ปรารถนาจะได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดมโหสถบัณฑิต และพร้อมจะทำตามคำสั่งของมโหสถทุกประการ
 
    เมื่อคัดกำลังพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ตระเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการก่อสร้าง ให้พอแก่การใช้สร้างพระนคร โดยไม่ให้ขาดตกบกพร่องสิ่งหนึ่งประการใด หลังจากรวบรวมไพร่พลพาหนะ และผู้ช่ำชองในศิลปะนั้นๆ เป็นกองพลใหญ่ตามที่ต้องการแล้ว มโหสถจึงได้ยกขบวนนั้น ออกจากมิถิลานคร แล้วมุ่งหน้าสู่ปัญจาลนครในทันที
 
    ในระหว่างหนทางที่จะไปสู่ปัญจาลนคร มโหสถบัณฑิตได้ให้ช่างที่ติดตามขบวน มาช่วยกันสร้างพลับพลาที่ประทับรายทางไว้เป็นระยะๆ ทุกๆหนึ่งโยชน์ แล้วจัดสรรอำมาตย์ให้เฝ้าประจำอยู่แต่ละพลับพลา พร้อมสั่งกำชับด้วยว่า “ในเวลาที่พระราชาของพวกเรา เสด็จกลับมิถิลานครพร้อมด้วยพระนางปัญจาลจันที ขอพวกท่านจงถวายการปรนนิบัติแด่ทั้งสองพระองค์ โดยการเตรียมจัดช้างม้าและรถไว้ให้พร้อม ทั้งคอยระวังป้องกันมิให้กองกำลังของฝ่ายปัญจาลนครติดตามมาได้ เพื่อให้พระองค์เสด็จถึงมิถิลานครโดยเร็วที่สุด”
 
    มโหสถได้จัดเตรียมการโดยรอบคอบ ทุกๆระยะหนึ่งโยชน์ตลอดทาง เป็นที่พักระหว่างทางของพระเจ้าวิเทหราชทั้งหมด 98หลัง เมื่อเดินทางถึงฝั่งแม่น้ำคงคา มโหสถได้เรียกอานันทอำมาตย์มา แล้วสั่งการว่า “อานันทะ ท่านจงพาช่างไม้ 300คนไปทางตอนเหนือของแม่น้ำคงคา เตรียมต่อเรือขนาดใหญ่ไว้ 300ลำ แล้วหาไม้ที่จะใช้สร้างพระนคร คัดเอาเฉพาะไม้ชนิดเบา แล้วบรรทุกเรือที่เตรียมไว้ ล่องเรือมาส่งให้เราโดยเร็ว”
 
    เมื่ออานันทอำมาตย์รับคำสั่งแล้ว ก็รีบพากำลังช่างไม้ทั้ง 300คนไปปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายทันที ขณะเดียวกันมโหสถพร้อมกองกำลังที่เหลือ ก็พากันลงเรือข้ามฟากไปอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฝั่งเดียวกับที่ตั้งของเมืองปัญจาลนคร หลังจากข้ามฝั่งมาได้ประมาณครึ่งโยชน์ มโหสถสังเกตเห็นหลักปักเขต ก็รู้ว่าบัดนี้ตนกำลังเข้าสู่เขตแดนปัญจาลนครแล้ว
 
    ทันทีที่เหยียบเท้าก้าวแรก ลงบนดินแดนของฝ่ายศัตรู มโหสถก็ได้เริ่มต้นกำหนดแผนการไว้ในใจ คำนวณนับระยะทางที่ก้าวเดิน การก้าวเดินแต่ละก้าวในแดนศัตรู เป็นการวัดระยะทางเพื่อให้ทราบว่ามีระยะทางจากนี้ถึงนี้ใกล้ไกลเพียงใด ทางใดสะดวกปลอดภัย บริเวณใดควรสร้างอุโมงค์ บริเวณใดควรเป็นที่ตั้งของพระนคร และบริเวณใดควรเป็นที่ตั้งของพระราชนิเวศน์หลังใหม่
 
    นี้เป็นวิสัยของบัณฑิตที่ไม่ประมาท เมื่อย่างก้าวเข้าสู่ดินแดนของฝ่ายตรงกันข้าม จะสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัวโดยละเอียด ทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อหาทางเอาตัวรอดปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา ส่วนว่าเมื่อมโหสถบัณฑิตได้เข้าไปสู่ภายในเมืองปัญจาลนครแล้ว จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 161ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 161

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 162ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 162

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 163ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 163



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก