ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 166


[ 27 พ.ค. 2552 ] - [ 18265 ] LINE it!

ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 166
 
 
    จากตอนที่แล้ว พราหมณ์เกวัฏเห็นคนมารื้อคฤหาสน์ของตนก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จึงรีบไปฟ้องร้องต่อพระเจ้าจุลนีทันที แต่ครั้นไปถึงประตูพระราชนิเวศน์ก็ถูกทหารเฝ้าประตูชุดใหม่ตวาดไล่ออกมา จึงทำให้มีปากมีเสียงกัน ทหารเหล่านั้นจึงได้เอาซีกไม้ไผ่หวดเข้าให้ที่กลางหลัง จนเป็นรอยช้ำเลือด พราหมณ์เกวัฏไม่อาจต่อกรอะไรได้ จึงรีบบ่ายหน้ากลับไปด้วยความเจ็บแค้นแสนทรมาน จนในที่สุดก็ต้องยอมควักเงินแสนกหาปณะ เพื่อติดสินบนมิให้ช่างเหล่านั้นรื้อคฤหาสน์ของตน

    มโหสถได้ส่งคนไปรื้อเรือนหลังใหญ่ๆของเหล่าข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่อีกหลายหลัง แน่นอนว่าคนเหล่านั้นทั้งหมด ต่างก็ไม่มีใครยอมให้รื้อถอนเรือนของตนเลย ทุกคนต่างยอมติดสินบนด้วยกันทั้งสิ้น มโหสถใช้อุบายทำนองนี้สามารถรวบรวมทรัพย์มาได้ถึง ๙๐ล้านกหาปณะ

    มโหสถจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าจุลนี กราบทูลถวายรายงานว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์มาคิดดูอีกทีว่า การที่ข้าพระองค์เลือกพื้นที่ภายในสร้างพระราชวังนั้น จะเป็นเหตุให้ทุกคนพลอยได้รับความลำบากเดือดร้อนไปตามๆกัน ข้าพระองค์กำลังคิดอยู่ว่า หากเปลี่ยนไปสร้างภายนอกเขตพระนคร ก็คงจะดีไม่น้อย พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีทรงสดับความเห็นของมโหสถแล้ว ก็ทรงดำริในพระทัยว่า “ถ้าเราจักกระทำการรบกันภายนอกพระนคร น่าจะกระทำได้ง่ายกว่า เพราะการฆ่าศัตรูนั้น ไม่ว่าจะฆ่าที่ไหน ก็สามารถล้างแค้นได้ทั้งนั้น” จึงตรัสตอบมโหสถว่า “ดีแล้วพ่อมโหสถ เรื่องการกำหนดที่ตั้งนั้น เธอจะเห็นสมควรประการใด ก็ตามแต่เธอจะกำหนดเถิด”

    มโหสถยังไม่หยุดแต่เพียงเท่านั้น รีบทูลขออนุญาตต่อไปว่า “ขอเดชะ ในระหว่างที่ข้าพระองค์ดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาที่จะเห็นชาวเมืองปัญจาละเข้าไปเดินพลุกพล่านอยู่ในบริเวณดังกล่าว ไม่ว่าจะเก็บผักหรือหักฟืนก็ตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างช่างมิถิลาและชาวเมืองปัญจาลนคร ซึ่งอาจเป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงสำราญพระราชหฤทัย และความรำคาญใจก็จักไม่มีแก่ข้าพระองค์เช่นกันพระพุทธเจ้าข้า”

    “ก็ดีเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้นเธอจงกั้นเขตเสีย แล้วสั่งห้ามมิให้ใครเข้าไปได้ก็แล้วกัน”

    มโหสถคิดแผนการบางอย่างไว้แล้วในใจ จึงได้ทูลขอร้องพระเจ้าจุลนีต่อไปว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ฝูงช้างพลายช้างพังของข้าพระองค์ชอบเล่นน้ำเหลือเกิน ข้าพระองค์เกรงว่าหากช้างเหล่านั้นทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น ชาวเมืองก็จะพากันโกรธเคืองข้าพระองค์ว่า ตั้งแต่มโหสถมา พวกเราไม่ได้ดื่มน้ำใสๆกันเลย เรื่องนี้ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอดกลั้น อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีตรัสว่า “ไม่เป็นไร พ่อมโหสถ จงปล่อยให้พวกมันเล่นน้ำตามความพอใจเถิด” ตรัสแล้ว ก็รับสั่งให้ราชบุรุษป่าวร้องไปทั่วพระนครว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปยังสถานที่ก่อสร้างพระนครที่มโหสถคุมงานอยู่ ผู้ใดฝ่าฝืน ผู้นั้นจะต้องถูกปรับไหมพันกหาปณะ”

    มโหสถดีใจที่แผนการทุกขั้นตอน ดำเนินไปด้วยดี โดยที่ไม่มีสิ่งใดติดขัด พระเจ้าจุลนีทรงประทานให้ตามที่ขอทุกประการ

    ครั้นถวายบังคมลาแล้ว มโหสถก็ได้เริ่มตระเตรียมผู้คนเป็นจำนวนเรือนหมื่น ขนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการก่อสร้าง พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างล้นเหลือ จากนั้นจึงยกพลออกจากปัญจาลนคร ไปยังตำบลที่กำหนดให้เป็นที่ตั้งของพระนครแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างฝั่งแม่น้ำคงคาและเมืองหลวงของปัญจาลนคร

    เริ่มแรก มโหสถสั่งให้สร้างหมู่บ้านชื่อ คักคลิ ขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น เพื่อใช้เป็นที่พักของช้าง ม้า โค และรถ สำหรับเตรียมไว้ใช้งาน จากนั้นจึงเริ่มแบ่งงานเป็นส่วนๆ แล้วมอบหมายให้แก่หัวหน้างาน พร้อมกระจายกำลังคนให้พอเหมาะกับงาน และแล้วภารกิจสำคัญขั้นแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้นนั่นคือ การขุดอุโมงค์ใหญ่ ความยาวประมาณ ๓๐๐เส้น เริ่มตั้งแต่ภายในพระนครแห่งใหม่ ไปสิ้นสุดลงตรงริมฝั่งแม่น้ำคงคา และปากอุโมงค์ทางออกก็ตั้งอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง

    มโหสถระดมคนงานราว ๖,๐๐๐คน ให้ช่วยกันขุดกรวดทรายและดิน ขนออกมาด้วยกระทงหนังขนาดใหญ่ แล้วเทลงในแม่น้ำจนน้ำขุ่นคลัก แม่น้ำนั้นก็ไหลผ่านไปถึงปัญจาละนคร ชาวเมืองต่างได้รับความเดือดร้อน ก็พากันบ่นอุบว่า “โธ่เอ๋ย ไม่น่าเลย ตั้งแต่มโหสถมานี่ ยังไม่ทันไร ก็สร้างความลำบากให้พวกเราเสียแล้ว น้ำขุ่นคลักอย่างนี้ พวกเราจะไปหาน้ำใสๆ ดื่มกินกันได้ที่ไหน”

    ลำดับนั้น คนของมโหสถเมื่อจะปกปิดเรื่องที่มโหสถสั่งให้สร้างอุโมงค์ไว้เป็นความลับ จึงได้ชี้แจงเหตุผลแก่ชาวเมืองไปตามอุบายของมโหสถว่า “ข้าพเจ้าทราบมาว่าฝูงช้างของมโหสถชอบลงเล่นน้ำ ทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่นเป็นตม ท่านทั้งหลายจงอดทนกันอีกหน่อยเถิด เมื่อเสร็จงานก่อสร้างแล้วน้ำก็คงกลับใสสะอาดดังเดิม”

    ถึงกระนั้น ชาวเมืองก็อดไม่ได้ที่จะต่อว่าต่อขานมโหสถและพวก บ่นไปก็กลุ้มไป แต่ก็ไม่มีใครรู้เลยว่า บัดนี้มโหสถกำลังลงมือขุดอุโมงค์อยู่ทางตอนเหนือของฝั่งแม่น้ำ

    ในการก่อสร้างประตูอุโมงค์ทางเข้านั้น เป็นงานใหญ่งานหนึ่งที่จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบรัดกุมในทุกขั้นตอน เพราะเต็มไปด้วยกลไกที่สลับซับซ้อน ประกอบด้วยประตูบานคู่สูงถึง ๑๘ศอก พร้อมติดตั้งระบบปิดเปิดด้วยกลไกพิเศษ คือ เมื่อกดสลักอันหนึ่งเข้าบานประตูนั้นก็เปิด เมื่อกดสลักอีกอันหนึ่งบานประตูก็จะถูกปิดลงทันที

    รอบแนวผนังทั้งสองข้างของอุโมงค์ใหญ่ ก็ให้ช่างก่ออิฐแล้วฉาบปูน ปูกระดานไม้ปิดด้านบนของอุโมงค์ไว้ โบกทับด้วยดินเหนียว ยาอุดช่องให้แนบสนิทแล้วตกแต่งสีสันให้สวยงาม

    ในอุโมงค์นั้น ยังมีประตูขนาดใหญ่ ๘๐ช่อง ประตูน้อย ๖๔ช่อง ล้วนแล้วแต่เป็นประตูกลทั้งสิ้น แต่ต่างจากประตูทางเข้า คือ เมื่อเหยียบสลักเปิด ประตูก็จะเปิดออกพร้อมกันหมด และเมื่อเหยียบสลักปิด ประตูก็จะปิดพร้อมกัน

    แม้แต่โคมไฟกว่าร้อยดวงที่รายรอบแนวอุโมงค์ก็เช่นกัน เมื่อเปิดกลไกโคมไฟทุกดวงก็จะเปิดสว่างพร้อมกัน และเมื่อปิด โคมไฟก็จะปิดมืดสนิทพร้อมกันหมด

    การที่มโหสถระดมคนสร้างอุโมงค์ที่ใหญ่โตมโหฬาร เพียบพร้อมไปด้วยกลไกควบคุมระบบภายในอุโมงค์ทั้งหมด ก็เพื่อประโยชน์ในการหาหนทางรอดจากการถูกปิดล้อมของกองทัพพระเจ้าจุลนี ส่วนว่ามโหสถบัณฑิตจะเตรียมแผนการอย่างไร ที่จะทำให้การเสด็จมาและเสด็จกลับของพระเจ้าวิเทหราชปลอดภัยนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 167ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 167

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 168ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 168

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 169ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 169



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก