ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 167


[ 3 มิ.ย. 2552 ] - [ 18263 ] LINE it!

ทศชาติชาดก
เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี
ตอนที่ 167
 
 

    จากตอนที่แล้ว มโหสถได้ทูลขออนุญาตพระเจ้าจุลนีว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาที่จะเห็นชาวเมืองปัญจาละเข้าไปเดินพลุกพล่านในบริเวณที่ก่อสร้าง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน และอีกประการหนึ่ง ฝูงช้างของข้าพระองค์ชอบเล่นน้ำเหลือเกิน ข้าพระองค์เกรงว่าหากช้างเหล่านั้นทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น ชาวเมืองก็จะพากันโกรธเคืองข้าพระองค์ เรื่องนี้ขอพระองค์ทรงพระกรุณาอดกลั้น อย่ากริ้วพวกข้าพระองค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”

    พระเจ้าจุลนีทรงอนุญาต ตามที่มโหสถกราบทูลขอทุกประการ มโหสถจึงได้เริ่มตระเตรียมผู้คนเป็นจำนวนเรือนหมื่น พร้อมขนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นออกจากปัญจาลนคร ไปยังตำบลที่กำหนดให้เป็นที่ตั้งของพระนครแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างฝั่งแม่น้ำคงคาและเมืองหลวงของปัญจาลนคร

    จากนั้น จึงเริ่มแบ่งงานเป็นส่วนๆ และแล้วภารกิจสำคัญขั้นแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้น นั่นคือ การขุดอุโมงค์ใหญ่ความยาวประมาณ ๓๐๐เส้น เริ่มตั้งแต่ภายในพระนครแห่งใหม่ ไปสิ้นสุดลงตรงริมฝั่งแม่น้ำคงคา

    มโหสถระดมคนงานราว ๖,๐๐๐คน ให้ช่วยกันขุดกรวดทรายและดิน ขนออกมาด้วยกระทงหนังขนาดใหญ่ แล้วเทลงในแม่น้ำจนน้ำขุ่นคลัก ทำให้ชาวเมืองปัญจาลนครต่างต้องทนรับความเดือดร้อนอย่างทั่วหน้า ในการก่อสร้างประตูอุโมงค์ทางเข้านั้นมีระบบปิดเปิดด้วยกลไกพิเศษ คือ เมื่อกดสลักอันหนึ่งเข้าบานประตูนั้นก็เปิด เมื่อกดสลักอีกอันหนึ่งบานประตูก็จะถูกปิดลงทันที
 
    ในอุโมงค์นั้น ยังมีประตูขนาดใหญ่ ๘๐ช่อง ประตูน้อย ๖๔ช่อง ล้วนแล้วแต่เป็นประตูกลทั้งสิ้น แต่ต่างจากประตูทางเข้า คือ เมื่อเหยียบสลักเปิดประตูก็จะเปิดออกพร้อมกันหมด แต่เมื่อเหยียบสลักปิดประตูก็จะปิดพร้อมกัน แม้แต่โคมไฟกว่าร้อยดวงที่รายรอบแนวอุโมงค์ก็เช่นกัน เมื่อเปิดกลไกโคมไฟทุกดวงก็จะเปิดสว่างพร้อมกัน และเมื่อปิด โคมไฟก็จะปิดมืดสนิทพร้อมกันหมด

    นอกจากอุโมงค์ใหญ่แล้ว มโหสถยังสั่งให้ขุดอุโมงค์เล็ก เป็นทางลับใต้ดินอีกทางหนึ่ง ตั้งต้นขุดจากพระนครแห่งนี้ไปจนถึงปัญจาลนคร โดยปากอุโมงค์ไปโผล่ตรงเชิงบันไดพระมหาปราสาทของพระเจ้าจุลนี ซึ่งก่อนหน้านี้มโหสถได้ทูลขอพระเจ้าจุลนี เพื่อนำช่างมาแก้ไขเชิงบันไดเรียบร้อยแล้ว โดยที่ไม่มีผู้ใดรู้เลยว่านั่นเป็นปากอุโมงค์ซึ่งเป็นเส้นทางไปสู่พระนครแห่งใหม่ และจากพระนครแห่งใหม่ เมื่อเดินต่อไปตามอุโมงค์ใหญ่ก็จะไปถึงฝั่งริมแม่น้ำคงคาได้อย่างสบาย

    ภายในอุโมงค์นั้น มโหสถบัณฑิตยังได้สร้างห้องบรรทมมากถึง ๑๐๑ห้อง เรียงรายตลอดสองข้างอุโมงค์เพื่อเตรียมไว้สำหรับพระราชาทั้ง ๑๐๑พระองค์ และในแต่ละห้องก็ให้ปูลาดพระยี่ภู่ไว้พร้อมสรรพ ที่ประทับนั่งของพระราชาแต่ละพระองค์ก็ล้วนกางกั้นด้วยพระเศวตฉัตรอย่างสมพระเกียรติ ใกล้กับที่บรรทมให้ตั้งรูปหุ่นสตรีไว้เหนือแผ่นเท้าสิงห์ งดงามละม้ายรูปจริง แม้นยังมิได้จับต้องรูปนั้นจะไม่รู้เลยว่าเป็นเพียงหุ่นประดิษฐ์จากเส้นป่าน    

    ฝ่ายจิตรกรผู้เชี่ยวชาญเชิงศิลป์ ก็ตวัดปลายพู่กันบรรจงวาดจิตรกรรมฝาผนังอย่างสุดฝีมือ ทั้งภาพท้าวสักกเทวาธิราชแวดล้อมด้วยเหล่าเทพยดาทั้งผอง ภาพเขาสัตตบริภัณฑ์ สาคร มหาสาคร ป่าหิมพานต์ และทวีปทั้ง๔ รายล้อมแกนกลาง คือ ขุนเขาพระสุเมรุอันมหึมา ภาพสระน้อยใหญ่มีสระอโนดาต เป็นต้น มโนศิลา พระจันทร์ พระอาทิตย์ และภาพสรวงสวรรค์กามาวจรทั้ง ๖ชั้น มีจาตุมหาราชิกาเป็นเบื้องต้น และปรินิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด

    ศิลปะทั้งหมดนี้ ล้วนประณีตงดงาม วิจิตรตระการตาจนสุดจะพรรณนา ราวกับชะลอสุธรรมาเทวสภาให้มาปรากฏเหนือผนังอุโมงค์โดยแท้ แม้แต่พื้นอุโมงค์ยังให้โรยกรวดทรายสีเงิน เกลี่ยกระจายไปทั่วบริเวณ เมื่อต้องแสงไฟก็เปล่งประกายระยิบระยับจับตา

    เมื่อแหงนดูตามช่องเบื้องบน จะเห็นปทุมชาติห้อยย้อยระย้าอยู่เรียงราย แต่ละช่วงต่อของอุโมงค์ยังให้แขวนพวงภู่กลิ่น ประดับประดาด้วยปวงบุปผานานาพันธุ์ หอมตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ

    ขณะที่งานตกแต่งภายในอุโมงค์กำลังจะสำเร็จลง มโหสถก็ได้ทราบข่าวดีว่าอานันทอำมาตย์พร้อมช่าง ๓๐๐คนซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปนำไม้ที่จะใช้สร้างวังมา บัดนี้ได้บรรทุกไม้ที่ต้องการลงเรือ ๓๐๐ลำ ล่องมาตามแม่น้ำคงคาจวนจะมาถึงท่าในอีกไม่ช้า

    ครั้นล่องเรือมาถึงท่าแล้ว อานันทอำมาตย์ก็สั่งให้ช่างลำเลียงไม้ออกจากเรือ แล้วเร่งขนไปส่งถึงที่ตามคำสั่งของมโหสถ เมื่อมโหสถได้รับไม้เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ช่างเริ่มลงมือประกอบไม้ขึ้นเป็นพระตำหนักทันที

    ส่วนเรือทั้ง ๓๐๐ลำนั้น มโหสถได้สั่งให้นำไปซ่อนไว้ในที่ปลอดภัยพร้อมกำชับว่า “พวกท่านจงอยู่ที่นี่ เพื่อรอฟังคำสั่งของเรา เมื่อใดที่เราสั่งให้นำเรือมา พวกท่านก็จงอย่ารอช้ารีบนำมาให้เราทันที”

    การก่อสร้างนครแห่งนี้ ได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ๔เดือนเต็ม โดยมีปราการกำแพงล้อมรอบสูงถึง ๑๘ศอก โรงพักพลมีป้อมประตูเรียงรายเป็นระยะสลับด้วยซุ้มประตูเมืองที่มั่นคง ภายในกำแพงเมืองมีโรงช้างโรงม้าและราชพาหนะทั้งหลาย  มีสระโบกขรณีโอบล้อมบริเวณพระราชนิเวศน์ มองไกลๆเหมือนที่ประทับนั้นลอยโดดเด่นอยู่เหนือผืนน้ำ ส่วนภายนอกกำแพงก็ให้ขุดคูล้อมถึงสามชั้น ได้แก่คูน้ำ คูเปือกตม คูแห้ง ตามลำดับ

    เมื่อภารกิจทุกอย่างสำเร็จแล้ว มโหสถจึงได้ส่งทูตไปทูลเชิญพระเจ้าวิเทหราชให้เสด็จมาสู่ปัญจาลนคร

    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงมีพระหทัยจดจ่อ รอคอยมานานหลายเดือนว่า “เมื่อไหร่หนอ มโหสถจึงจะส่งข่าวมาเสียที”

    ดังนั้น เมื่อทรงสดับคำทูลเชิญของมโหสถ ก็ทรงโสมนัสเป็นล้นพ้น พระองค์มิได้ทรงรอช้า มีพระกระแสรับสั่งให้จัดขบวนเสด็จ ให้พร้อมที่จะเคลื่อนขบวนได้ทันที แต่ทว่าการเสด็จในครั้งนี้ พระองค์ไม่ทรงทราบมาก่อนเลยว่าเป็นแผนการของพระเจ้าจุลนี ที่จะลอบปลงพระชนม์พระองค์ ส่วนว่าเมื่อพระเจ้าวิเทหราชเดินทางมาถึงปัญจาลนครนั้น จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 168ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 168

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 169ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 169

ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 170ทศชาติชาดก เรื่อง มโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ตอนที่ 170



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก