ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 6


[ 7 ต.ค. 2549 ] - [ 18270 ] LINE it!

 
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 6
 

    จากตอนที่แล้ว พระเทวีได้เสด็จไปอาศัยอยู่ในบ้านของมหาพราหมณ์ ก็ทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนางพราหมณีผู้เป็นภรรยาของมหาพราหมณ์ และเหล่าข้าทาสบริวารเป็นอย่างดี ทำให้พระนางพำนักอยู่อย่างมีความสุข 

    จากนั้นไม่นาน พระนางก็ประสูติพระโอรสมีวรรณะดังทอง ได้ทรงขนานนามพระโอรสเหมือนพระเจ้าปู่ว่า มหาชนกกุมาร เมื่อทรงเจริญวัยก็ทรงเป็นผู้มีพละกำลังมาก ยามที่ทรงทะเลาะกับเด็กๆ เหล่าอื่น เมื่อพวกเขาสู้เรี่ยวแรงของพระองค์ไม่ได้ก็จะใช้วาจาถากถางว่า “ไอ้ลูกแม่หม้าย ”

    ส่วนพระราชกุมารเมื่อถูกกล่าวถากถางบ่อยเข้า ก็ดำริว่า “พ่อของเราคือมหาพราหมณ์ แต่เด็กพวกนี้ชอบว่าเรา ว่าเป็นลูกแม่หม้าย แล้วใครคือพ่อของเรากันแน่” จึงกลับมาทูลถามพระมารดา แรกๆ พระนางก็ตรัสลวงว่า มหาพราหมณ์เป็นพ่อของลูก 

    แต่ต่อมา พระราชกุมารก็ทรงรู้เรื่องจากผู้อื่นว่า ท่านพราหมณ์ไม่ใช่พ่อของพระองค์ วันหนึ่ง ในขณะที่ ทรงดื่มน้ำนมอยู่ จึงได้กัดพระถันของพระนางเอาไว้ แล้วตรัสถามความจริง พระเทวีเมื่อไม่อาจปกปิดต่อไปอีก จึงตรัสเล่าความจริงให้ทรงฟังทั้งหมด 

    เมื่อพระราชกุมารทราบความจริงทั้งหมดแล้ว ก็ทรงมุ่งมั่นที่จะไปยึดเอาราชสมบัติคืนให้ได้ ครั้นทรงเจริญวัยขึ้น ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน  เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา ก็เป็นผู้ทรงพระรูปโฉมงดงาม และสำเร็จศิลปศาสตร์ ๑๘ สาขา จนเป็นที่ยอมรับของครูอาจารย์และเพื่อนๆ ร่วมสำนักทุกคน

    จากนั้น พระราชกุมารทรงดำริว่า “ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องไปยึดราชสมบัติซึ่งเป็นของพระราชบิดาคืน”
 
    จึงเข้าไปถามพระมารดาว่า “เสด็จแม่  แม่มีทรัพย์ที่นำติดตัวมาด้วยบ้างไหม หม่อมฉันจะนำไปลงทุนค้าขายให้ได้ทรัพย์เพิ่มขึ้น แล้วจะได้ชิงเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดากลับคืนมา”

    ฝ่ายพระมารดาตรัสตอบว่า “ลูกรัก แม่มีทรัพย์ติดตัวมาจำนวนหนึ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร แก้วทั้งสามดวงนี้  แต่ละดวงมีมูลค่าพอที่จะใช้เป็นทุนสร้างกองทัพ เพื่อยึดเอาราชสมบัติกลับคืนมาได้ทั้งนั้น ลูกอย่าได้คิดทำการค้าขายเลย”

    พระโอรสทูลว่า “เสด็จแม่ หม่อมฉันขอรับเพียงครึ่งเดียวก็พอ  หม่อมฉันจะออกเดินทางไปเมืองสุวรรณภูมิเพื่อทำการค้าก่อน เมื่อได้ทรัพย์จำนวนมากพอแล้ว จะได้ชุมนุมพลเพื่อชิงราชสมบัติคืน”

    เมื่อได้ทรัพย์จากพระมารดาแล้ว จึงทรงแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้กลายเป็นทุน แล้วนำไปซื้อสินค้าจำนวนมาก ขนขึ้นเรือพร้อมกับพวกพ่อค้าที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ

    แล้วก็กลับมากราบลาพระมารดาว่า “เสด็จแม่ หม่อมฉันได้แปลงสินทรัพย์ที่แม่ให้มานั้นเป็นสินค้า และได้ขนขึ้นเรือพร้อมแล้ว พรุ่งนี้ลูกจะออกทะเล เพื่อไปค้าขายโดยมีจุดหมายคือเมืองสุวรรณภูมิ ไม่นานนักลูกจะกลับมา ขอให้เสด็จแม่ทรงถนอมสุขภาพด้วย”

    ด้วยความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย พระเทวีจึงตรัสห้ามว่า “ลูกรัก ขึ้นชื่อว่ามหาสมุทร สำเร็จประโยชน์น้อย มีอันตรายมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของลูกที่มีอยู่ ก็มากพอแล้วที่จะใช้ชิงเอาราชสมบัติคืน แม่เคยเห็นเรือใหญ่ที่ออกสู่มหาสมุทรแล้วสูญหายไปไม่กลับมามากแล้ว อย่าไปเลยนะลูก มันอันตราย”

    แม้พระมารดาจะตรัสทัดทานอย่างไรก็ตาม พระโอรสก็ยังทรงยืนกรานที่จะไปค้าขายให้ได้ โดยมุ่งที่จะไปยึดเอาราชสมบัติคืนแต่เพียงอย่างเดียว มิได้ทรงเฉลียวใจถึงความห่วงใยของพระมารดาว่ามีมากมายเพียงไร
 
    ทั้งมิได้ทรงรู้ถึงความสังหรณ์พระทัยของพระมารดาเลย ว่าที่ทรงห้ามนั้นด้วยทรงหวั่นพระทัยว่าจะมีภัยมาถึงบุตร เมื่อใกล้เวลาเรือจะออกจากท่าก็ทรงกราบลาพระมารดา และยังคงตรัสให้สัญญาว่า “ขอให้เสด็จแม่คอยลูกอยู่ที่นี่ ไม่นานนักลูกจะกลับมา” เมื่อทรงล่ำลาพระมารดาเสร็จแล้ว ก็รีบออกเดินทาง


    คำของมารดานั้น มีความหนักแน่นประดุจขุนเขา ที่บุตรไม่ควรจะฟังเพียงผ่านๆ แต่ควรตระหนักไว้ในใจเสมอ เพราะมารดานั้นมีความรักและห่วงใยต่อบุตรเทียบด้วยชีวิตของตน จึงควรเคารพเชื่อฟังด้วยดี
 
    มีภาษิตที่สัตบุรุษทั้งหลายได้กล่าวไว้ ถึงความพิเศษของมารดาบิดาที่มีต่อบุตรถึง 4 ประการ คือ
 
ประการที่ 1 มารดาบิดาเปรียบเสมือนเป็นพรหมของบุตร เพราะท่านมีคุณธรรมต่อบุตรเสมอกับพระพรหม   คือ พระพรหมนั้นย่อมมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แผ่ไปในทิศทั้ง 4 ฉันใด มารดาก็มีพรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ต่อบุตรของตน เสมอกันกับพระพรหมฉันนั้น

ประการที่ 2 มารดานั้นเป็นบุรพเทพ คือเป็นเทวดาของบุตรก่อนเทวดาองค์ใดทั้งหมด เหล่าเทวดาย่อมปรารถนาดีต่อมนุษย์ทั้งหลายฉันใด มารดาก็ย่อมมีความปรารถนาดีต่อบุตร หวังให้บุตรปราศจากโรคภัยทั้งผอง ต้องการให้บุตรมีความเจริญรุ่งเรืองแต่เพียงฝ่ายเดียว ฉันนั้น
 
ประการที่ 3 มารดานั้นเป็นบุรพาจารย์ คือเป็นอาจารย์ของบุตรก่อนอาจารย์คนใดทั้งหมด เพราะท่านสอนบุตรก่อนใคร สอนให้นั่ง สอนให้ยืน สอนให้เดิน สอนให้เคี้ยว ดื่ม กิน คนนี้เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้อง อย่างนี้ควรทำ อย่างนี้ไม่ควรทำ
 
ประการที่ 4 มารดาเป็นอาหุไนยบุคคล คือบุคคลที่บุตรควรนำข้าวของมาสักการบูชา ผู้ที่หวังความเจริญรุ่งเรืองย่อมกระทำสักการะต่อเทวดาทั้งหลาย แต่ที่จริงแล้ว มารดานั่นแหละที่บุตรควรบูชาสักการะก่อนกว่าเทวดาองค์ใด

    พระโพธสัตว์ทั้งหลายนั้น แม้ท่านจะมีปัญญาที่สั่งสมมาดีข้ามชาติก็ตาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับกัลยาณมิตรและสภาพแวดล้อมในชาตินั้นๆ ด้วย ที่จะชี้บอกทางดำเนินชีวิต ประดุจเข็มทิศชี้ว่าควรจะเดินไปสู่ทิศทางใด

    กล่าวถึงพระเจ้าโปลชนกที่ครองราชย์อยู่ในกรุงมิถิลานั้นเล่า ในวันที่พระมหาชนกออกเดินทาง ก็ทรงเกิดประชวรขึ้นมา แม้หมอหลวงจะช่วยกันเยียวยาอย่างไร ก็ไม่สามารถให้ทรงหายเป็นปกติได้

    ส่วนพระโพธิสัตว์และพวกพ่อค้าประมาณ ๗๐๐ คน  ครั้นอำลาครอบครัวและหมู่ญาติเรียบร้อยแล้ว  ก็ขึ้นเรือออกเดินทางทันที  เรือลำใหญ่ได้กางใบแล่นไปในมหาสมุทรสิ้นเวลา ๖ วัน ก็ยังคงแล่นต่อไปตามปกติ

    แต่พอถึงวันที่ ๗ เมื่อเรือแล่นไปได้ประมาณ ๗๐๐ โยชน์ ก็ประสบกับพายุร้ายที่โหมกระหน่ำ ท้องทะเลเต็มไปด้วยคลื่นลูกใหญ่ๆ แม้พวกลูกเรือจะลดใบเรือลงแล้ว แต่เรือก็ยังคงแล่นไปด้วยกำลังลมและคลื่น

    เมื่อสีข้างเรือถูกคลื่นลูกใหญ่ๆ ซัดหนักๆ เข้า ก็ทนแรงกระแทกไม่ไหว แผ่นกระดานได้ปริแตกออกจากกัน  ทำให้น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามาในเรือ   ในที่สุดเรือก็แตก แล้วค่อยๆ จมลงท่ามกลางมหาสมุทร

    พวกพ่อค้าทั้ง ๗๐๐ คน เมื่อเรือแตกแล้ว รู้ว่าจะตนเองต้องจมน้ำตายอย่างแน่นอน  ก็หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อมรณภัย  แสดงกิริยาต่างๆ กัน บ้างก็ร้องไห้คร่ำครวญ บ้างก็กราบไหว้อ้อนวอนต่อเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือ 

    แต่พระมหาชนกไม่ทรงกันแสง และก็ไม่ไหว้เทวดาตนใดทั้งสิ้น พระองค์ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยแม้แต่น้อย  ทรงมองข้ามความตายมุ่งเป้าหมายไปที่ความสำเร็จ  ที่จะยึดเอาราชสมบัติคืนมาให้ได้
 
    ธรรมดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้นท่านจะมีกำลังใจเต็มเปี่ยม มีความเพียรพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้เสมอ แม้เรือจะอับปางลงท่ามกลางมหาสมุทรก็ไม่ทรงหวาดหวั่นต่อสิ่งใด  ยังทรงมีเป้าหมายมั่นคงเช่นเดิม ส่วนเมื่อเรือจมแล้ว ท่านจะช่วยเหลือตัวของท่านเองอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย : หลวงพ่อธัมมชโย



Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 7ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 7

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 8ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 8

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 9ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 9



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก