ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 1 การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์


[ 6 ก.พ. 2553 ] - [ 18275 ] LINE it!

ตอนที่ 1
การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์
 
    ที่ผ่านมา เราได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติที่สำคัญๆมาห้าพระชาติแล้ว คือ พระชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเตมียราช ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  พระมหาชนกราช ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี สุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี พระเจ้าเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี และพระชาติที่เพิ่งศึกษาจบลงไปนั้น ได้ทรงเกิดเป็นมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี 
 
    ในเส้นทางการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตนั้น เป็นธรรมดาของการสร้างบารมีที่อาจจะเกิดความผิดพลาดพลั้งเผลอให้ทำบาปอกุศลด้วยกาย วาจา ใจ ไปบ้าง เนื่องจากปัญญาและบุญบารมีของพระองค์ยังไม่สมบูรณ์
 
    แต่ถึงอย่างนั้น ก็มิได้ทำให้พระองค์หลุดจากเส้นทางการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และด้วยมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตให้ได้นั้น ไม่ว่าพระองค์จะเกิดเป็นอะไร ก็จะมีอัธยาศัยของพระโพธิสัตว์ รักการสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันติดอยู่ในกลางใจของพระองค์ไปทุกภพทุกชาติ ดังเช่น พระชาติหนึ่งที่ทรงเกิดเป็นพญานาคชื่อ ภูริทัต
 
    วันนี้ เราจะได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติที่เกิดเป็นพญานาคภูริทัต ผู้ยิ่งด้วยศีลบารมี ซึ่งเป็นพระชาติสำคัญอีกชาติหนึ่ง ที่ทรงสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ที่ปรากฏเด่นชัด
 
    แต่ก่อนที่เราจะได้ศึกษาเรื่องราวดังกล่าวนั้น จะขอทำความเข้าใจเรื่องศีลบารมีก่อน ศีลบารมี หมายถึง ความตั้งใจปฏิบัติตนเพื่อสำรวมระวัง กาย วาจา ใจ ของตนให้สงบ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยมีความมุ่งหมายเพื่อควบคุมโทสะ และความโหดร้ายหยาบคายทางกาย วาจา ใจ ของตนไว้ให้ได้
 
    เป็นธรรมดาเมื่อโทสะเกิดขึ้นกับใครแล้ว ย่อมบีบคั้นใจผู้นั้นให้เร่าร้อนคิดแต่จะทำลาย เหมือนไฟที่ติดเชื้อ ย่อมเผาไหม้บ้านเรือนให้วอดวายได้ฉันใด ไฟโทสะที่เผาไหม้อยู่ในจิตใจของผู้ใดแล้ว ย่อมมีอานุภาพทำลายล้างผู้นั้นยิ่งกว่า นอกจะทำลายคุณธรรมความดีงามในตัวแล้ว ยังสามารถทำลายชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งของของผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้น เรามีความจำเป็นต้องรักษาศีล โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อข่มกลั้นโทสะไม่ให้เผาลนจิตใจของเรา และไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น
 
    หากเรารักษาศีลอย่างดีเยี่ยม ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า
 
1.เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่มีเวรภัยกับใคร
2.ได้ลักษณะร่างกายที่สมบูรณ์ไม่พิกลพิการ มีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน
3.ตายไปแล้วไม่ตกนรก ถ้าไม่ได้ไปสวรรค์ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ได้เป็นมนุษย์ก็ไปเป็นเทวดา มีคติเพียงสองอย่างนี้ ทำให้สร้างบารมีได้อย่างตลอดต่อเนื่องไม่ขาดสาย
 
    ส่วนว่า จะเริ่มรักษาศีลได้เมื่อใดนั้น เราสามารถเริ่มต้นได้ ณ วินาทีนี้เป็นต้นไป เพราะการรักษาศีลเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่จะละเว้นความชั่ว ดังนั้นการรักษาศีลจึงเริ่มต้นที่ความตั้งใจ ในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์นั้น จะต้องมีธรรมะประจำใจอยู่สองข้อ คือ
 
ข้อที่1.มี หิริ คือ ความละอายใจต่อการทำชั่ว สิ่งใดก็ตาม หากเป็นความชั่วเลวทรามแล้ว จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ ด้วยความรังเกียจและขยะแขยง เห็นบาปนั้นเหมือนสิ่งสกปรก ไม่อยากจับต้อง
ข้อที่2.มี โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว เมื่อรู้ว่าทำความชั่วจะมีผลร้ายตามมา จึงเกรงกลัวอันตรายของความชั่ว ราวกับกลัวผลของพิษงูที่เมื่อถูกขบกัดแล้วย่อมถึงซึ่งความตาย
 
    ส่วนว่า ถ้ามีบุคคลใดมาเบียดเบียนเราในปัจจุบัน ก็เป็นเพราะผลจากกรรมชั่วที่เราไปทำเขาไว้ในอดีตมาส่งผล มาฉายเป็นภาพสะท้อนกลับให้เราเห็นในปัจจุบัน
 
    หากเราเข้าใจความจริงข้อนี้ ก็ต้องอดทนรักษาศีลด้วยใจที่ชุ่มเย็น ถึงขนาดว่ามีใครเอามีดมาจ่อคอแล้วจะให้เราผิดศีล ขอยอมตายดีกว่า จะได้ชดใช้กรรมเก่าให้หมดไป ถ้าหากเราโต้ตอบด้วยการผิดศีลวงจรกรรมนี้ก็ไม่รู้จักจบสิ้น จะต้องตามล้างตามผลาญกันต่อไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน
 
    ดังนั้น ให้เราสู้อย่างถูกหลักวิชชา ด้วยความอดทนและเยือกเย็นในการรักษาศีล โทสะก็จะค่อยๆฝ่อลงไป แม้จะยังไม่ถูกทำลายให้สิ้นซากทีเดียว แต่จะถูกตีกรอบไว้ไม่ให้ทำชั่วทางกายและวาจา ถึงแม้จะมีความคิดร้ายๆหลงเหลืออยู่ในใจบ้าง แต่ก็จะลดความรุนแรงลง จากที่เคยทุรนทุรายมากอยากจะทำร้ายคนอื่นด้วยคำพูดและการกระทำ ก็จะลดทอนกำลังลง เป็นคนมีเหตุผล ยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น
 
    โดยสรุปแล้ว ศีลบารมี คือ การสำรวมกาย วาจา ใจ ให้สงบเรียบร้อย ปราศจากโทษอย่างถูกหลักวิชชา เป็นความตั้งใจพร้อมจะสละชีวิตตนเอง เพื่องดเว้นจากสิ่งที่ชั่วและทำแต่สิ่งที่ดีงามอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยมีคุณธรรม คือ หิริ โอตตัปปะ เป็นเครื่องกำกับ อุปมาเหมือนจามรีที่ยอมตาย เพื่อรักษาพวงขนหางที่ถูกหนามเกี่ยวติดไว้ ไม่ให้ขาดแม้เส้นเดียว การสร้างศีลบารมีนี้จึงเข้าทำนองว่า “ยอมตาย ไม่ยอมชั่ว”
 
    การรักษาศีลจนกลายเป็นบารมีได้นั้น เนื่องจากทุกครั้งที่รักษาศีลจะเกิดกระแสแห่งความดีขึ้นในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ และบุญจากการรักษาศีลนี้จะไปฟอกใจให้สะอาด จนกระทั่งเกิดเป็นดวงกลมใส ที่เรียกว่า ดวงศีล เมื่อสั่งสมความบริสุทธิ์แห่งศีลยิ่งๆขึ้นไป ในที่สุดดวงศีลก็จะกลั่นเป็นบารมี
 
    การสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งพระองค์ยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น การรักษาศีลของพระองค์ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น บางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต กว่าที่บารมีจะเต็มเปี่ยม พระองค์จึงผ่านการรักษาศีลมาอย่างเข้มข้นที่สุด จนเกิดบารมีถึงสามขั้น คือ
 
1.ศีลบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าสมบัติภายนอก เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ยอมเสียสละสมบัติภายนอกออกไปได้ เพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า บำเพ็ญศีลบารมี
2.ศีลอุปบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าอวัยวะในร่างกายของตน เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ยอมเสียอวัยวะ เลือดเนื้อ เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า บำเพ็ญศีลอุปบารมี
3.ศีลปรมัตถบารมี คือ การรักษาศีลด้วยความรักศีลยิ่งกว่าชีวิตของตน เมื่อถึงคราวคับขัน ก็ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ ชื่อว่า บำเพ็ญศีลปรมัตถบารมี
 
    การรักษาศีลทั้งสามระดับนี้ อยู่ในหัวใจของพระโพธิสัตว์ตลอดมา ไม่ว่าจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติ จะเกิดมาเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ล้วนมีจิตใจที่สูงส่งมุ่งมั่นรักษาศีล ยิ่งกว่าชีวิตตน เพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบ จนกระทั่งสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นวังวนวัฏสงสารไปได้
 
    ดังนั้น ในวันนี้จึงขอน้อมนำประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่ทรงเสวยพระชาติเป็นภูริทัตนาคราช ผู้บำเพ็ญตบะธรรม รักษาศีลยิ่งชีวิตจนปรากฏเด่นชัด ศีลบารมีของท่านนั้น จะเป็นที่น่ายกย่องเพียงไร ขอท่านผู้มีบุญทั้งหลายจงตั้งใจสดับรับฟังด้วยความเคารพ เพื่อความรู้และความเข้าใจ ซึ่งจะทำให้เราเป็นผู้ฉลาดในการดำเนินชีวิต และเพื่อเป็นกำลังใจในการรักษาศีลยิ่งๆขึ้นไป
 
    ขอเชิญทุกท่าน ได้ติดตามเรื่องราวของพญานาคภูริทัต ผู้ยิ่งด้วยศีลบารมี ได้ในตอนต่อไป
 
พระธรรมเทศนาโดย: พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัยทศชาติชาดก เรื่อง ภูริทัต ตอนที่ 2 ต้นเหตุแห่งเภทภัย



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก