ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 11


[ 31 ต.ค. 2549 ] - [ 18275 ] LINE it!

 
 
ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 11
 
 
    จากตอนที่แล้ว เหล่าอำมาตย์ได้ปล่อยผุสสรถ ตามคำแนะนำของท่านปุโรหิต ผุสสรถได้เวียนประทักษิณพระราชนิเวศน์  แล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่แล่นรอบพระนคร แล้วก็วิ่งมุ่งหน้าตรงไปยังพระราชอุทยานทันที

    จากนั้นจึงวิ่งเข้าสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลที่พระมหาชนกทรงบรรทมอยู่ แล้วก็หยุดอยู่กับที่ ปุโรหิตเห็นพระโพธิสัตว์บรรทมหลับอยู่ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระโพธิสัตว์ทรงได้ยินเสียงดนตรีก็ตื่นบรรทม ได้เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชน  ก็ทรงทราบว่าบัดนี้เศวตฉัตรมาถึงเราแล้ว  จากนั้นก็คลุมพระเศียรเหมือนเดิม
 
    ปุโรหิตได้เปิดผ้าตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วก็ประกาศว่า  “ ท่านผู้นี้เป็นผู้เปี่ยมด้วยบุญญาบารมี  สามารถครองราชสมบัติแม้ในมหาทวีปทั้งสี่”  และเมื่อทราบว่าบุรุษหนุ่มผู้นี้ คือโอรสของอดีตพระเจ้าอยู่หัวของตนเอง ต่างก็พร้อมใจกันอภิเษกพระโพธิสัตว์เป็นพระราชาในพระราชอุทยานในวันนั้น

พระโพธิสัตว์ทรงได้รับการอภิเษกให้เป็นพระราชา และได้รับการเฉลิมพระนามว่า มหาชนกราช  จากนั้นก็เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐกลับเข้าสู่พระนคร  ด้วยสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ 
 
    มหาชนทุกหลังคาเรือนต่างก็ออกมาต้อนรับพระราชาองค์ใหม่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โปรยดอกไม้นานาชนิด ยกธงชูขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี

    เหล่าข้าราชบริพารฝ่ายในต่างก็ร่าเริง จัดเตรียมสถานที่บรรทม และประดับประดาพระราชนิเวศน์ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

    ฝ่ายพระราชธิดาเพียงได้สดับคำว่า “มหาชนก” ความรักประดุจภรรยาสามีก็ได้บังเกิดซาบซ่านไปทั่วผิวกาย แทรกซึมเข้าสู่ภายในทุกอนูเนื้อกระทั่งจรดเยื่อในกระดูก
 
    พระนางทรงรู้สึกปีติยินดี เหมือนได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคลที่รอคอยมานานแสนนาน ถึงแม้จะยังไม่เคยทอดพระเนตร ไม่เคยพูดจาสนทนากันมาก่อน แต่ก็เหมือนคนรักที่พระนางทรงตั้งตารอคอย นี่เป็นเพราะบุพเพสันนิวาสที่เคยครองรักกับพระโพธิสัตว์มาหลายชาติ  
 
     ดังพุทธวจนะที่ว่า ความรักเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะเคยอยู่ร่วมกันในปางก่อน และเพราะได้เกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดอกอุบลอาศัยโคลนตมและน้ำ จึงเบ่นบานเหนือน้ำ ฉะนั้น
 

    พระราชธิดาครั้นทราบว่า พระมหาชนกโพธิสัตว์ได้รับอภิเษกเป็นพระราชาเรียบร้อยแล้ว ทรงประสงค์จะทดลองพระมหาชนกโพธิสัตว์ว่า จะมีบุญพอที่จะครองราชย์สมบัติสืบต่อไปได้หรือไม่ จึงตรัสสั่งราชบุรุษคนหนึ่ง ให้ไปเรียกพระมหาชนกโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้าเหมือนที่เคยทดลองกับเสนาบดี และคนอื่นๆ

    เนื่องจากพระบรมโพธิสัตว์เป็นบัณฑิต จึงมิได้ใส่พระราชหฤทัยในคำเชื้อเชิญของพระราชธิดา ได้ตรัสชมปราสาทว่า มีความสวยงามอลังการสมกับเป็นพระนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป  

    พระราชธิดาครั้นได้รับรายงานว่า พระมหาชนกราชไม่ทรงสนพระทัยในคำเชื้อเชิญ ก็ยังไม่ละความพยายาม ทรงมีรับสั่งราชบุรุษไปอัญเชิญให้เข้าพบอีกถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์ก็มิใส่ใจต่อพระเสาวนีย์นั้นเลย
  
    พระราชธิดาทรงได้รับรายงานเหมือนเดิมทั้ง ๓ ครั้ง ก็ทรงคิดว่า “ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ สมควรที่จะได้เป็นจอมพสกนิกรของชาวมิถิลาอย่างแท้จริง” 
 
    ยิ่งเมื่อพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่ปราสาทตามพระราชหฤทัยของพระองค์ เหมือนพระยาราชสีห์เยื้องกรายออกจากถ้ำ ก็ให้รู้สึกหวั่นไหว  

    เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้ามาใกล้ พระนางก็มิอาจดำรงพระองค์อยู่ได้ ทรงตระหนักดีว่าผู้อยู่ ณ เบื้องพระพักตร์คือผู้มีบุญบารมีที่พระนางต้องยินยอมพร้อมฟังคำรับสั่งทุกอย่าง จึงได้เข้าไปทำปฏิสันถารด้วยการให้ทรงเกี่ยวพระกร 
 
    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ทรงรับเกี่ยวพระกรจากพระราชธิดา แม้พระนางจะทรงเขินอายอยู่บ้าง เพราะไม่เคยทรงทำอย่างนี้กับชายใดมาก่อน แต่พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงปฏิสันถารตอบ โดยตรัสเชื้อเชิญให้เสด็จชมปราสาทต่อไป จึงทำให้อาการที่ทรงตื่นเต้นเขินอายนั้นผ่อนคลายลง 
 
    เมื่อถึงศูนย์กลางของมหาปราสาท พระโพธิสัตว์จึงเสด็จขึ้นยังพระที่นั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้มหาเศวตฉัตร และได้ตรัสถามเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่า “เมื่อพระราชาของพวกท่านจะสวรรคต ได้ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง”
 
     พวกอำมาตย์กราบทูลว่า  “ขอเดชะ พระราชาของพวกข้าพระองค์ ได้ทรงมีรับสั่งความเอาไว้ ๔ ประการ คือ ๑. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่ทำให้พระราชธิดาพระนามว่าสีวลีเทวีโปรดปรานได้”
  
    พระราชาตรัสว่า  “พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว  ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ทำให้พระราชธิดาโปรดปรานแล้ว พวกท่านจงกล่าวข้ออื่นต่อไป” 

    อำมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระเจ้าโปลชนกราชได้รับสั่งความข้อที่ ๒ เอาไว้ว่า  ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่า อยู่ด้านไหน” 
 
    พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า “ข้อนี้รู้ยาก จำต้องหาอุบายสักอย่าง จึงจะแก้ปริศนานี้ได้”  ดำริดังนี้แล้วจึงทรงทรงถอดปิ่นทองคำบนพระเศียร ประทานให้พระนางสีวลี แล้วรับสั่งให้นำปิ่นทองคำไปวางไว้ 
 
    พระนางสีวลีทรงรับปิ่นทองคำไปวางไว้ด้านหัวนอนของบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม
    กิริยาของพระนางสีวลีเทวี ทำให้พระโพธิสัตว์ทรงทราบว่า ข้างไหนเป็นหัวนอน จึงตรัสถามย้ำใหม่ว่าปริศนาข้อที่ ๒ พวกท่านว่าอย่างไรนะ 
 
    ครั้นหมู่อำมาตย์กราบทูลซ้ำให้ทรงทราบแล้ว พระองค์จึงตรัสชี้ว่า “ด้านที่พระนางเจ้าทรงวางปิ่นนั้นแหละเป็นหัวนอน” ซึ่งพระราชธิดาก็ทรงรับรองว่าถูกต้องแล้ว 
 
 
    พวกอำมาตย์ได้ให้สาธุการ แล้วกราบทูลพระราชกำหนดข้อที่ ๓ ต่อไปว่า ให้มอบราชสมบัติแก่บุคคลที่สามารถยกสหัสสถามธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้  ส่วนพระราชกำหนดข้อที่ ๓ นี้ พระโพธิสัตว์จะทรงทำได้สำเร็จหรือไม่นั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
 


Desktop Version Desktop Version    



บทความที่เกี่ยวข้อง
ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 12ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 12

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 13ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 13

ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก  ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 14ทศชาติชาดก เรื่อง พระมหาชนก ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ตอนที่ 14



Home

อ่านธรรมะ

ธรรมะมาแรง

ทศชาติชาดก